เล่าได้เล่าดี ตอนการเปิดร้านกิ๊ปช๊อปในอเมริกาของฉัน ตอนที่ 5

เมื่อฉันรู้ว่าการขายของที่ตลาดนัด ที่เปิดให้ขายของกันเดือนละครั้งทำเงินได้มากกว่า การขายของที่ตลาดนัด ที่เปิดขายกันทุกอาทิตย์ ฉันเลยมุ่งเป้าหมายไปที่ ตลาดนัดที่เขาจัดกันเดือนละครั้ง ซึ่งแน่นอน มันหมายถึงการตะเวนเร่ร่อน ชีพจรลงเท้า เดินทางไปขายของในตลาดนัดต่างเมือง

เมื่อฉันเอาปีกไก่ย่างอันหอมหวล ชวนน้ำลายหยดของฉัน ไปแลกกับรายชื่อตลาดนัดเหล่านั้น และแผนที่การไปถึงตลาดนัด กับคุณตา คุณยาย ที่เขาก็เดินทางตะเวนออกขายของ ตามตลาดนัดแบบนี้มาได้แล้ว เราสามคนก็มาดูกันว่า จากเมืองที่เราอยู่ เราสามารถ เดินทางไปขายของที่ตลาดนัดที่ไหนได้บ้าง ที่ใช้เวลาเดินทางไม่มากไปกว่า สามชั่วโมงขับรถ จากเมืองที่เราอยู่ และสามารถไปนอนค้างได้ และตลาดนัดไหน เปิดขายกันอาทิตย์ไหน จะได้ไม่ชนกัน ถึงได้มีมติว่า เสาร์อาทิตย์ ที่หนึ่งของเดือน ไปไหนกัน ที่สอง สาม สี่ เราจะไปขายของที่ไหนกันเป็นต้น

เมื่อได้จุดหมายที่แน่นอน เราก็ต้องวางแผนการเดินทาง ว่าจะใช้เส้นทางไหนไปกัน เพราะในสมัยนั้น อย่าว่าแต่ จีพีเอสเลยค่ะ มือถือก็ยังไม่ค่อยจะมีกัน พวกเราจึงต้องอาศัยการใช้แผนที่ ซึ่งแผนที่ของประเทศอเมริกา เป็นอะไรที่ดูง่ายไม่ยากเลยค่ะ ส่วนใหญ่เพื่อนรูมเมทจะเป็นคนขับ ส่วนฉันจะเป็นคนดู แผนที่ และเป็นคนบอกเส้นทาง ซึ่งเส้นทางการเดินรถของอเมริกามีระบบถนนที่ง่ายต่อความเข้าใจ ไม่ว่านักท่องเที่ยวทางรถ มือเก่า มือใหม่ สามารถใช้แผนที่เส้นทางการเดินรถระหว่างรัฐได้ โดยไม่มีหลง นอกจากคนบอกทางจะนั่งหลับยาวๆไป จนคนขับขับรถหลงออก Exit ไม่ทัน

ถนนไฮเวย์ เส้นทางระหว่างรัฐหลักๆแล้ว จำกันง่ายมากๆค่ะว่า ถ้าเส้นทางจากเหนือลงใต้ เป็นเลขคี่ ส่วนเส้นทางจากตะวันตกสู่ตะวันออก เป็นเลขคู่ อย่างตัวอย่างเส้นทางระหว่างรัฐ จากรัฐเมน เหนือสุด ไปสู่รัฐฟลอริด้า รัฐใต้สุด ก็จะใช้ เส้นทาง I95 ส่วนเส้นทางระหว่างรัฐ จากซานฟรานซิสโก ฝั่งตะวันตก ไปยังเมืองนิวยอร์ค ฝั่งตะวันออก ก็จะใช้เส้นทาง I80 ดังนั้นถ้าคนนำทาง เนวิเกเตอร์ นั่งหลับ น้ำลายไหลยืด แล้วคนขับเกิดหลง ขับรถออกเส้นทาง เราก็สามารถรู้ว่า ตอนนี้มุ่งหน้า ขึ้น เหนือ หรือลงใต้ จะไปตก หรือจะไปออก ซึ่งตัวฉันเอง ชอบการขับรถดูแผนที่มากกว่า ที่จะใช้จีพีเอส นอกจากในแผนที่ที่จะบอกเส้นทางการเดินรถแล้ว ยังบอกถึง Geography ของพื้นที่นั้นๆ ด้วยสีที่ต่างกันออกไป คล้ายๆภาพสามมิติ อย่างเช่นสีเขียว แสดงว่าทีตรงนั้นต้องเป็นที่สูง หรือเป็นที่ที่มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่ อาจจะเป็นที่ตั้งของ อุทยานแห่งชาติ หรือ National Park หรือถ้าในแผนที่บางส่วนเป็นสี ส้มๆแดงๆ ก็จะหมายถึงทะเลทราย อย่างที่ลาสเวกัส ในรัฐเนวาด้า อีกทั้งในแผนที่จะมีการอัพเดทข้อมูลเรื่อยๆ กับศูนย์ที่พักระหว่างทางที่เรียกกันว่า Rest Area ก็จะเป็นที่พื้นที่พักระหว่างการเดินทาง ก็จะมีสวนหย่อม เอาไว้พักขาแข้ง ยืดเส้นยืดสาย มีห้องน้ำไว้รับรองคนเดินทาง มีตู้หยอดเหรียญ ขายของขบเคี้ยว และน้ำดื่ม บางที่ที่อยู่ในเขตรอยต่อระหว่างรัฐ ก็จะทำเป็น Rest Area /Welcome Center ซึ่งจะมีออฟฟิตเล็กๆ ที่เราสามารถไปรับแผ่นพับฟรี ที่โปรโมทร้านค้า ที่พัก แหล่งท่องเที่ยว ของรัฐนั้นๆ บางทีเขาก็มีกิ๊ฟช๊อปเล็กๆ เอาไว้ขายของที่ระลึก ของรัฐนั้นๆอีกด้วย ที่ Rest Area/ Welcome Center นี้เองเขาจะทำป้ายชื่อรัฐ ดีไซน์ออกมาเก๋ๆ ตั้งไว้ต้อนรับให้นักเดินทางรู้ว่ามาถึงรัฐไหนแล้ว แต่สำหรับนักเรียนต่างชาติอย่างเรา เราชอบที่จะไปถ่ายรูป ตามป้ายนั้น คล้ายๆเก็บสะสมแต้มว่าเราไปไหน รัฐไหนมาบ้างแล้ว ซึ่งฉันเองก็เก็บสะสมมาได้หลายสิบรัฐอยู่นะ เพราะไปมาแล้วหลายที่มาก

แต่ตลาดนัดที่เราทั้งสามจะไปนี่สิคะ มันไม่ได้ใช้เส้นทางไฮเวย์ เส้นทางหลวงเลยค่ะ คุณตาคุณยายเหล่านี้ แกก็ช่างสรรหา ตลาดนัดที่มันอยู่ในหุบเขากินคนก็ว่าได้ แต่ละที่ทางไปช่างซับซ้อนน่าดู และด้วยเส้นสายลายแทง แผนที่ขุมทรัพย์ เอ๊ย ตลาดนัดของคุณตา ก็อ่านยากมาก การเดินทางไปครั้งแรกๆ ก็จะมีหลงอยู่บ้าง อย่างเช่นตลาดนัดที่นึงที่พวกเราจะไปขายของกัน อยู่ในเมืองที่จะต้องใช้เส้นทางสายเล็ก หากที่เมืองไทยจะเรียกเส้นทางสายสำคัญว่า สายเอก สายโท เส้นทางการไปตลาดนัดแห่งนี้ น่าจะเรียกเส้นทางสายจัตวา ก็ว่าได้ค่ะ เพราะเมื่อฉันดูเส้นทางในแผนที่แล้ว ไอ้เส้นที่เราจะไปช่างเล็กกระจิ๋วหลิว เป็นเส้นเลือดฝอยเลย การเดินทางที่จะใช้เส้นทางเส้นเลือดฝอย หรือ เส้นทางสายจัตวา อาจจะต้องระวังบ้างในการเดินทาง เพราะเส้นทางสายนี้จะวิ่งผ่านชุมชน หมู่บ้าน วิ่งผ่านป่า ผ่านดงบ้าง คนเป็นโรคกลัวรถน้ำมันหมด อย่างฉัน ก็มีใจหายใจคว่ำกันบ้างหล่ะคะ เพราะปั๊มน้ำมัน จะหายากมากในบางพื้นที่ มองไปทางไหน ก็มีแต่วัว แต่ควาย แต่ต้นสำลี ดอกสำลี ในทุ่ง Cotton Field อีกทั้งการระมัดระวังในเรื่องความเร็ว ที่เดี๋ยวๆ มีป้ายอนุญาตให้ขับขี่ด้วยความเร็ว 55 ไมล์ต่อนาที อยู่ๆ ป้ายก็เปลี่ยนมาเป็น 35 ไมล์ต่อนาที ขึ้นมาเฉยๆ ตอนแรกๆเราก็ไม่ชินกัน

อย่างนี้ภาษาของคนขับรถ นักเดินทางเรียกกันว่า เข้าเขต Speed Trap ซึ่งหมายถึงการปรับเปลี่ยนความเร็ว ที่อนุญาตให้รถวิ่ง ในความเร็วที่ขึ้นๆลง เพราะเส้นทางสายนี้ ถ้าวิ่งผ่านหมู่บ้าน เขาจะปรับความเร็วให้น้อยลง และเมื่อผ่านเขตหมู่บ้าน ก็จะปรับความเร็วเพิ่มขึ้น ให้เท่าเดิม ถ้าไม่ระวังให้ดี ว่าเข้าเขตเมืองหรือ ไม่สังเกตป้ายความเร็วแล้ว อาจจะโดนเรียกจากคุณตำรวจที่นี่ก็ได้ค่ะ ซึ่งการเปลี่ยนป้ายความเร็วไปมา แบบกระทันหันแบบนี้ นักเดินทางก็ว่ากันว่า มันคือกับดัก เพื่อให้ตำรวจจับ และออกใบสั่ง เพื่อหาเงินเข้าเมือง และเป็นรายได้อย่างหนึ่งของเมืองนั้นๆอีกด้วย จะจริงจะเท็จ จะถูกจะผิด อันนี้ฉันก็รับประกันไม่ได้นะคะ ว่าที่เขาว่านั้นมันเป็นอย่างไร ขนาดที่เราระมัดระวังกันแล้วนะคะ บางทีก็โดนคุณตำรวจเรียกค่ะ เพราะว่าขับกลับบ้านตอนกลางคืน มันมองป้ายจำกัดความเร็วไม่เห็น ก็โดนเรียกจากคุณตำรวจ

มีอยู่ครั้งนึง กำลังขับรถกลับบ้าน ตอนกลางดึก สองข้างทางเป็นหมู่บ้าน สลับกับทุ่งนา ถนนก็จะมืด มองเห็นแสงไฟฟริบหรี่ๆ สีส้มๆ ฝ่าความมืดอยู่ไกล ทำให้คิดว่าอาจจะได้เห็นบ้านคนอยู่บ้าง แต่ที่ไหนได้ ขับไปๆ แสงไฟริบหรี่ ทำไม มันกลายไปอยู่ข้างหลังเสียหมดก็ไม่รู้   โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าได้วิ่งผ่านบ้านหลังนั้น หรือแสงไฟดวงนั้น มาตั้งแต่เมื่อไหร่ ไฟข้างถนนไม่ค่อยจะมี ส่วนมากจะมีตอนใกล้ๆที่จะเข้าเขตหมู่บ้าน ที่จะเริ่มสว่างไสว ให้ได้ใจคอชุ่มชื่นขึ้นมาบ้าง ครั้งนั้นพี่เหรียญ แกเป็นคนขับ ขับเข้าเขตหมู่บ้าน อยู่ดีๆ ก็โดนตำรวจเรียก แกก็จอดรถ คุณตำรวจก็เดินมาขอดู ใบขับขี่ และใบประกันรถ พี่เหรียญแกก็ให้ไป แต่คุณตำรวจอ่านชื่อพี่เหรียญ ที่ทั้งชื่อและนามสกุล ยาวอย่างกะรถไฟไม่ออก คุณตำรวจส่องไฟฉายเห็น หน้าเราทั้งสามคน ที่หน้าแต่ละคน หน้าแป้นๆ ตาดำๆ หัวดำๆ หน้าละอ่อน บ๊องแบ๊ว ที่คุณตำรวจถามอะไร คุณพี่เหรียญแก ก็แกล้งทำเป็นพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ (พี่เหรียญแกใช้วิธี พูดภาษาอังกฤษ ไม่รู้เรื่องทุกที ที่โดนตำรวจเรียกค่ะ แกว่าใช้ได้ผลดี) คุณตำรวจจึงเกิดความสงสาร เห็นว่าเป็นคนต่างชาติ แกคิดว่าเราพูดภาษาอังกฤษ ไม่ได้ จึงพูดช้าๆ เน้นทีละคำว่า ทีหลังอย่าขับรถเร็วนักนะ กรุณาดูป้ายด้วยว่า เขาให้ใช้ความเร็วเท่าไหร่ พี่แกก็พยักหน้าหงึกๆ ไม่พูดอะไร คุณตำรวจเลย คืนบัตรให้ และไม่เขียนใบสั่งให้เรา สรุปครั้งนั้น คือรอดตัวไป

เมื่อพี่ๆคนไทย คนอื่นๆ รู้ว่าเราสามคนเดินทางไปขายของตามตลาดนัด ตามเมืองต่างๆในรัฐอลาบามานั้น บางคนแสดงความเป็นห่วงว่า เราสามคนจะเป็นอันตราย เพราะอาจจะหลงไปในเมืองที่เขาเหยียดผิวกันอย่างรุนแรง เนื่องจากอลาบามา เป็นรัฐที่มีประวัติการเหยียดสีผิว แบ่งคนขาว-ดำ สืบเนื่องมาจากสมัยสงครามกลางเมือง หรือ Civil War หลังจากที่ประธานาธิบดีลินคอร์น ได้คิดประกาศเลิกทาส และปลดปล่อยคนดำให้เป็นอิสระ ทำให้รัฐทางใต้ ด้วยการนำของรัฐอลาบาม่า ที่มีเจ้าของทาสผิวดำมากที่สุด ทำการเปิดศึกระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ และส่งให้มีผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก หลังภาคใต้แพ้สงคราม อลาบาม่าจึงต้องจำใจยอมเลิกทาส แต่ความเหลี่ยมล้ำทางสังคมระหว่าง คนขาวและดำ ก็ไม่หมดไปจากรัฐอลาบามา หรือรัฐอื่นๆ ที่อยู่ทางใต้ จึงเกิดการรวมตัวของคนที่นับถือ ลัทธินิยมผิวขาว ที่เรียกกันว่า The Ku Klux Klan ที่รู้จัก หรือนิยมเรียกกันติดปากว่า KKK  หรือ the Klan  ซึ่งหมายถึง การรวมตัวของกลุ่มคน ตั้งกลุ่มลับ ของคนที่มีความคิดรุนแรงในเรื่อง นิยมคนขาว หรือ white supremacy,  ชาตินิยมคนเผ่าพันธ์คนขาว หรือ white nationalism, และกลุ่มคนที่ต่อต้าน การรับผู้อพยพชนชาติอื่น ให้มาเป็นประชาชนของประเทศอเมริกา หรือ anti-immigration  ตามประวัติศาสตร์ของกลุ่ม KKK จะนิยมใช้ความรุนแรง ทั้งการทำร้ายร่างกาย การลอบสังหาร ไม่ว่าจะเป็นคนหนึ่งคน หรือกลุ่มคน ที่พวกเขาคิดว่าแตกต่างจากกลุ่มของเขา ทั้งด้านชนชาติ วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ สีผิว และศาสนา

The Klan กลุ่มแรก ก่อตั้งขึ้นที่เมือง  Pulaski, Tennessee, ในช่วงปี 1865 โดยผู้ก่อตั้งหกคน ที่เป็นทหารปลดประจำการจากกองทหารฝ่ายใต้ ที่เรียกว่า Confederate army  ซึ่งตั้งกลุ่มให้เป็น fraternal social club ซึ่งชื่อกลุ่มเป็นภาษากรีก ซึ่งคำว่า kuklos (κύκλος) แปลว่าวงกลม ซึ่งในที่นี้หมายถึง กลุ่มคน หรือ fraternal organizations ในตอนใต้  แต่ชื่อเสียงของกลุ่มนี้ แผ่วงกว้างเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ในช่วงปี 1871 ซึ่งทางราชการได้รับการแจ้งความว่าในทางตอนใต้ของประเทศ มีกลุ่มคน ลอบทำร้าย และสังหาร ประชาชนผิวสีดำ หรือที่รู้จักกันในนาม African-American  มากมายหลายคดี เนื่องมาจากการเหยียดผิว และการเกลียดชัง ทำให้ประชาชนคนผิวสีดำ มีความหวาดระแวง ในความปลดภัยของตัวเอง ครอบครัว ตลอดจนชุมชนคนผิวสีดำ เป็นอย่างยิ่ง  

ถึงแม้ว่ากรณีการเหยียดผิว และการต่อต้านผู้อพยพ ชาวต่างชาติ ของคนอเมริกันนั้น ได้หยั่งลึกรากแก้วไปในสังคมของอเมริกา หากแต่ว่าโลก สังคมและกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ทำให้คนอเมริกัน รับรู้ข้อมูลมากขึ้น การติดต่อสื่อสารกว้างมากขึ้น และการเรียนรู้ก็เพิ่มมากขึ้นจากแต่ก่อน ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีคนมาเล่าว่า ในเมืองที่เราอยู่นั้น แม้จะเป็นเมืองมหาวิทยาลัย ที่มีนักเรียนนานาชาติ เดินถนนกันขวักไขว่มากมายก็ตาม ก็ยังมีเด็กนักเรียนชาวญี่ปุ่น ผู้ชายคนหนึ่ง ถูกทำร้ายร่างกาย จนบาดเจ็บหนัก ต้องนำส่งโรงพยาบาล เพราะถูกทำร้ายจากกลุ่มคนที่ไม่ชอบชาวต่างชาติ แต่เราทั้งสามก็ยังมั่นใจว่า รัฐอลาบาม่า และประเทศอเมริกา ยุคใหม่ ค.ศ ใหม่นั้น ย่อมมีคนใจดีที่ไม่เหยียดผิว หรือเชื้อชาติ มากกว่าคนที่คิดร้ายอยู่มากมาย  เพราะว่าจากประสบการณ์การเดินทางไปขายของที่ตลาดนัด ไปพบปะผู้คน ของเราสามคน ที่หน้าตาบ่งบอกว่าเป็นเอเชี่ยน แตกต่างกว่าใครๆ ไม่ว่าจะไปที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นที่ในเมืองที่เราอยู่ หรือ ต่างเมือง ที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็มีแต่คนซื้อคนขาย ที่เป็นคนขาวทั้งนั้น หรือแม้แต่ลูกค้าคนขาวที่โกนผมเตียนโล่ง Skin Head พวกเขาเหล่านั้นก็ใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส่ พูดจาเล่นหัว ตลกเฮฮา และต้อนรับพวกเราสามคนเป็นอย่างดี ดังนั้นที่เขาว่า การเดินทางเป็นการเปิดโลกทัศน์นั้น ช่างเป็นความจริงที่สุด

เมื่อทุกๆวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ฉันต้องเดินทางไปขายของในที่ต่างๆแล้วนั้น เวลาว่างในการทำงานเป็นแม่ครัวที่ร้านอาหารไทย จึงมีไม่มากนัก อีกทั้งการเป็นแม่ครัวนั้นมันสุดแสนจะลำบากลำบน ไอ้คนมือห่างเท้าห่างอย่างฉัน จึงไม่เหมาะกับการเป็นแม่ครัว ที่ต้องมีความรู้เรื่องอาหาร และต้องอึด ถึก ทน ฉันเลยลาออกจากการเป็นแม่ครัว แล้วมาตั้งหน้าตั้งตา ขายของที่ตลาดนัดอย่างจริงจัง

แต่การขายของที่ตลาดนัดนั้น ก็ทำได้แค่วันหยุดเสาร์อาทิตย์ แม้ว่าจะทำเงินได้พอควร แต่เวลาว่างๆในวันจันทร์ถึงศุกร์ หลังจากเลิกเรียนแล้ว จะเอาไปทำอะไรหนอ... ฉันคิดอยู่ตั้งนาน จนกระทั่งวันหนึ่งฉันไปเดินเล่นที่มอลล์ เห็นว่าเขามีบูทว่างอยู่ เลยมีความคิดว่า ถ้าได้มาขายของในมอลล์นั้น มันจะเป็นอย่างไงบ้างหนอ...

เกริ่นเรื่องมายาวซะสี่ตอนเลยค่ะ ตอนหน้ามาดูว่าฉันจะทำอย่างไรกับการเปิดร้านกิ๊ปช๊อปในมอลล์ ติดตามดูกันนะคะ ว่ามันจะยาก จะง่ายอย่างไร ฝากติดตามตอนต่อไปนะคะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่