คิดอย่างไรครับ ถ้าจะสนับสนุนให้ออกพระนามบูรพกษัตริยาธิราช (ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์) ที่ทรงราชาภิเษกแล้ว ว่า “พระบาทสมเด็จ”

คิดเห็นอย่างไรครับ ที่ผมอยากจะสนับสนุนให้ออกพระนามบูรพกษัตริยาธิราช(ก่อนรัตนโกสินทร์) ที่ทรงพระบรมราชาภิเษกแล้ว ว่า “พระบาทสมเด็จ” แทนที่ใช้กันในปัจจุบัน

ในฐานะที่ทำงานด้านกฎหมายตามรอยบรรพกุลมาได้สามปี (account ของ ppantip.com นี้ มีเล่นกัน 3 คนนะครับ คือผม ที่เป็นผู้ใช้หลักและเป็นคนสมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการด้วยบัตรประชาชน กับคุณลุงที่เป็นอัยการศาลทหาร และน้องชายที่ทำงานเป็นนักประพันธ์ตำราต่างๆ)

คือว่า ตามหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์บัณฑิต ย่อมต้องเรียนวิชาด้านประวัติศาสตร์เป็นวิชาเลือกหลักอยู่แล้ว และผมก็สนใจทางด้านวิชาทางสังคมศาสตร์นี้เป็นอย่างสูง และยังรักในวิชาชีพที่ต้องทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนเป็นอย่างมาก จึงทำให้ผมชอบศึกษาพงศาวดารฉบับเก่าๆ

แต่แล้วแล้วเกิดความสงสัยบางอย่างขึ้นมาว่า เหตุใด ในพงศาวดาร ถึงได้มีการออกพระนามพ่ออยู่หัวในสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีว่า “พระบาทสมเด็จ”
ซึ่งผิดจากตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการรวมถึงภาษาปากชาวบ้านที่ไม่เคยเห็นมีใครออกพระนามตามนั้น มีให้เห็นก็แต่ขึ้นคำว่าสมเด็จเพียวเพียว

ผมจึงสอบถามครูบาอาจารย์ที่รู้จักกันมาก่อน ถึงสาเหตุความสงสัยนี้จนได้คำตอบมาว่า จริง ๆ แล้วตามพงศาวดารก็ออกพระนามว่าพระบาทกันเกือบทุกพระองค์ ไม่จำเป็นว่าจะต้องออกพระนามว่าพระบาทเฉพาะกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น...
แต่ก็มีเงื่อนไขสำคัญที่สุดก็คือ จะออกพระนามว่าพระบาทได้ก็ต่อเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นทรงพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้วเท่านั้น

ด้วยความรู้ที่ได้รับมา กอปรกับความศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยิ่งยวด ทำให้ผมเกิดความสงสัยสามประการ ดังนี้ครับ

1. ทำไมตำราเรียนทุกหลักสูตร ถึงไม่ออกพนะนามพระมหากษัตริย์ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ว่า “พระบาทสมเด็จ” (เฉพาะที่พงศาวดารระบุว่า ทรงราชาภิเษกแล้ว) และเพราะอะไรถึงออกพระนามขึ้นต้นเพียงคำว่า สมเด็จ อย่างเดียวในทุกพระองค์

2. ถ้าจะมีการสนับสนุนให้หลักสูตรการศึกษา, สื่อมวลชน, ข้าราชการ  และประชาชนทุกคน ร่วมกันออกพระนามบูรพกษัตริยาธิราช ที่ทรงราชาภิเษกแล้ว ว่า “พระบาทสมเด็จ” จะเหมาะสมและถูกควรหรือไม่

3. คิดเห็นอย่างไรบ้างครับ ที่จะมีการสนับสนุนให้มีการออกพระนามตามที่กล่าวมา

ขอบคุณที่มาเสวนาครับ และขอบอกก่อนว่า ผมไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ครับ แต่เพราะความรัก เทิดทูน และศรัทธาต่อพระบารมีในพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ ผมเลยประสงค์ดังกระทู้นี้ครับ

วอนแอดมินเข้าใจด้วยนะครับ



ขอแสดงความนับถือแก่ผู้ให้คำตอบครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 6
สมัยโบราณไม่เคยมีบรรทัดฐานในเรื่องการใช้คำว่า "พระบาทสมเด็จ" ที่ชัดเจนครับ หากพิจารณาตามหลักฐานจริงๆ หลายพระองค์ที่ราชาภิเษกแล้วไม่ใช้ "พระบาทสมเด็จ" ก็มีจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้ราชาภิเษกแต่ใช้ "พระบาทสมเด็จ" ก็มี การขานพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จะต้องรอให้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามราชประเพณีก่อนอย่างในปัจจุบัน เพิ่งมาปรากฏชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ ๖ ครับ


ในพระราชพงศาวดารอยุทธยา กรุงธนบุรี หรือรัตนโกสินทร์ส่วนมากแล้วก็นิยมเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” สลับไปกับการเรียก “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

ในเอกสารทางราชการอย่างกฎหมายตรา ๓ ดวง หลายมาตราที่ตราขึ้นหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงปราบดาภิเษกแล้ว ก็ยังคงเรียกพระองค์ว่า “สมเดจบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว” “สมเดจบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” บางครั้งก็เรียก “พระบาทสมเดจ์บรมนาถบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว” “พระบาทสมเดจบรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” สลับกันไปมา ซึ่งก็ยังพบได้ในกฎหมายที่ตราสมัยรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓

หลายครั้งในหนังสือกฎหมายก็เรียกพระนามรัชกาลที่ ๑ ว่า “สมเดจบรมธรรมิกมหาราชาธิราช” ใกล้เคียงกับที่พระราชพงศาวดารเรียกว่า “สมเดจ์บรมธรรมมฤกมหาราชาธิราชเจ้าอยู่หัว” ไม่มีคำว่าพระบาทนำหน้า

ในจดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ส่วนพระราชปรารภเรื่องการปกครองแผ่นดิน ก็ยังปรากฏเรียกรัชกาลที่ ๓ ว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เรียกรัชกาลที่ ๑ กับรัชกาลที่ ๒ รวมกันว่า “สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์” ในบันทึกเรื่องพระอาการประชวรที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวงศาสนิทที่ประชุมก็ยังเรียกรัชกาลที่ ๓ ว่า “สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว”

จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงปรากฏการใช้คำว่า “พระบาท” ในเอกสารราชการเป็นหลัก ดังที่ปรากฏเรียกว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรืออาจจะใช้พระนามอย่างยาวคือ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ สมมุติเทพยพงศ์ วงศาดิศวรกระษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ ราชาธิราชบรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

อย่างไรก็ตามก็ยังพบว่ามีการไม่ใช้คำว่า “พระบาท” ในบางครั้ง เช่นในพระราชนิพนธ์เรื่อง ทรงมอบพระราชอำนาจในการรักษาพระนคร แด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกพระนามว่า “สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม”

และในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ที่ชำระโดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ก็ออกพระนามหลังจากราชาภิเษกแล้วว่า “สมเด็จพระบรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” แต่ตอนที่จะมีการเชิญให้เสด็จขึ้นครองราชย์หลังรัชกาลที่ ๓ สวรรคตกลับเรียกว่า “พระบาทสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์ พงศ์อิศรกษัตริย์” (ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่ได้ราชาภิเษก)

จึงเห็นได้ว่าตั้งแต่สมัยอยุทธยามาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การใช้คำว่า “พระบาท” ไม่ได้มีข้อบังคับว่าต้องใช้หลังประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างในปัจจุบัน หลายครั้งที่ทรงผ่านพิธีราชาภิเษกแล้วก็ไม่เรียก หรือเรียกตั้งแต่ยังไม่ได้ราชสมบัติก็มี

รายละเอียดอ่านเพิ่งเติมที่ https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1251397944923673:0


ส่วนคำถามที่ถามมา

1. เหตุที่ไม่เรียกกษัตริย์อยุทธยาด้วยคำว่า "พระบาทสมเด็จ" เพราะการเรียกขานส่วนใหญ่นิยมเรียกขานตามพระนามในพระราชพงศาวดารเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีคำว่า "พระบาท" นำหน้าครับ

ทั้งนี้พระนามของพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณมีหลายรูปแบบมาก ทั้งพระนามเต็มอย่างเป็นทางการที่จารึกในสุพรรณบัตร (หาหลักฐานแทบไม่พบ และไม่ค่อยมีคนเรียก) พระนามทางการใช้ในทางราชการต่างๆเช่น พระราชกำหนดกฎหมายต่างๆ  พระนามที่สมมติเรียกอย่างปากตลาดบ้าง หรือพระนามเดิมบ้าง  ส่วนใหญ่ที่เรียกขานในพงศาวดารมักไม่ใช้พระนามที่ใช้อย่างเป็นทางการในพระสุพรรณบัตร แต่เป็นพระนามเดิม หรือพระนามสมมติมากกว่า ซึ่งไม่ใช่พระนามทุกประเภทที่จะใช้คำว่า "พระบาทสมเด็จ"

ส่วนมากแล้วคำว่า "พระบาทสมเด็จ" ใช้เฉพาะกับพระนามที่เป็นทางการเท่านั้น ไม่พบใช้กับพระนามแบบอื่น แต่หลายครั้งก็เรียกเฉพาะ "สมเด็จ" แม้แต่พระนามพระเจ้าแผ่นดินอยุทธยาอย่างยาวซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นพระนามในสุพรรณบัตร หลายพระนามก็ไม่มีคำว่า "พระบาท" นำหน้าครับ เช่น

พระนามสมเด็จพระเอกาทศรถในพงศาวดาร "พระศรีสรรเพ็ชญ สมเดจ์พระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรพรรดิ สวรรคราชาธิบดินทร ธรนินทราธิราช รัตนากาศภาษกรวงษ์ องคบรมาธิเบศตรีภูวเนศวรนารถนายก ดิหลกรัตนราช ชาติอาชญาวไศรย สมุทยตโรมนต์ สากลจักระวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร หริหรินทราธาฎาธิบดี ศรีวิบูลย์คุณรุจิตรฤทธิ ราเมศวรธรรมมิกราชเดโช ไชยพรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวะนาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ มกุฎประเทศคะตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงพระมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา มหาดิหลก ภานพรัตนราชธาณีบูรีรมย์"

อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/พระสรรเพชญ์-๙-องค์-มีหลักฐานเพียง-๓-องค์ผมมีความเห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ด/1110226359040833/


พระเจ้าแผ่นดินสามารถมีพระนามหลากหลาย ตัวอย่างเช่น พระเจ้าทรงธรรม ความจริงเป็นพระนามที่สมมติเรียกขึ้น นอกจากพระเจ้าทรงธรรมก็มีกษัตริย์ใช้หลายพระองค์ใช้พระนามนี้ทั้ง พระเพทราชา พระเจ้าเอกทัศ

กษัตริย์ที่เรารู้จักกันว่า "พระเจ้าทรงธรรม" นั้น ในหลักฐานร่วมสมัยระบุว่าเดิมทรงมีพระนามว่า "พระอินทราชา" เมื่อครองราชย์แล้วพงศาวดารระบุพระนามว่า "สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรม์อันมหาประเสริฐ" ส่วนพระราชสาส์นที่ส่งไปโปรตุเกสระบุพระนามที่เป็นทางการว่า "พระบาทสํเดจเอกทศรุทธอีศวรบรมนารถบรมบ่พีตรพระพุทเจ้าอยูหวั"

ซึ่งรูปแบบของบางพระนามที่เป็นพระนามเดิม  หรือพระนามอย่างปากตลาด (พระเพทราชา พระเจ้าเสือ พระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพระเจ้าอุทุมพร พระเจ้าเอกทัศ) จะมาเรียก "พระบาทสมเด็จ" นำหน้าก็ดูจะไม่ค่อยเหมาะสมครับ โดยเฉพาะพระนามเดิมจริงๆ ในสมัยโบราณไม่เรียกกันด้วยซ้ำ เพราะถือว่าไม่สุภาพครับ ถ้าจะเรียกก๋ใช้เฉพาะพระนามทางการ


2. ด้วยเหตุที่สมัยโบราณ โดยเฉพาะก่อนยุครัตนโกสินทร์ไม่มีบรรทัดฐานการเรียกที่ชัดเจนอย่างที่กล่าวไปแล้ว ก็ควรพิจารณาเรียกไปตามหลักฐานที่ปรากฏครับ ถ้าเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่มีหลักฐานการใช้คำว่า "พระบาท" นำหน้าพระนามจริงก็สมควรเรียกได้ แต่ไม่ใช่ว่าพระนามบางพระองค์ไม่ปรากฏหลักฐานการใช้คำว่า "พระบาท" แล้วไปเรียกเพิ่มเติมเอาเอง หรือไปใช้กับพระนามที่ไม่ถูกรูปแบบเช่นพระนามเดิมหรือพระนามสมมติ อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากบริบทของสมัยโบราณได้มากกว่าครับ  

เช่น พระเพทราชา จริงๆ เป็นบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ทรงเป็นขุนนาง เมื่อครองราชแล้วปรากฏพระนามในพงศาวดารว่า "สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม" ส่วนในพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาเรียกพระนามว่า "พระศรีสรรเพชญสํมเดจพระรามาธิบดีศรีสีนทรบรํมมหาจักรพรรดิษรวรราชาธิราชราเมศวรธรรมิกราชเดโชไชยพรรมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศรโลกเชษฐ วิสุทธมกุฎพุทธางกุรบรมจุลจักรพรรดิษรธรธรรมิกราชาธิราช" ยังไม่พบหลักฐานพระนามที่ใช้คำว่า "พระบาท" (ในทางปฏิบัติคงมี แต่ยังหาไม่พบ) แม้ว่าพงศาวดารจะเรียกขานพระองค์ว่า "พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว" ก็ตาม ก็ไม่ใช่เหตุผลเราจะไปต่อเติมคำว่า "พระบาท" หน้าพระนามต่างๆ ของพระองค์เอาเองครับ

พระนามทางการอาจพอเป็นไปได้ในความเป็นจริง แต่การไปเติมหน้าพระนามอย่างปากตลาดเช่น "พระบาทสมเด็จพระเพทราชา" เป็นการผิดแผกจากบริบทสมัยโบราณอย่างมากครับ

3. ตามที่ตอบในข้อ 2 ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่