สงสัยเรื่องรถไฟความเร็วสูงจีน กับญี่ปุ่นเรื่องระบบรางที่ต้องใช้ร่วมกัน

สงสัยเรื่องรถไฟความเร็วสูงจีน กับญี่ปุ่นเรื่องระบบรางที่ต้องใช้ร่วมกันเนื่องจากเส้นทางที่มีการทับซ้อนเพราะแนวเส้นทางที่มีจำกัด รู้สึกว่า ของจีนกับญี่ปุ่นเค้าคนละระบบยังไง และ จะเอามาใช้ร่วมกันได้หรือไม่ เพราะถ้าเอามาใช้ร่วมกันก็ต้องเลือกมาระบบใดระบบนึง สมมุติว่าให้มาใช้ระบบของจีน ญี่ปุ่นจะยอมเหรอ เพราะเค้าก็คิดว่าของเค้าก็ที่ 1 เหมือนกันทำไมต้องยอม จีนก็คิดว่าของเค้าก็ที่ 1 แล้วก็ยังไม่มีที่ไหนในโลกเค้าทำกัน อนาคตเกิดมีปัญหา ก็คงโทษกันไปมาอีก สุดท้ายก็คงจูนเข้าหากันไม่ได้ ถ้าต้องเลือกระบบใด มันก็ต้องใช้ไปตลอดเส้นทางแหละ จะมาให้ใช้แค่ตรงทางที่ทับซ้อนแค่ 20 กม.แล้วก็เปลี่ยนไปใช้ระบบของตัวเองมันจะได้เหรอ ไม่ใช่รถยนต์ที่กดปุ่มเปลี่ยนจากไฮบริตแล้วเปลี่ยนเป็นน้ำมันนะ
                แทนที่ รฟท. จะให้เจ้าของรถไฟแก้ที่ระบบซึ่งยุ่งยาก ทำไมไม่แก้ทางด้านวิศวกรรมซึ่งง่ายกว่า โดยการวางโครงสร้างรางแบ่งเป็นชั้นซ้อนกันขึ้นไป ชั้นล่างเป็นจีน อีกชั้นนึงเป็นของญี่ปุ่นแยกกันไปเลยแค่นี้ก็จบแล้ว งง มากครับ

จากข่าวนี้
ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่ทับซ้อนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่นช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ตามแนวเส้นทางที่ออกจากสถานีกลางบางซื่อ-ภาชี ระยะทาง 20-30 กิโลเมตรนั้น เนื่องด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ก่อสร้างบริเวณถนนโลคัลโรดเรียบถนนวิภาวดีรังสิตจึงทำให้ก่อสร้างรางรถไฟฟ้าความเร็วสูงนั้นสามารถก่อสร้างได้เพียงรางเดียว
               ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องส่งหนังสือชี้แจงไปยังทางญี่ปุ่นและจีนเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องใช้รางร่วมระบบกันระหว่างเทคโนโลยีจีนและรถไฟชินคันเซ็น ซึ่งยังไม่เคยเกิดที่ไหนมาก่อนในโลก โดยก่อนหน้านี้ทางญี่ปุ่นได้ปฏิเสธที่จะใช้รางร่วมกับทางจีนจึงเป็นปัญหาที่ทางรัฐบาลไทยมีตัวเลือกเพียงคำตอบเดียวเท่านั้นคือต้องวิ่งร่วมในรางเดียวกันระยะทางสั้นๆ ก่อนแยกรางกันไปตามแนวเส้นทางต่อไป
              ด้านแหล่งข่าวจากทางการรถไฟฯ เปิดเผยว่าทางกระทรวงคมนาคมได้ตีกลับแผนรถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าวเพื่อให้ไปศึกษารายละเอียดการก่อสร้างและความคุ้มค่าในการลงทุนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทางการรถไฟฯจะต้องดำเนินการร่างเอกสารและประกวดราคา (TOR) เพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษารายใหม่เข้ามาทบทวนแผนศึกษาที่ทางการรถไฟฯได้เคยทำการศึกษามานานแล้วโดยเฉพาะเรื่องแนวเส้นทางที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลายจุด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาทบทวนแบบมากกว่า 6 เดือน ส่งผลให้โครงการดังกล่าวอาจไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ที่จะมีการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2562 รวมถึงเมื่อศึกษาทบทวนเสร็จแล้วยังต้องส่งเรื่องไปอีกหลายขั้นตอนจึงต้องใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างมาก
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 6
ขออธิบายถึงระบบอาณัติสัญญาณของจีนและญี่ปุ่นละกันครับ

1.ของจีน เนื่องจากเป็นชาติที่มาทีหลัง ข้อได้เปรียบคือก็เลือกของที่มันมีอยู่แล้วเอามาใช้สิ จะเริ่มจาก 0 ให้เสียเวลาทำไม
จีนเลยใช้ CTCS (Chinese Train Control System) ซึ่งมันคือการยก ETCS (European Train Control System) ของยุโรปที่เป็นระบบเปิดมาทั้งดุ้นเลย ทำให้การเอามาใช้งานง่ายกว่ามาก รางจีนทำแต่อนาคตจะซื้อรถยุโรปหรือแคนาดามาวิ่งก็สบายเพราะใช้ระบบ ETCS เหมือนกัน

ไม่แน่ไทยอาจจะร้องขอให้จีนใช้เป็น ETCS ในรถไฟจีนไปเลยด้วยซ้ำ (ตรงนี้ผมไม่มีข้อมูลเหมือนกัน) เพราะอย่างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็น ETCS แล้ว จากเดิมที่จะใช้ ATC ตามผู้ผลิตจากญี่ปุ่น

2.ของญี่ปุ่น เจ้านี้เริ่มต้นด้วยตัวเองมากับสัญญาณตระกูล ATC (Automatic Train Control) พัตนามาตั้งแต่ยุคอะนาล๊อก จนเข้ายุคดิจิตอลในปัจจุบันอย่าง D-ATC, DS-ATC และ ATC-NS

ถ้าเทียบกันง่ายๆ ก็เหมือนจีนใช้แอนดรอยด์ที่เป็นโอเพ่นซอร์ส ส่วนญี่ปุ่นใช้ iOS ที่เป็นระบบปิดของตัวเอง

เรื่องจะให้ทั้งคู่หันมาใช้ ETCS ที่เป็นระบบเปิดนั้น อย่างที่บอกข้างบนว่ากับจีนนั้นน่าจะง่าย เพราะเดิมที CTCS ก็คือ ETCS นั่นแหละ แต่กับของญี่ปุ่นนี่ ถ้าทางเทคนิคแล้วมันทำได้นะครับ รถไฟที่ใช้เทคโนโลยีชินคังเซนรุ่นที่ส่งออกไปขายประเทศอื่นๆ หลายรุ่นก็ใช้ระบบของเจ้าบ้าน เช่นตัวที่ขายให้จีนไปก็ใช้ CTCS หรือตัวที่ขายให้อังกฤษก็ใช้ AWS (Automatic Warning System)

แต่ถ้าญี่ปุ่นยอมให้ใช้ระบบอื่นที่ไม่ใช่ตระกูล Digital ATC ของตัวเอง ญี่ปุ่นก็จะได้ผลประโยชน์ไม่เต็มหน่วยครับ การใช้ระบบกลางนั่นแปลว่าไทยมีอิสระที่จะซื้อรถของใครก็ได้ จ้างใครบำรุงระบบก็ได้ในอนาคต ถ้าญี่ปุ่นสู้ราคาตรงนี้ไม่ได้ก็อดครับ จากเดิมที่จะได้กินเปล่ายาวๆ จะซื้อรถเพิ่มก็ต้องมาซื้อของชั้นคนเดียว เหมือนไปบอกแอปเปิลว่าขอซื้อ iPhone แต่ไม่เอา iOS จะหาแอนดรอยด์ลงเอง เค้าคงไม่อยากจะขายเท่าไหร่

สรุปในความคิดส่วนตัว น่าจะเรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่