CIMBT เตี้ยลง (มาเลเซีย) (โดย อีหล่าน้อย บทความจากเว็บไซต์ Share2Trade)

กระทู้ข่าว
http://www.share2trade.com/index.php?route=content/content&path=9&content_id=3201
    ต้นปี 2560 ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เพิ่มทุนไป 5.5 พันล้านหุ้น ขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม จากราคาพาร์ 0.50 บาท อัตรา 9 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นเพิ่มทุน ในราคา 1.00 บาท ได้เงินสดไปแก้ปัญหาฐานทุนที่ต่ำ หลังจากที่บันทึกงวดบัญชีสิ้นปี 2559 ขาดทุน
    ปีนี้ ผ่านมาอีก 18 เดือน ประกาศเพิ่มทุนอีกครั้งล่าสุด เพื่อแก้ปัญหาเดียวกัน ทั้งที่ไม่ได้ขาดทุน ด้วยการประกาศล่าสุด จะเพิ่มทุน 4.54 พันล้านหุ้น ขาย RO สัดส่วน 20:3 ราคาขายหุ้นละ 0.87 บาท สูงกว่าราคาพาร์ แต่ต่ำกว่าตลาดเล็กน้อย มีคำถามตามมาทันทีว่าเกิดอะไรขึ้นกับธนาคารขนาดเล็กที่กลุ่มทุนจากมาเลเซียถือหุ้นใหญ่รายนี้
    แล้วอนาคตจะต้องเพิ่มทุนอีกกี่ครั้ง ถึงจะ"ถมเต็ม"รับมือการแข่งขันที่เข้มข้น หรือจะต้องเปลี่ยนตัวผู้บริหารอีกกี่คนถึงจะเรียกว่า"เอาอยู่"
    การตัดสินใจของที่ประชุมบอร์ดเพื่อเพิ่มทุนครั้งล่าสุด เกิดขึ้นหลังจากนายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และ ซีอีโอ CIMBT ออกมาเปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานที่ยังมิได้ผ่านการตรวจสอบ สำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 6,795.3 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 412.2 ล้านบาท หรือ 6.5% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2560
    สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 5.2% รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 10.0% และรายได้อื่น 12.6% แต่มีตัวเลขกำไรที่ถดถอยสวนทาง
    กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สงสัยจะสูญลดลง 1.4% เป็นจำนวน 2,921.3 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 13.3% กำไรสุทธิลดลงจำนวน 117.7 ล้านบาท หรือ 24.6% เป็นจำนวน 360.1 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกัน
    สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 1.0%   
    หากพิจารณาฐานที่มาของรายได้ จะพบว่า เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวดหกเดือนปี 2561 และ 2560  รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 258.4 ล้านบาท หรือ 5.2% เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อและการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 89.8 ล้านบาท หรือ 10.0% มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน ค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยและรายได้ธุรกรรมเช่าซื้อ รายได้อื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 63.9 ล้านบาท หรือ 12.6% เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกรรมบริหารเงินเนื่องจากปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นในตลาดที่เอื้ออำนวย
    ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดหกเดือนปี 2561 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2560 เพิ่มขึ้นจำนวน 455.0 ล้านบาทหรือ 13.3% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและขาดทุนจากการขายทรัพย์สินรอการขาย เป็นผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดหกเดือนปี 2561 อยู่ที่ 57.0% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2560 อยู่ที่ 53.6%   
    ประเด็นที่เป็นปัญหามากสุดของ CIMBT ยังคงเป็นเรื่องเดิม นั่นคือการเติบโต เพราะครึ่งแรกของปีนี้ เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 215.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียงแค่  1% เมื่อเทียบกับ เงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยที่ อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็น 95.9% จาก 96.8% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560
    ปัญหารองลงไปคือ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) ยังสูงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.8% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 อยู่ที่ 4.8% เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นในสินเชื่อด้อยคุณภาพของลูกค้าพาณิชย์ธนกิจในงวดหกเดือนปี 2561 และการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2560  แม้ผู้บริหารจะสมอ้างว่า ธนาคารยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม และได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแลและการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบ
    ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 อยู่ที่ 90.1% ลดลงจากสิ้นปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 93.2%  ซึ่งเป็นที่มาของความจำเป็นต้องเพิ่มทุนคราวนี้ เพราะอัตราส่วนดังกล่าวกระทบต่อความสามารถในการปล่อยสินเชื่อเพิ่ม แม้ว่าจะดีขึ้นกว่าตอนเพิ่มทุนครั้งแรกที่เหลือเพียงแค่ 77% เท่านั้น
    มติที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร CIMBT เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1.74 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 1.51 หมื่นล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ 4.54 พันล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (RO) ที่ 20 หุ้นเดิมต่อ 3 หุ้นใหม่ ราคาเสนอขายหุ้นละ 0.87 บาท โดยกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2561 เพื่อพิจารณาเรื่องการเพิ่มทุนดังกล่าวในวันที่ 4 กันยายน 2561
    ว่ากันตามจริงแล้ว การเพิ่มทุนครั้งล่าสุด ไม่ใช่เรื่องเกินเลย หรือน่าแปลกใจ เพราะในการเพิ่มทุนครั้งก่อนเมื่อปี 2560 มีเงื่อนไขกำกับไว้แล้วล่วงหน้าว่า"..การเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 ยังมีระยะเวลา20 เดือน อาจจะมีการเพิ่มทุนได้อีก ขึ้นกับความเหมาะสม.."
    การเพิ่มทุนครั้งล่าสุด จะทำให้ CIMBT มีเงินสดเข้ามาเสริมฐานทุนเพิ่มอีก 3,949.8 พันล้านบาท เติมจากส่วนผู้ถือหุ้นเดิม 3.3 หมื่นล้านบาท จะทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 3.7 หมื่นล้านบาทไม่มากนัก แต่ทำให้เพียงพอกับความต้องการในเรื่องเงินกองทุนเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้สวยงามขึ้น
    การเพิ่มทุนครั้งล่าสุดจึงเป็นการ"ผัดหน้าทาปาก"ให้ตัวเลขความแข็งแกร่งทางการเงินดีขึ้น มากกว่าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างกำไรในอนาคต
    คำถามว่า การเพิ่มทุนจะสำเร็จหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น เพราะ CIMB Bhd. จากมาเลเซียที่ถือครองสัดส่วนหุ้นกว่า 94% ใน CIMBT คงต้องจ่ายเงินชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนเต็มจำนวนเพื่อรักษาสิทธิ์แน่นอน สะท้อนว่ายังคงมุ่งมั่นกับการทำธุรกิจธนาคารในไทยต่อไป ไม่แสดงอาการ"ใจฝ่อ" ท่ามกลางความยากลำบากเพราะแรงเสียดทานที่เข้มข้น จนอัตรากำไรสุทธิเข้าข่ายจมปลักกับความถดถอยเป็น"สาละวันเตี้ยลงๆๆ"มาหลายปีดีดักต่อเนื่อง ไม่มีทีท่ากระเตื้องแต่อย่างใด
    ความอึดของ CIMB กลุ่มการเงินอันดับ 5 ของอาเซียนในการกัดฟันแข่งขันที่ให้ผลตอบแทนลุ่มๆดอนๆ ยาวนานเกือบครบ 10 ปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 ที่เข้ามาลงทุนในตลาดธนาคารพาณิชย์ไทย ที่เป็น"ตลาดปราบเซียน" ต้องถือว่าไม่ธรรมดาจริงๆ
    เหตุผลเพราะ หลังการเพิ่มทุนล่าสุดครั้งนี้ ก็ยังไม่สามารถการันตีได้ว่า CIMBT จะต้องเพิ่มทุนคราวต่อไปอีกหรือไม่ (และมากน้อยเท่าใด) ถ้าหากกำไรและอัตรากำไรสุทธิ รวมทั้งความสามารถปล่อยสินเชื่อ ยังเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย
    สาละวันเตี้ยลง อาจจะไม่เกี่ยวกับมาเลเซียเลยแม้แต่น้อย แต่สถานการณ์ของ CIMBT ยามนี้ และอนาคตอันใกล้ เป็นอย่างอื่นไม่ได้
///////////////////
ขอบคุณบทความจาก
www.facebook.com/Share2Trade/  
www.share2trade.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่