.
บทที่ ๓๗ สุโขทัย วัดสุดท้าย
แสงแดดยามเย็นหน้าพระราชวังช่างอบอุ่น แตกต่างจากบรรยากาศในขุนเขาเจดีย์งามที่ชื้นและชุ่มเย็นด้วยละอองน้ำ แต่จิตใจของทุกผู้คนคล้ายนำความชุ่มฉ่ำเบิกบานกลับเข้าเมืองมาด้วย
สิ่งที่ทุกคนพบเห็นไม่ใช่เพียงการบรรลุฝีมือขั้นสูงสุดของวิชาห้าธาตุ แต่คือความหวังและความฮึกเหิมแห่งการสู้รบของกองทัพสุโขทัย
หลังจากร่วมส่งเสด็จองค์พ่อขุนแล้วเหล่าขุนนางผู้ใหญ่ต่างแยกย้ายไปทำกิจประจำของตน
ขุนวังเสนะทิพเดินตรงมายังท้ายขบวนที่แสงพรายยืนอยู่ข้างม้าของท่าน
“ท่านเห็นฝีมือของขุนกาฬแล้วใช่ไหม...คิดว่าเป็นอย่างไร” ขุนวังกล่าวถามชายหนุ่มทันทีที่มาถึงตัว
“ข้าพเจ้าคิดว่าฝีมือของท่านขุนศึกคงเป็นเอกในแผ่นดินแล้ว” แสงพรายตอบด้วยอาการสงบเสงี่ยม
“อืม...” ขุนวังรับคำในลำคอ สีหน้าอิ่มเอิบด้วยรอยยิ้ม “นึกไม่ถึงว่าสุดท้ายแผ่นดินสุโขทัยก็มีขุนศึกผู้สามารถสำเร็จสุดยอดวิชาการต่อสู้... นับจากพระมหาเถรศรีศรัทธาก็มีขุนกาฬคนนี้ละ ที่มีฝีมือเป็นเอก”
สายตาของแสงพรายเป็นประกายเมื่อได้ยินขุนวังออกพระนาม “พระมหาเถรศรีศรัทธา” จากปกติที่มักสงบปากสงบคำ กลับเอ่ยถามกลับไปว่า
“ขุนกาฬท่านเป็นศิษย์ของพระมหาเถรศรีศรัทธาหรือกระไร ขอรับ”
ขุนวังส่ายหน้า
“คนในรุ่นนี้ ไม่มีผู้ใดจะมีวาสนาได้ร่ำเรียนสุดยอดวิชาของพระมหาเถรศรีศรัทธาหรอก ศิษย์ที่มีฝีมือของพระองค์ท่านต่างออกบวชติดตามสู่กรุงลังกาหมดสิ้น วิชาของพระองค์ที่ตกทอดเหลืออยู่ในสุโขทัยจึงเป็นเพียงวิชาพื้นฐานเท่านั้น ส่วนวิชาห้าธาตุของขุนกาฬเป็นหลักวิชาที่ตกทอดกันมามากกว่าห้าสิบปีจากพระจีนมหายานรูปหนึ่ง
ครั้งนั้นองค์ชายเชื้อวงศ์พระร่วงเสด็จไปเจริญสัมพันธ์ทางการทูตกับเมืองจีนในยุคราชวงศ์หยวนแห่งมองโกล ครั้นเสด็จกลับพระจีนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของชาวมองโกลได้กราบทูลขอติดตามพระองค์กลับมาอยู่สุโขทัย แล้วนำวิชาห้าธาตุผนึกการเคลื่อนไหวของร่างกายมาเผยแพร่ พวกขุนศึกที่เชี่ยวชาญการรบจึงนำมาดัดแปลงรวมเข้ากับพื้นฐานวิชาการต่อสู้ของตน...
กล่าวกันว่าห้าธาตุส่งเสริมและสะกดข่มซึ่งกันและกัน เช่น น้ำให้คุณไม้ ไม้ให้คุณไฟ ไฟให้คุณดิน ดินให้คุณทอง ทองให้คุณน้ำ... แต่ในอีกทางหนึ่ง น้ำสะกดไฟ ไฟสะกดทอง ทองสะกดไม้ ไม้สะกดดิน ดินสะกดน้ำ ดังนั้นหากผู้ใดสามารถผนึกรวม ๕ ธาตุนี้เป็นหนึ่งได้ จะมีพลัง ความเร็ว และความต่อเนื่องในการเคลื่อนไหวสยบทุกสรรพสิ่ง”
ขุนวังกล่าวเล่ายืดยาว คล้ายมีความสุขที่ได้พูดถึงวิชาห้าธาตุ...วิชาสู้รบที่บัดนี้เป็นความหวังในการสยบขุนศึกจากแดนอโยธยา
“นับว่าเป็นวิชาที่ล้ำเลิศพิสดารมาก... ข้าพเจ้าได้ยินมาว่าพระมหาเถรศรีศรัทธาเคยเสด็จกลับมายังสุโขทัย จากนั้นพระองค์ท่านจาริกเสด็จแห่งใดต่อหรือ ขอรับ” แสงพรายไล่เลียงต่อ หาได้สนใจเรื่องวิชาห้าธาตุมากเท่ากับเรื่องของพระมหาเถระ
“เรื่องนี้ก็ลึกลับอยู่ ท่านเสด็จมาจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีชุม องค์พระร่วงพระยาลิไททรงต้องการทำนุบำรุงพระมหาเถระท่าน โปรดให้บูรณะวัดศรีชุมขึ้นเป็นการใหญ่ พระมหาเถระเจ้าจึงทรงกำหนดแบบให้สร้างผนังด้านนอกอีกชั้นล้อมผนังเดิมรอบพระมณฑปใหญ่ ตามแบบวัดแห่งหนึ่งในกรุงลังกา ใช้เวลาอยู่ปีกว่าก็เสร็จสิ้น...แต่แล้วไม่นานพระมหาเถระเจ้าก็จาริกธุดงค์จากไปอย่างเงียบๆ ไม่มีผู้ใดรู้ว่าพระองค์ท่านเสด็จธุดงค์ไปแห่งหนไหน วัดศรีชุมจึงเป็นวัดสุดท้ายที่พระองค์ท่านทรงพำนักในสุโขทัย”
“วัดสุดท้าย...วัดสุดท้ายหรือ...” แสงพรายพลันรำพึงด้วยความพลุ่งพล่าน คล้ายคิดถึงสิ่งใดขึ้นมา
ขุนวังเห็นสีหน้าอันแปลกประหลาดของชายหนุ่ม คำนึงในใจ...คนผู้นี้คล้ายไม่สนใจเรื่องการต่อสู้ แต่ดูสนใจเรื่องพระมหาเถรศรีศรัทธาเป็นพิเศษเกินธรรมดา... คิดแล้วจึงเปลี่ยนเรื่องสนทนา
...และบางทีเป็นเรื่องที่ขุนวังตั้งใจมาบอกกล่าวกับชายหนุ่ม
“ท่านคงเห็นแล้วว่าฝีมืออาวุธของขุนกาฬนั้นล้ำเลิศปานเทพยดา... การที่ขุนกาฬขอให้อัญเชิญองค์หญิงกัณฐิมาศและเชิญตัวท่านไปชมการทดสอบวิชาฝีมือของเขาในวันนี้ ท่านรู้หรือไม่ว่ามีสาเหตุใด”
“ข้าพเจ้ามิกล้าขบคิดถึงสาเหตุนี้ขอรับ”
“เอาละ ท่านนั่งอยู่ห่างไกลจากพลับพลา คงไม่ได้ยินคำกราบบังคมทูลของขุนกาฬหลังการทดสอบเสร็จสิ้น” สีหน้าของขุนวังยังคงดูเหมือนใบหน้าของผู้ใหญ่ที่เมตตายินดีเล่าความให้ผู้น้อยฟัง
“ขุนกาฬกราบทูลขออาสาออกรบต่อกรกับขุนปราบไพรีพ่าย ในศึกอโยธยาครั้งหน้า... และหากเอาชนะขุนปราบและทัพอโยธยาลงได้ จะขอพระราชทานองค์หญิงกัณฐิมาศเป็นบำเหน็จแห่งชัย”
แสงพรายถึงกับตกตะลึง...ในความอุกอาจของขุนกาฬ
“ท่านคงคิดว่าขุนกาฬกระทำการไม่เหมาะสม แต่อันที่จริงองค์พ่อขุนมีพระราชดำริจะพระราชทานองค์หญิงกัญฐิมาศให้อภิเษกสมรสกับขุนกาฬอยู่นานแล้ว เพียงแต่พระนางทรงบ่ายเบี่ยงขัดข้องมาตลอด ครั้งสุดท้ายถึงกับเสด็จหนีออกจากเมืองสุโขทัยกลับไปเมืองน่าน... ขุนกาฬนั้นเป็นชายชาตินักรบองอาจ พูดจาตรงไปตรงมา คิดสิ่งใดก็กราบทูลสิ่งนั้น”
แสงพรายรู้สึกได้ถึงความนิยมยินดีในตัวขุนกาฬจากทุกคน ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นในเวลาอันสั้น ไม่เว้นแม้แต่ขุนวังเสนะทิพ
“แล้วองค์พ่อขุนมีรับสั่งอย่างไรหรือขอรับ”
“องค์พ่อขุนทรงยินดีที่จะพระราชทานให้ตามที่ขุนกาฬกราบทูลขอ แต่องค์หญิงกัณฐิมาศกลับทรงมีข้อแม้ประการหนึ่ง”
“ข้อแม้...”
“ใช่ พระองค์หญิงรับสั่งถึงราชาสิบสองนักษัตร ว่ามีฝีมือเป็นเอกและเคยต่อสู้เพียงลำพังกับขุนปราบมาแล้ว ตัวคนเดียวสามารถยั้งทัพอโยธยาจนล่าถอยไปได้ในศึกครั้งก่อน ทั้งยังช่วยพระชนม์ชีพพระเจ้าผากององค์พระเชษฐาธิราชของพระนาง... จึงรับสั่งให้หาราชาสิบสองนักษัตรมาช่วยเมืองสุโขทัย หากแม้นผู้หนึ่งผู้ใดพิชิตขุนปราบและทัพอโยธยาลงได้ พระนางทรงยินดีที่จะอภิเษกสมรสกับคนผู้นั้น”
“ราชาสิบสองนักษัตร... แล้วทำไมเขาจะต้องช่วยกรุงสุโขทัยต่อสู้กับอโยธยาด้วยขอรับ”
ขุนวังกระหยิ่มยิ้มในใบหน้า ตอบชายหนุ่มว่า
“ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ เราคิดว่าถ้าได้เจอตัวราชาสิบสองนักษัตรจะเกลี้ยกล่อมเขาด้วยลาภยศ แต่จากที่พระนางรับสั่งครั้งนี้ เราเชื่อว่าหากโจษกันไปจนได้ยินถึงราชาสิบสองนักษัตรแล้ว เขาคงจะเสนอตัวเข้ามาอาสารบพุ่งให้สุโขทัยเอง”
“ท่านขุนวังเชื่อเช่นนั้นหรือขอรับ”
“เราไม่เชื่อว่าจะมีชายใดที่ไม่ลุ่มหลงในพระสิริโฉมขององค์หญิงกัณฐิมาศ... ยิ่งเป็นราชาสิบสองนักษัตรผู้ลุ่มหลงในทรัพย์ศฤงคารด้วยแล้ว คงไม่ต้องพูดถึง”
แสงพรายยืนนิ่ง สีหน้าเคร่งเครียดคล้ายคิดสิ่งใดอยู่ในใจ ได้ยินขุนวังกล่าวต่อว่า
“ขุนกาฬอัญเชิญเสด็จองค์หญิงกัณฐิมาศไปชมการทดสอบฝีมือเพื่อสบโอกาสในการกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระองค์หญิงต่อองค์พ่อขุน... ส่วนที่เชิญท่านไปด้วย ท่านทราบสาเหตุหรือยัง”
“คงต้องการให้ข้าพเจ้ารับรู้...ว่าครั้งก่อนที่พลั้งเผลอทำร้ายข้าพเจ้าไปนั้น ได้ยั้งมือไว้มากแล้ว มิเช่นนั้นชีวิตคงดับสิ้น”
ขุนวังส่ายหน้า พ่นลมหายใจ
“สาเหตุคือ..ต้องการให้ท่านรู้ไว้ อย่าได้คิดบังอาจข้องแวะกับองค์หญิงกัณฐิมาศต่างหาก... หาไม่แล้วชีวิตของท่านจะดับสิ้นเหมือนท่อนซุงทั้งสิบนั้น” ขุนวังแก้ไขความเข้าใจให้ชายหนุ่มด้วยน้ำเสียงที่ดังห้วน “ท่านทำอะไรอย่าได้คิดว่าจะเล็ดลอดจากหูตาของขุนกาฬไปได้... หลานชาย ข้าขอเตือนท่านไว้ อนาคตของท่านในวันข้างหน้าอาจได้เป็นถึงช่างใหญ่อันดับหนึ่งของกรุงสุโขทัย เก็บรักษาชีวิตของท่านไว้ให้ดีเถิด อย่าได้เดินในเส้นทางที่ไม่คู่ควรกับตัวท่านเลย”
ที่แท้ขุนกาฬมีใจหมายข่มขวัญแสงพราย
ที่แท้ขุนวังก็เดินเข้ามา หมายตักเตือนแสงพราย
...
อย่าได้คิดข้องแวะกับองค์หญิงกัณฐิมาศอีกต่อไป
-----------------------------------
หลังจากลาขุนวังเสนะทิพแล้ว แสงพรายก็มุ่งตรงกลับสำนักบ้านเงินบ้านทอง แล้วขึ้นไปพบปู่หลวง ครูพิธาน โดยมีพิไล จุกและหญิงสาวจากโรงครัวอีกหนึ่งคนกำลังจัดสำรับอาหารเย็นให้ครูทั้งสองที่กลางโถงชานกว้าง
ปู่หลวงและครูพิธานสอบถามถึงการทดสอบฝีมือของขุนกาฬซึ่งแสงพรายก็เล่าไปตามที่ตนประสบมา
ครูทั้งสองรวมทั้งคนที่อยู่เฝ้าจัดสำรับต่างมีอาการลิงโลดดีใจ เฉกเช่นชาวเมืองสุโขทัยทุกคนที่เฝ้าสดับข่าวนี้ ระหว่างทางที่แสงพรายเดินกลับมาข่าวก็แพร่ไปทั่วแล้วจากปากของทหารและบุคคลผู้ติดตามขบวนเสด็จที่แยกย้ายกลับออกมาก่อนหน้า จนผู้คนนำไปพูดโจษจันขยายความ บางเรื่องฟังดูเกินจริงราวขุนกาฬสามารถลอยตัวอยู่บนสายน้ำได้ก็ปาน
แต่จุดมุ่งหมายแท้จริงที่ชายหนุ่มขึ้นมาเฝ้าปู่หลวงก็คือ...
“พรุ่งนี้ข้าพเจ้าจะผสมดินกับแกลบที่ให้น้าหมานช่วยเผาเตรียมไว้ แล้วจะเอาลงพอกแบบปั้นองค์พระ หลังจากนั้นคงต้องทิ้งไว้ให้แห้ง ๓ วัน ก่อนพอกทับอีกครั้งด้วยดินผสมแกลบขาว ระหว่างที่รอคอย ๓ วันนี้ข้าพเจ้าจะขออนุญาตปู่หลวงและครูพิธานไปถือศีลภาวนาที่วัดอยู่สัก ๓ วัน ๓ คืน ก่อนเริ่มพิธีเททอง จึงมาเรียนขอปู่หลวง ขอรับ”
“อืม ดีแล้ว จะหล่อพระเททอง ผู้กระทำควรต้องชำระกายและใจให้บริสุทธิ์ เพราะองค์พระต่อไปจะเป็นมงคลที่บุคคลกราบไหว้ เจ้าจงไปเถอะเดี๋ยวข้าจะให้พ่อพิธานไปบอกเจ้าอาวาสวัดตระพังทองให้ ช่วงนี้เราเข้าไปซ่อมแซมบูรณะวัดของพระคุณเจ้าอยู่”
“ขอบพระคุณปู่หลวงขอรับ แต่ข้าพเจ้าอยากจะขออนุญาตไปถือศีลที่วัดศรีชุม”
“วัดศรีชุม...ทำไมจึงเป็นวัดนี้” ครูผู้เฒ่าเอ่ยถามด้วยความฉงน “จริงอยู่ แม้ว่าวัดนี้จะอยู่ไม่ไกลจากสำนักเรา แค่เดินต่อออกไปทางเบื้องตะวันตกไม่กี่เพลาก็ถึงแล้ว แต่ข้าหาได้รู้จักพระรู้จักเจ้าในวัดนั้นไม่ พ่อพิธานก็คงไม่รู้จักเช่นกัน อาจไม่สะดวกพูดจาขอให้เจ้าเข้าไปค้างแรมภาวนาได้”
“ข้าพเจ้าตั้งใจไปภาวนาอยู่ในวัดที่เงียบสงบ ไม่มีผู้คนรบกวน หากไปอยู่ที่วัดตระพังทองคงพบเจอพวกช่างของสำนักเราเนืองๆ จะประกอบสมาธิคงยาก อีกอย่างวัดตระพังทองก็อยู่ในเมือง ยามค่ำหากมีสิ่งใดฉุกเฉินใคร่จะกลับมาสำนักก็คงเป็นไปไม่ได้ด้วยประตูกำแพงเมืองปิดตลอดในยามราตรีห้ามผู้ใดเข้าออก มีแต่วัดศรีชุมที่อยู่นอกกำแพงเมือง ไม่ไกลจากสำนักเรานักและเป็นวัดที่เงียบสงบ”
“สงบจนจะเป็นวัดร้างเลยละ” ครูพิธานแทรกขึ้น
“แล้วเจ้าจะไปอยู่วัดเขาได้อย่างไร ข้าหรือพ่อพิธานคงไปขอให้เจ้าไม่ได้หรอก เจ้าคงต้องไปขอด้วยตัวเอง ถ้าไม่ได้เรื่องอย่างไรก็เปลี่ยนมาอยู่วัดพระพายหลวง อยู่นอกกำแพงใกล้สำนักเรา ข้าพอจะพูดให้ได้ แต่ก็อึกทึกครึกโครมสักหน่อย”
“ขอรับปู่หลวง ข้าจะเข้าไปไหว้เจ้าอาวาสและขอเข้าไปอาศัยจำศีลภาวนาด้วยตัวเองขอรับ”
“อืม เอาเถอะ...ข้าตามใจเจ้า”
ปู่หลวงพูดเสร็จคล้ายนึกถึงเรื่องสำคัญใดได้ มองหน้าครูพิธานและทุกคนที่อยู่ในนั้น
“พิไล จุก และแม่รวย พวกเจ้าลงจากเรือนไปก่อน ข้ามีเรื่องสำคัญจะพูดจากับพ่อพรายเขา.. เสร็จแล้วพิไลเจ้าค่อยขึ้นมา”
คนทั้งสามต่างมองหน้ากันเลิ่กลั่ก ลามือจากการจัดเตรียมสำรับอาหาร พากันลงจากเรือนไป
“เอาละ...ครั้งนี้เจ้าจะหล่อองค์พระในนามสำนักบ้านเงินบ้านทอง ข้าจึงอยากจะถ่ายทอดเคล็ดลับบางอย่างไว้ให้กับเจ้า...แม้พ่อพิธานอาจจะเคยบอกเจ้าไว้บ้างแล้ว แต่ข้าอยากกระทำให้ถูกต้องตามธรรมเนียม” ปู่หลวงกล่าวเคร่งขรึม “พวกเจ้าตามข้ามา”
แล้วปู่หลวงก็ลุกขึ้น เดินนำไปยังห้องพระที่อยู่เรือนหอกลาง ติดกับห้องนอนของท่าน
ครูพิธานและแสงพรายก้าวเท้าข้ามธรณีประตูห้องพระที่สูงครึ่งเข่าตามเข้าไป
ทั้งหมดนั่งคุกเข่าลงตรงหน้าโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป ด้านหน้ามีโต๊ะตัวเล็กๆ วางไว้ด้วยห่อผ้าแพรสีเหลืองขลิบทอง... แสงพรายจำได้ดีคือห่อทองคำบริสุทธิ์ที่ได้รับจากขุนวังเมื่อวันวาน ปู่หลวงคงนำมาวางไว้หน้าพระพุทธรูปก่อนจะนำไปหลอมและหล่อขึ้นเป็นองค์พระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง
จากนั้นปู่หลวงนำครูพิธานและแสงพรายสวดมนต์ไหว้พระและกล่าวระลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ในอดีตที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้
“...บัดนี้ ศิลปะวิชาทั้งมวลในการเททองหล่อพระพุทธรูปข้าขอถ่ายทอดให้กับแสงพราย ศิษย์ของพ่อแสงใหญ่พี่ชายข้า” แล้วหันมากล่าวกับชายหนุ่มว่า
(มีต่อ)
ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๓๗ สุโขทัย วัดสุดท้าย
บทที่ ๓๗ สุโขทัย วัดสุดท้าย
แสงแดดยามเย็นหน้าพระราชวังช่างอบอุ่น แตกต่างจากบรรยากาศในขุนเขาเจดีย์งามที่ชื้นและชุ่มเย็นด้วยละอองน้ำ แต่จิตใจของทุกผู้คนคล้ายนำความชุ่มฉ่ำเบิกบานกลับเข้าเมืองมาด้วย
สิ่งที่ทุกคนพบเห็นไม่ใช่เพียงการบรรลุฝีมือขั้นสูงสุดของวิชาห้าธาตุ แต่คือความหวังและความฮึกเหิมแห่งการสู้รบของกองทัพสุโขทัย
หลังจากร่วมส่งเสด็จองค์พ่อขุนแล้วเหล่าขุนนางผู้ใหญ่ต่างแยกย้ายไปทำกิจประจำของตน
ขุนวังเสนะทิพเดินตรงมายังท้ายขบวนที่แสงพรายยืนอยู่ข้างม้าของท่าน
“ท่านเห็นฝีมือของขุนกาฬแล้วใช่ไหม...คิดว่าเป็นอย่างไร” ขุนวังกล่าวถามชายหนุ่มทันทีที่มาถึงตัว
“ข้าพเจ้าคิดว่าฝีมือของท่านขุนศึกคงเป็นเอกในแผ่นดินแล้ว” แสงพรายตอบด้วยอาการสงบเสงี่ยม
“อืม...” ขุนวังรับคำในลำคอ สีหน้าอิ่มเอิบด้วยรอยยิ้ม “นึกไม่ถึงว่าสุดท้ายแผ่นดินสุโขทัยก็มีขุนศึกผู้สามารถสำเร็จสุดยอดวิชาการต่อสู้... นับจากพระมหาเถรศรีศรัทธาก็มีขุนกาฬคนนี้ละ ที่มีฝีมือเป็นเอก”
สายตาของแสงพรายเป็นประกายเมื่อได้ยินขุนวังออกพระนาม “พระมหาเถรศรีศรัทธา” จากปกติที่มักสงบปากสงบคำ กลับเอ่ยถามกลับไปว่า
“ขุนกาฬท่านเป็นศิษย์ของพระมหาเถรศรีศรัทธาหรือกระไร ขอรับ”
ขุนวังส่ายหน้า
“คนในรุ่นนี้ ไม่มีผู้ใดจะมีวาสนาได้ร่ำเรียนสุดยอดวิชาของพระมหาเถรศรีศรัทธาหรอก ศิษย์ที่มีฝีมือของพระองค์ท่านต่างออกบวชติดตามสู่กรุงลังกาหมดสิ้น วิชาของพระองค์ที่ตกทอดเหลืออยู่ในสุโขทัยจึงเป็นเพียงวิชาพื้นฐานเท่านั้น ส่วนวิชาห้าธาตุของขุนกาฬเป็นหลักวิชาที่ตกทอดกันมามากกว่าห้าสิบปีจากพระจีนมหายานรูปหนึ่ง
ครั้งนั้นองค์ชายเชื้อวงศ์พระร่วงเสด็จไปเจริญสัมพันธ์ทางการทูตกับเมืองจีนในยุคราชวงศ์หยวนแห่งมองโกล ครั้นเสด็จกลับพระจีนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของชาวมองโกลได้กราบทูลขอติดตามพระองค์กลับมาอยู่สุโขทัย แล้วนำวิชาห้าธาตุผนึกการเคลื่อนไหวของร่างกายมาเผยแพร่ พวกขุนศึกที่เชี่ยวชาญการรบจึงนำมาดัดแปลงรวมเข้ากับพื้นฐานวิชาการต่อสู้ของตน...
กล่าวกันว่าห้าธาตุส่งเสริมและสะกดข่มซึ่งกันและกัน เช่น น้ำให้คุณไม้ ไม้ให้คุณไฟ ไฟให้คุณดิน ดินให้คุณทอง ทองให้คุณน้ำ... แต่ในอีกทางหนึ่ง น้ำสะกดไฟ ไฟสะกดทอง ทองสะกดไม้ ไม้สะกดดิน ดินสะกดน้ำ ดังนั้นหากผู้ใดสามารถผนึกรวม ๕ ธาตุนี้เป็นหนึ่งได้ จะมีพลัง ความเร็ว และความต่อเนื่องในการเคลื่อนไหวสยบทุกสรรพสิ่ง”
ขุนวังกล่าวเล่ายืดยาว คล้ายมีความสุขที่ได้พูดถึงวิชาห้าธาตุ...วิชาสู้รบที่บัดนี้เป็นความหวังในการสยบขุนศึกจากแดนอโยธยา
“นับว่าเป็นวิชาที่ล้ำเลิศพิสดารมาก... ข้าพเจ้าได้ยินมาว่าพระมหาเถรศรีศรัทธาเคยเสด็จกลับมายังสุโขทัย จากนั้นพระองค์ท่านจาริกเสด็จแห่งใดต่อหรือ ขอรับ” แสงพรายไล่เลียงต่อ หาได้สนใจเรื่องวิชาห้าธาตุมากเท่ากับเรื่องของพระมหาเถระ
“เรื่องนี้ก็ลึกลับอยู่ ท่านเสด็จมาจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีชุม องค์พระร่วงพระยาลิไททรงต้องการทำนุบำรุงพระมหาเถระท่าน โปรดให้บูรณะวัดศรีชุมขึ้นเป็นการใหญ่ พระมหาเถระเจ้าจึงทรงกำหนดแบบให้สร้างผนังด้านนอกอีกชั้นล้อมผนังเดิมรอบพระมณฑปใหญ่ ตามแบบวัดแห่งหนึ่งในกรุงลังกา ใช้เวลาอยู่ปีกว่าก็เสร็จสิ้น...แต่แล้วไม่นานพระมหาเถระเจ้าก็จาริกธุดงค์จากไปอย่างเงียบๆ ไม่มีผู้ใดรู้ว่าพระองค์ท่านเสด็จธุดงค์ไปแห่งหนไหน วัดศรีชุมจึงเป็นวัดสุดท้ายที่พระองค์ท่านทรงพำนักในสุโขทัย”
“วัดสุดท้าย...วัดสุดท้ายหรือ...” แสงพรายพลันรำพึงด้วยความพลุ่งพล่าน คล้ายคิดถึงสิ่งใดขึ้นมา
ขุนวังเห็นสีหน้าอันแปลกประหลาดของชายหนุ่ม คำนึงในใจ...คนผู้นี้คล้ายไม่สนใจเรื่องการต่อสู้ แต่ดูสนใจเรื่องพระมหาเถรศรีศรัทธาเป็นพิเศษเกินธรรมดา... คิดแล้วจึงเปลี่ยนเรื่องสนทนา
...และบางทีเป็นเรื่องที่ขุนวังตั้งใจมาบอกกล่าวกับชายหนุ่ม
“ท่านคงเห็นแล้วว่าฝีมืออาวุธของขุนกาฬนั้นล้ำเลิศปานเทพยดา... การที่ขุนกาฬขอให้อัญเชิญองค์หญิงกัณฐิมาศและเชิญตัวท่านไปชมการทดสอบวิชาฝีมือของเขาในวันนี้ ท่านรู้หรือไม่ว่ามีสาเหตุใด”
“ข้าพเจ้ามิกล้าขบคิดถึงสาเหตุนี้ขอรับ”
“เอาละ ท่านนั่งอยู่ห่างไกลจากพลับพลา คงไม่ได้ยินคำกราบบังคมทูลของขุนกาฬหลังการทดสอบเสร็จสิ้น” สีหน้าของขุนวังยังคงดูเหมือนใบหน้าของผู้ใหญ่ที่เมตตายินดีเล่าความให้ผู้น้อยฟัง
“ขุนกาฬกราบทูลขออาสาออกรบต่อกรกับขุนปราบไพรีพ่าย ในศึกอโยธยาครั้งหน้า... และหากเอาชนะขุนปราบและทัพอโยธยาลงได้ จะขอพระราชทานองค์หญิงกัณฐิมาศเป็นบำเหน็จแห่งชัย”
แสงพรายถึงกับตกตะลึง...ในความอุกอาจของขุนกาฬ
“ท่านคงคิดว่าขุนกาฬกระทำการไม่เหมาะสม แต่อันที่จริงองค์พ่อขุนมีพระราชดำริจะพระราชทานองค์หญิงกัญฐิมาศให้อภิเษกสมรสกับขุนกาฬอยู่นานแล้ว เพียงแต่พระนางทรงบ่ายเบี่ยงขัดข้องมาตลอด ครั้งสุดท้ายถึงกับเสด็จหนีออกจากเมืองสุโขทัยกลับไปเมืองน่าน... ขุนกาฬนั้นเป็นชายชาตินักรบองอาจ พูดจาตรงไปตรงมา คิดสิ่งใดก็กราบทูลสิ่งนั้น”
แสงพรายรู้สึกได้ถึงความนิยมยินดีในตัวขุนกาฬจากทุกคน ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นในเวลาอันสั้น ไม่เว้นแม้แต่ขุนวังเสนะทิพ
“แล้วองค์พ่อขุนมีรับสั่งอย่างไรหรือขอรับ”
“องค์พ่อขุนทรงยินดีที่จะพระราชทานให้ตามที่ขุนกาฬกราบทูลขอ แต่องค์หญิงกัณฐิมาศกลับทรงมีข้อแม้ประการหนึ่ง”
“ข้อแม้...”
“ใช่ พระองค์หญิงรับสั่งถึงราชาสิบสองนักษัตร ว่ามีฝีมือเป็นเอกและเคยต่อสู้เพียงลำพังกับขุนปราบมาแล้ว ตัวคนเดียวสามารถยั้งทัพอโยธยาจนล่าถอยไปได้ในศึกครั้งก่อน ทั้งยังช่วยพระชนม์ชีพพระเจ้าผากององค์พระเชษฐาธิราชของพระนาง... จึงรับสั่งให้หาราชาสิบสองนักษัตรมาช่วยเมืองสุโขทัย หากแม้นผู้หนึ่งผู้ใดพิชิตขุนปราบและทัพอโยธยาลงได้ พระนางทรงยินดีที่จะอภิเษกสมรสกับคนผู้นั้น”
“ราชาสิบสองนักษัตร... แล้วทำไมเขาจะต้องช่วยกรุงสุโขทัยต่อสู้กับอโยธยาด้วยขอรับ”
ขุนวังกระหยิ่มยิ้มในใบหน้า ตอบชายหนุ่มว่า
“ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ เราคิดว่าถ้าได้เจอตัวราชาสิบสองนักษัตรจะเกลี้ยกล่อมเขาด้วยลาภยศ แต่จากที่พระนางรับสั่งครั้งนี้ เราเชื่อว่าหากโจษกันไปจนได้ยินถึงราชาสิบสองนักษัตรแล้ว เขาคงจะเสนอตัวเข้ามาอาสารบพุ่งให้สุโขทัยเอง”
“ท่านขุนวังเชื่อเช่นนั้นหรือขอรับ”
“เราไม่เชื่อว่าจะมีชายใดที่ไม่ลุ่มหลงในพระสิริโฉมขององค์หญิงกัณฐิมาศ... ยิ่งเป็นราชาสิบสองนักษัตรผู้ลุ่มหลงในทรัพย์ศฤงคารด้วยแล้ว คงไม่ต้องพูดถึง”
แสงพรายยืนนิ่ง สีหน้าเคร่งเครียดคล้ายคิดสิ่งใดอยู่ในใจ ได้ยินขุนวังกล่าวต่อว่า
“ขุนกาฬอัญเชิญเสด็จองค์หญิงกัณฐิมาศไปชมการทดสอบฝีมือเพื่อสบโอกาสในการกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระองค์หญิงต่อองค์พ่อขุน... ส่วนที่เชิญท่านไปด้วย ท่านทราบสาเหตุหรือยัง”
“คงต้องการให้ข้าพเจ้ารับรู้...ว่าครั้งก่อนที่พลั้งเผลอทำร้ายข้าพเจ้าไปนั้น ได้ยั้งมือไว้มากแล้ว มิเช่นนั้นชีวิตคงดับสิ้น”
ขุนวังส่ายหน้า พ่นลมหายใจ
“สาเหตุคือ..ต้องการให้ท่านรู้ไว้ อย่าได้คิดบังอาจข้องแวะกับองค์หญิงกัณฐิมาศต่างหาก... หาไม่แล้วชีวิตของท่านจะดับสิ้นเหมือนท่อนซุงทั้งสิบนั้น” ขุนวังแก้ไขความเข้าใจให้ชายหนุ่มด้วยน้ำเสียงที่ดังห้วน “ท่านทำอะไรอย่าได้คิดว่าจะเล็ดลอดจากหูตาของขุนกาฬไปได้... หลานชาย ข้าขอเตือนท่านไว้ อนาคตของท่านในวันข้างหน้าอาจได้เป็นถึงช่างใหญ่อันดับหนึ่งของกรุงสุโขทัย เก็บรักษาชีวิตของท่านไว้ให้ดีเถิด อย่าได้เดินในเส้นทางที่ไม่คู่ควรกับตัวท่านเลย”
ที่แท้ขุนกาฬมีใจหมายข่มขวัญแสงพราย
ที่แท้ขุนวังก็เดินเข้ามา หมายตักเตือนแสงพราย
...อย่าได้คิดข้องแวะกับองค์หญิงกัณฐิมาศอีกต่อไป
-----------------------------------
หลังจากลาขุนวังเสนะทิพแล้ว แสงพรายก็มุ่งตรงกลับสำนักบ้านเงินบ้านทอง แล้วขึ้นไปพบปู่หลวง ครูพิธาน โดยมีพิไล จุกและหญิงสาวจากโรงครัวอีกหนึ่งคนกำลังจัดสำรับอาหารเย็นให้ครูทั้งสองที่กลางโถงชานกว้าง
ปู่หลวงและครูพิธานสอบถามถึงการทดสอบฝีมือของขุนกาฬซึ่งแสงพรายก็เล่าไปตามที่ตนประสบมา
ครูทั้งสองรวมทั้งคนที่อยู่เฝ้าจัดสำรับต่างมีอาการลิงโลดดีใจ เฉกเช่นชาวเมืองสุโขทัยทุกคนที่เฝ้าสดับข่าวนี้ ระหว่างทางที่แสงพรายเดินกลับมาข่าวก็แพร่ไปทั่วแล้วจากปากของทหารและบุคคลผู้ติดตามขบวนเสด็จที่แยกย้ายกลับออกมาก่อนหน้า จนผู้คนนำไปพูดโจษจันขยายความ บางเรื่องฟังดูเกินจริงราวขุนกาฬสามารถลอยตัวอยู่บนสายน้ำได้ก็ปาน
แต่จุดมุ่งหมายแท้จริงที่ชายหนุ่มขึ้นมาเฝ้าปู่หลวงก็คือ...
“พรุ่งนี้ข้าพเจ้าจะผสมดินกับแกลบที่ให้น้าหมานช่วยเผาเตรียมไว้ แล้วจะเอาลงพอกแบบปั้นองค์พระ หลังจากนั้นคงต้องทิ้งไว้ให้แห้ง ๓ วัน ก่อนพอกทับอีกครั้งด้วยดินผสมแกลบขาว ระหว่างที่รอคอย ๓ วันนี้ข้าพเจ้าจะขออนุญาตปู่หลวงและครูพิธานไปถือศีลภาวนาที่วัดอยู่สัก ๓ วัน ๓ คืน ก่อนเริ่มพิธีเททอง จึงมาเรียนขอปู่หลวง ขอรับ”
“อืม ดีแล้ว จะหล่อพระเททอง ผู้กระทำควรต้องชำระกายและใจให้บริสุทธิ์ เพราะองค์พระต่อไปจะเป็นมงคลที่บุคคลกราบไหว้ เจ้าจงไปเถอะเดี๋ยวข้าจะให้พ่อพิธานไปบอกเจ้าอาวาสวัดตระพังทองให้ ช่วงนี้เราเข้าไปซ่อมแซมบูรณะวัดของพระคุณเจ้าอยู่”
“ขอบพระคุณปู่หลวงขอรับ แต่ข้าพเจ้าอยากจะขออนุญาตไปถือศีลที่วัดศรีชุม”
“วัดศรีชุม...ทำไมจึงเป็นวัดนี้” ครูผู้เฒ่าเอ่ยถามด้วยความฉงน “จริงอยู่ แม้ว่าวัดนี้จะอยู่ไม่ไกลจากสำนักเรา แค่เดินต่อออกไปทางเบื้องตะวันตกไม่กี่เพลาก็ถึงแล้ว แต่ข้าหาได้รู้จักพระรู้จักเจ้าในวัดนั้นไม่ พ่อพิธานก็คงไม่รู้จักเช่นกัน อาจไม่สะดวกพูดจาขอให้เจ้าเข้าไปค้างแรมภาวนาได้”
“ข้าพเจ้าตั้งใจไปภาวนาอยู่ในวัดที่เงียบสงบ ไม่มีผู้คนรบกวน หากไปอยู่ที่วัดตระพังทองคงพบเจอพวกช่างของสำนักเราเนืองๆ จะประกอบสมาธิคงยาก อีกอย่างวัดตระพังทองก็อยู่ในเมือง ยามค่ำหากมีสิ่งใดฉุกเฉินใคร่จะกลับมาสำนักก็คงเป็นไปไม่ได้ด้วยประตูกำแพงเมืองปิดตลอดในยามราตรีห้ามผู้ใดเข้าออก มีแต่วัดศรีชุมที่อยู่นอกกำแพงเมือง ไม่ไกลจากสำนักเรานักและเป็นวัดที่เงียบสงบ”
“สงบจนจะเป็นวัดร้างเลยละ” ครูพิธานแทรกขึ้น
“แล้วเจ้าจะไปอยู่วัดเขาได้อย่างไร ข้าหรือพ่อพิธานคงไปขอให้เจ้าไม่ได้หรอก เจ้าคงต้องไปขอด้วยตัวเอง ถ้าไม่ได้เรื่องอย่างไรก็เปลี่ยนมาอยู่วัดพระพายหลวง อยู่นอกกำแพงใกล้สำนักเรา ข้าพอจะพูดให้ได้ แต่ก็อึกทึกครึกโครมสักหน่อย”
“ขอรับปู่หลวง ข้าจะเข้าไปไหว้เจ้าอาวาสและขอเข้าไปอาศัยจำศีลภาวนาด้วยตัวเองขอรับ”
“อืม เอาเถอะ...ข้าตามใจเจ้า”
ปู่หลวงพูดเสร็จคล้ายนึกถึงเรื่องสำคัญใดได้ มองหน้าครูพิธานและทุกคนที่อยู่ในนั้น
“พิไล จุก และแม่รวย พวกเจ้าลงจากเรือนไปก่อน ข้ามีเรื่องสำคัญจะพูดจากับพ่อพรายเขา.. เสร็จแล้วพิไลเจ้าค่อยขึ้นมา”
คนทั้งสามต่างมองหน้ากันเลิ่กลั่ก ลามือจากการจัดเตรียมสำรับอาหาร พากันลงจากเรือนไป
“เอาละ...ครั้งนี้เจ้าจะหล่อองค์พระในนามสำนักบ้านเงินบ้านทอง ข้าจึงอยากจะถ่ายทอดเคล็ดลับบางอย่างไว้ให้กับเจ้า...แม้พ่อพิธานอาจจะเคยบอกเจ้าไว้บ้างแล้ว แต่ข้าอยากกระทำให้ถูกต้องตามธรรมเนียม” ปู่หลวงกล่าวเคร่งขรึม “พวกเจ้าตามข้ามา”
แล้วปู่หลวงก็ลุกขึ้น เดินนำไปยังห้องพระที่อยู่เรือนหอกลาง ติดกับห้องนอนของท่าน
ครูพิธานและแสงพรายก้าวเท้าข้ามธรณีประตูห้องพระที่สูงครึ่งเข่าตามเข้าไป
ทั้งหมดนั่งคุกเข่าลงตรงหน้าโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป ด้านหน้ามีโต๊ะตัวเล็กๆ วางไว้ด้วยห่อผ้าแพรสีเหลืองขลิบทอง... แสงพรายจำได้ดีคือห่อทองคำบริสุทธิ์ที่ได้รับจากขุนวังเมื่อวันวาน ปู่หลวงคงนำมาวางไว้หน้าพระพุทธรูปก่อนจะนำไปหลอมและหล่อขึ้นเป็นองค์พระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง
จากนั้นปู่หลวงนำครูพิธานและแสงพรายสวดมนต์ไหว้พระและกล่าวระลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ในอดีตที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้
“...บัดนี้ ศิลปะวิชาทั้งมวลในการเททองหล่อพระพุทธรูปข้าขอถ่ายทอดให้กับแสงพราย ศิษย์ของพ่อแสงใหญ่พี่ชายข้า” แล้วหันมากล่าวกับชายหนุ่มว่า
(มีต่อ)