ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๔๙ องค์หญิงกัณฐิมาศสางคดี

.
                                                  

บทที่ ๔๙ องค์หญิงกัณฐิมาศสางคดี

ความวุ่นวายในสำนักบ้านเงินบ้านทองเกิดขึ้นเพราะความกลัว

กลัวในราชภัยเพราะทองคำพระราชทานสูญหาย.. กระทั่งกลายเป็นความโกรธเกลียด พุ่งเข้าทำร้ายแสงพราย
บัดนี้ร่างที่หมดสตินั้นถูกย้ายออกไปยังวัดศรีชุม
บนเรือนใหญ่เหลือเพียงปู่หลวง ครูพิธาน พิไล และอิสตรีคนสำคัญ ผู้อาสาเข้ามาสางคดี

หากจะมีอิสตรีใดที่บันดาลให้ผู้คนลุ่มหลงในความงาม และศิโรราบในสติปัญญาที่ชาญฉลาด.. ทั่วอาณาจักรสุโขทัยและเมืองน่าน คงมีแต่องค์หญิงกัณฐิมาศ

“สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องจัดการอย่างเข้มงวด คือเรื่องทองคำพระราชทานที่สูญหายต้องปิดเป็นความลับ.. เรื่องนี้ถ้าแพร่ออกไป จะทำให้ทุกอย่างยุ่งยากขึ้น” องค์หญิงกัณฐิมาศรับสั่งขึ้น

“เรื่องนี้พระองค์ไม่ต้องทรงเป็นห่วง เกล้ากระหม่อมได้กำชับกับทุกคนในสำนักไว้หมดแล้ว ห้ามแพร่งพรายเรื่องทองสูญหายออกไปเด็ดขาด” ครูพิธานกราบทูล
“แต่สิ่งที่เราต้องการมากกว่านั้นคือ ห้ามทุกคนออกนอกสำนักเด็ดขาด ไม่ว่าจะมีเรื่องราวใด จนกว่าจะพบทอง”
ครูพิธานมีสีหน้าหนักใจ แต่มิกล่าวกระไร

“ท่านคงเป็นห่วงงานบูรณะวัดตระพังทอง ใช่หรือไม่”
“พระเจ้าค่ะ การบูรณะทั้งหมดใกล้จะเสร็จแล้ว เหลืองานอีกไม่มาก.. หากแต่ทางวังหลวงต้องการให้ดำเนินการเสร็จสิ้นก่อนออกพรรษา อย่างช้าก็ต้องเสร็จงานก่อนวันขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๑๑ พระเจ้าค่ะ”

“ถ้าอย่างนั้น ท่านลดจำนวนช่างให้เหลือน้อยที่สุด จะได้ควบคุมโดยง่ายไม่ให้ไปพูดจากับคนข้างนอก ท่านจัดช่างได้น้อยที่สุดเท่าไหร่”
ครูพิธานถอนใจ ท่าทางอึกอัก ปู่หลวงจึงกล่าวขึ้น
“ล่าสุดเจ้านำช่างไปหลายคน แต่งานที่สำคัญที่สุดคืองานปูนปั้นซุ้มประตูกำแพง ตอนนี้เสร็จไปเสาหนึ่งแล้ว เหลืออยู่อีกหนึ่งเสาที่ต้องใช้เวลาสัก ๗ วัน งานที่เหลือก็เป็นงานทาสีกับปูพื้นทางเดิน ไม่ใช่งานฝีมือ ใช้ช่างเพียง ๑๐ คนก็คงจะเสร็จภายใน ๗ วันเช่นกัน”

องค์หญิงกัณฐิมาศทรงรำลึกถึงวันแรกที่เสด็จกลับเมืองสุโขทัยและทอดพระเนตรเห็นแสงพรายตรงเสาซุ้มประตูกำแพง...
“งานปูนปั้นทั้งสองเสาที่ซุ้มประตู เหตุใดจึงเสร็จไม่พร้อมกันหรือ”

ครูพิธานมีอาการกระอักกระอ่วน ก่อนกราบทูลว่า
“เดิมทีงานปูนปั้นนั้นได้มอบหมายให้ช่างมีฝีมือ ๒ คนไปดำเนินการคนละฝั่งเสาประตู คือบุญจันกับคำแปง ต่อมาพ่อปู่ได้มอบหมายให้แสงพรายเป็นคนทำแทนคำแปง งานก็ลุล่วงไปด้วยดี จนเมื่อแสงพรายถูกคาดโทษต้องไปประจำรับใช้ที่พระตำหนักของพระองค์แล้วบาดเจ็บ คำแปงจึงต้องกลับมารับทำงานต่อ แต่...”

“แต่ศิษย์รักของเจ้าก็ทุบทำลายงานก่อปูนของแสงพรายไปหมดสิ้น ต้องเสียเวลาก่อกันใหม่” ปู่หลวงกล่าวขึ้น เมื่อครูพิธานมีอาการอ้ำอึ้ง

“คำแปงริษยาแสงพรายหรือ” รับสั่งถามด้วยพระสุรเสียงราบเรียบ
“คงเป็นอาการของช่างซึ่งบางครั้งยากจะรับช่วงงานต่อจากช่างคนอื่น.. จึงทุบกระเทาะงานที่แสงพรายทำไว้” ครูพิธานมิกราบทูลตอบโดยตรง “แต่แสงพรายก่อชิ้นงานไว้แน่นหนา พอไปกะเทาะออกจึงเซาะหลุดไปถึงฐาน เลยต้องเสียเวลาก่อฐานใหม่ก่อนก่อรูปปูนปั้นวางลงอีกครั้ง พระเจ้าค่ะ”

องค์หญิงกัณฐิมาศทรงครุ่นคิดสิ่งใดอยู่สักครู่ จากนั้นรับสั่งว่า
“วันนี้ขึ้น ๑ ค่ำ ท่านยังมีเวลาเหลืออยู่ ๑๐ วันสำหรับงานบูรณะวัดตระพังทอง.. เราอยากให้ท่านจัดคนไปทำงาน ๗ คนสำหรับงานทาสีและปูพื้น ส่วนคำแปงให้เว้นไว้ก่อนสัก ๒ วัน อย่าเพิ่งให้ไป และให้นายหมานเป็นคนกำกับห้ามช่างพูดจากับคนนอกสำนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวใดก็ตาม... อีกอย่าง วันนี้ทุกคนต้องอยู่ที่สำนัก เรามีเรื่องจะให้ทุกคนกระทำ”

ในเมื่อปู่หลวงคำนวนว่าช่าง ๑๐ คนสามารถทำงานทาสีและปูพื้นเสร็จภายใน ๗ วัน... องค์หญิงจึงรับสั่งในทางสลับกันให้ช่าง ๗ คนทำงาน ๑๐ วันเพื่อจำกัดจำนวนคนที่ต้องออกนอกสำนักให้น้อยที่สุด ส่วนงานของคำแปงซึ่งคำนวนว่าต้องใช้เวลา ๗ วันก็ให้เว้นไป ๒ วันแล้วค่อยใช้เวลา ๘ วันในช่วงท้ายทำงาน...

ครูพิธานเงียบเฉย แต่ปู่หลวงตอบรับพระดำรัสทันที
“พระเจ้าค่ะ”

------------------------------

เรื่องที่สองที่องค์หญิงทรงกระทำคือการสำรวจเรือนหลังใหญ่...

สำนักบ้านเงินบ้านทองอยู่ทางทิศเหนือนอกกำแพงเมืองสุโขทัย อยู่ฝั่งใต้ของถนนเลียบคูแม่โจน ตัวเรือนหลังใหญ่อยู่เยื้องจากประตูรั้วไปทางทิศตะวันตก มีหอหน้าซึ่งเป็นเรือนอาศัยของครูพิธานและบุตรสาวอยู่ด้านทิศเหนือใกล้แนวรั้ว กลางเรือนใหญ่คือโถงชานกว้างมีบันไดขึ้นเรือนอยู่ทางทิศตะวันออก ดังนั้นเมื่อเข้าประตูรั้วมาก็สามารถเดินตรงไปขึ้นบันไดเรือนได้ ด้านทิศใต้คือหอกลางที่มีห้องนอนปู่หลวงและห้องพระ...

ด้านทิศตะวันตกของเรือนเป็นชานนอกที่ต่อออกไปแล้ววกอ้อมติดกับผนังห้องพระ มีโอ่งใส่น้ำวางเรียงราย น้ำฝนรองจากหลังคาสำหรับดื่มกิน ส่วนโอ่งน้ำชำระล้างจะมีนายหมานและจุกเป็นคนคอยตักเติม นายหมานตักน้ำส่งลำเลียงขึ้นมาจากเบื้องล่างและจุกคอยรับช่วงต่อบนเรือน ถัดไปจากโอ่งน้ำมิห่างนักมีไม้กวาด ถังเปล่าพร้อมผ้าสำหรับเช็ดถูวางซ้อนอยู่

ชาวเมืองสุโขทัยนอนหันศีรษะไปทางทิศใต้ตามทิศเขาหลวงที่ปรากฏเป็นรูปพระนอนในแนวเหนือใต้ โดยพระเศียรอยู่เบื้องทิศใต้พระบาทอยู่เบื้องทิศเหนือ

ดังนั้นห้องนอนของปู่หลวงจึงจัดฟูกนอนหันศีรษะไปทางผนังเรือนด้านทิศใต้ หันปลายเท้าเข้าโถงชานกว้าง ส่วนห้องนอนของครูพิธานกับบุตรสาว หันศีรษะเข้าโถงชานกว้างหันปลายเท้าสู่ผนังห้องทิศเหนือ...

หากแต่ห้องที่องค์หญิงกัณฐิมาศเสด็จเข้าไปสำรวจห้องแรกคือ ห้องพระ

เมื่อเปิดประตูเข้าไปก็พบเห็นโต๊ะหมู่บูชา จัดวางชิดติดผนังด้านตรงข้ามปากประตู หันหน้าพระพุทธรูปมาทางโถงชานกว้าง ด้านหน้ามีโต๊ะตัวเตี้ย วางไว้ด้วยห่อผ้าแพรสีเหลืองขลิบทอง...

“ในห่อผ้าแพรนี้คือทองคำพระราชทานสำหรับหล่อองค์พระพุทธรูป พระเจ้าค่ะ” ปู่หลวงกราบทูล มีพ่อครูพิธานและพิไลคอยประคองร่างผู้เฒ่าที่ไร้เรี่ยวแรง

“ขอเราเปิดดูห่อผ้าได้หรือไม่”
“เชิญพระองค์เปิดได้เลย พระเจ้าค่ะ”

องค์หญิงกัณฐิมาศทรงคุกพระชานุ (เข่า) ลง พนมพระหัตถ์ขึ้นไหว้พระพุทธรูป แล้วทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปแก้ปมผ้าแพรขลิบทองที่ผูกรวบชายเข้าด้วยกันออก ข้างในมีทองแท่งจำนวน ๕ แท่ง ขนาดยาวเกือบเท่าฝ่ามือ กว้าง ๒ นิ้ว หนาประมาณ ๓ กระเบียด (๑ นิ้วไทย มี ๔ กระเบียด, ๑ นิ้วไทย = ๒.๐๘๓ เซนติเมตร)

ยกเว้นอยู่แท่งหนึ่งซึ่งปลายหักไปเหลือความยาวเพียง ๒ ใน ๓ ส่วน แต่ละแท่งมีรอยร่องลึกเป็นรูปตราท้องพระคลังหลวงกรุงสุโขทัย

“ตอนที่ได้รับพระราชทานมามีทั้งหมด ๙ แท่ง ส่วนแท่งสั้นที่หักนั้น แสงพรายมาเบิกเอาไปหักหล่อทำสลักเพื่อยึดตรึงแบบองค์พระ แล้วคืนส่วนที่เหลือนี้มา พระเจ้าค่ะ” ปู่หลวงที่บัดนี้คุกเข่าลงพร้อมครูพิธานและพิไล กราบทูลขึ้น

ทรงหยิบทองขึ้นมาทีละแท่ง ซึ่งน้ำหนักไม่ได้น้อยเลย
“แสดงว่าทองหายไป ๔ แท่ง”
“พระเจ้าค่ะ” ปู่หลวงกราบทูลสั้นๆ แต่น้ำเสียงบ่งบอกถึงความเศร้าในใจผู้เฒ่า

องค์หญิงทรงพินิจผ้าแพรสีเหลืองที่ห่อทองพบรอยคราบเศษผงทองเล็กๆ ติดอยู่ ทรงใช้พระดรรชนีข้างขวากดปาดคราบเศษทองนั้น สักครู่ทรงหยิบทองแท่งที่หักขึ้นมาอีกครั้ง คราวนี้ใช้พระดรรชนีลูบถูบริเวณรอยหัก ทรงกระทำสลับไปมา ๒-๓ ครั้งจึงวางทองลงแล้วผูกผ้าแพรเก็บไว้ดังเดิม

“หน้าต่างทั้งสี่บานนี้ได้เปิดไว้หรือไม่”
รับสั่งถามถึงหน้าต่างที่ปิดสลักลงกลอน อยู่ตรงผนังด้านหลังโต๊ะหมู่บูชา ๒ บาน และอยู่ตรงผนังด้านข้างติดนอกชาน ๒ บาน

“เดิมเคยเปิดให้ลมถ่ายเททุกเช้า พอแดดส่องช่วงบ่ายเข้ามาทางนอกชานก็จะปิดลง... นับตั้งแต่รับทองมา เกล้ากระหม่อมก็ปิดตายหน้าต่างทั้งสี่บานนี้ตลอด แม้แต่ประตูก็คล้องสลักกุญแจปิดไว้ตลอดเวลา พระเจ้าค่ะ”

“ปู่ครูสวดมนต์ในห้องพระเป็นประจำหรือไม่”

“เกล้ากระหม่อมสวดมนต์ทุกค่ำคืน เดิมเคยสวดในห้องพระ พอรับทองมาก็เปลี่ยนเป็นสวดมนต์ในห้องนอนแทน...เพราะไม่อยากไขกุญแจเปิดห้องพระในยามค่ำคืน พระเจ้าค่ะ”
“เราเข้าใจ” ทรงพยักพระพักตร์เล็กน้อย

การที่ปู่ครูไม่เข้าไปสวดมนต์ภาวนาในห้องพระยามค่ำคืน แสดงว่าปู่ครูเป็นคนที่รอบคอบ แม้จะวางใจศิษย์ในสำนักแต่ก็ไม่เปิดช่องให้คนละโมบเห็นโอกาสจากกิจวัตรประจำวันของท่านเข้ามาปล้นชิง หรือบางทีอาจเป็นคนนอกสำนักที่รู้กิจวัตรยามค่ำของท่านจากศิษย์ภายในก็เป็นได้

“ช่องลมถี่และเล็กเกินกว่าจะสอดแท่งทองออกไปได้ พระเจ้าค่ะ”
ครูพิธานกราบทูลขึ้น เมื่อเห็นองค์หญิงกัณฐิมาศทรงแหงนพระพักตร์ขึ้นทอดพระเนตรช่องลมด้านบนของผนังทั้งสี่ด้าน ที่ใช้ไม้หน้ากว้างสองนิ้วตีเว้นช่องห่างให้ลมผ่าน อยู่สูงขึ้นไปสัก ๑ วาครึ่ง (๓ เมตร)

“ท่านแน่ใจหรือ”
“พระเจ้าค่ะ เกล้ากระหม่อมยังได้ปีนขึ้นไปทดลองสอดแท่งทองด้วยตนเอง แต่ช่องว่างเพียงครึ่งนิ้ว (ครึ่งนิ้วไทยคือ ๒ กระเบียด) ไม่สามารถลอดทองที่หนา ๓ กระเบียดออกไปได้.. อีกทั้งได้ทดสอบเขย่าซี่ไม้ทุกซี่ ก็อยู่ในสภาพที่แข็งแรงดี”

“ท่านปู่ครูให้คนตีช่องลมถี่ปานนี้ คงกลัวนกจะบินเข้ามาในห้องกระมัง”

“พระเจ้าค่ะ.. บ้านคนทั่วไปจะตีช่องลมห่าง แต่พวกเกล้ากระหม่อมเป็นช่าง ไม่ชอบให้นกเข้ามาภายใน เกรงสิ่งของที่ลงรักลงยาจะเสียหาย ทุกห้องหับจึงตีช่องลมถี่กว่าเรือนของคนทั้งหลาย พระเจ้าค่ะ”

ในห้องยังมีตู้ไม้เก่า บานตู้แกะลายดอกบัวเหนือน้ำ มีเต่าและปลาอยู่ด้านล่าง เมื่อไขกุญแจเปิดดู พบข้างในเก็บสิ่งของมีค่ารวมทั้งตำรางานช่าง ดูจากคราบฝุ่นบางๆ ก็ทราบว่าไม่มีสิ่งใดถูกเคลื่อนย้ายมาได้สักระยะหนึ่ง

ทรงตรวจดูฝาผนังเรือนและพื้นห้อง...

“พิไลช่วยปิดประตูแต่ไม่ต้องลงกลอน”
“เพคะ” พิไลผละจากการประคองปู่หลวง รีบไปปิดประตูตามรับสั่ง

ห้องพระพลันมืดสลัวลง แต่ไม่ได้มืดสนิทด้วยมีแสงสว่างสะท้อนเรืองเข้ามาทางช่องลมด้านบน
ขอบวงกบหน้าต่างบางแห่งเห็นแสงรำไรเล็กๆ ลอดเข้ามาตามช่องรอยต่อไม้ที่ประกบไม่สนิท ทรงเข้าไปขยับแผ่นวงกบและแผ่นไม้ฝาผนังที่อยู่ด้านข้าง แต่ไม่ทรงพบสิ่งผิดปกติ

พื้นเรือนเป็นแผ่นไม้กระดานต่อกัน ด้วยความเก่าและไม้บิดตัวจึงเกิดร่องว่างระหว่างแผ่นไม้อยู่ ๒-๓ แห่ง เห็นแนวแสงรำไรเล็กๆ เป็นเส้นตามแนวร่อง แต่มีร่องหนึ่งมีประกายเรืองรอง ทรงเข้าไปเพ่งพินิจดู...

“พิไล เปิดประตูได้แล้ว”

ประตูถูกเปิดออก แต่องค์หญิงกัณฐิมาศยังคงประทับอยู่กับพื้นตรงนั้น ทรงใช้พระดรรชนีข้างซ้ายปาดลงตรงร่องพื้นเรือน แล้วส่องเทียบกับดรรชนีข้างขวา...

“มีผงทองอยู่ตรงนี้” รับสั่งด้วยพระอาการครุ่นคิด
“พระองค์ทรงหมายถึงสิ่งใดหรือ พระเจ้าค่ะ” ครูพิธานกราบทูลถามขึ้น ขณะที่ทุกคนมานั่งลงเข้าเฝ้าอยู่ด้านข้าง

จากพระอาการครุ่นคิด ทรงเปลี่ยนเป็นแย้มพระสรวล
“ที่เราให้พิไลปิดประตูให้ห้องมืดลง ก็เพื่อจะหาร่องรอยช่องว่างจากแสงภายนอกที่ลอดเข้ามา เผื่อว่าจะพบเจอช่องลับประตูกลที่ใช้แอบซ่อนหรือใช้แอบขนถ่ายทองออกไป”

ครูพิธานถึงกับสะดุ้ง “ทำไมทรงคิดว่าคนร้ายจะทำช่องลับเช่นนั้นไว้หรือพระเจ้าค่ะ”

“ทั้งสำนักมีแต่ช่าง วิธีของช่างอาจทำกุญแจปลอมสะเดาะเข้ามา หรือแอบทำช่องลับไว้...” รับสั่งด้วยพระอาการยิ้มแย้ม แต่ครูพิธานเริ่มแสดงอาการเคร่งเครียด “เรายังไม่พบช่องลับ แต่กลับพบเศษผงทองจากร่องพื้นเรือนตรงนี้”

ทรงชูพระดรรชนีทั้งสองข้างขึ้นให้ผู้อยู่ในห้องอีกสามคนชม ปลายพระดรรชนีทั้งสองข้างมีรอยคราบผงทองติดอยู่

“ข้างขวาคือเศษผงทองที่ติดมาจากผ้าแพรสีเหลืองห่อหุ้มแท่งทองบนโต๊ะ ส่วนข้างซ้ายมาจากร่องพื้นเรือน พวกท่านจะเห็นว่ามีลักษณะเหมือนกัน... พวกท่านช่วยขยับถอยออกห่างแผ่นไม้เรือนตรงนี้”

จากนั้นทรงทุบพระหัตถ์ลงกับพื้นเรือนตรงนั้น แล้วไล่ทุบไม้เรือนแผ่นข้างๆ สักครู่จึงหยุด สีพระพักตร์ครุ่นคิดขึ้นอีกครั้ง

“เสียงไม้ทึบเหมือนกันทุกแผ่น แสดงว่าไม่มีช่องลับใดๆ ในแผ่นพื้นเรือน” ครูพิธานกราบทูลขึ้น
“ถูกต้องตามที่ท่านกล่าว” แต่สายพระเนตรยังจ้องไปยังร่องเรือนที่ปรากฏเศษผงทอง

“พระองค์คงไม่คิดว่าคนร้ายจะฝนทองให้เล็กเป็นเข็ม แล้วแอบหย่นลงไปตามช่องนะ พระเจ้าค่ะ”

คำกราบทูล หากคิดให้ลึกซึ้งกลับคล้ายเป็นคำเสียดแทง...
แต่องค์หญิงกัณฐิมาศรับสั่งกลับสั้นๆ ว่า

“พวกช่างคงมีวิธีง่ายกว่านั้น”




(มีต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่