เช็กให้ชัวร์! ก่อนโอน บ้าน/คอนโดฯ


บ้าน หรือคอนโดฯ ถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน บางคนอาจนานถึง 30 ปีกันเลยทีเดียว ก่อนที่เราจะรับหนี้ก้อนนี้มาไว้ในอ้อมอกอ้อมใจของเรา อยากให้เพื่อนๆ เช็กกันให้แน่ใจว่า บ้าน หรือคอนโดฯ ที่เราเซ็นโอนมาเป็นเจ้าของนั้น มีความพร้อมที่จะสามารถเข้าไปอยู่ได้ทันที หรือไม่มีปัญหาที่จะสร้างความวุ่นวายให้กับเราได้ในภายหลัง เช่น น้ำขังในห้องน้ำ ผนังมีรอยแตกร้าว ไฟรั่ว หรืออื่นๆ อีกมากมายที่มีให้เห็นตามโลกโซเชียลกันบ่อยๆ

K-Expert ขอแนะนำจุดหลักๆ ที่เราต้องให้ความสำคัญก่อนที่จะตกลงเซ็นโอน บ้าน หรือคอนโดฯ ให้แก่โครงการ เพื่อให้เพื่อนๆ ได้ใช้ในการตรวจสอบกันนะครับ

ก่อนจะเริ่มตรวจสอบ เราต้องเตรียมอุปกรณ์กันก่อน โดยหลักๆ มีดังนี้

- แผนผังของ บ้าน หรือคอนโดฯ สำหรับบันทึกจุดต่างๆ ที่พบ และต้องแก้ไข
- ลูกแก้ว หรือ ถังน้ำ สำหรับใช้ในการตรวจสอบระดับของพื้น โดยเฉพาะพื้นห้องน้ำที่ต้องมีการถ่ายเทไปยังท่อได้อย่างถูกต้อง
- กล้องถ่ายรูป หรือ มือถือ สำหรับบันทึกจุดต่างๆ แบบละเอียดว่าพบปัญหาในรูปแบบใดบ้าง
- อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง และบ้านไม่ให้เป็นรอย เช่น ถุงมือ ผ้ากันเปื้อน ถุงเท้า
- เครื่องมือสำหรับวัดไฟฟ้า เช่น ไขควงวัดไฟ หาซื้อได้ตามร้านอุปกรณ์ทั่วไป

เมื่อมีอุปกรณ์พร้อมก็มาเริ่มการตรวจสอบกันเลย โดยในที่นี้จะแบ่งเป็นการตรวจ ภายนอกอาคาร (บ้าน) และ ภายในอาคาร (บ้าน/คอนโดฯ)  

การตรวจสอบภายนอกอาคาร สิ่งที่ต้องตรวจสอบคือ

- สีที่ทาไว้ภายนอกบ้าน สีต้องมีการทาอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่มีจุดที่มีการหลุดร่อนของสีบ้าน หรือปูน
- สภาพของหลังคา กระเบื้องต้องใหม่ ไม่มีรอยแตกหักหรือชำรุด โดยเราอาจจะใช้วิธีฉีดน้ำขึ้นหลังคาเพื่อดูรอยรั่ว หรือ การเช็กหลังคาว่ามีรูที่แสงรอดผ่านได้ไหม
- ประตูเข้าออกต่างๆ เปิดปิดได้สะดวกไหม หากเป็นประตูเลื่อนมีการติดขัดหรือไม่ การล็อคกลอนทำได้ง่ายแค่ไหน

การตรวจสอบภายในอาคาร สิ่งที่ต้องตรวจสอบคือ

- ฝ้าเพดาน จุดนี้ต้องเช็กให้ทั่วทุกห้องมีรอยแตกหักที่จุดไหนบ้าง ฝ้าได้ระดับเสมอกันตลอดทั้งห้องหรือไม่ มีรอยน้ำที่รั่วจากการฉีดน้ำที่เราได้เช็กหลังคาจากภายนอกบ้านที่จุดใดไหม
- ผนังตามห้องต่างๆ มีการแตกลาย หรือมีรอยปูดตามผิวปูนหรือไม่ เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้บ่อยจากการที่มีการฉาบปูนที่ไม่สม่ำเสมอ สำหรับห้องที่มีการติดวอลเปเปอร์ควรใช้มือไล่เช็กพื้นผิวของวอลเปเปอร์ ว่ามีจุดใดที่ไม่เรียบเสมอกัน จุดนี้ต้องสังเกตกันให้ดี
- ประตูเข้าออก และหน้าต่างในจุดของบานพับต่างๆ ภายในบ้าน สามารถเปิดเข้าออกได้สะดวกหรือไม่ มีเสียงกวนใจ หรือการติดตั้งดูเรียบร้อย ไม่ติดขัด การล็อคต่างๆ ทำได้ปรกติไม่หลวมจนล็อคไม่ได้
- ระบบไฟฟ้าภายในบ้าน เริ่มเช็กเต้าจ่ายไฟทุดจุดว่ามีกระแสไฟหรือไม่ โดยสามารถเช็กได้จากไขควงเช็กไฟ หรือนำสายชาร์จมือถือมาเช็กกับมือถือของเราว่าเต้าจ่ายไฟได้หรือไม่ จากนั้นนำไขควงเช็กภายในว่ามีการเดินไฟไว้ 3 เส้นหรือไม่ เพราะควรจะต้องมีสายดินอีก 1 เส้นเพื่อป้องกันไฟรั่ว เช็กไฟทุกดวงภายในบ้านว่าสามารถเปิดปิดได้หมด ตรวจเช็กว่าสายไฟที่มีมีการนำใส่ท่อไฟไว้หรือไม่ หลังจากนั้นก็ปิดไฟทุกดวงภายในบ้านทั้งหมด และให้ออกไปเช็กที่มิเตอร์ไฟว่ามีการวิ่งหรือไม่ หากวิ่งอยู่อาจแสดงถึงมีไฟบางตำแหน่งที่รั่วอยู่ต้องรีบเช็กและแก้ไข
- ระบบน้ำ เปิดน้ำทุกจุดว่าน้ำไหลได้สะดวกหรือไม่ ทางเดินน้ำต่างๆ มีการขังของน้ำหรือไม่ และเมื่อปิดน้ำทุกจุด มิเตอร์น้ำยังวิ่งอยู่หรือไม่เช่นเดียวกับมิเตอร์ไฟ
- พื้นห้องต่างๆ เบื้องต้นลองเดินลากเท้าให้ทั่ว การปูพื้นเรียบหรือไม่ หลังจากนั้นนำลูกแก้ววางบนพื้น ให้ห่างกันประมาณจุดละ 10-15 ซม. ให้ทั่วห้อง แล้วดูการไหลของลูกแก้ว หากลูกแก้วไม่ไหลแสดงว่าปูได้เรียบเสมอกัน แต่หากไหลไปรวมกันแสดงว่าจุดดังกล่าวเป็นหลุม หรือหากจุดใดไม่มีลูกแก้วแสดงว่ามีการปูดของพื้น ทั้งนี้ ควรจะเช็กภายในห้องที่มีการใช้น้ำ ต้องเช็กว่าน้ำนั้นไหลไปทางที่กำหนดไว้หรือไม่

การตรวจสอบสิ่งเหล่านี้อย่ามองว่าจะทำให้เราเป็นคนดูจุกจิก เพราะสิ่งเหล่านี้ควรจะต้องตรวจสอบกันอย่างละเอียดทุกจุดให้เรียบร้อย ถือเป็นการป้องกันสิทธิ์ของตนเอง และลดปัญหาภายหลังจากการโอนบ้านให้กับเจ้าของโครงการ

ทั้งนี้ หากเพื่อนๆ กังวล หรือไม่มั่นใจในการตรวจสอบของตนเอง ก็สามารถที่จะจ้างบริษัทรับตรวจสอบบ้านต่างๆ ที่จะมีทีมงานมืออาชีพมาคอยเป็นผู้ช่วยเราในการตรวจเช็กบ้านของเราให้เรียบร้อย ทั้งนี้ ราคาในการตรวจสอบขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เพื่อนๆ สามารถตรวจสอบราคากับผู้ให้บริการก่อนล่วงหน้า และนัดหมายวันเข้าไปตรวจสอบพร้อมกัน

เพื่อนๆ ท่านไหนอยากที่จะแชร์ประสบการณ์ในการตรวจสอบ หรือสิ่งที่ต้องเช็กเพิ่มเกี่ยวกับ บ้าน หรือคอนโดฯ เพื่อให้เพื่อนๆ ท่านอื่นได้ใช้เป็นไอเดียก็ร่วมกันแชร์ได้เลยนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่