ตรวจบ้านด้วยตนเอง ก่อนรับโอนอย่างไรไม่ให้โดนหลอก



ตรวจบ้านด้วยตนเอง ขั้นตอนสุดท้ายก่อนการเซ็นรับมอบบ้าน ที่เจ้าของบ้านต้องให้ความสำคัญและใช้ความละเอียดถี่ถ้วนมากๆ เพราะหากผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้ว นั่นหมายถึงการยอมรับสภาพบ้านที่โครงการขายให้เราอย่างสมบูรณ์ และอย่างที่หลายคนทราบดีว่า หากมีการรับโอนเรียบร้อยแล้ว การจะแจ้งให้โครงการดำเนินการแก้ไขตำหนิ หรือข้อผิดพลาดภายในตัวบ้านนั้นจะกลายเป็นเรื่องยากทันที นอกจากนี้ยังอาจทำให้ล่าช้า หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น ดังนั้นเจ้าของบ้านจึงต้องตรวจสอบทุกจุดในบ้านจนมั่นใจและพึงพอใจแล้วจริงๆ จึงทำการรับโอนบ้าน แต่การตรวจบ้านด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านบริษัทรับตรวจบ้านต้องเตรียมตัวอย่างไร และมีอะไรที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ HomeGuru มีคำตอบครับ



ตรวจบ้านด้วยตนเอง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

เมื่อทางโครงการแจ้งว่าพร้อมสำหรับการ ตรวจบ้านก่อนโอน แล้ว สิ่งแรกที่ต้องเตรียมตัวและศึกษารายละเอียดให้พร้อม คือ การตรวจสอบสัญญาจะซื้อจะขาย และเงื่อนไขต่างๆ ที่ทางโครงการกำหนด หากมีข้อสงสัยติดใจตรงจุดไหนให้รีบสอบถามกับทางโครงการให้เรียบร้อยครับ หลังจากนั้นจึงนัดหมายเวลากับทางโครงการเพื่อเข้าตรวจสอบความเรียบร้อยของบ้าน ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ ช่วงเช้า เนื่องจาก วิธีตรวจรับบ้าน จะต้องทำการทดสอบระบบต่างๆ ภายในบ้านอย่างละเอียด ซึ่งมีหลายขั้นตอนและใช้เวลาค่อนข้างมาก การนัดหมายช่วงเช้าจะทำให้ใช้เวลาตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ และมีแสงสว่างเพียงพอต่อการตรวจสอบจุดต่างๆ ครับ



หลังจากนัดหมายกับทางโครงการเรียบร้อยแล้ว ให้เตรียมรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ เช่น รายละเอียดขนาดพื้นที่ รายการวัสดุที่ใช้ รายการเฟอร์นิเจอร์ฯลฯ รวมถึงเอกสารหรือใบโฆษณาต่างๆ เพื่อใช้เปรียบเทียบกับตัวบ้านจริง และใช้ร่วมในการ ตรวจบ้านก่อนโอน เพราะเอกสารเหล่านี้จัดเป็นสัญญาที่สามารถใช้อ้างอิงตามกฎหมายได้ครับ



หลังจากเตรียมเอกสารและรายละเอียดต่างๆ เรียบร้อยแล้ว แนะนำให้ทำเช็คลิสต์สำหรับการตรวจสอบบ้านไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ครอบคลุมทุกส่วนของบ้าน ป้องกันการตกหล่นจุดใดจุดหนึ่งไป และเป็นการช่วยให้ทราบไปด้วยในตัวว่าควรใช้ เครื่องมือตรวจบ้าน ชนิดใด และอุปกรณ์แบบไหนที่ต้องพกติดตัวไปด้วยบ้าง



สุดท้ายคือการหาผู้ช่วยเข้าไปช่วยตรวจสอบบ้านในวันนัดหมายอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป โดยอาจแบ่งหน้าที่กันให้มีคนตรวจสอบ คนจดบันทึก และคนถ่ายรูปจุดต่างๆ ที่ต้องแก้ไข แต่แนะนำว่าไม่ควรพาเด็กๆ ไปด้วยนะครับ เพราะอาจทำให้วุ่นวาย และไม่มีสมาธิตรวจสอบบ้านได้



เครื่องมือตรวจบ้าน ที่ต้องพกไปมีอะไรบ้าง?

อุปกรณ์ที่ต้องพกไป ตรวจบ้านด้วยตนเอง ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องมือช่างพื้นฐานที่หลาย ๆ คน มีอยู่แล้ว และเป็นอุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไปภายในบ้านครับ แต่อาจมีอุปกรณ์บางชนิดที่หากไม่สะดวกนำไปด้วยก็สามารถแจ้งโครงการให้ช่วยเตรียมไว้ให้ อย่างบันไดสำหรับตรวจตราใต้ฝ้าเพดาน เป็นต้น ส่วนอุปกรณ์ที่อยากแนะนำให้พกติดตัวไป มีดังนี้ครับ



1. ผังแบบแปลนบ้านจากโครงการที่มีสัญลักษณ์ขอบเขตที่ดิน
2. อุปกรณ์จดบันทึก ได้แก่ ดินสอ ยางลบ สำหรับจดและแก้ไขได้ง่าย , ปากกาสำหรับเซ็นสัญญาต่างๆ , สมุดจดโน้ตหรือกระดาษจดที่อยากแนะนำให้ใช้ขนาด A4 เพื่อให้ง่ายต่อการถ่ายเอกสารครับ
3. อุปกรณ์ทำเครื่องหมาย เช่น กระดาษ Post it , ชอล์กเขียน , เทปพันสายไฟ , เทปกาวชนิดลอกออกง่ายโดยไม่ทำให้พื้นผิววัสดุเสียหาย ฯลฯ
4. กล้องถ่ายรูป สำหรับบันทึกภาพเป็นหลักฐานประกอบการแจ้งซ่อม
5. ไฟฉายพกพา สำหรับใช้ส่องบริเวณพื้นที่มืดอย่างบนฝ้าเพดาน ช่องท่องานระบบต่างๆ และใช้ส่องเช็คสีและความเรียบร้อยของพื้นผิววัสดุครับ



6. ตลับเมตร หรือสายวัด สำหรับวัดระยะพื้นที่ต่างๆ ว่าตรงตามแบบบ้านหรือไม่
7. คัตเตอร์ หรือกรรไกร สำหรับตัดเทปกาว หรือใช้แกะพลาสติกหุ้มของต่างๆ
8. ขนมปัง นำมาใช้แทนสิ่งปฏิกูล เพื่อทดสอบระบบชักโครกในห้องน้ำ
9. อุปกรณ์ทดสอบการระบายน้ำและทดสอบการรั่วซึมต่างๆ สามารถเลือกใช้ดินน้ำมัน ถุงพลาสติก หรือเศษผ้าก็ได้ครับ
10. ถังน้ำ และสายยาง สำหรับทดสอบความลาดเอียง การระบายน้ำบริเวณพื้น และสามารถใช้ทดสอบการรั่วซึมของขอบยางประตู หน้าต่างได้ด้วยครับ



11. ลูกแก้ว หรือลูกเหล็ก สำหรับใช้ทดสอบความลาดเอียงของพื้น
12. ไม้ตรงยาวๆ สำหรับตรวจสอบระนาบต่าง ๆ ว่ามีความเรียบหรือไม่
13. กระจกเงาบานเล็ก สำหรับส่องเช็คความเรียบร้อยบริเวณจุดอับสายตาอย่างขอบประตูด้านบน เป็นต้น
14. ค้อนหัวยาง ไขควงด้านไม้ หรือเหรียญสิบบาท สำหรับเคาะกระเบื้องเพื่อตรวจสอบความแน่นของปูนกาวใต้แผ่นกระเบื้อง
15. อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็กๆ สำหรับตรวจสอบปลั๊กไฟว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่
16. ไขควงวัดไฟ หรือเครื่องตวรสอบเบรกเกอร์ตัดไฟรั่วไหล (ELCB Tester) สำหรับตรวจสอบระบบไฟฟ้า และใช้ตรวจสอบความผิกปกติของเต้ารับไฟฟ้า ซึ่งอุปกรณ์นี้จำเป็นต้องศึกษาวิธีการใช้งานอย่างละเอียด หรือให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ทำการทดสอบ
17. ถุงมือยาง และรองเท้ายาง สำหรับใส่ป้องกันเมื่อต้องตรวจสอบระบบไฟฟ้าต่างๆ



วิธีตรวจรับบ้าน ตามเช็คลิสต์มีอะไรบ้าง?

วิธีที่ดีที่สุดในการ ตรวจบ้านด้วยตนเอง คือ การตรวจสอบตั้งแต่ประตูหน้าบ้าน ไล่ไปเรื่อยๆ จนถึงห้องที่อยู่ด้านในสุด โดยไม่ต้องย้อนเส้นทางเดิม และใช้วิธีไล่สายตาจากพื้นไปจนจรดเพดานเพื่อไม่ให้พลาดรายละเอียดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ส่วนรายละเอียดในแต่ละจุดที่ต้องตรวจสอบ สามารถแบ่งเป็นโซนได้ดังนี้ครับ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


พื้นที่บริเวณนอกบ้าน
ให้ตรวจสอบไล่ไปตั้งแต่รั้วบ้าน และประตูรั้วว่าใช้งานได้ปกติ รอยเชื่อมไม่มีรู ทากันสนิมเรียบร้อย ล้อและรางเลื่อนไม่ลื่นหรือฝืดเกินไป งานสวนให้ตรวจสอบดูความเรียบร้อยของการถมดิน การปูหญ้า ระบบสระน้ำต้องมีอะไรอุดตัน ตรวจสอบการระบายน้ำว่าสามารถระบายจากในบ้านไปนอกบ้านได้ดีหรือเปล่า ส่วนการตรวจสอบที่จอดรถนั้น หากเป็นที่จอดรถที่อยู่ภายนอกโครงสร้างบ้านมักมีปัญหาเรื่องการทรุดตัวตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเป็นปัญหาที่ตรวจสอบได้ยาก แต่หากเป็นโครงการบ้านที่ก่อสร้างมาสักพักแล้วอาจช่วยให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้นครับ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


โครงสร้างต่างๆ ของตัวบ้าน
ตรวจสอบโดยการสังเกตว่าคานไม่โค้งงอ ผนังไม่มีการล้มเอียง เรียบเนียน ไม่มีรอยร้าว บัวพื้นและบัวฝ้าติดตั้งเรียบชิดกับผนัง สำหรับวอลเปเปอร์ หากพบว่ามีเชื้อรา ต้องแจ้งให้โครงการเปลี่ยนแผ่นใหม่และแก้ไขปัญหาที่สาเหตุด้วย เพราะนั่นหมายถึงบ้านอาจมีปัญหาความชื้นจากห้องน้ำ หรือผนังรั่วซึมอยู่ครับ สำหรับงานฝ้าเพดานนั้น หากเป็นฝ้าทีบาร์ เส้นทีบาร์จะต้องเรียบเสมอกัน ไม่มีช่องว่างระหว่างแผ่นกระเบื้องซีเมนต์กับเส้นทีบาร์ หากเป็นฝ้าเพดานฉาบเรียบต้องมองไม่เห็นรอยยาแนวบริเวณรอยต่อ การติดตั้งประตู หน้าต่าง วงกบต้องแนบผนัง มีบังใบเรียบร้อย ใช้งานได้ปกติ การติดตั้งราวบันไดแน่นหนา ไม่ลื่น ทดสอบความแน่นหนาของพื้นด้วยการเคาะจนมั่นใจว่าไม่เป็นโพรง การยาแนวพื้นเรียบร้อยสวยงาม ไม่เสี่ยงต่อการรั่วซึม ส่วนการตรวจสอบหลังคาอาจต้องรอฝนตก หรือจ้างรถน้ำทำฝนเทียมเพื่อตรวจสอบการรั่วซึมครับ



งานระบบไฟฟ้า
ตรวจสอบได้โดยทดลองเปิดไฟทั้งบ้านเพื่อดูว่ามีจุดใดไม่ติดหรือมีแสงสว่างน้อยกว่าปกติ หรือทดลองเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าดูว่าไฟฟ้าเข้าปกติหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบการติดตั้งหลอดไฟ เต้ารับ เต้าเสียบ และการเดินสายไฟว่าเป็นระเบียบ และเก็บงานเรียบร้อย

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


งานสุขาภิบาล
ต้องตรวจสอบสุขภัณฑ์ งานระบบน้ำ โดยทดลองใช้อุปกรณ์หลายๆ ครั้ง ทดสอบขังน้ำไว้ในอ่างล้างหน้าหรือห้องน้ำเพื่อตรวจสอบระบบท่อน้ำทิ้งว่าไม่มีการรั่วซึม รวมทั้งตรวจสอบการทำงานของมิเตอร์น้ำ โดยปิดน้ำทั้งบ้านเพื่อเช็คว่ามิเตอร์น้ำยังหมุนหรือไม่ หากยังหมุนอยู่แสดงว่ายังมีจุดน้ำรั่วที่จุดใดจุดหนึ่งครับ



เพราะกว่าจะเก็บเงินซื้อบ้านสักหลังไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ การ ตรวจบ้านด้วยตนเอง จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องวางแผนและเตรียมตัวให้ดี เพื่อให้บ้านออกมาสมบูรณ์ที่สุดก่อนรับโอน และถึงแม้ขั้นตอนตรวจสอบต่างๆ จะมีรายละเอียดมากมาย แต่ HomeGuru เชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้แน่นอนครับ


HomeGuru by HomePro
อุ่นใจทุกเรื่องบ้านไปกับโฮมโปร และติดตามเคล็ดลับดีๆ เพื่อบ้านได้ทาง http://bit.ly/HomeGuru_Homepro
และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาเรื่องบ้านกับ HomeGuru เพิ่มเติมได้ทาง https://bit.ly/3dQm4XE
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่