10 หนังดราม่าเชิงจิตวิทยาแห่งศตวรรษที่ 21


หนังดราม่าเชิงจิตวิทยา คือหนังที่มีฐานเป็นแนวดราม่า พูดถึงชีวิตตัวละครหรือเหตุการณ์บางอย่าง ที่อาจมีทั้งโทนเคร่งเครียด โศกเศร้า ขบขัน และมีความสุข ปะปนกันไป ที่สำคัญยังอธิบายถึงความซับซ้อนของจิตใจ พฤติกรรม และด้านอารมณ์ของตัวละคร ออกมาทั้งในเชิงนามธรรมและรูปธรรม
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.

10. Room (2015)

ชีวิตของคู่แม่ลูกที่ถูกกักขังไว้ในห้องแคบๆเป็นเวลาหลายปี กระทั่งวันหนึ่งก็สามารถพากันหลบหนีออกมาได้ ซึ่งช่วงแรกพูดถึงโลกภายในห้องเล็กๆที่มีห้องน้ำ พื้นที่ทำครัว และเตียงนอน อัดแน่นเบียดเสียดกัน แต่ในสายตาฝั่งลูกที่อยู่กับมันมาตั้งแต่เกิด มองว่าคือโลกแห่งความจริง ที่เต็มไปด้วยความสนุก การปลดปล่อยจินตนาการ โลกที่มีเพียงเขากับแม่ กระทั่งทั้งคู่หลบหนีออกมาเผชิญโลกกว้างที่กลายเป็นรอยต่อแห่งการข้ามผ่านครั้งสำคัญ ที่บางอย่างกลับดูเลวร้ายลงโดยเฉพาะฝั่งแม่ที่ต้องมาเห็นครอบครัวแตกหักหลังจากเธอถูกลักพาตัว กลายเป็นการตอกย้ำตราบาปในใจเธอ ขณะเดียวกันฝั่งลูกก็ต้องพยายามปรับตัวต่อโลกใบใหม่ ที่เต็มไปด้วยสิ่งที่เขาไม่รู้และต้องค้นหาคำตอบ








9. The Master (2012)

เปิดฉากด้วยนายทหารเรือที่จิตหมกมุ่นแต่กามราคะกำลังแสดงท่าทางมีเพศสัมพันธ์กับกองก่อทรายรูปหญิงสาว ก่อนจบด้วยการยืนช่วยเหลือตัวเองโดยไร้ซึ่งความเคอะเขินต่อสายตาเหล่าเพื่อนทหาร นับเป็นการแนะนำตัวเอกของเรื่องเฟร็ดดี้ได้ตรงไปตรงมาและสื่อได้ชัดเจนถึงอาการป่วยทางจิตที่ลึกๆแล้วเป็นผลกระทบจากสงคราม ก่อนได้มารู้จักกับด๊อดส์เจ้าของลัทธิเดอะคอส ที่มองภายนอกดูเป็นคนสุขุม น่าเลื่อมใส และพยายามเป็นเข็มทิศชี้นำชีวิต พร้อมทั้งบำบัดการป่วยทางจิตให้กับตัวเฟร็ดดี้ ทว่าภายในตัวของด๊อดส์ก็ไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไปที่มีกิเลสและตัณหาเก็บซ่อนไว้ แต่พยายามบริหารมันและกดไว้ในจิตใต้สำนึก








8. A Dangerous Method (2011)

จิตสำนึกเป็นตัวขับเคลื่อนให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับความจริงและหลักจริยธรรม ขณะเดียวกันจิตใต้สำนึกเป็นกระบวนความคิด ความเชื่อที่ถูกกดไว้ด้วยเหตุผลบางประการ และมักถูกปล่อยออกมาในเวลาที่ขาดสติ ซึ่งจิตใต้สำนึกก็เป็นหัวใจสำคัญที่หนังพยายามสื่อสารกับคนดูผ่านเรื่องราวของคาร์ล จุง จิตแพทย์มือใหม่ที่กำลังศึกษาหลักทฤษฎีของซิกมันด์ ฟรอยด์ เพื่อนำมาใช้กับวิชาชีพของตน และได้ทดลองใช้กับซาบิน่า คนไข้สาวที่มีปมความรุนแรงในวัยเด็กและป่วยด้วยโรคฮิสทีเรีย แสดงออกด้วยพฤติกรรมที่รุนแรง เกรี้ยวกราด โดยความสัมพันธ์ทั้งสองค่อยๆพัฒนาและถลําลึกจนกลายเป็นสัมพันธ์สวาทระหว่างแพทย์กับคนไข้ ที่ลึกๆแล้วทั้งสองเชื่อว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการรักษา กระทั่งจุงและฟรอยด์ได้พบกัน จึงเกิดเป็นข้อโต้เถียงทั้งด้านหลักการทฤษฎีและจรรยาบรรณวิชาชีพ








7. Adaptation. (2002)

บทหนังเรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญลำดับต้นๆหรืออาจมากที่สุดในทางทำหนัง และกว่าจะเขียนมันสำเสร็จคงต้องผ่านเรื่องยากลำบากมากมาย ซึ่งหนังเรื่องนี้จะท้อนแง่มุมเหล่านั้นออกมาในเชิงดราม่าแฝงด้วยโทนตลกเสียดสี ผ่านความซับซ้อนของจิตใจที่ปรากฏในอีกหนึ่งตัวตน โดยโฟกัสไปยังตัวนักเขียนคนหนึ่งที่อยู่ระหว่างการครุ่นคิดในการดัดแปลงบทหนังที่อ้างอิงจากหนังสือ โดยพยายามหาส่วนผสมที่เหมาะสมในงานเขียนทั้งจากการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับโครงสร้างความรู้เดิม แต่ขณะเดียวกันแม้จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆเข้าไปเท่าไหร่ต้องคำนึงด้วยว่าจะทำยังไงให้บทหนังซื่อสัตย์ต่อต้นฉบับมากที่สุด








6. Toni Erdmann (2016)

หนังบอกเล่าการแสดงออกที่ซับซ้อนต่อความสัมพันธ์ในฐานะพ่อลูก ที่ผู้เป็นพ่อดูเป็นคนมีอารมณ์ขัน มีโลกส่วนตัวสูง ชอบทำอะไรตรงไปตรงมา บางครั้งก็กลายเป็นการไม่รู้กาลเทศะ ก่อให้เกิดความรำคาญต่อตัวลูกสาวของเขาเอง โดยเธอเป็นสาวสมัยใหม่ เต็มไปด้วยไฟแห่งการขับเคลื่อน อยู่กับงานตลอดเวลา แทบไม่มีเวลาหาความ(สุข)เป็นส่วนตัว ด้วยความต่างกันคนละขั้วทั้งสองจึงเกิดความขัดแย้ง ที่ลึกๆแล้วต่างฝ่ายก็รักและเป็นห่วงเป็นใยซึ่งกัน แต่วิธีปฏิบัติดูจะไม่สอดรับอีกฝ่ายเท่าที่ควร แน่นอนว่าทำให้ในหลายซีนๆเกิดเป็นอารมณ์ทับซ้อน อีกทั้งส่วนเนื้อหาและสารที่ถูกเล่าผ่านตัวละครพ่อลูกได้แฝงให้เห็นประเด็นต่างๆและปัญหามากมายในโลกยุคปัจจุบันทั้ง ความขัดแย้งภายในครอบครัว บทบาทของสตรีในวัฒนธรรมของกลุ่มองค์กร และทิศทางเศรษฐกิจยุโรปสมัยใหม่








5. The Hunt (2012)

สัมคมวิพากษ์หรือการล่าแม่มดเป็นกระบวนตัดสินคนที่เกิดจากตรรกะความคิดที่ต่างกัน ตัวจุดชนวนการล่าแม่มดมักเป็นกลุ่มก้อนความคิดที่ผู้คนต่างส่งเสริม เห็นพ้องกันจำนวนมาก ที่บางครั้งก็ขาดการทบทวน หรือการไตร่ตรองถึงมูลความจริง กลายเป็นการลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ของคนๆหนึ่งที่บางครั้งอาจเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้ทำความผิดอะไร แต่กลับถูกกระแสสังคมกดดันและฆ่าเขาให้ตายทั้งเป็น ซึ่งก็เหมือนกับสิ่งที่ตัวเอกของเรื่องต้องประสบพบเจอ กับเรื่องราวของครูโรงเรียนอนุบาลที่ถูกกล่าวหาจากลูกศิษย์ตัวเองว่าโชว์ของลับให้เธอดู กระทั่งพ่อแม่เด็กทราบเรื่องและรู้ไปถึงหูครูใหญ่จึงเกิดการสอบสวน ทว่าความจริงกลับถูกบิดเบือน และการถูกล่วงละเมิดทางเพศในเด็กเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึก กระแสสังคมวิพากษ์จึงเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้








4. Synecdoche, New York (2008)

งานกำกับเรื่องแรกของ Charlie Kaufman ชายผู้สร้างชื่อในฐานะมือเขียนบท ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่ทิ้งประเด็นการถ่ายทอดความซับซ้อนของจิตใจและการค้นหาความหมายของชีวิต เมื่อผู้กำกับละครเวทีที่ต้องเผชิญหน้ากับความผิดปกติทางร่างกายทั้งระบบสมอง สายตา ผิวหนัง และระบบการทำงานอื่นๆ จนเกิดความตระหนักว่าตนกำลังเข้าใกล้ความตาย และเกิดเป็นอาการซึมเศร้า จิตตก กระทั่งลูกเมียต้องหนีจากไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ขณะเดียวกันเขาก็ได้เงินก้อนโตจากกองทุนและนำไปเนรมิตละครเวทีขนาดใหญ่ที่เสมือนเป็นการจำลองชีวิตของตัวเอง








3. Gran Torino (2008)

Clint Eastwood ตำนานรุ่นเก๋าในวัยเกือบ 80 ปี กลับมารับบทนำในหนังที่ตัวเองกำกับ กับบทบาทคุณลุงในบุคลิกเงียบขรึม รักสันโดษ ทะนงตน ที่เป็นผลพวงจากแผลทางใจในสงครามเกาหลี ประกอบกับสภาวะวัยชราที่ผ่านโลกมามาก พบเจอทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว แต่บั้นปลายชีวิตกลับไม่เหลือใครที่เข้าใจตนและพึ่งพาได้อย่างบริสุทธิ์ใจ ทั้งยังเพิ่งสูญเสียภรรยาที่เป็นเพื่อนและคนรักเพียงหนึ่งเดียว มันก็ไม่ยากที่จะเข้าใจถึงความรู้สึกที่แท้จริงของลุงคนนี้ที่แสดงออกมาด้วยพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคนรอบตัว ทว่าจุดหักเหสำคัญคือการได้พบกับเด็กหนุ่มชาวม้งและได้สัมผัสถึงปฏิบัติสัมพันธ์ที่ดีของเหล่าเพื่อนบ้าน กำแพงแห่งอคติต่อเชื้อชาติก็ค่อยๆทลายและความเกรี้ยวกราดในใจก็ค่อยๆลดลง จนนำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญในท้ายเรื่องที่แสดงออกตามวุฒิภาวะและในฐานะฮีโร่ที่อยากฝากฝังสิ่งดีๆให้กับเด็กคนหนึ่งและครอบครัวของเขา








2. The Wrestler (2008)

การปรับตัวสู่ความจริงเมื่อความฝันที่เคยชัดเจนกลับพร่าเลือน เรื่องราวของแรนดี้ อดีตนักมวยปล้ำในตำนานต้องที่ต้องพบจุดพลิกผันครั้งสำคัญ เมื่อสภาพร่างกายค่อยๆอ่อนล้า ทรุดโทรมไปตามวัย ทั้งยังตรวจพบว่าตนเป็นโรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งหนังพยายามลงเข้าไปสำรวจผลกระทบจากสภาพร่างกายต่ออาชีพการงาน และยังสำรวจถึงความสัมพันธ์อันหมางเมินกับตัวลูกสาว เพื่อย้ำเตือนชีวิตที่ตกต่ำดำดิ่งของแรนดี้ ซึ่งตัวของเขาก็ตระหนักในจุดนี้ดี จึงพยายามปรับรูปแบบการใช้ชีวิต หางานทำที่เหมาะกับสภาพร่างกาย ซึ่งระหว่างทางที่หนังปรับตัวสู่โลกความจริงก็เกิดร่องรอยของความฝันซ้อนทับขึ้นมาทั้งสถานะภาพความเป็นฮีโร่เเละคำกล่าวยกย่องจากคนรอบตัว รวมถึงการส่งต่อแรงบันดาลใจสู่นักมวยปล้ำรุ่นใหม่ มันทำให้ภาพของความฝันกลับมาชัดเจนอีกครั้ง ถึงแม้สภาพร่างกายจะไม่พร้อมที่จะทำ แต่ด้วยศักดิ์ศรีเกียรติยศ และความห่วงใยจากคนรักรอบๆตัว มันทำให้เขาพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้และยืนหยัดเพื่อสิ่งที่รักอีกครั้ง








1. Whiplash (2014)

การเกิดมาพร้อมพรสวรรค์ มีไอคิว-อีคิวสูง ไม่ใช่เครื่องชี้วัดว่าใครสักคนจะประสบความสำเร็จ หากขาดความมุ่งมั่น ขาดความพยายาม ไม่รู้วิธีการดึงศักยภาพที่มีอยู่มาใช้เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายที่วาดฝันไว้ คุณก็อาจพบเจอความล้มเหลวในชีวิตได้เช่นกัน ซึ่งหัวใจสำคัญดังกล่าวทั้งความมุ่งมั่น ความทะเยอทะยานอย่างเเรงกล้า เป็นสิ่งที่ครูเฟลชเชอร์พยายามฟูกฟักและสร้างขึ้นมาในตัวลูกศิษย์ของเขาทุกคนในรูปแบบที่เข้มข้นรุนแรง ไร้คำหวาน ไร้คำปลอบประโลม จู่โจมไปยังจุดด้อยครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อนำไปสู่ความสมบูรณ์แบบที่แท้จริง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นีย์แมน ตัวเอกของเรื่องต้องเผชิญ
.
.
.
.
.
.
.

ทวิตเตอร์เพจ @Review_Me_ พูดคุยหนังทั่วไปเเละซีรีส์(โดยเฉพาะฝั่งเกาหลี)



ขออนุญาตฝากเพจนะครับ

https://www.facebook.com/Criticalme



เเละขออนุญาตฝากไอจีเพจด้วยนะครับ @review_me__
เป็นพื้นที่สำหรับรีวิวหนังสือนิยายต่างๆโดยเฉพาะแนวสืบสวน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่