ชาวพุทธจำนวนมาก เข้าใจผิดคิดว่าศาสนาพุทธสอนว่าไม่ให้อยาก

กระทู้สนทนา
ในอดีตที่ผ่านมา มีคนที่พยายามนำคำสอนพระพุทธเจ้ามาทำเป็นวลี ทำเป็นสำนวน เพื่อให้ดูเท่ห์ ดูน่าสนใจ ยกตัวอย่างวลีหนึ่งที่ฮิตติดปาก ซึ่งผมไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เริ่มต้น และผมจำได้ว่าสมัยก่อนก็เคยใช้วลีนี้เช่นกัน คือ "อย่า อยู่ อย่าง อยาก"

รวมทั้งมีคำพูดที่ว่า "ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธให้แจ้ง มรรคให้เจริญ" ซึ่งหากขาดความเข้าใจว่าหมายถึงอะไร ไปจับเอาเฉพาะ "สมุทัยให้ละ" (สมุทัยคือความอยาก) ก็จะเข้าใจผิดคิดว่าพระพุทธเจ้าสอนให้เราละความอยาก

ที่จริงแล้ว หากเราไม่คิดมาก คิดให้น้อยลง สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราปฏิบัติ มีเพียงอย่างเดียว นั่นคือ มรรคมีองค์แปด หรือที่บอกว่า มรรคให้เจริญ คำว่า "เจริญ" ก็คือทำให้มาก ทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

เราจะรู้ทุกข์ ละสมุทัย และแจ้งนิโรธได้ ก็ด้วยการเจริญมรรคมีองค์แปดเท่านั้น

หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่าให้ละความอยาก ถ้าอย่างนั้น เราอยากทำอะไรก็ทำไปเลยใช่หรือไม่?

คำตอบคือ ไม่ใช่นะครับ เราต้องแยกแยะด้วยว่า ความอยากนั้น เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล หากเป็นกุศลก็ทำไป และทำให้มากด้วย แต่หากสิ่งนั้นเป็นอกุศลก็ไม่ควรทำ

ซึ่งก็คือ "สัมมาวายามะ" ในมรรคมีองค์แปดนั่นเอง

ความอยากอย่างหนึ่ง เรียกว่า "ฉันทะ" ในอิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) มีความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น ซึ่งหากขาดความอยากนี้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ แม้กระทั่งการบรรลุธรรม

สรุปนะครับ ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้เราละความอยาก แต่สอนให้เราแยกแยะว่า ความอยากใดที่เป็นกุศลก็ควรทำ หากเป็นอกุศลก็ไม่ควรทำ (สัมมาวายามะ)

และเมื่อเราเจริญมรรคมีองค์แปดจนเกิดปัญญา หรือบรรลุธรรม ถึงตอนนั้น ความอยากทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล จะถูกละไปเอง เป็นการละสมุทัยด้วยปัญญาที่เห็นความจริง

อย่างไรก็ตาม การที่ผมซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ มาพูดถึงเรื่องนี้คงไม่มีน้ำหนักมากพอ และเพื่อให้เกิดประโยชน์ ผมเลยขออนุญาตเอาคลิปการเทศน์ของหลวงพ่อประยุทธ์ ปยุตโต ที่พูดถึงเรื่องนี้ มาให้ฟังกันด้วยนะครับ (อยู่ในช่วงนาทีที่ 17.00 เป็นต้นไป)

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่