ห้องเพลง**คนรากหญ้า** พักยกการเมือง มุมนี้ไม่มีสี ไม่มีกลุ่ม...มีแต่เสียง 4/5/2018 (Benchmarking มาวัดรอยเท้าช้างกัน)

กระทู้คำถาม


ห้องเพลงคนรากหญ้าเปิดขึ้นมามีวัตถุประสงค์ เพื่อ

1. มีพื้นที่ให้เพื่อนๆ ได้มาพบปะ พูดคุยระหว่างกัน ในภาวะที่ต้องระมัดระวังการโพสการเมืองอย่างเคร่งครัด
2. เป็นพื้นที่ พักผ่อน ลดความเครียดทางการเมือง ให้เพื่อนๆ มีกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน
3. สร้างมิตรภาพและความปรองดอง ซึ่งเราหวังให้สังคมไทยเป็นเช่นนี้ แม้นคิดต่างกัน แต่เมื่อคุยกันแล้วก็เป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม

กระทู้ห้องเพลงเป็นกระทู้เปิด มิได้ปิดกั้นผู้หนึ่งผู้ใด "ขอให้มาดี เราคือเพื่อนกัน" ซึ่งก็เหมือนกับกระทู้ทั่วไป ที่เราไม่จำเป็นต้องทราบว่า User ท่านไหนเป็นใครมาจากไหน  ...ดังนั้น หากมีบุคคลใดที่มีการโพสสิ่งผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีของสังคมนั้น หรือสิ่งรบกวนใดๆ ในบอร์ด เป็นเรื่องส่วนบุคคล ทางห้องเพลงจึงขอแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น





สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ห้องเพลงและเพื่อนสมาชิกทุกท่าน


ขึ้นหัวข้อแบบนี้ ไม่ได้แปลว่าจะพาเพื่อนๆ เข้าป่าไปวัดรอยเท้าช้างของจริงกันค่ะ

ปีที่แล้วเคยเขียนพื้นฐานเรื่อง Benchmarking ซึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรไปแล้ว
วันนี้จะมาทบทวนอีกครั้ง โดยเพิ่มเนื้อหา และมีตัวอย่างองค์กรที่เคยใช้แล้วประสบความสำเร็จประกอบด้วยค่ะ

ด้วยภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขัน ทำให้หลายองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาเพื่อความอยู่รอด
ดังประโยคที่ว่า "เพียงแค่เราหยุดหรือเดินช้า นั่นก็เหมือนเราเดินถอยหลังเสียแล้ว"


Benchmark คือ รอยตำหนิที่ทำขึ้นเพื่อเป็นจุดสังเกต เช่น การตอกหมุดรังวัดที่ดินบนก้อนหิน ต้นไม้ กำแพง หรือเสา
เพื่อบอกระดับความสูงต่ำของภูมิประเทศ

Benchmarking (วัดรอยเท้าช้าง) เป็นกระบวนการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงขององค์กรทุกประเภท ทั้งรัฐ และเอกชน
โดยการเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นจุดแตกต่าง หรือ ช่องว่าง (Gap) ระหว่างสภาพ/ ความสามารถของตนเองกับผู้ที่เหนือกว่า
ไม่ได้แค่ให้รู้ว่าตนเองอ่อนด้อย หรือห่างชั้นกว่าผู้ที่เก่งที่สุด (The Best) มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น
แต่ที่สำคัญคือ The Best เหล่านั้นทำอย่างไร (How) จึงเก่งกาจเช่นนั้นได้
ให้เราเรียนรู้และพัฒนาจากผู้ที่เก่งกว่า จะได้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ในด้านการบริหาร มีแนวคิดเพื่อพัฒนาองค์กรสู่ความสำเร็จหลายอย่าง Benchmarking ก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ




หลักการของ BENCHMARKING

- สนับสนุนการไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต: คือ "ไม่มีเหตุผลใดที่จะเชื่อว่า สิ่งที่เราทำนั้นดีที่สุด"
- ลดความหยิ่งผยอง ให้ถ่อมตัว: โดยยอมรับว่า "เรามีบางด้านอ่อนด้อยกว่าผู้อื่น" คือ รู้จุดยืน จุดเด่นและจุดด้อยของตน
- ผลักดันให้เกิดความใส่ใจต่อโลกภายนอก: เปิดหูเปิดตาผู้บริหารให้ติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าดู การเปลี่ยนแปลงของคู่แข่ง
- สร้างวัฒนธรรมในการยอมรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
- การวัดและการเปรียบเทียบต้องชัดเจนและประเมินได้ โดยอาศัยข้อเท็จจริงและข้อมูล (Fact & Data) ไม่ใช่ความรู้สึก


ตัวอย่างกรณีศึกษาการประยุกต์ใช้ Benchmarking จนประสบความสำเร็จ

การทำ Benchmarking เริ่มเกิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2523
บริษัทซีรอกซ์ได้นำหลักการไปใช้จนประสบความสำเร็จเป็นเจ้าแรกๆ
ทำให้เป็นต้นแบบของบริษัทชั้นนำอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา

Xerox

เป็นบริษัทผู้คิดค้นและผลิตเครื่องถ่ายเอกสารเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จเป็นรายแรกในช่วงทศวรรษที่ 1960

ในช่วงหลายปีแรก Xerox ประสบความสำเร็จกับการขายมาก เพราะมีเพียงรายเดียวในตลาด
ทำให้ Xerox มีลักษณะที่อืดอาด เชื่องช้า และยึดติดกับความสำเร็จของตนเองตลอดช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970


ภาพจาก https://www.emaze.com/@AQRRRQLR/PYMES



ซึ่งในปี 1975 Xerox เป็นผู้นำในตลาดเครื่องถ่ายเอกสารทั่วโลกด้วยส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 75
แต่พอเริ่มทศวรรษที่ 1980 มีการแข่งขันเกิดขึ้น ส่วนแบ่งตลาดของ Xerox ได้ลดน้อยลงกว่า 50%

Xerox เริ่มรู้ตัวและเริ่มทำ Competitive Benchmarking ในบางหน่วย
และผู้บริหารของ Xerox ก็ได้เริ่มเห็นความสำคัญของการทำ Benchmarking มากขึ้น
โดยในปี 1981 ได้มีการทำ Benchmarking อย่างแพร่หลายไปทั้งบริษัท

การทำ Benchmarking ของ Xerox เป็นการศึกษาและวิเคราะห์อย่างละเอียดกับคู่แข่งขันหรือบริษัทที่คิดว่าดีที่สุด
โดยแต่ละแผนกหรือฝ่ายของ Xerox จะทำการเปรียบเทียบตนเองกับแผนกในลักษณะเดียวกันของบริษัทที่คิดว่าดีที่สุด


ภาพจาก https://www.slideserve.com/drago/quality-function-deployment



ความพยายามของ Xerox ได้ประสบผลในปี 1989 โดย Xerox ได้รับรางวัล Malcolm Baldrige National Quality Award
ซึ่งแสดงถึงคุณภาพในการดำเนินงานของบริษัท

นอกจากนี้ยังสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้เกือบหมด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่การแข่งขันในตลาดเครื่องถ่ายเอกสารทวีความรุนแรงขึ้นจากในอดีต


กระบวนการต่างๆ อาจสามารถเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้เสมอ
บางครั้งหากสิ่งเดิมๆ ที่เคยทำมาดูไม่เข้าท่า ก็อาจใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือการมองมุมใหม่
มาแก้ไขให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย ที่เรียกว่า win-win

มีตัวอย่างนิทานมาเล่าให้ฟังค่ะ ใครสนใจล้อมวงมาเลย

หากพูดถึงอัศวิน มังกร และเจ้าหญิง หลายๆ คนจะนึกถึงอะไร?

ก็คงนึกถึง มังกรร้ายที่ลักพาตัวเจ้าหญิงไปไว้บนหอคอย แล้วอัศวินก็มาฆ่ามังกร
พาเจ้าหญิงไปอยู่กันอย่างมีความสุข หากเป็นแบบนั้นก็ต้องมีการสูญเสีย
ดีไม่ดี หากอัศวินแพ้มังกร เจ้าหญิงก็อยู่บนคานนั่นไม่ต้องลงกันเลยทีเดียว ลองไปดูอีกมุมมองดูค่ะ  


"อัศวิน มังกร และเจ้าหญิง"

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีอัศวินน้อยเติบโตขึ้นในประสาท และมีลูกมังกรตัวหนึ่งในถ้ำ ทั้งสองล้วนไม่รู้จักกันมาก่อน
แต่ทั้งคู่ได้อ่านบันทึกเก่าแก่ของตระกูลตนเอง ว่าบรรพบุรุษได้สู้รบกันมาตลอด เพื่อคงศักดิ์ศรีประจำตระกูลไว้
ทั้งคู่ต่างก็มีความฝันว่าโตขึ้นจะต้องเอาชนะอีกฝ่ายให้ได้

อัศวินเข้าห้องสมุด หาข้อมูล ฟิตซ้อมร่างกายเรื่องการต่อสู้ เข้าฟิตเนส จัดหาอาวุธ เช่น เสื้อเกราะ ดาบ โล่ห์ ฯลฯ

มังกรก็ไม่น้อยหน้า เปิดตำรา ฝึกพ่นไฟ ฟาดหาง หลบหลีก เข้าสปา แต่งเล็บให้พร้อม

วันสำคัญมาถึง ทั้งคู่ห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ก็ยังไม่รู้ผลแพ้ชนะ ต่างก็สะบักสะบอม งอมพระราม กันไปทั้งคู่



ทันใดนั้นได้มีเจ้าหญิงแสนสวยที่ฉลาด ผ่านมาพบเข้า เธอจึงบอกว่า

"นี่ๆ อย่าสู้กันเลย เรามาร่วมมือกันดีกว่า มังกรพ่นไฟเก่ง อัศวินมีเกราะและใช้ดาบว่องไว ส่วนเรามีวิชาทำอาหารอยู่
เรามาเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้ากันดีกว่า มาหุ้นกันตั้งร้านอาหารปิ้งย่างกันดีกว่า"

นับจากนั้นชุดเกราะอัศวินก็กลายเป็นเตาปิ้งย่าง อาวุธนำมาใช้แล่เนื้อ อัศวินเป็นคนเสิร์ฟและผู้จัดการร้านดูแลความเรียบร้อย
มังกรทำหน้าที่ติดไฟ พ่นไฟ ย่างบาร์บีคิว และปราบจิ๊กโก๋ที่มาป่วน เจ้าหญิงเป็นคนปรุงอาหารและเป็นแคชเชียร์

แล้วทั้งหมดก็อยู่กันอย่างมีความสุข




ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ  
สรุปและดัดแปลงมาจากหนังสือ "วัดรอยเท้าช้าง" ทฤษฎีบริหารที่กลมกลืน คือ Benchmarking และ TQM ของเดมมิ่ง
http://www.thaidisplay.com/content-24.html
http://pasudecharin.blogspot.com/2014/02/benchmarking-2002.html
https://www.slideserve.com/drago/quality-function-deployment
https://www.emaze.com/@AQRRRQLR/PYMES

....................................................................


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "เปลี่ยนความคิด ชีวิตจะเปลี่ยน"

แต่ละคนต่างก็มีจุดเด่น มีฝีมือกันทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะคิดนำไปใช้ในด้านไหน
อย่าให้ใครมาสร้างความเกลียดชังจนขัดขวางการทำเรื่องสร้างสรรค์

และหากเราต้องการพัฒนาตัวเอง เราต้องยอมรับความเป็นจริง เปรียบเทียบกับตัวอย่างที่ดี ที่ประสบความสำเร็จ
เราจะได้มุ่งไปทางนั้นอย่างถูกต้อง ไม่ใช่หลอกตัวเองไปวันๆ

ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาก้าวไกลไปมาก
เช่น การถ่ายภาพด้วยฟิล์มในสมัยก่อน เทียบกับการถ่ายภาพแบบดิจิตัลในปัจจุบัน
หรือมือถือที่ใช้ได้แต่การโทร กับมือถือที่ทำได้แทบทุกอย่างในทุกวันนี้
ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทที่เคยครองตลาดแต่ไม่ปรับตัว  มีอันต้องล้มหายตายจากไป

หรือแม้แต่พรรคการเมืองยุคโบราณกับยุคใหม่ ก็ย่อมต้องมีการพัฒนาไปตามโลก
มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นพรรคการเมืองที่ตกยุค


ต้องดีกว่าเก่า  ตั้ม สมประสงค์  

สิ่งเดียวที่คิดจะแข่งขัน นั่นคือตัวของเรา
อาจจะเคยดีแล้วเมื่อวันเก่า แต่มันยังไม่พอ

ต้องดีกว่าเก่า ต้องดีกว่า ต้องดีไปกว่าเมื่อวาน
ต้องแซงตัวเรา ต้องแซงคนเก่าให้ตามไม่ทัน
ต้องดีกว่าเก่า ต้องดีกว่า บอกตัวเองไว้ทุกวัน

https://www.youtube.com/watch?v=LYimNsmrRjw
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้



แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่