มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า (คัดมาเฉพาะที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ช่วงกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี)

มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า
ภาพหนึ่งในผีนัต
ตะเบ็งชเวที (ตบินชเวที)
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้

บทนำเสนอ
มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า

     เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๒ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ( นายนิคม มุสิกะคามะ ) พร้อมคณะข้าราชการกรมศิลปากร ได้เดินทางไปสหภาพพม่า โดยมีวัตถุประสงค์ ในการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการดำเนินงานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ของทั้งสองประเทศ เป้าหมายหลักของคณะข้าราชการกรมศิลปากร ในครั้งนั้นเพื่อต้องการทัศนศึกษาเมืองหงสาวดี ซึ่งทาง ราชการพม่า กำลังดำเนินการบูรณะอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากในขณะนั้นมีกระแสความสนใจของคนไทยบางกลุ่มเกี่ยวกับตำนานเรื่องพระสุพรรณกัลยา พระราชพิธีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาพระราชพิธีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตามตำนานเล่าว่าถูกนำไปประทับอยู่ที่กรุงหงสาวดีในฐานะบาทบริจาริกาของพระเจ้ากรุงหงสาวดีบุเรงนอง หลังจากที่พระองค์ได้พิชิตกรุงศรีอยุธยาได้เมื่อ พ.ศ.๒๑๑๒
     ขณะนั้นที่กรุงหงสาวดีหรือเมืองพะโคกำลังได้รับการขุดค้นทางโบราณคดี และบูรณะก่อสร้างพระบรมมหาราชวังที่เชื่อกันว่าเป็นที่ประทับของพระเจ้าบุเรงนอง มีการพบร่องรอยที่เชื่อว่าเป็นตำหนักที่ประทับเจ้านายในบริเวณที่เป็นพระบรมมหาราชวัง บริเวณบางแห่งเล่าลือกันว่าน่าจะเป็นที่ประทับของพระสุพรรณกัลยาด้วย ( ถ้าหากได้ศึกษาให้ทราบถึงสถานภาพที่แท้จริงของพระนางขณะประทับอยู่ที่นั่น ) อย่างไรก็ดีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเมืองหงสาวดีและการบูรณะก่อสร้างพระบรมมหาราชวังของบุเรงนองได้รับการถ่ายทอดจากพิมพ์แล้วในเรื่อง "หงสาวดี : เมืองของผู้ชนะยี่สิบทิศ" ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๑ ฉบับ ที่ ๔ ( กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ), หน้า ๖๔ - ๗๗
     ข้อสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนี้จากการเดินทางไปสหภาพพม่าในครั้งนั้นอยู่ที่ก่อนที่จะเดินทางไปสหภาพพม่า คณะข้าราชการกรมศิลปากรได้มีการศึกษาจากเอกสารต่างๆ หลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ระหว่างพม่ากับไทยในช่วงเวลานั้น เอกสารเกี่ยวกับกรุงหงสาวดี ขนบธรรมเนียมในราชสำนักพม่า ทั้งที่เป็นของชาวยุโรปที่ได้บันทึกไว้ และที่เป็นเอกสารของพม่าเองที่ได้มีการแปลเป็นภาษาไทยไว้แล้ว
ในการเดินทางไปสหภาพพม่าครั้งนั้น กรมศิลปากรได้เชิญพลตรีหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี ข้าราชการบำนาญอดีตนายทหารกรมข่าวทหารบกให้ร่วมเดินทางไปด้วยในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิของคณะ เนื่องจากท่านเป็นกรรมการท่านหนึ่งของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ สํานักนายกรัฐมนตรี ด้วยในการเตรียมการณ์ครั้งนั้นท่านได้ช่วยรวบรวมเอกสารเก่าๆทั้งภาษาไทยและอังกฤษให้เป็นจำนวนมากซึ่งในบรรดาเอกสารเหล่านี้ชิ้นหนึ่งคือเอกสารถ่ายสำเนาตัวตีพิมพ์เรื่องมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่าถ่ายสำเนาบนกระดาษขนาด F4 แยกเย็บรวมเป็นเล่มได้ ๒ เล่มแต่ละเล่มมีความหนาประมาณ ๒๗๐ หน้า
     ทราบจาก พลตรีหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี ว่า เอกสารถ่ายสำเนาชิ้นนี้ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ตรี อมาตยกุล อดีตหัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรโดยที่ท่านอาจารย์ตรี อมาตยกุล ก็ไม่ได้บอกให้ทราบว่าต้นฉบับตัวพิมพ์ดีดนั้น ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ใด สำหรับอาจารย์ตรี อมาตยกุล ท่านได้ลาออกจากราชการเมื่อปี ๒๕๐๙ และถึงแก่กรรมเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๓๕ พลตรีหม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี ได้รับเอกสารถ่ายสำเนานี้ในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่อาจารย์ตรี อมาตยกุล จะถึงแก่กรรม หลังจากนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้รับเอกสารถ่ายสำเนาเรื่องนี้ จากพลตรีหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี ก็ได้นำไปถ่ายสำเนา แจกจ่ายกันในระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้สนใจกันอีกหลายทอดเป็นหลายฉบับถ่ายสำเนาด้วยกัน
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในการศึกษาประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับพม่าของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ( โดยเฉพาะตัวผู้เขียนเอง ) ตอนใดที่เป็นเรื่องราวที่มีพิมพ์ อยู่ในต้นฉบับสำเนาภาพถ่าย ( ที่ถ่าย ทำสำเนา ซ้ำกันไปมาหลายครั้งนี้ ) ก็มักจะใช้พงศาวดารพม่าฉบับนี้ตรวจสอบอ้างอิงอยู่เสมอ จนกระทั่งเมื่อสำนักพิมพ์มติชนเห็นความสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์และต้องการที่จะพิมพ์เผยแพร่ให้เป็นที่กว้างขวางออกไป จึงได้มีการตรวจสอบเพื่อหาฉบับพิมพ์ดีดต้นต่อตัวจริงเพื่อเป็นต้นฉบับในการจัดพิมพ์ต่อไป

๑.ลักษณะที่มาของหนังสือ
“มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า”
     “มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า”คงเก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติพระนคร จึงได้ติดต่อไปเพื่อขอถ่ายสำเนาที่ชัดเจนออกไปจัดทำต้นฉบับพิมพ์จัดทำต้นฉบับพิมพ์ แต่ที่พบในหอสมุดแห่งชาติกับเป็นฉบับถ่ายสำเนาที่ทะเบียนหอสมุดแห่งชาติบันทึกไว้ว่า “กหช”[กองหอสมุดแห่งชาติ]ถ่ายสำเนาจากต้นฉบับกองจดหมายเหตุแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๗ แต่ครั้นติดต่อกับกองจดหมายเหตุแห่งชาติ กลับไม่พบต้นฉบับดังกล่าว
เหตุที่คิดว่าต้นฉบับพิมพ์ดีดแปลเป็นภาษาไทยของพงศาวดารพม่าเล่มนี้ควรเก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติก็เนื่องจากได้พบข้อความอยู่ในคำนำของกรมศิลปากรในหนังสือพงศาวดารมอญพม่า ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑ ฉบับพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีพระศัลย เวทยวิศิษฏ์ (สาย คชเสนี) ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ ๔ มกราคม ๒๕๑๐
     คำนำของกรมศิลปากร ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๐๙ ในหนังสือเล่มดังกล่าว ตอนหนึ่งมีความที่ยกคำอธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในฉบับพิมพ์ครั้งแรกของเรื่องพงศาวดารมอญพม่าว่า
หนังสือพงศาวดารพม่ารามัญที่พิมพ์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ขุนสุนทรโวหาร กรมพระอาลักษณ์ กับขุนอักษรรามัญ นายขำเปรียญ นายสุดเปรียญ นายจุ รวม ๔ นาย เป็นล่ามแปลออกเป็นภาษาไทยเมื่อปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๒๑๙ พ.ศ.๒๔๐๐ ต้นฉบับเดิมที่ได้มาเห็นจะเป็นภาษารามัญและผู้แต่งเป็นรามัญ เพราะพงศาวดารพม่าที่พม่าแต่งของเขามีอีกเรื่อง ๑ เรียกว่ามหาราชวงศ์ ซึ่งหอพระสมุดฯ กำลังแปลอยู่ เป็นหนังสือยืดยาวหลายเล่มสมุดไทย [ความจริงเป็นฝรั่ง]
     จะเห็นว่าข้อความที่ยกขึ้นมาอ้างข้างต้นนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงพงศาวดารพม่าอีกเรื่องหนึ่งชื่อ “มหาราชวงศ์” ซึ่งในขณะนั้นทรงกล่าวว่ากำลังแปลอยู่ และมีความยากมาก มันมีความชัดเจนว่า ทรงหมายถึงหนังสือ “มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” ที่นำมาจัดพิมพ์เล่มนี้อย่างแน่นอน
     แต่ที่น่าสนใจนั้นอยู่ตรงที่พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตอนนี้ กรมศิลปากรได้ทำเชิงอรรถเขียนคำอธิบายไว้ว่า
เรื่องมหาราชวงศ์ ฉบับหอพระสมุดฯ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงนี้ ยังไม่พบต้นฉบับแปล มีแต่พระราชพงศาวดารพม่า พระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งองค์การค้าคุรุสภาจัดพิมพ์จำหน่ายเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕
จากเชิงอรรถคำอธิบายของกรมศิลปากรที่ยกมากล่าวข้างต้นจึงอาจกล่าวโดยสรุปว่า ณ วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๐๙ กรมศิลปากรยังหาไม่พบต้นฉบับแปลหนังสือมหาราชวงศ์ จนกระทั่งในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ก่อน พ.ศ.๒๕๓๕ ได้มีการพบต้นฉบับพิมพ์ดีดคำแปลหนังสือเล่มนี้แล้ว โดยเก็บไว้บริการที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติ อาจารย์ตรี อมาตยกุล จึงได้ขอถ่ายสำเนาไว้และมอบให้พลตรีหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี ซึ่งต่อมาได้มีการถ่ายสำเนาแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาต่อๆกันออกไปอีกหลายทอดดังกล่าวแล้วแต่ต้น รวมทั้งกองหอสมุดแห่งชาติได้ถ่ายสำเนาไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ จากต้นฉบับที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นผู้เก็บ แต่ขณะนี้ ต้นฉบับคำแปลตัวพิมพ์ดีดดังกล่าวได้พลัดพรากไปจากบัญชีควบคุมอย่างใดอย่างหนึ่งจึงยังหาไม่พบดังนั้น เพื่อตัดทอนเวลาที่ต้องเสียไป และให้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ได้รับการจัดพิมพ์เผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็วจึงได้ขอถ่ายสำเนาจากต้นฉบับที่เป็นสำเนาภาพถ่ายของหอสมุดแห่งชาติเพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นการถ่ายสำเนาครั้งแรกจากต้นฉบับตัวจริงที่ยังคงความคมชัดอยู่ ซึ่งก็ปรากฏว่าเมื่อถ่ายสำเนาออกมาแล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง ตัวอักษรทุกตัวที่เป็นตัวพิมพ์ดีดขนาดใหญ่แบบโบราณในส่วนที่เป็นเนื้อหาพงศาวดารพม่านั้นไม่มีตัวใดที่ไม่ชัดจนถึงขั้นอ่านไม่ออกเลย
     อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ต้นฉบับถ่ายสำเนาเรื่อง “มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” ที่ได้มารวมทั้งบทนำเสนอนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดพิมพ์อยู่นั้น ด้วยความเป็นห่วงผู้เขียนก็ยังไม่ละความพยายามที่จะค้นหาว่าต้นฉบับพิมพ์ดีดตัวจริงได้พัดพรากไปจากบัญชีไปอยู่ที่ใด จึงได้ทำบันทึกอย่างเป็นทางการเพื่อขอให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้ตรวจสอบให้ด้วย
     นับเวลาการเดินทางของหนังสือราชการและเวลาการตรวจสอบรวมได้ ๓๐ วันพอดี ก็ได้รับคำตอบอันเป็นที่น่ายินดีจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ว่า ได้พบต้นฉบับแปลพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดของหนังสือ มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า แล้ว ได้ถ่ายลงในไมโครฟิล์มไว้แล้ว โดยต้นฉบับได้เก็บรักษาอย่างดีเนื่องจากมีความเก่ามาก รวมอยู่ในตึกเอกสารจำนวนทั้งสิ้น ๕๑๐ แผ่น ในชื่อว่า พระราชวิจารณ์เรื่องพงศาวดารพม่า หมายเลขรหัสเพื่อขอใช้บริการ ร. ๕ บ ๑.๗/๓
     กินนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ควรนำมาบอกกล่าว ว่าต้นฉบับแปลหนังสือ มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ที่เมื่อปลายปี ๒๕๐๙ ยังค้นหาไม่พบ และต่อมาประมาณ พ.ศ.๒๕๓๕ ได้พบเป็นฉบับถ่ายสำเนานั้น บัดนี้ได้พบแล้วไม่ได้สูญหายไปไหน แต่ถ้าหากพิจารณาให้ลึกซึ้ง โดยทางเทคนิคต้นฉบับแปลหนังสือ มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ซึ่งมีความยาว ๕๐๐ แผ่นนั้นยังอยู่ในสภาวะหายเช่นเดิม เพราะฝึกเอกสารจำนวน ๕๑๐ แผ่นที่เอกสารเรื่องนี้เก็บรวบรวมอยู่นั้น ถูกตั้งชื่อใหม่เป็น พระราชวิจารณ์เรื่องพงศาวดารพม่า ไปเสียแล้ว ดังนั้น เพื่อแสดงความห่วงใยเป็นครั้งที่สอง จึงได้ขอบทนำเสนอนี้จากโรงพิมพ์มาแก้ไขเพิ่มเติมแจ้งให้ทราบถึง ชื่อใหม่ และรหัสขอใช้บริการ ของ มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ไว้ ณ ที่นี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือแก้ การหายทางเทคนิค ของเอกสารสำคัญเรื่องนี้ เผื่อว่าจะมีนักวิชาการท่านใดประสงค์จะเข้าถึงเอกสารต้นฉบับเดิมเพื่อการตรวจสอบศึกษาให้ลงลึกในรายละเอียดต่อไป ส่วนหน่วยงานที่รับผิดชอบจะแก้ไข การหายทางเทคนิค ที่กล่าวไปแล้วนี้หรือไม่อย่างไร ผู้เขียนคงไม่กล้าเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่