คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม (เอกสารจากหอหลวง) แก้อักขระตัวสะกดบางตัวให้ง่ายต่อการอ่านนะครับ


คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม

คำนำ

     คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์และจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายอยู่เสมอมาที่จะจัดพิมพ์เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นมรดกของชาติไทยออกเผยแพร่เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการไทยศึกษาโดยทั่วไป การจัดพิมพ์ “เอกสารจากหอหลวง” เรื่อง คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ในครั้งนี้ ก็นับเป็นความพยายามที่จะตอบสนองจุดประสงค์ดังกล่าว

     เอกสารที่มาเรียกกันว่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม นั้น ได้เคยตีพิมพ์ลงในวารสาร แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี เป็นตอนย่อยๆ ติดต่อกัน ๖ ฉบับ เริ่มตั้งแต่ฉบับปีที่ ๓ เล่ม ๑ เดือนมกราคม ๒๕๑๒ จนถึงฉบับปีที่ ๕ เล่ม ๒ เดือนพฤษภาคม ๒๕๑๔ ครั้นล่วงมาถึงปัจจุบันนี้ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ก็ยังเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับปลายอยุธยา ซึ่งนักปราชญ์และผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทยจำเป็นต้องใช้ศึกษาอ้างอิงอยู่มาก ติดอยู่เพียงว่าหาอ่านยากขึ้นและใช้เอกสารกระจายอยู่ในแถลงงานประวัติศาสตร์ฯ เล่มต่างๆ ไม่สะดวก การจัดพิมพ์เนื้อความทั้งหมดเป็นเล่มเดียวจึงจะช่วยเผยแพร่เอกสารชิ้นนี้ออกไปกว้างขวางยิ่งขึ้น

     สำหรับที่มาของ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม นั้น นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้เขียนเล่าไว้ในคำนำใน แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี ฉบับปีที่ ๓ เล่ม ๑ เดือนมกราคม ๒๕๑๒ มีความตอนหนึ่งว่า

.....สมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๕ กรมราชเลขาธิการในพระองค์ซึ่งมีกรมขึ้นอยู่ ๓ กรม ได้แก่ กรมบัญชาการ กรมราชเลขานุการในพระองค์ กรมอาลักษณ์ มีเอกสารหลายหลากชนิดเก็บรักษาไว้มากมาย และเก็บรักษามาตั้งแต่ต้นทุกๆ รัชกาล เอกสารลางเรื่องเก่าถึงสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อได้ประกาศยุบกรมราชเลขานุการในพระองค์ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ งานในหน้าที่กรมราชเลขาธิการในพระองค์ จึงโอนมาเป็นของกรมเลขาธิราชคณะรัฐมนตรี กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับมอบเอกสารมาเก็บรักษาไว้เฉพาะสมุดไทย (ข่อย) ประมาณ ๑๒๙๖๙ สมุดไทย ใบลาน ๒๘๔ ผูก แฟ้ม ๔๔๐ แฟ้ม ฯลฯ ต่อมากรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเอกสารดังกล่าวไปให้กรมศิลปากรเก็บรักษา จึงได้พบ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” รวมมาในกลุ่มเอกสารที่ส่งมาให้กรมศิลปากรนั้นด้วย กรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง คือ คุณปรีดา ศรีชลาลัย อดีตข้าราชการกรมศิลปากรได้อ่านพบ จึงได้เสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการ ที่ประชุมลงมติให้พิมพ์ได้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติภูมิศาสตร์กรุงพระนครศรีอยุธยาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ โดยอนุมัติให้นำลางตอนที่ยังไม่เคยพิมพ์มาลงพิมพ์....

     ถ้า คำให้การ มีความหมายว่า “บันทึกเรื่องจากความทรงจำ” อย่างเช่นที่ใช้กับกรณี คำให้การชาวกรุงเก่า หรือ คำให้การขุนหลวงหาวัด แล้ว คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมคงจะมิได้มีลักษณะการเล่าเรื่องจากความทรงจำเสียทั้งหมด และการเรียกชื่อเอกสารชุดนี้โดยชื่อดังกล่าว ก็อาจมีผลทำให้เกิดเข้าใจผิดได้ เป็นต้นว่า ทำให้ผู้ที่มิได้อ่านอรรถความคิดว่าเป็นคำให้การของพระเจ้าอุทุมพร ทั้งๆ ที่เอกสานนี้น่าจะได้รับการคัดลอกและเรียบเรียงมาจากต้นฉบับในหอหลวง

     คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เป็นเอกสารที่เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งคนสมัยต้นรัตนโกสินทร์มองว่าเป็น “ครั้งบ้านเมืองดี” เมื่อพิจารณาลักษณะโครงสร้างแล้ว คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน

     ส่วนที่ ๑ เป็นคำพรรณนาภูมิสัณฐานของพระนครศรีอยุธยาซึ่งจบลงด้วยหัวข้อ “ว่าด้วยเรื่องพระราชวังน่า” ข้อความโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับเอกสารเรื่อง “ว่าด้วยแผนที่กรุงศรีอยุธยา” ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๓ เล่มที่ ๓๗ (ฉบับคุรุสภา พ.ศ. ๒๕๑๒) เพียงแต่ คำให้การฯ มีความละเอียดลออมากกว่า และลักษณะภาษาที่ใช้เรียบเรียงก็ดูใหม่กว่า อย่างไรก็ตาม เอกสารทั้งสองชิ้นนี้น่าจะมีที่มาจากต้นฉบับเดียวกัน และเป็น ตำราโบราณ ที่พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) ได้ใช้ในการแต่ง ตำนานกรุงศรีอยุธยา ทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีรัชมงคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๔๕๐

     ส่วนที่ ๒ เป็นบันทึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมความเชื่อ กรมจัดการพระศาสนาและพระราชพิธี การเล่าเรื่องพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้าและพิธีโสกันต์เจ้าฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าฟ้าอุทุมพรบวรราชกุมาร อาจเป็นที่มาของการเรียกเอกสารชุดนี้ว่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเกี่ยวกับพระราชพิธีแสดงว่าน่าจะได้คัดลอกมาจากจดหมายเหตุโบราณมากกว่าจะมีที่มาจากการบอกเล่า

     ส่วนที่ ๓ เป็นตำราสอนข้าราชการชั้นสูง เรียกในที่นี้ว่า “เรื่องพิไชยเสนา เป็นตำราสำหรับข้าราชการควรประพฤติ” เรื่องส่วนนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจ สิ่งที่เป็นแนวทาง จิตวิทยาการปกครอง และข้อพุงปฏิบัติในระบบราชการแบบเดิมของไทยและสะท้อนให้เห็นอิทธิพลของพุทธศาสนาอยู่มิใช่น้อยในมาตราต่างๆ

     ส่วนที่ ๔ เป็นเหตุการณ์สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา อาจแบ่งออกได้เป็นสองตอน ตอนต้นเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ จนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งได้รวมตำนานศรีปราชญ์ไว้ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือด้วย จัดว่าอยู่ในประเภท “คำให้การ” ตอนหลังเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จนถึงช่วยต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ข้อความนำตอนนี้ที่ว่า “พงศาวดารทอดหลัง นับตั้งแต่พระเจ้าอุทุมพรได้ราชสมบัติไปจนถึงเมืองสิ้นกรุงสิ้นเรื่อง” แสดงว่า เอกสารที่ตกทอดมาถึงชั้นตีพิมพ์นี้ไม่สมบูรณ์ เหตุที่ทราบว่าตอนต้นและตอนหลังมีที่มาแตกต่างกันและเป็นเอกสารคนละฉบับ เพราะในท้ายตอนต้นบอกวันเวลาสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไว้อย่างหนึ่ง แต่ถัดมาเพียงสองบันทัดเมื่อเริ่มตอนที่สอง บอกวันเวลาสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปอีกอย่างหนึ่ง

     ในการตีพิมพ์ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ครั้งนี้ กระผมใคร่เรียนชี้แจงว่า ได้คงลักษณะอักขรวิธีของต้นฉบับไว้ทั้งหมด แต่ได้จัดทำหัวข้อเรื่องแทรกไว้และจัดแบ่งย่อหน้า ให้อ่านและค้นคว้าได้สะดวกยิ่งขึ้น คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักวิชาการไทยศึกษาในด้านต่างๆ คงจะได้ประโยชน์จากเอกสารนี้สมเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้


นายวินัย พงศ์ศรีเพียร
บรรณาธิการ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่