แค่อยากระบายอ่ะค่ะ เหนื่อยกับการดูแลคนป่วยมากเลย

คุณแม่เราป่วยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตใช้ได้ครึ่งซีกค่ะ จับพยุงเดินพอได้ แต่ทรงตัวเองไม่ได้เลย ตอนแรกก็เดินได้บ้าง ลุกยืนเองได้บ้าง แต่ด้วยความดื้อรั้น ชอบแอบลุกตอนเราไปล้างจานหรือเข้าห้องน้ำ ทั้งที่บอกย้ำหลายครั้งว่าห้ามลุกนะ เดี๋ยวจะล้ม ก็ไม่เชื่อ ล้มไปหลายครั้ง คือเราแทบจะคลาดสายตาไม่ได้เลย เราต้องอยู่แต่บ้าน คอยดูแลท่าน ต้องคอยเฝ้าตลอด ครั้งแรกล้มไปทับแก้วจนแตกปักก้น เลือดออกมาจนนองพื้น คุณแม่ทานยาละลายลิ่มเลือดด้วยค่ะ เลือดไหลเหมือนน้ำก๊อกเลย เราแค่ออกไปล้างจานแป๊บเดียว ต้องพาส่งโรงพยาบาล เย็บไป 10 เข็ม เย็บ 2 ชั้น พอหายท่านก็ไม่เข็ด กว่าเราจะกายภาพให้จนลุกได้อีกครั้งต้องใช้เวลานานหลายเดือน พอเริ่มลุกได้ ก็เอาอีก บอกอะไรไม่ฟังเลยสักอย่าง ย้ำแล้วย้ำอีก ก็แอบลุกแล้วล้มอีกหลายรอบ จนตอนนี้ลุกเองก็ไม่ได้แล้ว ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย แต่ยังดีที่พยุงเดินได้อยู่ แต่เวลานั่งก็จะทิ้งตัวนั่งแบบไม่ยั้งเลย เราเองก็ตัวเล็ก แต่ก็ดูแลเองมาตลอด ตอนแรกก็ทำงานที่บ้าน แต่หลังๆ ก็ทำไม่ได้เลย เพราะท่านจะร้องทั้งวัน เวลาลูกค้าโทรมา ท่านก็จะร้องดังลั่น ทุกวันนี้เราเองก็แทบจะไม่ได้นอน หลับไปแป๊บนึงท่านก็ปลุก ปลุกแบบร้องให้เราตกใจ จนสะดุ้งตื่น ตอนนี้เครียดมากกับการที่ท่านปลุกทุก 1-2 ชั่วโมง ท่านมักจะดูทีวีแล้วหลับ แต่เราต้องทำนู่นทำนี่ ไม่ได้นอน แล้วปลุกวันละหลายรอบ หนีไปนอนนอกห้องก็ร้องดังกว่าเดิม เครียดมากค่ะ กลัวตัวเองจะเป็นโรคประสาท เราเองดูแลท่านอย่างดี ระวังทุกอย่าง ขอท่านทุกครั้งว่าอย่าร้องอย่าปลุก ร่างกายหนูจะไม่ไหว แต่ท่านก็เป็นเหมือนเดิมตลอด บ้านก็เล็กจะหนีไปนอนห้องไหนก็ได้ยินท่านร้อง ตอนนี้ท่านมีปัญหาทางสมอง จะเอาอะไรก็ไม่บอก แต่ร้องขึ้นมาเลย เราก็ไม่รู้ว่าท่านจะเอาอะไร เลยกลายเป็นร้องทั้งวัน แต่เวลาพาไปนอกบ้านท่านไม่เป็นนะ ไม่เข้าใจเหมือนกัน ทุกวันนี้พูดคุยกันก็ดูเหมือนจะปกติ เหมือนพูดกันรู้เรื่อง แต่พอเอาเข้าจริงเวลาบอกอะไรไปท่านไม่ทำตามที่รับปากเลย เรารักท่านมาก แต่ก็แอบอดโมโหไม่ได้ กลัวว่าตัวเองจะควบคุมอารมณ์ไม่อยู่จังเลยค่ะ ไม่อยากจะบาป แต่การที่ต้องดูแลคนป่วยแบบนี้มันเหนื่อยจริงๆ เราปวดหลัง ปวดหน้าท้องเพราะต้องเกร็งยันท่านไม่ให้กระแทกชักโครกเวลานั่งในห้องน้ำ วันๆ เจอแต่อึ ฉี่ เสมหะ ทำนั่นทำนี่หกเลอะเทอะ เราอยู่แต่บ้าน แทบไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้เจอใคร จะจ้างคนมาดู เราก็นอนไม่เป็นเวลา และไม่ส่วนตัว ทุกวันนี้ให้ท่านกินยานอนหลับทุกวัน แต่หลังๆ มานี่เหมือนจะดื้อยา เราแทบไม่ได้นอนเลย เพราะท่านจะปลุกตลอด เครียดจริงๆ ค่ะ ไม่รู้ว่าเราจะเป็นโรคซึมเศร้ารึเปล่า หลายครั้งที่เราอยากตาย คิดว่าปล่อยให้ท่านอยู่กับคนอื่นไปเลย ลูกดูแลดีอย่างนี้ ยังจะร้องทั้งวันไม่เกรงใจ ยังไม่พอใจ ซึ่งไม่มีใครดูแลได้ดีเท่าลูกแท้ๆ หรอก และถ้าท่านไปร้องๆ แบบนี้ อาจจะโดนทำร้ายเอาด้วย เราต้องอยู่แบบนี้มา 9 ปีแล้ว เราคิดว่าเราดูแลท่านมาได้ตั้ง 9 ปี เราก็จะทำต่อไปและทำให้ดีที่สุดค่ะ ไม่จ้างคน เพราะคิดว่า เราทำได้ดีที่สุด แต่เครียดมากเลยอ่ะ ห้ามต่อว่าเรานะ เราเครียด อิอิ จริงๆ เราเป็นคนอารมณ์ดี สดใส ร่าเริงนะ แต่ไม่รู้ว่าถ้าคนอื่นเจอแบบนี้จะเครียดแบบเรารึเปล่าอ่ะค่ะ หรือเราผิดปกติที่เครียดไปเองนะ
--------------------------
* วันศุกร์ที่ 27 เมษายน 2561
แอบตกใจ และดีใจ หัวใจพองโต มีกำลังใจขึ้นเยอะเลยค่ะ ไม่คิดว่าจะได้กำลังใจเยอะขนาดนี้
เรามาดึกๆ เพราะนอนไม่เป็นเวลา มาไม่แน่นอน อาจจะตอบกระทู้ช้า ไม่ว่ากันนะคะ เดี๋ยวขอไปอ่านก่อนนะคะ
--------------------------
* วันศุกร์ที่ 27 เมษายน 2561
อ่านไปบางส่วนแล้วค่ะ แต่ยังอ่านไม่หมดเลย วิ่งไปวิ่งมา เดี๋ยวขอตัวไปนอนก่อนนะคะ พรุ่งนี้จะมาอ่านต่อค่ะ
ขอบพระคุณทุกท่านมากเลยนะคะ ได้กำลังใจเยอะเลย
--------------------------
* วันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2561
โอ้โห!!! ตะลึงๆๆๆ ดีใจมากเลยค่ะ ได้กำลังใจเยอะมากๆ ขอบพระคุณมากๆ เลยนะคะ
เดี๋ยวคงต้องอ่านให้หมดก่อน และจะทยอยตอบและขอบพระคุณทุกความเห็นนะคะ อาจจะช้าหน่อย ไม่ว่ากันนะคะ
พอดีต้องวิ่งไปวิ่งมา มานั่งอ่านได้แป๊บๆ น่ะค่ะ

ขออนุญาตเล่าเพิ่มเติมอีกนิดนึงนะคะ คุณแม่เราเป็นอัมพาตขยับอะไรไม่ได้เลยตั้งแต่เราอยู่ ป.3 ค่ะ ตอนนั้นท่านอายุประมาณ 40 ปี กายภาพจนเดินได้ ทำอะไรเองได้ แต่ต้องใช้เวลานานมากค่ะ กว่าท่านจะเดินได้ ท่านบอกว่าตอนนั้นรับรู้รู้เรื่องทุกอย่างแต่ขยับไม่ได้เลย

มาเป็นหนักเมื่อ 9 ปีที่แล้วที่ท่านช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย เพราะอัมพาตซ้ำซ้อนจากการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และอีกครั้งคือตอนผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจครั้งที่ 2 ซึ่งตอนผ่าตัดทั้ง 2 ครั้งนั้นลำบากและเหนื่อยกว่าทุกวันนี้มากค่ะ ตอนนี้ถือว่าดีขึ้นเยอะแล้ว ถึงจะยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ก็ยังดีที่พยุงเข้าห้องน้ำได้อยู่

เมื่อตอนผ่าตัดรอบแรก ท่านมีอาการตากระตุกไปข้างหนึ่งตลอด และชักหลายครั้ง เราเคยเห็นเองจะจะครั้งนึง ทนไม่ได้จริงๆ สงสารท่าน นอนโรงพยาบาล 2 เดือนเต็ม และกลับบ้านมา ท่านก็ปวดหัว ได้ยินเสียงอะไรดังไปหมด เราต้องปิดไฟทั้งวัน อยู่ในห้องมืดๆ เงียบสงบ เปิดพัดลมก็ไม่ได้ ท่านบอกเสียงดังทนไม่ไหว แอร์และทีวีไม่ต้องพูดถึง นอนในห้องก็ได้ยินเสียงอะไรดังทั้งที่ไม่มี เราและคุณแม่ก็เลยต้องหลบไปนอนในห้องน้ำ เราก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ และต้องอยู่ในห้องน้ำระยะนึง ต่อมาก็เริ่มดีขึ้น เสียงดังที่ท่านบอกหายไป จึงย้ายที่นอนมานอนที่เตียง และดูแลท่านอย่างดี กายภาพเองจนดีขึ้น และลุกเองได้บ้าง

ก่อนท่านผ่าตัดรอบ 2 ท่านเป็นลมหน้ามืดตลอดทั้งที่นอนเฉยๆ ตอนนั้นติดเชื้อทางเดินปัสสาวะด้วย ไข้ขึ้นตัวร้อน พาส่งห้องฉุกเฉินกลางดึก แต่ก็ตรวจไม่พบเรื่องลิ้นหัวใจ เพราะไม่ได้ทำ Echo ได้แต่ยารักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบมา และหมอก็ให้กลับบ้านไป ตอนนั้นเราแทบไม่ได้นอนเลยติดต่อกันหลายวัน เพราะต้องดูแล คอยเช็ดตัวท่านตลอด เพราะตัวร้อนมาก

อีกอาทิตย์นึงมีคิวได้ตรวจ Echo คิวนี้ต้องรอนานเป็นเดือน ระหว่างเดินทางมาหาหมอ ท่านบอกใจจะขาดแล้ว เราร้องไห้มาตลอดทางไม่รู้จะช่วยยังไง รถก็ติดมาก โทรแจ้งจราจรกลางช่วยเคลียร์เส้นทางให้ พอมาถึงก็ต้องรอตามขั้นตอน คุณแม่ก็แทบทนไม่ไหว

พอได้ตรวจ ครั้งนี้ตรวจนานมากกว่าทุกที และมีการเชิญหมอเข้ามาดูกันหลายท่าน เราก็ใจไม่ดี แล้วได้ยินหมอพูดว่า ลิ้นติด เราก็คิดว่าจะมียารักษามั้ย ขออย่าต้องผ่าอีกเลย แต่ถือว่าโชคดีมากที่ได้ตรวจ Echo จึงพบสาเหตุ ไม่งั้นแม่คงไม่ได้อยู่กับเราจนถึงวันนี้ พอทราบก็ต้องผ่าตัดด่วนในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งเรากับคุณแม่ ไม่ทันตั้งตัวกันเลย เรายืนร้องไห้ข้างเตียงท่าน กลัวว่าท่านจะจากไป ทั้งที่ไม่อยากร้องเดี๋ยวท่านจะเสียกำลังใจ แต่ก็อดกลั้นไม่ไหว หมอคนสวยใจดีมาปลอบใจและอธิบาย ไม่ผ่าก็ไม่รอดแน่ จึงต้องตัดสินใจผ่าเปลี่ยนลิ้นหัวใจอีกครั้ง เราบอกคุณแม่ว่าไม่ต้องกลัวนะ และก็บอกท่านเสมอว่าให้นึกถึงแต่สิ่งดีๆ นึกถึงผลบุญที่เราเคยทำ นึกถึงพระ นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และขอให้มั่นใจ เราเองก็ต้องมั่นใจเชื่อมั่นว่าท่านต้องปลอดภัย

กลับบ้านมาเราก็นั่งร้องไห้กับแมว แมวเราน่ารักมาก เป็นห่วงเรา แมวตกใจที่เราร้องไห้หนัก แมวร้องอื๋อๆ เหมือนจะถามว่าเป็นอะไร อย่าร้องนะ แมวเอามือมาเช็ดน้ำตาให้หลายทีเลย แมวกอดปลอบใจเรา พอได้กำลังใจจากแมว เราก็มีพลัง เราพยายามหาข้อมูลในการรักษา และข้อมูลการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตอนเช้าก่อนไปเยี่ยมท่าน เราไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยคุณแม่ และท่านก็ปลอดภัย นอนโรงพยาบาล 2 เดือน จึงได้กลับบ้าน

ในการผ่าตัดทั้ง 2 ครั้งนี้ ตอนผ่าตัดเสร็จเมื่อฟื้น คุณแม่จะคอแห้งมากๆ ท่านจะขอน้ำ แต่ให้ไม่ได้ มีสายระโยงระยาง เต็มไปหมด และมีขวดใส่เลือด ใส่ของเสียที่ไหลออกมา โอย จะเป็นลม คุณแม่ต้องอยู่ในห้อง CCU หลายวัน และเมื่อได้ออกจากห้องนี้ ไม่นาน ก็ต้องกลับเข้ามาห้อง CCU อีกหลายรอบ ทั้ง 2 ครั้งของการผ่าตัด

*** ระหว่างที่ท่านนอนอยู่โรงพยาบาล ทุกวันเราจะกายภาพท่าน โดยจับแขนขาท่านยืดเหยียดและงอ จากที่ขยับอะไรไม่ได้เลย ก็เริ่มขยับได้ และเราก็ค่อยๆ เพิ่มแรงเข้าไปโดย ให้ท่านยืดขา แล้วเราเอามือดันต้านไว้ให้ท่านออกแรงถีบ จากนั้นให้ท่านหดขาเข้า แล้วเราดึงขาท่าน ไม่ให้หดเข้าเบาๆ ให้ท่านได้ออกแรงต้าน ไม่นานก็ดีขึ้นเลยค่ะ เราทำทั้งวัน จะหยุดแค่ตอนท่านหลับ คือทำหนักมาก จนสามารถพยุงท่านเดินได้

ช่วงแรกๆ คุณแม่จะทานอาหารและน้ำเองไม่ได้เลย เพราะจะสำลัก ซึ่งจะเป็นอันตรายมากสำหรับผู้ที่เพิ่งผ่าตัดหัวใจใหม่ๆ ต้องให้อาหารทางสายยางตลอด ท่านเจ็บจมูกมาก ต้องให้ทางสายยางนานเป็นเดือน เราไปเรียนวิธีให้อาหารทางสายยาง เพราะกลับบ้านไปต้องทำให้ได้ ไม่นานท่านเจ็บจมูกจนทนไม่ไหว เราพยายามหาข้อมูล และบอกท่านว่า จะลองมั้ย ไม่ต้องให้อาหารทางสายยาง แต่ต้องบริหารลิ้นและกล้ามเนื้อที่ช่วยในการกลืนให้แข็งแรงก่อนนะ ถึงจะเอาสายอาหารออกได้ เราขอแทรกวิธีการบริหารลิ้นไว้ตรงนี้เลยนะคะ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับบางท่านที่มีญาติหรือตนเองกำลังรับอาหารทางสายยางอยู่ แต่เราต้องดูให้แน่ใจว่าผู้ป่วยพร้อมจริงๆ นะคะ มิฉะนั้นจะอันตรายมากค่ะ

*** การบริหารลิ้นและกล้ามเนื้อที่ช่วยในการกลืน ตามที่เราไปค้นหามา สรุปได้ดังนี้ ก่อนจะเอาสายอาหารออก ต้องออกกำลังลิ้นตามนี้

ท่าที่ 1 แลบลิ้นออกมา ซ้าย ขวา แลบลิ้นมาด้านหน้ายาวๆ สลับกับหดลิ้นเข้าไป
ท่าที่ 2 ให้เอาลิ้นวนรอบปากทางด้านใน
ท่าที่ 3 ขยับปากพูดว่า อา อี อู แต่ละคำให้พูดยาวๆ เป็นการบริหารโคนลิ้น

ทั้งหมดนี้เราให้คุณแม่ทำทั้งวัน และทุกวันประมาณ 1 อาทิตย์ ทำอย่างเคร่งครัดทุกท่า เมื่อทำจนชำนาญเราถามคุณแม่ว่าพร้อมมั้ยที่จะเอาสายยางออก ท่านรีบตอบ เพราะเจ็บจมูกมาก

*** อาหารที่จะให้ในครั้งแรกที่เอาสายยางให้อาหารออกในผู้ป่วยที่ผ่านการบริหารลิ้นแล้ว ควรเป็นอาหารที่มีความหนืด ไม่ไหลเร็ว มิฉะนั้นผู้ป่วยจะสำลัก อันตรายมากค่ะ ตอนนั้นพยายาลสั่งโจ๊กปั่นละเอียดมาให้คุณแม่ค่ะ เราค่อยๆ ตักป้อนทีละนิดเดียว แค่ปลายช้อนเลยค่ะ ให้ทีละนิด ช้าๆ อย่ารีบ แล้วคุณแม่ก็ทานได้ ท่านดีใจมาก อาหารมื้อนี้อร่อยที่สุด วันถัดไปก็เพิ่มไข่ปั้นกับโจ๊ก ทานแบบนี้สักระยะ จนท่านกลืนได้ดี ไม่มีการสำลักเลย เราก็ค่อยๆ เปลี่ยนอาหารมาเป็นข้าวต้ม และในที่สุดท่านก็ทานข้าวสวยกับกับข้าวได้ แต่ต้องใช้เวลานะคะ อย่ารีบร้อน หากเกิดสำลักขึ้นมา จะยิ่งลำบาก ในการผ่าครั้งที่ 2 เราก็ให้ท่านฝึกแบบนี้ จนเอาสายอาหารออกและกลืนอาหารเองได้

*** การผ่าตัดครั้งที่ 2 นี้ถือว่าเป็นอะไรที่สุดๆ ในชีวิตเราเลยค่ะ กลัวมาก สับสน เครียดที่สุด แต่ก็ผ่านมาได้ ระหว่างพิมพ์ไปนี่ เรายังจำความรู้สึกตอนนั้นได้ ทุกวันนี้ดีกว่าตอนนั้นเยอะเลยค่ะ แต่คุณแม่ก็ต้องมานอนโรงพยาบาลเรื่อยๆ เพราะน้ำท่วมปอด ปอดติดเชื้อ เป็นอยู่หลายครั้งจากการสำลักอาหาร หมอแนะนำให้กินไข่ขาวเยอะๆ แม่เราต้องกินไข่ขาววันละ 9 ฟอง ดื่มนมเยอะๆ เราค้นข้อมูล เจอว่าอาหารพวกที่เป็นคอลลอยด์จะช่วยดูดซับน้ำได้ เราจึงทำให้คุณแม่กิน เช่น อาหารที่ใส่แป้งมัน วุ้น งดเค็มหวาน ไม่นานน้ำท่วมปอดก็ลดลง จากนั้นคุณแม่ก็มาเป็นเบาหวานกับไขมันอีก ขา 2 ข้างก็ลีบเล็กลงเรื่อยๆ จนจะก้าวขาแทบไม่ไหว เราสงสารแม่จริงๆ

เราได้ผ่านช่วงเวลาที่แย่ที่สุดมาแล้ว เราจะทำวันนี้ให้ดีที่สุด ดูแลท่านให้ดีที่สุด และจะใจเย็นลง จะพยายามไม่เครียด ไม่เอามาเป็นอารมณ์ เพื่อให้ท่านได้อยู่กับเราให้นานที่สุดค่ะ เรารับไม่ได้ ถ้าไม่มีท่าน แต่ก็มีแอบเครียดบ้างเรื่อยๆ นะ แหม่ ว่าจะเล่านิดเดียว ยาวเลยแฮะ

ยังมีอีกหลายท่านที่ลำบากกว่าเรา เหนื่อยกว่าเรา ขอให้อดทน สู้ต่อไป เราพร้อมจะเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน และขอขอบพระคุณสำหรับกำลังใจที่ทุกท่านมีให้เราอย่างล้นหลามค่ะ

*** ขอให้ทุกท่านโชคดีมีความสุขสมหวังทุกสิ่งตลอดไปนะคะ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านตอบแทนกลับด้วย สู้ๆ นะคะ **
แก้ไขข้อความเมื่อ 29 เมษายน 2561 เวลา 06:13 น.
------------------------------------
ขอเพิ่มเติมในความคิดเห็นที่ 219 นะคะ คุณแม่ท่านได้จากหนูไปแล้วค่ะ
อ่านเพิ่มเติมได้จากกระทู้นี้ค่ะ  https://ppantip.com/topic/40093224
ขอบพระคุณทุกท่านที่เป็นกำลังใจให้เสมอมานะคะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 48
ในฐานะของบุคลากรทางสาธารณสุข  + ลูกที่ต้องดูแลพ่อ นอนติดเตียง และมีปัญหาโรคสมองเสื่อม

1. อย่ารู้สึกแย่นะคะ  ที่เราเกิดอาการท้อแท้เบื่อหน่าย  กลายเป็นลูกอกตัญูแบบ ชั่วคราว .... เราคือมนุษย์คนหนึ่ง  ที่ท้าทายตัวเองด้วยการกระทำความดีในสิ่งที่ยากลำบาก เป็นเวลานาน  การระบายออก และได้รับความเห็นใจด้วยเมตตา  เป็นสิ่งที่เยียวยาเราได้ค่ะ  ... และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น ก็จะช่วยในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาของเราเช่นกัน

2. สิ่งที่เจ้าของกระทู้น่าจะลองทำ คือค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโรคสมองเสื่อมค่ะ   เพราะคุณเจ้าของกระทู้ก็น่าจะทราบแล้ว ว่าคุณแม่มีภาวะทางสมองอยู่  และอาการที่ดูเหมือนจะกวนประสาทผู้ดูแลนั้น  เกิดจากภาวะทางสมองนี่แหละค่ะ   มันทำใจยาก เพราะตอนพูดคุยกับเรา  ท่านก็ดูรู้เรื่อง เข้าใจ ตอบรับทุกอย่าง  แต่สุดท้าย ก็ทำหรือไม่ทำ หรือพาตัวเองให้พบกับความเสี่ยง อันตรายตลอดเวลา เหมือนเด็กที่ "รู้เท่าไม่ถึงการณ์"    การที่ให้คุณเจ้าของกระทู้ ไปค้นหาข้อมูลอ่านเอง  เพื่อให้คุณ "เข้าใจ" ว่าโรคนี้ มันคืออะไร  แล้วเราจะ "ทำใจ" พอได้ เวลาท่านทำอะไรที่ทำให้เราหงุดหงิด ขัดใจ ค่ะ  เพราะรู้ และเข้าใจ  เราจะปล่อยวาง และอภัยได้ง่ายขึ้น

3. มีบางความคิดเห็น ที่แนะนำเรื่องการพบแพทย์ด้านจิตเวช เพื่อให้ยา  : เป็นคำแนะนำที่ดีมากนะคะ  อย่าได้แคร์คำกระแนะกระแหน หรือ stigma ทางสังคม ที่ต้องเป็นคน "บ้า" เท่านั้น จึงไปพบจิตแพทย์   เพราะในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ที่มีอาการทางบวก (โวยวาย อาละวาด active)  มันมียา ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสงบลง  ไม่ใช่แค่ช่วยผู้ป่วยเท่านั้น   ยังช่วยผู้ดูแลด้วยค่ะ ถ้าตัดสินใจได้  อย่าได้รอช้าค่ะ    แต่ต้องเข้าใจนะคะ ว่าอาการสมองเสื่อม การกินยา ไม่ได้ช่วยให้สมองกลับมาดีเหมือนเดิม   มันแค่ช่วยชลอไม่ให้เป็นหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว  หรือปรับพฤติกรรมผู้ป่วยให้ดูแลได้ง่ายขึ้นเท่านั้นค่ะ

4. วางแผนการดูแลผู้ป่วย โดยใช้ข้อมูล ความรู้ทางวิชาการ ค่ะ :  จากบางความเห็นที่ยกตัวอย่าง การดูแลของคุณพยาบาลผู้รับจ้างดูแล ที่วางตารางการใช้ชีวิต และกิจกรรมให้ผู้ป่วยอย่างชัดเจน  เป็นตัวอย่างที่ดีนะคะ   คุณควรรวบรวมข้อมูลสำคัญในการใช้ชีวิตของคุณแม่ เช่น  อาการร้องโวยวาย เป็นตอนไหน  สงบตอนไหน  มักเป็นจากอะไร เช่น มักเป็นเวลาอยากได้ของ   เป็นเวลาไม่เห็นคนอยู่ด้วย ฯลฯ   มีอาการอะไรอื่นอีกบ้าง  เช่น  กินอาหารสำลักไหม ตักกินเองได้หรือเปล่า  มีแผลกดทับ หรือเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับไหม  เคลื่อนไหวตัวเองอย่างไร   พฤติกรรมการนอน  ฯลฯ   แล้ว ปรับ จัดวางตารางชีวิตของตัวคุณ ให้เหมาะกัน จัดเวลาพักผ่อน  การทำกิจกรรมงานบ้านอื่นๆ  (หากจำเป็นต้องทำเอง) ให้สอดคล้องกับตารางชีวิตค่ะ   เช่น  
เช้า  ตื่นกี่โมง   : กิจกรรมการทำความสะอาดผู้ป่วยยามเช้า  ต้องทำอะไร หรือผู้ป่วยทำอะไรกับตัวเองได้บ้าง
       การเตรียมอาหารเช้า - การกินอาหารเช้า -กินยาประจำมื้อ - เก็บกวาดเช็ดล้าง
       กิจกรรมช่วงเช้าที่สำคัญ เช่น  ดูรายการธรรมมะ .. หรือ ออกกำลังกาย/ทำกายภาพบำบัดตอนเช้า
       การเตรียมอาหารเที่ยง - กินอาหาร - กินยา - เก็บกวาดเช็ดล้าง
       กิจกรรมช่วงบ่ายที่สำคัญ   หรือหากผู้ป่วยมักนอนพักผ่อนยามบ่าย   คุณควรใช้เวลานี้ ในการนอนพักผ่อนด้วยค่ะ
       การเตรียมอาหารเย็น - กินอาหาร - กินยา - เก็บกวาดเช็ดล้าง
       การออกกำลังกาย  หรือ ทำกายภาพบำบัด   หรือ พานั่งรถเข็น  เดินเล่น เปลี่ยนบรรยากาศ
       การทำความสะอาดผู้ป่วยยามเย็น
       นอนพักผ่อน  (คุณอาจใช้เวลาช่วงต้นที่ผู้ป่วยนอนพักผ่อน ในการทำงานบ้าน หรือจัดเตรียมอื่นๆ   ก่อนที่ตัวเองก็จะต้องพักผ่อนด้วย)

               พยายามทำสิ่งเหล่านี้ ให้เป็นตารางประจำวัน  หากผู้ป่วยร้องโวยวายตลอดเวลา  การได้ยาช่วย + การทำกิจกรรมให้เป็นช่วง จะช่วยได้นะคะ  สมมุติว่าผู้ป่วยมักร้อง หากเราไม่อยู่ในสายตา  ต้องดูว่า ผู้ป่วยร้องแบบเรียกร้อง หรือร้องแบบมีเรื่องจริงๆ  และถ้าเป็นไปได้ อาจจะต้องปลีกตัวออกมา แล้วทำใจแข็ง ค่ะ   ค่อยๆ ฝึกไป   ที่สำคัญ อย่าละเลยเรื่องความเสี่ยง อุบัติเหตุ เช่น กลิ้ง ตกเตียงเอง ฯลฯ  ซึ่งก็อาจจะต้องหาอุปกรณ์ช่วยอื่นๆ เพื่อป้องกันเช่น ฟูกปูพื้นนุ่ม  หมอนข้าง กั้นข้างเตียง  และบางครั้งอาจจะต้องเตรียมอุปกรณ์ผูกรั้ง (ที่นุ่มๆ) ไว้เผื่อจำเป็นด้วยค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่