เกษตรกรรมปรับตัวยกระดับสู่โลกอนาคต

ภาพเจนตาติดอยู่ในความทรงจำสำหรับการทำการเกษตร มักจะเป็นภาพชาวนากำลังก้มหน้าก้มตาดำนา ปักต้นกล้าลงดิน หรือภาพชาวไร่ชาวสวนกำลังรดน้ำพรวนดิน เก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น




ปัจจุบันภาพการทำเกษตรกรรมได้เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในต่างประเทศ เราจะเห็นแรงงานคนน้อยลง แต่จะเห็นภาพเครื่องจักรกล หรือภาพคนบังคับเครื่องจักรให้ทำงานมากขึ้น

เพราะโลกกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของดิจิตอลอย่างเต็มตัว ด้วยจำนวนประชากรโลกยังคงมีจำนวนมาก ประกอบกับแนวโน้มประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น แต่คนวัยทำงานโดยเฉพาะผู้ที่จะทำงานหนัก ๆ ใช้แรงงานหรือทำการเกษตรกลับมีจำนวนลดลงแบบสวนทางกัน


เกษตรกรจีนใช้โดรนช่วยในการเกษตร


กระนั้นโลกก็ยังมีความต้องการอาหารที่จะป้อนประชากรให้ได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงในอนาคต จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสภาพการทำงาน โดยนำเครื่องจักรกล ระบบดิจิตอล หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยมากขึ้น

เกษตรกรรมก็เช่นกัน จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบใหม่ ๆ ที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานและผลผลิตเพิ่มขึ้น ใช้แรงงานมนุษย์น้อยลง ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่ามากที่สุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การทำเกษตรความแม่นยำสูง เกษตรอัจฉริยะหรือสมาร์ทฟาร์ม และเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ดูแลทุกกระบวนการตั้งแต่เริ่มจนจบ ไม่ว่าการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นดิน ไถหว่านเมล็ด รดน้ำ ให้ปุ๋ย เก็บเกี่ยว คัดแยกและเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น


ในต่างประเทศ เกษตรกรรมความแม่นยำสูงนิยมทำกันมากในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ส่วนญี่ปุ่นและจีนเน้นแนวเกษตรแปลงใหญ่ นอกจากนี้ก็มีการทำฟาร์มอัจฉริยะ โดยนำเทคโนโลยีมาช่วย เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบเซ็นเซอร์ ดาวเทียม โดรน

องค์กรใหญ่ ๆ อย่างองค์กรด้านการเกษตร เช่น มอนซานโต้ ซินเจนต้า ก็ได้ให้ทุนสนับสนุน ตลอดจนร่วมมือทางธุรกิจกับสตาร์ทอัพในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการเกษตรมากขึ้น เช่น โดรน ระบบดาวเทียม หุ่นยนต์ และเอไอ เป็นต้นว่าใช้ตรวจสอบและสำรวจพื้นที่ ดูแลและฉีดพ่นวัชพืช ประเมินความร้อนของดิน ประเมินผลกระทบของจุลินทรีย์และสุขภาพของพืช ระบุถึงการกลายพันธุ์ของยีนในเชื้อโรคที่อาจเป็นอันตรายต่อพืชและอื่น ๆ รวมถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต  


เพราะการเกษตรถูกผนวกไปกับทุกวงจร ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สุขภาพ พลังงาน ฯลฯ ซึ่งในโลกยุคดิจิตอลต่อไป ผู้บริโภคจะเป็นผู้ผลิตอาหารเองโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย ดังนั้น บริษัทที่ทำธุรกิจด้านอื่น ๆ จึงพากันหันมาให้ความสนใจด้านการเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่าง Google ก็กำลังทำการปลูกเนื้อสัตว์เฉพาะส่วน, ฟูจิตสึ เริ่มจำหน่ายผักกาดหอมโปแตสเซียมต่ำ, โตชิบาเริ่มปลูกผักในโรงงานที่เคยผลิตฟล็อปปี้ดิสก์, พานาโซนิคก็คิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุมโรงเรือนปลูกผัก, ชาร์ปทำแล็บทดลองปลูกสตรอเบอรี่ในร่ม


ในประเทศไทย หลายบริษัทใหญ่ ๆ ก็หันมาทำธุรกิจเกษตร เช่น ปตท. ทำธุรกิจปลูกกาแฟ เนื่องจากมีกำไรจากการทำร้านกาแฟ, SCG หันมาปลูกต้นไม้เพื่อป้อนธุรกิจของตนเอง, ทรูสนับสนุนสตาร์ทอัพพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตร, หรือซีพีก็พัฒนาการเกษตรในรูปโครงการเกษตรกรรมหมุนเวียนทันสมัยผิงกู่ ประเทศจีน

จะเห็นได้ว่าทั่วโลกมองเหมือนกันว่าการเกษตรมีความสำคัญกับโลกในอนาคต และเพื่อให้มีอาหารป้อนคนทั้งโลกได้ ก็ต้องข้ามพ้นวิถีการผลิตรูปแบบเดิม ๆ ไปสู่การพัฒนาเกษตรกรแบบชาญฉลาดมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค โดยเป็นการลดต้นทุนผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้มีมาตรฐาน


ก็ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องปรับตัวเตรียมรับมือกับเทรนด์ของโลก เพื่อให้มีอาหารเลี้ยงคนในชาติ ตลอดจนส่งอาหารไปป้อนคนทั้งโลก หากเรายังต้องการเป็นครัวของโลกอยู่

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

*****************

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่