[CR] ทริป บุรีรัมย์ 3 วัน 2 คืน ตอน :: ผ้าเอกลักษณ์พื้นถิ่น.....ฝ้ายย้อมดินภูเขาไฟ ผ้าภูอัคนี

ผู้นำกลุ่มอาชีพทอผ้าฝ้าย ผ้าใหม่ ตำบลเจริญสุข และ ท.ท.ท. จังหวัดสุรินทร์
หลังจากลงเขาพนมรุ้งและหาข้าวหาปลากินกันเรียบร้อย ก็ถึงเวลาอำลาปราสาทหิน ไปหาคนเป็น ๆ กันบ้าง ย่านที่ไม่ไกลจากกลุ่มปราสาทหินที่เราไปเที่ยวกันนัก มีของดี Otop แบบที่ไม่ได้ดีอย่างเดียว ทั้งดี ทั้งเก๋ และแปลก (สำหรับเรา) ไปในตัว นั่นคือ "ผ้าภูอัคนี"
วัตถุดิบธรรมชาติที่สามารถนำมาย้อมผ้าได้
ผ้าที่ย้อมสีจากวัตถุดิบธรรมชาติ
"ผ้าภูอัคนี" คืออะไร ??? เกิดคำถามขั้นมาทันที ผ้าภูอัคนี ไม่ใช่ผ้าที่ท่อที่ภูเขาชื่ออัคนีแต่อย่างใด แต่เป็นผ้าทอย้อมที่ขึ้นชื่อของ ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียร์ติ จังหวัดบุรีรัมย์ เพราะใช้ผ้าฝ้าย (หรืออาจจะมีไหมบ้างแล้วแต่ผู้ทำ) ทอย้อมกับดินจากภูเขาไฟ จนได้สีสวยหวาน แบบสีพาสเทล
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า บางส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์นั้น ตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปราสาทหินพนมรุ้ง หรือ วัดเขาหลุบก็ตาม ดังนั้น ดินจากภูเขาไฟจึงหาไม่ยาก เพราะบุรีรัมย์นั้น มีภูเขาไฟอยู่ถึง 4 ลูก นั่นก็คือ
ภูเขาไฟพนมรุ้ง
ภูเขาไฟไปรบัด
ภูเขาไฟเขาหลุบ
ภูเขาไฟเขาอังคาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "วัดเขาพระอังคาร" และมีความเชื่อว่า เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีรูปร่างคล้ายพญาครุฑนอนคว่ำ และยังเชื่ออีกว่ามีการประดิษฐสถาน "พระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้า" ไว้ที่ไหล่ซ้ายของครุฑนั้น
ดังนั้น กลุ่มอาชีพทอผ้าฝ้าย ผ้าใหม่ ตำบลเจริญสุข จึงนำเอาดินจากภูเขาไฟเขาพระอังคาร มาเป็นวัตถุดิบในการย้อมผ้า เพื่อให้เป็นสิริมงคลต่อชีวิต ของผู้สวมใส่
และที่บ้านเจริญสุขนี้เอง ป้าสมศรี ถุนนอก ก็เป็นอีกหนึ่ง ผู้ทอฝ้ายและย้อมผ้าภูอัคนีฝีมือดี ที่เราตั้งใจจะแวะมาเยี่ยมเยียนกันในวันนี้
ป้าสมศรี เปิดใต้ถุนบ้าน ให้เป็นลานเรียนรู้การทอผ้า และย้อมผ้าจากดินภูเขาไฟ เพื่อผลิตผ้าภูอัคนี เมื่อเราไปถึงนั้น สาว ๆ หนุ่ม ๆ ที่มาเรียนรู้เรื่องการทอผ้าเพิ่งจะเสร็จกิจกรรมไป ป้าจึงพาพวกเราไปดูขั้นตอน และกระบวนการย้อมผ้าจากดินภูเขาไฟจากเขาพระอังคาร
ดินภูเขาไฟจากเขาพระอังคาร
แน่นอน ต้องมีดิน ใช่ แล้วต้องเป็น ดินภูเขาไฟจากเขาพระอังคาร ด้วยนะ อย่าไปลูกอื่น เดี๋ยวจะผิดคอนเซป จากนั้นนำมาขยำกับน้ำในกะละมังจนน้ำข้นเหนียวและออกสีแดงชมพู จึงทำการกรองเอาเศษฝุ่น เศษผงออกจากน้ำดิน
นำเส้นฝ้ายไปแช่ในน้ำดิน
นำเส้นฝ้ายที่เตรียมไว้ มัดเป็นช่อ แล้วเอาลงแช่ในน้ำดินที่ขยำไว้ ในขั้นตอนนี้ หากต้องการ ลาย หรือสี ให้ทำการมัดที่ช่อเส้นฝ้ายที่เตรียมไว้ ด้วยหลักการเดียวกับผ้ามัดย้อม
หากต้องการสีอ่อน ๆ ก็แช่เร็วหน่อย แต่หากต้องการสีจัด ก็ต้องแช่กันนานนิดนึง ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องแช่ไว้ไม่ต่ำกว่า 4-8 ชั่วโมง แต่นี่เป็นการสาธิต 5 นาทีพอแล้ว
ดินจากภูเขาไฟ
จากนั้น นำช่อฝ้ายที่ย้อมน้ำดินแล้ว ไปล้างให้สะอาด แล้วนำเปลือกของต้นประดู่มาด้มให้ได้น้ำประมาณครึ่งกะละมัง แล้วนำช่อฝ้ายที่ย้อมสีแล้ว ลงไปต้ม เพื่อให้สีของน้ำประดู่จับเส้นฝ้าย ให้ได้สีจัดขึ้น และเงางามยิ่งขึ้น ถือเป็น Fixer อย่างหนึ่ง
นำผ้าที่แช่ย้อมสีดินแล้ว ไปต้มในน้ำประดู่
แล้วจึงนำมาแขวนตากให้แห้ง
ป้าสมศรี โชว์การดึงเส้นฝ้ายหลังจากการต้มย้อมน้ำประดู่แล้ว เพื่อให้เส้นฝ้ายที่ได้ มีความเหยียดตรงขึ้น
สาวกรอฝ้าย
เมื่อเส้นฝ้ายที่ได้แห้งสนิทก็นำเส้นฝ้ายที่ย้อมแล้วดังกล่าว มากรอเข้าหลอด แล้วจึงนำไปทอเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าภูอัคนีอีกทีหนึ่ง ก่อนนำออกจำหน่าย ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า หรือนำออกขายในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ผ้าภูอัคนีที่ได้ จะมีความนิ่ม สีหวาน นุ่ม เหมาะแกการนำไปทำผ้าพันคอ หรือตัดเสื้อผ้า เราเลือกชมสินค้าที่ป้าสมศรีนำมาโชว์และซื้อไปฝากญาติสนิทมิตรสหายกันอย่างสนุกสนาน ก่อนบอกลาป้าสมศรี เพื่อไปดูแหล่งวัตถุดิบชั้นเลิศของแกบนเขาพระอังคารต่อไป
สาว ๆ ลองนั่งกี่และทอผ้ากัน
ชื่อสินค้า:   ฝ้ายย้อมดินภูเขาไฟ ผ้าภูอัคนี
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่