กระบวนการผลิตงานหัตถกรรมผ้าทอม้ง(ผ้าใยกัญชง HEMP)

วันนี้ผมมีเรื่องราววิธีหรือขั้นตอนการผลิตเส้นใยจากต้นกัญชงมาฝากกันครับ ต้นกัญชงหรือHempเป็นพืชที่มีอายุแค่เพียงปีเดียว(1ปีปลูกได้ครั้งเดียว)และเพิ่งได้ผ่านการอนุมัติจากครม.เมื่อไม่กี่ปีมานี้ให้เป็นพืชทางเศรษฐกิจ แต่กระทู้นี้ผมจะขอนำเอาเฉพาะข้อมูลกรรมวิธีขั้นตอนการทำใยจากต้นกัญชงมาลงนะครับ ข้อมูลอื่นๆนอกเหนือจากนี้สามารถหาได้ตามอินเตอร์เน็ตหรือท้ายกระทู้ครับ

   กระบวนการผลิตงานหัตถกรรมผ้าทอม้ง(ผ้าใยกัญชง HEMP)






การเตรียมเส้นใย
   
         การเตรียมเส้นใยสำหรับการทอผ้าของม้งนั้นมีขั้นตอนที่ต่างจากการเตรียมเส้นใยของชนเผ่าอื่นๆ เนื่องจากเส้นใยที่ม้งใช้ทอผ้านั้นเป็นเส้นใยที่ได้มาจากต้นกัญชง(HEMP)ไม่ใช่เส้นใยจากปุยฝ้าย ซึ่งมีกรรมวิธีในการเตรียมเส้นใยดังนี้
  1.ตัดลำต้นกัญชงแล้วนำมามัดรวมกันเป็นกำ ตากแดดให้แห้งประมาณ1สัปดาห์
  2.ลอกเปลือกออกจากลำต้นที่ผ่านการตากแห้งมาเรียบร้อยแล้ว
  3.นำเปลือกที่ลอกออกจากแต่ละต้นมามัดรวมกันเป็นมัดใหญ่
  4.นำไปตำให้นิ่มในครก จนได้เส้นที่นิ่ม
  5.นำเส้นใยที่นิ่มแล้วมามัดต่อกันเป็นเส้นยาว โดยการขยี้ปลายเส้นใยทั้งสองเส้น ให้เส้นใยแยกออกจากกัน นำเอาเส้นใยที่แยกออกจากกันจากปลายของทั้งสองสองเส้นมาทาบติดกัน แล้วใช้มือริ้วให้เป็นเส้นเดียวกันโดยไม่มีปม
  6.นำเอาเส้นใยที่ต่อกันแล้วพันกับตีน"ตีนตั่ว"เพื่อทำเป็นก้อน
  7.นำเส้นใยที่พันไว้เป็นก้อนมาปั่นให้เป็นเกลียวแล้วเข้าหลอดกรอ
  8.นำไปวนรอบไม้กากบาทเพื่อวัดความยาวและทำเป็นไจ
  9.นำไปต้อกับน้ำขี้เถ้าเพื่อฟอกให้ขาวแล้วนำไปวักในน้ำสะอาด
  10.นำเส้นใยที่ฟอกและล้างแล้วไปทำให้นิ่มอีกครั้งหนึ่งโดยการรีดด้วยการวางเส้นใยบนท่อนไม้หรือหินที่ตันทรงกระบอก แล้วนำเอาแผ่นไม้หรือแผ่นหินวางทับ ขึ้นเหยียบกดเท้าซ้าย-ขวาสลับกันเพื่อให้ไม้หรือหินทรงกระบอกกลิ้งไปมา
  11.เมื่อรีดจนนิ่มแล้วนำไปวนรอบไม้กากบาทเพื่อตากลมให้แห้ง สำหรับนำไปทอต่อไป







การเดินเส้นยืน
         การเดินเส้นยืนคือการนำเอาเส้นใยที่เตรียมไว้ มีขนาดของเส้นและความยาวตามที่ต้องการแล้วมาขึงเพื่อนำไปใส่ในกี่ทอผ้า โดยจะทำหน้าที่เป็นเส้นยืน วิธีการเดินเส้นยืนของม้งนั้นมีวิธีการที่ต่างไปจากชนเผ่าอื่น ซึ่งมีวิธีดังนี้

ขั้นตอนการเตรียมเส้นยืน
1.ใช้ไม่ไผ่พาดกับเก้าอี้หรืออะไรก็ได้เพื่อยกให้เหนือพื้นดินประมาณ50ซม.
2.ใช้ผ้าพันราวไม้ไผ่ โดยทำเป็นปล้องๆให้ได้10ปล้อง
3.เตรียมเส้นใยเพื่อเดินเป็นเส้นยืนด้วยการแยกเส้นใยที่เรียงแล้วเป็น10กอง
4.แต่ละกองพันปลายเส้นใยพอหลวมประมาณ4-5รอบ
5.เอาปลายเส้นใยแต่ละกองสอดผ่านผ้าที่พันราวไม้วึ่งทำหน้าที่แยกเส้นใยไม่ให้พันกันปล้องละ1เส้น จะได้เส้นใยที่สอดผ่านปล้องผ้าทั้งหมด10เส้น
6.มัดปลายเส้นใยที่สอดออกมาแล้วรวมกันทั้ง10เส้น
7.ปักไม้ไผ่ปลายแหลมลงกับพื้นดิน ตอกลงให้แน่น(ตามรูป)โดยปักเป็นคู่3คู่ ซึ่งคู่ที่3จะต้องอยู่ใกล้กับเส้นใยในข้อที่6 ระยะห่างระหว่างคู่ที่1ถึงคู่ที่3สามารถขยายหรือกะระยะตามความยาวของผืนผ้าที่ต้องการ
8.การเดินเส้นเริ่มจากดึงเส้นใยที่มัดรวมกันแล้วไปผูกกับหลักที่1
9.ดึงเส้นใยจากหลักที่1ไปวนหลักที่2สู่หลักที่3 วนหลักที่3ไปสู่หลักที่4วนหลักที่4ไปหลักที่5และ6
10.พันเส้นใยทีละเส้นที่มือขวาให้เรียงกันเป็นระเบียบ แล้วบิดให้เป็นเลข8สวมหลักที่6และ5
11.ดึงเส้นใยจากหลักที่5กลับไป วนหลักที่4ไปสู่หลักที่3 วนหลักที่3ไปหลักที่2และวนหลักที่2ไปหบักที่1 เป็นการเดินเส้นยืนได้1รอบหรือ1ชุด ซึ่งจะต้องเดิน5รอบสำหรับผ้าที่จะใช้ทำกระโปรง ถ้าต้องการความกว้างเพิ่มขึ้นให้เพิ่มรอบของการเดิน







การเตรียมเส้นพุ่ง
   ผืนผ้าทอทุกชนิดประกอบด้วยเส้นยืนและเส้นพุ่ง การเตรียมเส้นพุ่งของม้งมีความเหมือนในหลักการเดียวกับชนเผ่าอื่นๆ คือใช้เส้นใยพันกับแกนไม้ เพื่อเวลาพุ่งเส้นใยเข้าไประหว่างเส้นยืนจะทำใด้รวดเร็วและไม่ติดขัด ซญึ่งเส้นพุ่งของการทอผ้าม้งนั้น จะใช้วิธีพันเส้นใยบนแกนไม้ แล้วนำเอาแกนไม้ที่พันแล้วใส่เข้าไปในแผ่นไม้ที่ปะกบกันกลวงในส่วนกลางเพื่อเอาแกนไม้เสียบเข้าไป เวลาพุ่งเส้นเข้าไปในเส้นยืนจะพุ่งแผ่นไม้ดังกล่าวเข้าไปทำให้เส้นใยไม่พันกัน




-ขั้นตอนการทอผ้า


1.ผู้ทอจะนั่งเก้าอี้เมื่อนำเส้นยืนลงในกี่เรียบร้อยแล้ว
2.ใช้เท้าเหยียบสายหรือไม้ที่ผูกติดกับตะกอเพื่อยกตะกอขึ้นทำให้ชั้นเส้นยืนแยกออกจากกัน
3.สอดไม้ทอที่มีเส้นพุ่งเข้าระหว่างชั้นฝ้ายเส้นยืนที่เปิดออกจากการยกตะกอชั้น
4.ใส่ไม้ไผ่เล็กๆเข้าไประหว่งางชั้นเส้นยืน เพื่อจัดเรียงฝ้ายเส้นยืนให้เป็นระเบียบ ตรวจสอบความถูกต้องของตะกอ รวมทั้งการจัดความกว้างของหน้าผ้าตามที่ต้องการ
5.เริ่มการทองจังหวะที่1
     5.1ยกชุดฝ้ายตะกอขึ้นด้วยการใช้เท้าเหยียบ
     5.2ใช้มือช่วยแยกเส้นยืนให้แยกออก
     5.3ใส่ไม้ทอที่มีเส้นพุ่ง
     5.4เอาไม้ทอที่มีเส้นพุ่งมากระทบเส้นพุ่งเข้าไปขัดกับชั้นเส้นยืน
6.การทอจังหวะที่2
     6.1ยกชุดฝ้ายตะกอขึ้นด้วยการใช้เท้าเหยียบ
     6.2สอดไม้ทอเข้าไปที่หน้าตะกอ ดันเข้ามาหาผู้ทอ เพื่อเปิดชั้นเส้นยืนอีกชั้น ซึ่งไม่ใช่ชั้นที่ทอในจังหวะแรก แล้วดันกลับไปค้างไว้ที่หน้าขา เพื่อเปิดชั้นตะกอ
     6.3ใส่ฝ้ายเส้นพุ่งเข้าไป
     6.4ใช้ไม้ทอกระแทบเส้นพุ่งเข้าไปชิดกับเส้นแรก
7.การทอจังหวะที่3 ยกฝ้ายตะกอขึ้นด้วยการเหยียบ และทำเช่นเดียวกับการทอในจังหวะที่1
8.การทอจังหวะที่4 เหยียบเพื่อแยกฝ้ายเข้ามาที่ด้านหลังตะกอ และทำเช่นเดียวกับการทอในจังหวะที่2 ทอสลับกันไปมา2จังหวะเหมือนจังหวะที่3และ4เรื่อยไปจนหมดชุดฝ้ายเส้นยืน





การเขียนเทียน
     การเขียนเทียนลงบนผ้าใยกัญชงที่ทอเรียบร้อยแล้วเพื่อนำไปทำเป็นกระโปรงของชนเผ่าม้ง นับว่าเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของงานหัตถกรรมชนเผ่า หากได้พบเห็นผ้าเขียนเทียนหรือผ้าบาติกลวดลายที่มีลักษณะคล้ายรูปทรงเลขาคณิตย้อมด้วยสีฮ่อม(indigo)ที่ใดสามารถบอกได้ทันทีว่าคืองานหัตถกรรมผ้าทอของชนเผ่าม้ง การเขียนเทียนของชนเผ่าม้งนั้นมีความละเอียดและปราณีต ผู้ที่จะสามารถทำออกมาได้สวยงามได้ต้องอาศัยความอดทนและความชำนาญอย่างสูง ที่สำคัญและน่าชื่นชมกับภูมิปัญญาของชนเผ่าม้ง คือทุกอย่างที่นำมาใช้ในการสร้างงานหัตถกรรมนั้นมาจากธรรมชาติและสิ่งใกล้ตัวทั้งสิ้น แต่ผลงานที่ปรากฎออกมานั้นมีค่าควรแก่การรักษาเป็นอย่างยิ่ง

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเขียนเทียน
    1.ขี้ผึ้ง
    2.อุปกรณ์สำหรับละลายขี้ผึ้ง
    3.เครื่องมือสำหรับจุ่มขี้ผึ้งเพื่อนำไปเขียนลายลงบนผ้า
    4.เตาขนาดเล็ก


ขั้นตอนการเขียน
    1.เตรียมขี้ผึ้ง โดยการนำไปใส่ในที่สำหรับละลายขี้ผึ้ง ซึ่งนิยมใช้เครื่องมือในการไถนาที่ชำรุดแล้ว โดยตัดเอาส่วนที่มีลักษณะเหมือนกระป๋องออกมาใช้ มีขนาดประมาณ5x6นิ้ว
    2.นำไปเสียบที่เตาขนาดเล็ก ซึ่งรองด้วยขี้เถ้า มีถ่านร้อนวางอยู่บนพื้นขี้เถ้าประมาณ4-5ก้อน
    3.ขี้ผึ้งละลายได้ที่ ไม่เหนียวข้นหรือละลายมากไป จึงใช้ที่เขียนจุ่มลงไป ยกขึ้นรอไว้ระยะหนึ่งให้ขี้ผึ้งส่วนเกินหยดลงให้หมดแล้วจึงนำไปเขียนลายลงบนผ้า
    4.การควบคุมอุณภูมิที่ใช้ละลายขี้ผึ้งมีความสำคัญมากที่สุดที่จะส่งผลให้ลายออกมาได้คมชัดสม่ำเสมอ

     ขอขอบคุณข้อมูลทั้งหมดจาก>>> http://hkm.hrdi.or.th/knowledge/detail/281


    ก็จบแล้วนะครับสำหรับขั้นตอนการผลิตเส้นใยจากต้นกัญชง ใครที่สนใจเรื่องราวของกัญชงว่าสามารถเอาไปทำอะไรได้บ้าง หรือมีข้อดีต่างจากวัสดุอย่างอื่นยังไง ก็เข้าไปติดตามได้ที่เพจครับผม>>> https://web.facebook.com/veenahemp
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่