อานาปานสติ ๔ ชั้นในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

อานาปานสติ ๔ ชั้นในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ในชั้นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณากาย ๔ ชั้น แล้ว
และเมื่อถึงชั้นที่ ๔ นี้ จิตกับลมหายใจย่อมรวมกันอยู่ พร้อมกับกายทั้งหมดใจทั้งหมด ซึ่งสงบตั้งมั่น และละเอียดอ่อน
จิตได้สัมผัสกับสติและสมาธิอย่างดียิ่ง จึงเกิดปีติคือความอิ่มใจ ก่อนแต่จะพบกับสติสมาธิ
ดั่งนี้ จิตย่อมกระสับกระส่ายดิ้นรนไปอยู่กับอารมณ์ต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง หลงสยบติดอยู่บ้าง ซึ่งอะไรๆ ในโลก
(เริ่ม ๑๖๙/๑) จิตจึงมีลักษณะที่เศร้าหมอง ประกอบด้วยความอยากความดิ้นรน อันทำให้จิตใจแห้งแล้ง ไม่แช่มชื่น

แต่เมื่อมาพบกับสติกับสมาธิ รวมอยู่กับกายใจทั้งหมด กับลมหายใจ จิตได้พบกับความสงบ ความละเอียดอ่อน อาการที่ดิ้นรนที่หิวระหาย
กระสับกระส่ายก็สงบไป จิตจึงได้ดูดดื่มความสงบ ความบริสุทธิ์ ซึ่งยังไม่เคยพบมาก่อน จึงได้ความดูดดื่มใจ อิ่มใจ สงบใจ
แต่ก่อนนั้นใจยังไม่เคยอิ่ม ยังกระหาย หิว ในอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นกาม แต่ครั้นสงบได้ด้วยสติสมาธิ กายใจลมหายใจ รวมกันอยู่
ได้ดูดดื่มความสงบ จึงมีความอิ่มใจ ใจที่หิวระหายกระวนกระวายก็หาย ร่างกายที่เมื่อยขบต่างๆ ก็หายหมด ปีติจึงบังเกิดขึ้น เป็นความอิ่มใจ

ปีติ ๕

ซึ่งปีตินี้ ท่านแสดงไว้ตั้งแต่อย่างหยาบไปหาอย่างละเอียด หรือน้อยไปหามาก
คือเบื้องต้นก็จะได้ ขุททกาปีติ ปีติอย่างน้อย อันทำให้น้ำตาไหลขนชัน เมื่อแรงขึ้นก็เป็น ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ
อันทำให้รู้สึกเสียวแปลบเหมือนอย่างฟ้าแลบ ยิ่งขึ้นก็เป็น โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ ทำให้รู้สึกซู่ซ่ามากยิ่งกว่าเสียวแปลบปลาบ
เหมือนอย่างคลื่นกระทบฝั่ง แรงขึ้นอีกก็เป็น อุพเพงคาปีติ ปีติอย่างโลดโผน ทำให้ใจฟู จนถึงบางคราวทำให้เปล่งอุทานขึ้นมา
โดยที่มิได้เจตนามาก่อน หรือทำให้กายเบา กายลอย กายโลดขึ้น และอย่างแรงที่มีอาการดั่งนี้ แต่ไม่ละเอียด ที่ยิ่งกว่านั้น
ก็เป็นปีติอย่างแรงแต่ละเอียดเป็น ผรณาปีติ ปีติที่ซาบซ่าน ไปทั่วจิตใจและร่างกาย ทั่วสรรพางค์กาย

เมื่อปีติบังเกิดขึ้น ก็ให้ทำความรู้ทั่วถึงปีติที่บังเกิดขึ้นนั้น กำหนดดูให้รู้จักปีติที่บังเกิดขึ้นนั้น ในขั้นนี้เป็นอันว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ซึ่งเต็มขั้น ก็เลื่อนขึ้นมาเองเป็น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติที่พิจารณาเวทนากำหนดเวทนา
อันได้แก่ความรู้สึกที่เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ปีตินี้ก็เป็นเวทนาอย่างหนึ่ง ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน
หรือปฏิบัติสมาธิแม้ในกรรมฐานบทอื่น

เมื่อจิตได้สมาธิ ก็จะได้ปีติบังเกิดขึ้นเอง ตามขั้นตอนเอง

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้กำหนดลมหายใจเข้าออก พร้อมกับกำหนดเวทนาคือปีติที่บังเกิดขึ้นตามที่เป็นไปจริงอย่างไร
เป็นอันว่าตั้งสติกำหนดรู้ ๒ อย่าง ลมหายใจเข้าออกด้วย ปีติที่บังเกิดขึ้นด้วย และเมื่อได้ปีติดั่งนี้ ก็ย่อมจะได้สุขที่สืบเนื่องจากปีติ
เป็นการได้สุขที่สืบเนื่องกันขึ้นไปเอง คือความสบายกายความสบายใจ ร่างกายก็สบาย ไม่มีเมื่อยขบเจ็บปวดอะไรหมด จิตใจก็สบาย
และสงบกายสงบใจประกอบอยู่ในสุขที่ได้

พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสอนให้กำหนด ลมหายใจเข้าออกไปพร้อมกับกำหนดสุขที่บังเกิดขึ้น
เป็นอันว่าได้เลื่อนขึ้นสู่ขั้นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติกำหนดตามดูตามรู้ตามเห็นเวทนา ขั้นที่ ๑ คือปีติ ขั้นที่ ๒ คือสุข
ซึ่งทั้งปีติทั้งสุขนี่บังเกิดขึ้นเอง บังเกิดขึ้นจริงตามลำดับ และในการปฏิบัตินั้น
ก็ให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงปีติหายใจเข้าหายใจออก เราจักรู้ทั่วถึงสุขหายใจเข้าหายใจออก
เป็นอันว่าทั้ง ๒ ขั้นนี้ก็ให้ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าจักรู้ทั้งสอง เวทนาขั้นที่ ๑ ก็ให้รู้ทั้งลมหายใจเข้าลมหายใจออก
และปีติที่บังเกิดขึ้นตามที่เป็นจริง และเวทนาขั้นที่ ๒ ก็ให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดให้รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
พร้อมทั้งสุขที่บังเกิดขึ้นตามเป็นจริง

จิตตสังขารเครื่องปรุงจิต

และปีติกับสุขนี้เมื่อบังเกิดขึ้น ก็ทำให้จิตใจนี้เพลิดเพลินอยู่กับปีติ เพลิดเพลินอยู่กับสุขได้ เพราะว่าทั้งปีติและทั้งสุขนี้เป็นสุขเวทนาด้วยกัน

ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต คือสัญญาและเวทนา เวทนานั้นมาก่อน สัญญาก็ตามเวทนา ตามลำดับในขันธ์ ๕
คือเมื่อเวทนาบังเกิดขึ้น เป็นเวทนา ก็จำได้หมายรู้ในเวทนา ก็เป็นสัญญา แต่เรียกเอาสัญญาออกหน้าเป็นสัญญาเวทนา

ทั้ง ๒ นี้เป็นจิตตสังขารดังกล่าว เครื่องปรุงใจ คือปรุงจิตใจให้ยินดีก็ได้ ให้ยินร้ายก็ได้ เมื่อเป็นปีติเป็นสุข ก็เป็นสุขเวทนาเหมือนกัน
ก็ปรุงใจให้ยินดี อันทำให้เกิดราคะคือความติดใจยินดี นันทิคือความเพลิดเพลินติดอยู่ และทำให้เกิดตัณหา
ความอยากได้ความต้องการสุขเวทนา แต่ถ้าหากว่าเป็นทุกขเวทนาที่ตรงกันข้าม ก็เป็นจิตตสังขารปรุงจิตใจให้ยินร้ายไม่ต้องการ

ทุกขเวทนาในการปฏิบัติ

ในการปฏิบัติกรรมฐานนี้ เมื่อเริ่มปฏิบัติจิตยังไม่ได้สติยังไม่ได้สมาธิ ย่อมเกิดทุกขเวทนาในการปฏิบัติ
ฉะนั้น ทุกขเวทนานี้จึงเป็นจิตตสังขารปรุงจิตใจให้ยินร้าย ทำให้ไม่ชอบ ไม่อยากทำ อยากเลิก
เพราะรู้สึกว่าเป็นทุกข์ในการปฏิบัติ เป็นทุกขเวทนา จิตจึงใคร่ที่จะสลัดกรรมฐานออกอยู่เสมอ จิตมักตกออกไปสู่กามคุณารมณ์
อันเป็นที่อาศัยของจิตที่เป็นกามาพจร หยั่งลงในกาม ปรากฏเป็นนิวรณ์ทั้งหลายบังเกิดขึ้น กลุ้มรุมจิตใจอยู่เป็นอันมาก
ระงับจิตใจจากนิวรณ์ได้ยาก จิตก็อยู่ได้ยาก

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเปรียบไว้ ว่าเหมือนอย่างจับปลาขึ้นมาจากน้ำ วางไว้บนบก ปลาก็จะดิ้นลงน้ำ เพราะว่าบกไม่ได้เป็นที่อยู่ของปลา
ส่วนในน้ำเป็นที่อยู่ของปลา ปลาก็จะดิ้นไปหาที่อยู่ของตนคือน้ำ

ที่อยู่ของจิตที่เป็นกามาพจร

จิตที่เป็นกามาพจรที่หยั่งลงในกามก็เช่นเดียวกัน เมื่อยกจิตขึ้นมาสู่กรรมฐาน ซึ่งไม่ใช่เป็นที่อยู่ของจิตมาแต่ก่อน
จิตไม่มีความสุขในกรรมฐาน มีความทุกข์ในกรรมฐาน เหมือนอย่างปลาที่ถูกวางไว้บนบก มีความทุกข์อยู่ในบนบก ไม่มีความสุขอยู่บนบก
จิตจึงได้ดิ้นรน ไม่ต้องการที่จะอยู่ในกรรมฐาน ต้องการที่จะกลับไปอยู่ในอาลัยคือน้ำ อันได้แก่กามคุณารมณ์
อันเป็นที่อยู่ของจิตที่เป็นกามาพจร หรือหยั่งลงในกามของสามัญชนทั่วไป เพราะไม่ได้สุขนั้นเอง

แต่ครั้นเมื่อมาได้ปีติได้สุข อันรวมกันเป็นสุขเวทนา จิตก็สบาย เมื่อสบายก็ชอบ ก็ติดใจ ใคร่ที่จะอยู่กับปีติและสุขนี้เรื่อยไป
ไม่อยากที่จะไปไหน อาการที่ติดใจและติดอยู่นี้ คืออาการที่เป็นราคะความติดใจยินดี นันทิความเพลิน
และอาการที่สยบติดก็เป็นอาการของโมหะคือความหลง ทำให้หลงอยู่ในสมาธิ คือหลงในปีติสุขในสมาธิ ติดในปีติสุขสมาธิ
เพราะเหตุที่ปีติและสุขเป็นจิตตสังขาร คือเครื่องปรุงจิตให้ติดให้ยินดี ดั่งนี้

เวทนานุปัสสนาขั้นที่ ๓ และขั้นที่ ๔

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาต่อขึ้นไปอีกว่า ให้ศึกษากำหนดสำเหนียก ว่าเราจักรู้ทั่วถึงจิตตสังขาร
คือให้รู้ทั่วถึงปีติสุขที่กำลังบังเกิดขึ้นอยู่ ว่าเป็นจิตสังขารเครื่องปรุงจิต หายใจเข้าหายใจออก คือให้รู้จักปีติ ให้รู้จักสุข
ว่าเป็นจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต ให้ติดใจ ให้ยินดี ให้รู้จักตามเป็นจริง เพื่อจะได้ไม่ให้ถูกปรุง ไม่ให้ติดใจ ไม่ให้สยบติด อยู่กับปีติกับสุข
ก็เป็นเวทนานุปัสสนาขั้นที่ ๓ คือให้รู้จักจิตตสังขาร และยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ตรัสสอนให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดอีกขั้นหนึ่งเป็นขั้นที่ ๔ ว่า

เราจักสงบรำงับจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต คือปีติสุข หายใจเข้าหายใจออก คือในการปฏิบัติตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
ให้ปฏิบัติพร้อมกันไปกับตั้งจิตสงบรำงับจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต คือไม่ให้ปีติสุขมาปรุงจิตให้ติดยินดี ให้เพลิดเพลิน ให้ต้องการ
ปล่อยให้ปีติสุขนั้นเป็นไปตามธรรมดาของตนเอง ปีติสุขแม้จะบังเกิดขึ้นอยู่ ก็ให้เป็นเรื่องของปีติ ให้เรื่องของสุข

จิตเพียงแต่รู้ ว่านี่ปีติ นี่สุข แต่ไม่ยึด ไม่ติดในปีติในสุข และให้รู้ว่าปีติสุขก็เป็นสิ่งเกิดดับไปทุกขณะจิต ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน
แต่ว่าบังเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกขณะจิต จึงเหมือนอย่างยืดยาว แต่ความจริงนั้นปีติสุขบังเกิดขึ้นทุกขณะจิต ขณะจิตหนึ่งก็ปีติสุขหนึ่งไปพร้อมกัน
แต่ว่าต่อๆ ๆ กันไปโดยรวดเร็ว จึงเหมือนเป็นอันเดียวกัน ให้รู้จักว่าปีติสุขเป็นสิ่งที่เกิดดับ เพื่อไม่ให้ปีติสุขปรุงจิตดังกล่าว
ปีติสุขก็จะไม่ปรุงจิต แต่จะเกิดขึ้นและดับไปตามธรรมดาของปีติสุขเอง ก็ปล่อยให้ปีติสุขเป็นไป ไม่ต้องคิดดับปีติ ไม่ต้องคิดดับสุข
ให้ปีติสุขเกิดขึ้นนั่นแหละ ไปตามธรรมดาของปีติสุข

คุณและโทษของปีติสุข

เพราะว่าถ้าไม่มีปีติสุข จิตก็เป็นสมาธิไม่ได้ เพราะจิตไม่ต้องการอยู่กับความแห้งแล้ง จิตต้องการอยู่กับความชุ่มชื่น หรือความสุข
ตัวปีติสุขนี้จึงเป็นฐานของสมาธิด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็มีโทษ ถ้าปล่อยให้ปีติสุขนี้ปรุงจิตให้ติดใจยินดี ให้อยากได้
ก็จะทำให้หลงใหลติดอยู่กับปีติสุขเท่านั้น ไม่ต้องการจะปฏิบัติให้คืบหน้าไป เหมือนอย่างเข้าหับ เข้านั่งพักในห้องเย็น สบาย
ก็เลยนอนหลับสบายไปในห้องเย็นนั้น งานอะไรที่จะต้องทำต่อไป ก็เป็นอันว่าไม่ได้ทำ

ปฏิบัติสมาธิก็เหมือนกัน จะปล่อยให้จิตสยบติดอยู่กับปีติสุขนั้นไม่ได้ แต่จะไม่มีปีติสุขก็ไม่ได้ จะต้องมีปีติสุข หรือต้องมีสุข
สมาธิจึงจะตั้งอยู่กับความสุขคือความสบาย ให้มีปีติสุขนั่นแหละ ตามที่จะมี แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ให้ปีติสุขนั้นปรุงจิตใจให้ติดให้ยินดี
คอยระงับเสีย ด้วยความรู้ตามเป็นจริง ว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับ และติดเข้าเป็นโทษ ให้รู้ความเป็นจริงด้วย ให้รู้จักโทษด้วย
ในการที่ติดปีติสุข ให้ปีติสุขปรุงจิต ก็เป็นขั้นที่ ๔

ในเมื่อถึงขั้นที่ ๔ นี้ ปีติสุขก็จะปรุงจิตไม่ได้ จิตก็จะเป็นจิตที่ได้สมาธิ ได้สติ ได้ลมหายใจเข้าออก ได้ปีติได้สุขประกอบกันอยู่อย่างถูกต้อง
ก็เป็นอันว่าเป็นเวทนานุปัสสนาในขั้นที่ ๔ (เริ่ม ๑๖๙/๒) ก็รวมความว่า จิตเลื่อนจากขั้นกายานุปัสสนา ขึ้นมาเป็นขั้นเวทนานุปัสสนา

พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้ทั่วถึงปีติหายใจเข้าหายใจออก เป็นขั้นที่ ๑ ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่า
เราจักรู้ทั่วถึงสุขหายใจเข้าหายใจออก เป็นขั้นที่ ๒ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้ทั่วถึงจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต
คือสุข คือปีติสุข ว่าเป็นจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต ปรุงให้ยินดีติดอยู่เมื่อเป็นสุขเวทนา ให้ยินร้ายเมื่อเป็นทุกขเวทนา นี่เป็นขั้นที่ ๓
และเมื่อขั้นที่ ๔ ก็ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักหายใจเข้าหายใจออก พร้อมทั้งรู้ทั่วถึงการสงบระงับจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต

ข้อที่เรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เมื่อสงบรำงับจิตตสังขารได้ สมาธิ สติ ลมหายใจเข้าออก ปีติ สุข ก็ประกอบกันอยู่อย่างถูกส่วน โดยไม่ปรุงกัน
แต่ว่าสนับสนุนในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ปฏิบัติสมาธินี้ ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

การมนสิการในลมหายใจเข้าออกในขั้นนี้ก็แนบแน่นยิ่งขึ้น และพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า การมนสิการลมหายใจเข้าออกอย่างดี
คือการใส่ใจลมหายใจเข้าออกไว้เป็นอย่างดี นี่แหละเป็นตัวเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันเป็นผลที่ได้จากการปฏิบัติมาใน ๔ ขั้นนี้
จึงรวมเป็นกายานุปัสสนา ๔ ขั้น เวทนานุปัสสนา ๔ ขั้น เป็น ๘ ขั้นต่อกันขึ้นไปเอง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-252.htm

กระทู้ก่อนหน้านี้ที่ควรสนใจคือ https://ppantip.com/topic/37547724
ส่วนกระทู้นี้เป็นเรื่องของเวทนา ตอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับการปฏิบัติในเบื้องต้น ละเอียดพอสมควร
เป็นคำสอนที่แสดงโดยผู้ที่ผ่านของจริงมาแล้ว จะไม่ลึกลับซับซ้อน ทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่