[หนังโรงเรื่องที่ 222] Ready Player One - เด็กคือทุกๆ คน ถ้ายังจำได้... by ตั๋วหนังมันแพง


[หนังโรงเรื่องที่ 222] Ready Player One - เด็กคือทุกๆ คน ถ้ายังจำได้... ; (Steven Spielberg, 2018)
by ตั๋วหนังมันแพง

คะแนนความชอบ : A++ (จากสเกล D-A)

*ไม่มีการสปอยล์เนื้อเรื่องสำคัญ

เรื่องย่อ: ในอนาคตอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า เมื่อโลกแห่งความเป็นจริงเสื่อมโทรมลง ผู้คนเริ่มหมดหวังในชีวิตจริงของตัวเองแล้วหันไปพึ่งพาอภิมหาโลกเสมือนจริงอย่าง "โอเอซิส" ที่สร้างขึ้นโดยสุดยอดอัจฉริยะนักสร้างเกม "ฮัลลิเดย์"

ซึ่งโอเอซิสนี้ก็คือจักรวาลเสมือนจริงขนาดใหญ่ที่ทุกคนสามารถเป็นอะไรก้ได้ ... และเมื่อฮัลลิเดย์เสียชีวิตลง เขาก็ได้ทิ้ง "ไข่อีสเตอร์" เอาไว้ในเกม เป็นกุญแจ 3 ดอก พร้อมทั้งประกาศว่าใครก็ตามที่สามารถตามหากุญแจทั้งหมดครบ ก็จะได้รับทรัพย์สินมรดกของผู้สร้างเกมจำนวนมหาศาล รวมไปถึงสิทธิ์การปกครองโอเอซิสแต่เพียงผู้เดียว

และ "เวด วัตตส์" (Tye Sheridan) ก็เป็นเด็กหนุ่มอีกหนึ่งคนที่หนีความห่วยแตกของชีวิตจริงมา เพื่อตามหาปริศนาของฮัลลิเดย์และชิงสิ่งที่ตนปรารถนามาให้ได้.
.
.

แม่เจ้าโว้ยยยยยยยยย คือต้องบอกเลยว่านี่เป็นหนังอีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้ผู้เขียนต้องชูกำปั้นขึ้นฟ้าในโรงด้วยความสะใจ คือมันเป็นอภิมหาหนังที่รวบรวมป็อปคัลเจอร์ในช่วงยุค 80 จนถึง 2000 เข้ามาปั่นรวมกันเป็นเนื้อ
เดียว แล้วก็เสิร์ฟออกมาเป็นอาหารจานเด็ดในชื่อเมนูว่า "แฟนเซอร์วิส" ให้เนิร์ดทั้งหลายได้กรี๊ดกร๊าดกัน

ดังนั้นขอบอกเลยว่า "คำว่าสนุก" ของหนังเรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับว่า "คุณเล่นเกมมาเยอะแค่ไหน คุณดูหนังมาเยอะแค่ไหน และคุณตาไวแค่ไหนกัน" มากกว่า
.


แน่นอนว่าส่วนที่ดีที่สุดในหนังก็คือ "การอ้างอิง" ถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นป็อปคัลเจอร์แห่งยุคสมัยมากมายเข้ามาเป็นกิมมิกให้หนังมันดูมีสีสันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบรรดาตัวละครจากเกมส์/การ์ตูนดังๆ นับร้อยๆ ตัวที่ผลัดกัน
มาเข้าฉากท้าทายสายตาของคนดูอย่างยิ่งนัก รวมไปถึงมุกโคตรจะคลาสสิคทั้งหลายจากหนังดังในยุค 80 อีกมากมาย

เป็นการย้ำหัวใจสำคัญของหนังในการหา "ไข่อีสเตอร์" ที่ซ่อนอยู่ไว้ในส่วนต่างๆ ของหนังอีกที เรียกได้ว่าเป็น 2 ชั่วโมง 20 นาที ที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับผู้เขียนเลย
.


และแน่นอนว่าด้วยความที่มันเป็นหนังไซไฟล้ำยุค หนังย่อมนำเสนอ "ฉากสงครามอวกาศ" ออกมาได้เด็ดดวงอลังการแน่นอน เป็นความตื่นตาตื่นใจอย่างที่สุดที่ได้เห็นการประจัญบานระหว่างตัวละครดังๆ ทั้งหลายที่
กล่าวมาข้างต้นปะทะกัน ยิงลำแสงใส่กัน ปล่อยฮาโดเคนใส่กัน จะยำเละไปไหน!

รวมไปถึง "เซอไพรส์พิเศษ" ที่หนังเก็บไว้เป็นหมัดฮุกตอนท้ายสุด
โอ้โหหห ถ้าไม่เกรงใจคนในโรงท่านอื่นก็อยากจะโห่ร้องดังๆ ไปแล้ว
เอาจริงๆ แล้วเชื่อว่าผู้อ่านหลายๆ ท่านที่รอดชีวิตมาจนถึงวันนี้ก็อาจจะโดนสปอยล์ไปบ้างแล้วเกี่ยวกับ "ฉากนั้น"

แต่ถ้าท่านยังไม่ประสบมลทินใดๆ ล่ะก็ ผู้เขียนก็จะขอรูดซิบปิดปากเงียบไว้ต่อไปนะครับ (หัวเราะ)
.


แน่นอนว่าหนังก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ในความโดดเด่นของความสร้างสรรค์และตื่นตาตื่นใจและพล็อตที่ชวนกินใจ--แต่ในตัวบทของหนังก็ยังมีจุดที่เรียกได้ว่า "อ่อนไป" อยู่บ้าง

จุดหลักๆ ก็อาจจะเป็นการที่ทุกๆ อย่างที่พระเอกทำ ดูเหมือนจะเข้าที่เข้าทางไปหมด มันดูง่ายเกินไป ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่กลุ่มตัวเอกเริ่มไขปริศนาของฮัลลิเดย์รัวๆ แบบติดเทอร์โบก็ดี หรือจะเป็นช่วงการคลี่คลายวิกฤติสุดท้ายก็ดี หรือแม้กระทั่งช่วงเต้นรำที่ดูอืดอาดยืดยาดพอสมควร (แต่หนังก็ชดเชยได้ในฉากถัดๆ ไปทันที ถือว่าเจ๊ากัน)

ความสัมพันธ์ของตัวละครพระ-นางยังไม่มีน้ำหนักเท่าที่ควร เรายังรู้สึกไม่ได้จริงๆ ว่า "เออ สองคนนี้มันรักกันจริงๆ นะ" ด้วยความที่หนังให้เวลากับเรื่องของโรมานซ์ค่อนข้างน้อย

ยิ่งการที่หนังพยายามจะสอดแทรกเรื่องของ "ศูนย์ติดตามทวงหนี้" ให้เข้ามาเสริมความน่าเกรงขามขององค์กรมหาอำนาจอย่าง "ไอโอไอ" (IOI) ยิ่งทำให้มันกินเวลาอันมีค่าเข้าไปอีก โดยที่เนื้อเรื่องส่วนนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้ต่อให้คุ้มค่าอย่างน่าเสียดาย (นอกจากจะซัพพอร์ตจุดยืนของนางเอกและกลุ่มต่อต้านที่ดูไม่มีความสำคัญใดๆ พอกัน)
.

แต่ก็อย่างที่พูดไว้ข้างต้น ว่าหนังสำหรับผู้เขียนแล้วหนังมันโดดเด่นที่ความหวือหวา ตื่นตาตื่นใจของฉาก มากกว่าการขายบทยากๆ ชวนปวดหัวอยู่แล้ว ดังนั้นความอ่อนที่ยกขึ้นมานั้นก็เลยอยู่ในฐานะที่จะ "พอมอง
ข้ามได้' และยังเปิดโอกาสให้เราไปเพลิดเพลินกับมันต่อได้
.


เจตนาหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าลุงสปีลเบิร์กตั้งใจจะสื่อก็คือ "ความเป็นเด็ก" ที่เร้นกายอยู่ในจุดลึกๆ ของหัวใจผู้ชมทุกคน บ้างก็ยังโลดแล่นอยู่ บ้างก็ถูกกดทับไว้ด้วยคำว่า "ภาระหน้าที่ของผู้ใหญ่"

แต่ด้วยเวทมนตร์ของผู้กำกับที่ได้สมญาว่า "พ่อมดแห่งฮอลลีวู้ด" นั้น ลุงแกก็สามารถเนรมิตความรู้สึกตื่นเต้นที่ครั้งหนึ่งในชีวิตทุกคนล้วนเคยสัมผัสมาแล้วให้ออกมาโลดแล่นบนจอขนาดยักษ์ ถ้าไม่ฟินกับของแบบนี้ แล้วผู้ใหญ่อย่างเราจะไปฟินกับของแบบไหนกันเล่า?

และผู้เขียนก็เชื่อจริงๆ ว่าคนที่สนุกกับของแบบนี้มากที่สุดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่ก็เป็นลุงสปีลเบิร์กแกนี่แหละ
.


"ความเป็นเด็ก" ที่พูดถึงก็ไม่ได้มีอยู่ในตัวละครเอกของเราอย่างเดียว แต่สิ่งนี้ก็อยู่ในหัวใจทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฮัลลิเดย์ที่สร้างปริศนาสุดจะกวนโอ๊ยขึ้นมาด้วยความนึกสนุก

หรือแม้แต่ฝั่งตัวร้ายเองที่ดูเหมือนจะหลงลืมความเป็นเด็กของตัวเองไป แล้วสวมหัวโขนของ "นักธุรกิจ" เข้าไปแทน จนในวินาทีสุดท้ายที่จะตัดสินทุกอย่าง ตัวละครนั้นก็เหมือนจะรู้สึกได้ถึง "สิ่งสำคัญ" สิ่งหนึ่งที่ตัวเองได้ทำหายไป และเลือกที่จะยอมแพ้ให้กับความทรงจำชุดนั้นของตนไป
.

ความเป็น 80 ยังถูกคุมโทนจัดสุดๆ ด้วยเพลงระดับ "โคตรดังในอดีต" ที่โดดเด่นด้วยเครื่องดนตรีสไตล์ดิสโก้จ๋า ประจวบกับโทนสีที่ฉูดฉาดซึ่งช่วยขับธีมหนังให้เด่นชัดขึ้นด้วย ถ้าใครที่เป็นคอเพลงตะวันตกเก่าๆ ล่ะก็
รับรองว่าอดฮัมเพลงตามไม่ได้แน่นอน

แต่ในส่วนของ OST นั้นกลับไม่โดดเด่นเท่าที่ควร คือตัวผู้เขียนเองก็พยายามฟังทั้งอัลบั้มวนไปเวียนมาอยู่หลายรอบ ก็ยังไม่รู้สึกว่ามันมี vibe ที่ชวนให้ติดหูเลยแม้แต่น้อย อาจจะเป็นเพราะว่าตัวหนังไม่ได้มี main
theme เป็นของตัวเองด้วยก็เป็นได้?
.
.

สรุปแล้ว Ready Player One คือหนังที่ควรค่าต่อการไปดูในโรงเป็นอย่างยิ่ง จอยิ่งใหญ่ยิ่งดี ที่นั่งยิ่งสูงยิ่งดี แล้วมันจะเป็นประสบการณ์ชมภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในชีวิตท่านเรื่องหนึ่งแน่นอน ยิ่งโดยเฉพาะหากคุณรักในเกมส์และการ์ตูนด้วย หนังเรื่องนี้จะกลายเป็น "ของขวัญ" อันทรงคุณค่าที่สุดสำหรับความทรงจำวัยเด็กที่งดงามของเราเลยทีเดียว

ป.ล.หนังแอบพ่วงประเด็นร่วมสมัยอย่างเรื่อง "ห้ามบอกชื่อจริงในโลกออนไลน์" เข้ามาได้อย่างน่าสนใจ ในยุคที่สื่อออนไลน์กำลังเข้ามามีบทบาทแบบนี้ บรรดาผู้ปกครองก็อย่าพลาดใช้โอกาสนี้แนะนำบุตรหลานของตัวเองกันล่ะครับ

ป.ล.2 เชื่อว่าทุกคนต้องเคยผ่านตาจากพวกเกมในหนังมาบ้างไม่มากก้น้อยแหละ สมดังคำพูดหนึ่งที่ว่า
"อย่าบอกนะ ว่าคุณ ... ไม่เล่นเกม"

#ตั๋วหนังมันแพง

ถูกใจกับรีวิวหรืออยากมาพูดคุยเกี่ยวกับหนังกัน ขอเชิญได้ที่เพจเฟซบุ๊ก "ตั๋วหนังมันแพง" นะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่