นักวิเคราะห์กับเครื่องมือในการวิเคราะห์ ...

กระทู้สนทนา
การวิเคราะห์กราฟ หากต้องการข้อมูลที่ละเอียด ย่อมต้องใช้เครื่องมือที่สามารถให้ข้อมูลได้ละเอียดมากกว่า Standard Indicators ทั่วไป  ... หลายโปรแกรมวิเคราะห์ สามารถให้เราสร้างหรือดัดแปลง อินดิเคเตอร์มาตรฐาน ตามที่เราต้องการได้  แต่บางโปรแกรมก็มีข้อจำกัดการใช้งาน  คงต้องตัดสินใจดูว่า โปรแกรมที่เราใช้อยู่มันตอบคำถามที่เราอยากรู้ ได้เพียงพอกับการวิเคราะห์อย่างที่ต้องการรู้หรือไม่ และทำอย่างไร เพื่อจะให้เรามีข้อมูลที่มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อที่จะสามารถนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์และประเมินและตัดสินใจได้ขว้างขวางขึ้นกว่าปัจจุบัน

      เครื่องมือในโปรแกรมวิเคราะห์กราฟ เปรียบเสมือนการหาคำตอบเฉพาะเรื่อง ที่เรากำลังต้องการข้อมูลนั้น เสมือนน้ำยาตรวจสอบผลแล็ปว่า ท้องเสีย จากการติดเชื้อชนิดไหน เพื่อหายารักษาที่เฉพาะเจาะจง   หรือ เหมือนกับ การตรวจ Antigen เพื่อจำแนกว่า กรุ๊ปเลือดแต่ละคนเป็นกรุ๊ปใด  เป็นต้น   ซึ่งอินดิเคเตอร์แต่ละตัวที่มีในแต่ละโปรแกรมวิเคราะห์ที่ใช้ ก็จะมีไม่เท่ากัน  ขึ้นกับความยืดหยุ่นของแต่ละโปรแกรมที่ใช้ ...

   ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะมองเห็นนักวิเคราะห์ทั่วๆไป ใช้โปรแกรมกราฟและอินดิเคเตอร์ มาตรฐานเช่น กราฟแท่งเทียนปกติ  อินดิเคเตอร์มาตรฐาน เช่น MACD  RSI  Stochastic  CCI   BB    ADX   PDI  MDI   ซึ่งแต่ละอินดิเคเตอร์ มาตรฐาน  หากใช้งานได้ถูกต้องในการหาข้อมูลเฉพาะของแต่ละอินดิเคเตอร์ก็จะให้ข้อมูลได้แม่นยำและน่าเชื่อดี   แต่เราสามารถประยุกต์ การใช้งานของอินดิเคเตอร์เหล่านี้ เพื่อให้ข้อมูลที่กว้างมากขึ้น และนำไปใช้ในการประเมินและวางแผนได้ละเอียดมากขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก  จะเห็นภาพอีกด้านที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น  และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น และสนุกมากขึ้นกับเครื่องมือใหม่ๆเหล่านี้ ...

   ผมใช้โปรแกรม Amibroker เป็นหลักในการวิเคราะห์กราฟ เพราะเป็นระบบเปิดที่เราสามารถสร้าง หรือประยุกต์ อินดิเคเตอร์ หรือ สัญญาณระบบเทรด ทุกอย่างขึ้นมาได้เอง ตามที่ต้องการ จากการเขียนโค้ดเพิ่มเข้าไป  ทำให้เราสามารถสร้างให้กราฟออกมาเป็นรูปแบบใดก็ได้ที่เราอยากเห็น  เสมือนช่างไม้อยากจะสร้างโต๊ะออกมาเป็นหน้าตาแบบไหนก็ได้ ตามที่ต้องการ ไม่ใช่เฉพาะรูปแบบ สี่เหลี่ยมผืนผ้า แบบเดียว .... นอกจากนี้ การที่เราสามารถนำโค้ดสูตรสำเร็จรูป ต่างๆ จากภายนอกในมาใส่ในโปรแกรมก็เปิดใช้งานได้ทันที  ทำให้สะดวกมาก ไม่ติดข้อจำกัดเหมือนโปรแกรมระบบปิดทั่วไป

    ผมจะลองยกตัวอย่างว่า  การประยุกต์ สร้างอินดิเคเตอร์ใหม่ๆ  ขึ้นมาจากพื้นฐานของ Standard Indicator ทั่วๆไป มันจะช่วยให้มุมมองอะไรเราได้บ้างในการวิเคราะห์   ซึ่งทำให้เรามีมุมองที่แตกต่างออกไปจากเดิมมาก และน่าสนใจมากขึ้นกว่าเดิม ... เช่น  หากเราสร้างอินดิเคเตอร์ที่ใช้บอกว่า ค่า RSI=70    RSI=50   และ RSI=30    ที่ระดับราคาเท่าไหร่ในแต่ละระดับ  เรียกว่า  RSI  Bands  ขึ้นมา ก็จะช่วยให้เรามีข้อมูลมากขึ้นโดยรู้ล่วงหน้าว่า ราคาหุ้น หรือดัชนี จะขึ้นไปจน  RSI  Overbought  จะต้องขึ้นไปถึงราคาไหน   หรือ ราคาลงไปถึงเท่าไหร่ ค่า RSI จึงจะ Oversold  และหากราคาอยู่แถวค่า RSI=50   มันหมายถึงราคากำลัง sideway  เป็นต้น     ดูตามรูปนะครับ




     ส่วนอีกตัวอย่าง ผมจะสร้าง  ATR  Bands ขึ้นมา เพื่อใช้บอกเราว่า เรากำลังอยู่ในช่วง Sideway หรือ กำลังมีแนวโน้มแล้ว และกำลังมีแนวโน้มไปทางไหนในช่วงนั้น  โดยใช้เส้นค่าเฉลี่ย  SMA20 Periods และค่า ATR(10)   เป็นตัวกำหนด ..... แต่ก่อนอื่นเชื่อว่า มากกว่า 80% ของคนที่ใช้กราฟอยู่ คงไม่รู้ว่า ค่า ATR มันสร้างมาจากอะไร  และหมายถึงอะไรกันแน่  แต่ก็ใช้กันไปอย่างงั้นๆ  .... เรามาดูที่มาว่า  เขาใช้อะไรมาสร้างเป็นค่า ATR กันก่อนนะครับ  ...

    ค่า  ATR =  Average True Range  เป็นค่าความผันผวนเฉลี่ยที่ราคาแกว่งตัวกว้างที่สุด ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด  ในที่นี้ ผมใช้ 10 periods นะครับ ..     ผู้คิดสูตรนี้คือ Mr. Welles wilders  เจ้าของสูตร  RSI  ,  PDI  ,MDI  , ADX   คนนั้นแหละครับ  เจ้าเดียวกัน   โดยค่าTR  หรือ True Range  จะคำนวณจาก  3 เงื่อนไข นี้  โดยขะเลือกค่าที่มากที่สุด จาก 3 เงื่อนไขนี้มาเป็นค่า True Range แต่ละวัน  แล้วนำมาเฉลี่ยเป็นค่า ATR อีกที
1.  ราคา High กับ Low แท่ง ล่าสุด
2. ราคา High แท่งล่าสุดเทียบกับ Close แท่งก่อนหน้า
3. ราคา Low แท่งล่าสุดเทียบกับ Close แท่งก่อนหน้า


   หลังจากทราบที่มาของค่า ATR  แล้ว  เราก็มาดูว่า แล้วมันบอกนัยยะอะไรบ้าง ?

    ค่า ATR  มันบอกเราว่า ราครมันจะแกว่งขึ้นๆ ลงๆ  ระหว่างเส้นกลางคือเส้นค่าเฉลี่ย 20 วัน  อาจจะวิ่งขึ้นไป 1ATR  หรือ ลงมาในกรอบ -1ATR  ได้ เป็นการแกว่งขึ้นลง ตามปกติ ในช่วงที่ยังไม่มีเทรนด์หรือ sideway   .... ซึ่งค่ากรอบ ATR มันจะเปลี่ยนค่าไปเรื่อยๆตามข้อมูลใหม่ที่เพิ่มเข้ามาว่า ราคามันแกว่งมากน้อยแค่ไหน ตามเงื่อนไขจากสูตร  ซึ่งค่าที่ออกมา เกิดจากการกระทำผ่านการซื้อ ขาย ในตลาดขณะนั้น หากราคาผันผวนมาก แท่งราคาวันนั้นยาว ค่า TR วันนั้นก็จะมาก ซึ่งมีผลให้ค่า ATR เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน    แต่หากราคาเคลื่อนไหวน้อย หรือไม่มีคนสนใจ ราคาก็แกว่งน้อย แท่งราคาช่วงนั้นก็จะสั้นๆ ทำให้ค่า ATR มีค่าต่ำๆ และ Bands จะแคบๆ  ( ลักษณะเดียวกับ Bollinger Bands  เพียงแต่ ใช้ตัวแปร ต่างกันเท่านั้น ...)   เมื่อนักลงทุนเรื่องสนใจหุ้นตัวนั้น ทั้ง Positive หรือ Negative Bias  ก็จะมีแรงซื้อ หรือ แรงขาย เข้ามาในหุ้นตัวนั้น ขึ้นกับว่า นักลงทุนช่วงนั้นมีความรู้สึกอย่างไรกับราคาหุ้นในตอนนั้น  ซึ่ง Demand และ Supply ที่เข้ามาเพิ่มในการเทรดหุ้นตัวนั้น จะมีผลให้ราคามีความผันผวนมากขึ้น จนค่า ATR มากกว่า +/-1 ATR  ไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งเตือนว่า ราคาหุ้นเริ่มขยับไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งแล้ว  ไม่ใช่ sideway เหมือนเดิมอีกต่อไป ... ยิ่งราคาขึ้นหรือลงมากออกไปจาก 1ATR มาก ราคาก็จะวิ่งไปหาค่า ATR ที่อยู่ถัดออกไปเรื่อยๆ หรือนักลงทุนเริ่มไล่ราคา หรือทุบราคา รุนแรงตามค่าความผันผวนขณะนั้น ...

   เรามาดูตัวอย่างจาก SET Daily ล่าสุด ที่ดัชนีปืดต่ำกว่าเส้นกลาง คือเส้นประสีเขียว SMA20 ลงมา และหลุดเส้นประสีเหลืองอ่อน เป็นการเริ่มทิศทางลงและดัชนีก็ลงแรงขึ้นจนลงไปที่ -2ATR @ 1760.92 จุดแต่ก็เด้งรีบาวร์กลับขึ้นไปเหนือกรอบ -2ATR ได้อยู่ โดยขึ้นไปปิดที่ 1776.26  จุดต่ำกว่า -1ATR@ 1778.48 จุดอยู่เล็กน้อย ...  เรารู้กันดีว่า  หากดัชนีหรือราคาหลุดเส้น SMA20 ลงมา หรือเส้นค่าเฉลี่ยใดๆก็ตาม แล้วยังไม่สามารถกลับขึ้นไปยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ยนั้นได้ ก็ไม่มีวันที่เส้นค่าเฉลี่ยนั้นจะมีค่าเพิ่มขึ้น หรือค่าจะยังลดลงไปเรื่อยๆ บ่งชี้ว่า แนวโน้มราคายังเป็นขาลงไปตลอด   จนกว่าราคาหรือดัชนีจะวิ่งขึ้นไปเหนือเส้นค่าเฉลี่ยนั้นได้เสียก่อน จึงจะมีโอกาสที่ราคาจะหยุดแนวโน้มขาลงหรือเปลี่ยนเป็นขาขึ้นต่อไป ...มันต้องเกิดเหตุการณ์เรียงตามลำดับแบบนี้ไปเสมอ ครับ ...

   เรามาดูต่อว่า ล่าสุด SET Daily ยังอยู่กรอบด้านลบ หรือเป็นขาลงในระยะสั้นอยู่  การที่ดัชนีจะเปลี่ยนจากขาลง  มันต้องค่อยๆแข็งแรงขึ้น โดยเปลี่ยนจากภาพขาลง เป็น Sideway ให้ได้เสียก่อน  ถึงจะไปมองว่าจะมีโอกาสเป็นขาขึ้นต่อไป  ( ไปทีละขั้นตอน อย่าเว่อร์ )    ...ตอนนี้ระยะสั้นเป็นขาลง หากจะทำให้ดัชนีกลับไป sideway  ซึ่งหมายถึง ดัชนีจะต้องวิ่งขึ้นต่อไปอย่างน้อยต้องกลับไปยืนเหนือ SMA20 @ 1796.05 จุด ให้ได้เสียก่อน เป็นอันดับแรก ถึงค่อยไปมองขั้นต่อไป  หากด่านแรกยังไม่ผ่าน ก็ไม่ต้องมองเรื่อง ที่จะเกิดหลังจากนั้นที่ว่า จะไป 1800 / 1820 /1850  จุด เอากันทีละขั้นตอนดีกว่าครับ...  ส่วนหากดัชนีรีบาวร์แล้ว ไปผ่าน 1796 จุดแล้วกลับตัวลงมา ก็ไปดูจุดที่ดัชนีปรับตัวลงมาแล้วเด้งได้ ก่อนหน้านี้ว่าอยู่แถวไหน เราจะใช้เป็นจุดสังเกตว่า มันยังแข็งแรงรับไหว เหมือนครั้งก่อนหน้าหรือไม่  โดยกรอบ ATR ถัดลงไป จะหมายถึง ความรุนแรงหรือความผันผวนของการลงที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  หรือแต่ละแท่งมันจะยาว กว่าปกติมาก เพราะนักลงทุนมีทั้งกล้วขายหุ้นทิ้ง และมีพวกขาวสวน เข้ามาสวนเป็นระยะๆ  ....กรอบ ATR Bands มันจะบอกลักษณะว่า หากราคาอยู่ในกรอบไหน มันหมายถึงอารมณ์นักลงทุนในขณะนั้น มันอยู่ในอารมณ์ไหน เราจะได้ทำตัวถูกครับ ..



    ...  คงต้องขอจบโพสนี้ แต่เพียงเท่านี้  ความตั้งใจคือ อยากให้นักเทคนิคที่สนใจศึกษากราฟจริงๆจัง ได้มีมุมมองที่กว้างขึ้น และได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ เครื่องมือใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เราได้ข้อมูลในการตัดสินใจที่ละเอียดมากขึ้น  และสนุกกับการค้นหา เทคนิคใหม่ๆมาใช้เป็นระบบเทรดของตัวเราเอง ..หวั
งว่า คงมีประโยชน์กับผู้อ่านบ้าง  .. ขอให้โชคดีครับ ...
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่