บุพเพสันนิวาสฉากท้องพระโรง ทำไมพระเพทราชาถึงเป็นขุนนางเพียงผู้เดียวที่ไม่ต้องนั่งบนพื้น

สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
ชาติกำเนิดของพระเพทราชา – สามัญชน หรือ เชื้อพระวงศ์?
.

ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เข้าใจว่าพระเพทราชา หรือ สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม ทรงมีชาติกำเนิดเป็น “ชาวบ้าน” หรือ “สามัญชน” ที่มีพื้นเพมาจาก บ้านพลูหลวงแขวงเมืองสุพรรณบุรี

เนื่องจากพระราชพงศาวดารหลายฉบับ นับตั้งแต่ฉบับบริติชมิวเซียมที่ชำระเมื่อปลายรัชกาลที่ ๑ และฉบับที่ชำระหลังจากนั้นทั้งหมด ได้แก่ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับหมอบรัดเลย์ และฉบับพระราชหัตถเลขา เป็นต้น ระบุว่าพระองค์เป็น “ชาวบ้านพลูหลวงแขวงเมืองสุพรรณบุรี” โดยพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม ซึ่งเป็นพงศาวดารฉบับแรกสุด ที่กล่าวถึงพระราชประวัติของพระเพทราชา โดยระบุว่า

“พระเพชญราชาจางวางกรมช้างเปนช้าวบ้านพลูหลวงแฃวงเมืองสุพรรณ์บูรียมีบุญาธิการมาก แลกระทำการชำนีชำนารในการศิลประสาตขี่ช้างแกล้วกล้านักยิ่งนัก แล้วก็มีฝีมือในสงครามกระทำความชอบมาเปนหลายหน”

.

แต่ถ้าจะกล่าวว่าพระเพทราชาเป็น “ชาวบ้าน” โดยพิจารณาเพียงคำว่า “ชาวบ้านพลูหลวงแขวงเมืองสุพรรณบุรี” อาจไม่สมเหตุสมผลนัก เพราะยังไม่สามารถสื่อได้อย่างชัดเจนว่าพระเพทราชาเป็นแค่ "ชาวบ้าน" หรือ "ไพร่" อย่างที่มักกล่าวกัน เพราะไปการพิจารณาจากคำว่า "ชาวบ้าน" เป็นหลัก ซึ่งเป็นการแยกคำที่ไม่ถูกต้อง แต่ควรจะแยกเป็น "ชาว" กับ "บ้านพลูหลวงแขวงเมืองสุพรรณบุรี"

คำว่า "ชาว" บอกได้แค่ว่าพระเพทราชาทรงมีมีพื้นเพเดิมอยู่ที่ "บ้านพลูหลวงแขวงเมืองสุพรรณบุรี" เท่านั้น ซึ่งพระองค์อาจจะเป็นสกุลขุนนางหรือผู้มีเชื้อสายสืบต่อกันมาก็ได้

.

แต่พงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ฉบับบริติชมิวเซียมเป็นต้นมา ได้นำเสนอภาพของพระเพทราชาในแนวทางว่าทรงมีมีพื้นเพมาจาก “ชาวบ้าน” และทรงเป็นคน “บ้านนอก”อย่างชัดเจน

โดยระบุว่าเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว เหล่าพระญาติวงศ์และข้าหลวงเดิมที่บ้านพลูหลวง  “ต่างคนต่างก็ชื่นชมยินดียิ่งนัก จึ่งชวนกันหามัจฉะมังสาและผลตาลแก่อ่อน สิ่งของต่าง ๆ ตามมีประสาชนบทประเทศบ้านนอก นำเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย” พระองค์ก็โปรดให้พักแรมอยู่ในพระราชวังหลวง

ทั้งพระญาติวงศ์และข้าหลวงล้วนแต่ “เป็นชาวชนบทประเทศบ้านนอก มิได้รู้จักเพ็ดทูลตามขนบธรรมเนียมประการใดไม่ เคยพูดจา แต่ก่อนอย่างไร ก็พูดจาเพ็ดทูลดังนั้น แล้วว่าตูข้าทั้งหลายรู้ว่า นายท่านได้เป็นเจ้าก็ยินลากยินดียิ่งนัก ชวนกันเข้ามาเพื่อจะชมบุญนายท่าน และซึ่งตายายผู้เฒ่าผู้แก่คนนั้น ๆ พ่อแม่ไอ้นั่นอีนั่น ป่วยเจ็บอยู่ เข้ามาไม่ได้ ๆ ฝากแต่สิ่งของอันนั้นเข้ามาให้กำนัลนายท่านด้วย”

แม้ว่าข้าทูลละอองธุลีพระบาทจะห้ามปรามในเรื่องการใช้คำพูดไม่เหมาะสม สมเด็จพระเพทราชาก็ไม่ได้ทรงห้ามปราม “คนบ้านนอก” เหล่านี้ และโปรดให้จัดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยง บางคนเป็นนักเลงสุราก็โปรดพระราชทานสุราให้ พอเมาแล้วก็ “ร้องเพลงเก็บดอกไม้ร้อยแลเพลงไก่ป่าต่างๆ” สมเด็จพระเพทราชาก็ทรงพระสรวล และยังให้พระญาติวงศ์และข้าหลวงเดิมทั้งหลายไปนอนบนพระราชมณเฑียรอันเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินด้วย
.

เห็นได้ว่า ผู้ชำระพงศาวดารในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งใจจะสะท้อนพื้นเพความเป็น “ชาวชนบทประเทศบ้านนอก” และความไม่สนพระทัยต่อจารีตธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติในราชสำนักของพระเพทราชาผู้แย่งราชสมบัติจากสมเด็จพระนารายณ์ เช่นเดียวกับการวิจารณ์พระราชจริยวัตรของกษัตริย์ต่อจากพระเพทราชาอีกหลายพระองค์ที่เพิ่งถูกชำระเพิ่มขึ้นมาในพงศาวดารฉบับเดียวกัน ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ว่าอาจเป็นไปได้ผู้ชำระมีจุดประสงค์ที่จะสะท้อนภาพของกษัตริย์สมัยอยุทธยาตอนปลายในแง่ลบอย่างชัดเจน

เนื้อหาตอนนี้และอีกหลายตอนถูกชำระเพิ่มขึ้นหลังจากเหตุการณ์จริงเป็นเวลานาน มีความพิสดารสูงมากกว่าพงศาวดารในอดีตและไม่สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยอย่างมาก โดยที่หลายตอนมีความคลาดเคลื่อนทั้งในการลำดับเหตุการณ์และปีศักราช รวมถึงน่าเชื่อว่าถูกชำระภายใต้บริบททางการเมืองด้วย จึงต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถืออย่างระมัดระวัง

.
แต่เมื่อพิจารณาหลักฐานร่วมสมัยที่เขียนขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์และรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา พบว่าระบุพระราชประวัติของพระองค์ไว้ผิดแผกจากภาพ “ชาวชนบทประเทศบ้านนอก” ในพงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์อย่างมาก
.
จดหมายเหตุราชอาณาจักรสยาม (Du Royaume de Siam) ของ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de la Loubère) ราชทูตพิเศษชาวฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุทธยาใน ค.ศ. ๑๖๘๗ (พ.ศ. ๒๒๓๐) ปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ได้กล่าวถึงพระเพทราชาว่า

        “ออกพระพิพิธราชา ซึ่งเรียกกันให้เพี้ยนไปว่า เพทราชา (Petratcha) เป็นผู้บังคับบัญชาเหล่าช้างเหล่าม้าทั้งปวงอยู่ และนับว่าเป็นกรมใหญ่โตกรมหนึ่งแห่งราชอาณาจักร ด้วยว่าช้างนั้นเป็นตัวกำลังสำคัญของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม...ตระกูลของท่านได้รับราชการสืบกันมาช้านานในตำแหน่งอันสูงส่ง และมีความสัมพันธ์กับราชบัลลังก์อยู่เนืองๆ และมีผู้คนได้โจษขานกันอย่างเปิดเผยว่า ตัวท่านเองหรือออกหลวงสุรศักดิ์ (Oc-Loüang Sourasac) บุตรของท่านอาจอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ได้อยู่ หากว่าคนใดคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ เมื่อพระมหากษัตริย์ซึ่งผ่านพิภพ อยู่ในปัจจุบันนี้เสด็จสวรรคตแล้ว. มารดาของออกพระพิพิธราชานั้น เป็นพระนมของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน”
.

ลาลูแบร์บ่งชี้ว่าตระกูลของพระองค์มีฐานะสูงและมีความใกล้ชิดกับราชสำนักมาก นอกจากนี้พระมารดาของพระองค์ก็เป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งผู้เป็นพระนมของพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินก็ควรจะเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ รวมถึงมีสถานะใกล้ชิดกับพระราชวงศ์พอสมควร เป็นไปได้ยากมากที่ราชสำนักจะคัดเลือกชาวบ้านธรรมดาที่ไม่มีเชื้อสายมาเป็นพระนมได้

ที่สำคัญ การที่คนทั่วไปกล่าวกันอย่าง “เปิดเผย” ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ว่าพระเพทราชาหรือโอรสของพระองค์มีโอกาสได้ครอบราชสมบัติสืบต่อ นับว่าสถานะของพระองค์ไม่ธรรมดาเลย

.

หลักฐานอีกชิ้นที่กล่าวถึงชาติตระกูลอันสูงส่งของพระเพทราชาคือเอกสารชื่อ Relation des Révolutions arrivées à Siam dans l'année 1688 ของนายพลเดส์ฟาร์จ (Général Desfarges) ผู้บัญชาการกองทหารฝรั่งเศสประจำเมืองบางกอก เมื่อปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ระบุไว้ว่า

        “ในบรรดาผู้ที่มีอำนาจคนอื่นๆ ในราชสำนักนั้น มีอีกบุคคลหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษที่สังเกตได้ง่าย และที่ข้าพเจ้าเองได้พบนับแต่เมื่อแรกที่ข้าพเจ้าเดินทางมาถึง ว่ามีความน่าเกรงขามสง่างามต่างจากผู้อื่น ชื่อของท่านคือออกพระเพทราชา ตระกูลของท่านผู้นี้สามารถสืบได้กลับไปไกลมากและมีชื่อเสียง พระเพทราชาเป็นพระเชษฐาร่วมแม่นมกับพระเจ้าแผ่นดินและมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน บางคนถึงกับบอกว่าท่านมีเชื้อสายความเป็นเจ้า โดยที่พ่อของท่านเคยครองแผ่นดินราชบัลลังก์มาแล้วนั่นเลยทีเดียว”

ที่กล่าวว่าพระบิดาของพระเพทราชาเคยเป็นพระเจ้าแผ่นดินอาจจะดูเกินความจริงไปบ้าง แต่เนื้อหาโดยรวมสอดคล้องกับลาลูแบร์ว่าทรงมีชาติกำเนิดที่สูงและมีความเกี่ยวพันกับพระราชวงศ์ และความเป็นไปได้ที่พระบิดาของพระองค์จะสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าแผ่นดินในอดีต

.

หลักฐานที่สำคัญอีกชิ้นที่คือ The History of Japan, Together with a Description of the Kingdom of , 1690-92 ของ เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันที่ติดตามคณะทูตของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Verenigde Oost-Indische Compagnie; VOC) เข้ามายังกรุงศรีอยุทธยาเมื่อ ค.ศ. ๑๖๙๐ (พ.ศ. ๒๒๓๓) ต้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า พระมารดาของสมเด็จพระเพทราชาคือพระภคินี (พี่สาวหรือน้องสาว) ของสมเด็จพระนารายณ์ และน้องสาวกับบุตรสาวของพระเพทราชาก็ได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาของสมเด็จพระนารายณ์ด้วย

“...dat hy Petraatia altyd had gehouden, voor zynen besten boesem vriend, die zyner zusters zoon was, wier zusters en dochters des Konings wyven waren....”

(พระองค์ [สมเด็จพระนารายณ์] ทรงถือว่าเพทราชาเป็นพระสหายสนิท ผู้เป็นบุตรของพระภคินีของพระองค์ และมีบุตรสาวกับน้องสาวเป็นบาทบริจาริกาของพระองค์)
.

ถ้าสิ่งที่แกมเฟอร์ระบุไว้เป็นจริง แสดงว่าพระราชมารดาของสมเด็จพระเพทราชาเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระเพทราชาจึงทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ โดยมีศักดิ์เป็นพระภาคิไนย (หลานน้า) ของสมเด็จพระนารายณ์ และเป็นพระราชนัดดา (หลานตา) ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

ถ้าเป็นเช่นนั้น พระมารดาของพระเพทราชา (ที่มีพระชนม์ไล่เลี่ยกับสมเด็จพระนารายณ์) ก็ควรจะเป็นพระพี่นางของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งต้องมีพระชนม์สูงกว่าพระนารายณ์มากเกิน ๑๐ ปีจึงจะมีโอรสอายุไล่เลี่ยกับสมเด็จพระนารายณ์ได้ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าพระมารดาเป็นพระธิดารุ่นใหญ่ของพระเจ้าปราสาททองซึ่งประสูติตั้งแต่พระเจ้าปราสาททองยังเป็นขุนนางอยู่ และอาจเป็นไปได้ว่าได้แต่งงานออกเรือนไปก่อนพระเจ้าปราสาททองครองราชสมบัติจึงสามารถมีครอบครัวได้ พอพระเจ้าปราสาททองครองราชย์แล้วจึงยกได้ยกขึ้นเป็นเจ้าในภายหลัง ทำให้พระเพทราชาที่เป็นโอรสได้เป็นพระราชวงศ์ตามสายเลือด

อย่างไรก็ตาม คำว่า “บุตรพระภคินี (zusters zoon)” คำว่า zuster ตรงกับ sister ที่แปลว่าพี่สาวหรือน้องสาวในภาษาอังกฤษ แต่สามารถแปลว่า nurse ซึ่งหมายถึงพี่เลี้ยงหรือแม่นมได้ด้วย ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักฐานอื่นๆ ที่ระบุว่า พระเพทราชาเป็นบุตรพระนมของสมเด็จพระนารายณ์มากกว่า อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่ควรตัดความเป็นไปได้ที่ว่าทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ตามที่ปรากฏในหลักฐานอื่นออกไป

.

หนังสือ Histoire civile et naturelle du royaume de Siam: et des révolutions qui ont bouleversé cet empire jusquén 1770 ของ ฟร็องซัวส์-อ็องรี ตุรแปง (François-Henri Turpin) ซึ่งเรียบเรียงจากหลักฐานร่วมสมัยหลายชิ้น ก็ระบุว่าพระเพทราชาทรงเป็นเชื้อพระวงศ์เช่นเดียวกัน

        “บางคนกล่าวว่าเพทราชา (Pitracha) เกิดมาเพื่อเป็นทาสในโรงครัวมากกว่าจะได้สืบทอดราชสมบัติ แต่ข้าพเจ้าขอยืนยันจากข้อมูลอันน่าเชื่อถือที่ได้รับมาว่าเขาเป็นเชื้อพระวงศ์ โดยเป็นถึงลูกพี่ลูกน้องชั้นแรก (first cousin) ของพระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชสมบัติอยู่ในเวลานี้ มารดาของเขาเป็นพระนม (nurse) ของพระเจ้าแผ่นดิน มีบุตรสองคนคือเพทราชาที่ได้กล่าวมาแล้วกับบุตรีคนหนึ่ง เด็กทั้งสองถูกเลี้ยงดูในพระราชวังและได้เป็นพระสหายของพระเจ้าแผ่นดินเมื่อยังทรงพระเยาว์”
.

บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบสเกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน (Mémoire du père de Beze sur la vie de Constance Phaulkon) ของ บาทหลวงนิกายเยซูอิตชาวฝรั่งเศสชื่อ โคล้ด เดอแบส (Claude de Bèze) ผู้มีความใกล้ชิดกับ คอนสตันซ์ ฟอลคอน (Constance Phaulkon) หรือ ออกญาวิไชยเยนทร์ ระบุ

        “เขาเป็นผู้ที่ได้รับความโปรดปรานจากในหลวงมากที่สุด เขาผู้นี้เป็นบุตรชายของพระนมคนหนึ่งของในหลวง พื้นเพเป็นคนธรรมดาสามัญ แต่ได้รับการเลี้ยงดูร่วมกันมากับในหลวงแต่เยาว์วัยและเป็นคนเฉลียวฉลาดอยู่ รู้จักเอาพระทัยเจ้านายของตนถึงมีความสนิทสนมกับพระองค์เป็นอันมาก”

เดอ แบสอาจกล่าวไม่ตรงกับคนอื่นที่ระบุว่าพระเพทราชาเป็นเชื้อพระวงศ์ แต่ก็บ่งชี้ว่าพระเพทราชาทรงเจริญเติบโตขึ้นในพระราชวังพร้อมกับสมเด็จพระนารายณ์ ไม่ได้มีความเป็นอยู่เช่น “ชาวชนบทประเทศบ้านนอก” ที่เมืองสุพรรณบุรี

.

นอกจากหลักฐานเรื่องชาติกำเนิด ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ควรนำมาพิจารณาถึงพระราชสถานะของพระเพทราชาอีกด้วย

กล่าวคือ น้องสาวของพระเพทราชาได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาของสมเด็จพระนารายณ์ในตำแหน่ง “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ ตำแหน่งพระสนมเอกตามทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน

สุจิตต์ วงษ์เทศตั้งสมมติฐานว่าผู้ที่จะมาเป็นตำแหน่งพระสนมเอกทั้ง ๔ ต้องมีเชื้อสายราชวงศ์จากรัฐโบราณที่อยู่รอบกรุงศรีอยุทธยา โดย “ศรีจุฬาลักษณ์” น่าจะเป็นตำแหน่งของผู้มีเชื้อสายเจ้ารัฐสุโขทัยโบราณ เพราะปรากฏในจารึกวัดบูรพาราม “สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์อัครราชมหิศีเทพยธรณีดิลกรัตนบพิตรเป็นเจ้า” ว่าเป็นอัครมเหสีของสมเด็จมหาธรรมราชาธิราชกษัตริย์สุโขทัย เมื่อสุโขทัยถูกผนวกเป็นส่ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่