สูญเสียเพื่อสิ่งที่ดีกว่า: พระจูเลียนเปิดใจพร้อมแม่

วันที่ 1-2 มีนาคม 2561 พระจูเลียง หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม “พระจูเลียน” ชาวแคนาดา ได้เดินทางมายังริเวอร์เฮ้าส์โฮเท็ล (บ้านไม้) พร้อมแม่ของเขา แม่ของพระมาค้างคืนกับเรา ส่วนพระค้างคืนที่วัดจองคำ

โอกาสนี้เราได้ขอพูดคุยกับทั้งสองถึงความรู้สึกของแม่ที่ลูกชายมาบวชอยู่ไทยนานถึง 18 ปี คุณแม่เล่าว่าช่วงแรกทำใจลำบากและใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะยอมรับในการตัดสินใจของลูกได้ ทั้งนี้เป็นเพราะห่วงลูกที่มาอยู่คนเดียวใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ไม่รู้จักใคร เป็นพระอยู่ตามวัดที่ห่างไกลความเจริญ ไม่มีไฟฟ้าใช้ กลัวว่าลูกชายจะมีอาหารไม่พอทาน


โยมแม่มาเยี่ยมพระจูเลียงที่ไทยทุก 18 เดือน ยังคงเรียกลูกว่า “จูเลียง” เฉยๆ แต่การมาครั้งนี้ของแม่เร็วกว่ากำหนดเพราะมีทีมงานจากอังกฤษติดต่อไปและซื้อตั๋วเครื่องบินให้แม่มาไทย ขอทำสารคดีพระจูเลียง แม่บอกว่าตนไม่ได้นับถือพุทธแต่การที่ลูกเป็นพระพุทธทุกวันนี้ แม่ก็ไม่ห่วงแล้ว เพราะลูกเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ดังนั้นหากมีเรื่องฉุกเฉินขึ้นมา แม่เชื่อว่าจะมีคนช่วย


พระจูเลียงเล่าว่าที่ผ่านมาเคยกลับแคนาดาเพียงครั้งเดียวและปีหน้าแม่อยากให้กลับไปเยี่ยมบ้านบ้าง ช่วงสิบกว่าปีแรกแม่ลูกติดต่อกันทางจดหมาย บางช่วงได้คุยกันปีละครั้ง โดยแม่ต้องติดต่อผ่านเจ้าอาวาสของวัดที่พระจูเลียงอาศัยอยู่ ตลอดเกือบยี่สิบปีในไทย พระใช้ภาษาฝรั่งเศสแต่กับแม่เท่านั้น ดังนั้นตอนคุยกับเราท่านจึงสลับพูดอังกฤษกับไทยด้วย เพราะคิดเป็นภาษาฝรั่งเศสได้ไม่เร็วแล้ว

เมื่อถามว่าจะบวชตลอดชีวิตหรือไม่และการใช้ social media ท่านคิดว่ามันขัดแย้งกับวิถีการเป็นพระหรือเปล่า พระจูเลียงตอบว่าท่านไม่ได้คิดเพื่อหาคำตอบว่าจะเป็นพระตลอดไปหรือไม่ เพราะคิดถึงเพียงปัจจุบันเท่านั้น ส่วนเรื่อง social media ท่านบอกว่าไม่ขัดแย้ง เพราะเวลาอยู่ที่กุฏิ ท่านไม่มีสัญญาณมือถือหรืออินเตอร์เน็ทที่จะติดต่อโลกภายนอก ดังนั้นท่านจะใช้โลกออนไลน์เมื่อเข้าเมืองมาทำธุระเท่านั้น เช่น ต่อวีซ่า หรืออื่นๆ และท่านยึดคติทางเดินสายกลางด้วยการใช้ social media เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม


พระจูเลียงเล่าว่าสมัยก่อนย้ายวัดไปเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันมีกุฏิเป็นของตัวเองแล้ว ไม่ได้มีโฉนดที่ดินหรืออะไร แต่เป็นที่ที่ชาวบ้านแถวนั้นยกให้ จึงไม่คิดย้ายไปพำนักที่วัดอื่น และปีหน้าพระจะทำเรื่องขอวีซ่าประเภทพำนักอาศัย (residency) ในไทยด้วย (ที่ผ่านมา ต้องต่อวีซ่าทุก 3 เดือน)

สิ่งที่ได้จากการบวช พระจูเลียงมองว่าเขาเสียมากกว่าได้ แต่เป็นการสูญเสียสิ่งที่ไม่ดีเพื่อสิ่งที่ดีกว่า และสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายก็ได้แก่ ความวิตกกังวล ความโกรธ ความเครียด ความโลภ และความเขลา ขณะที่เขาได้รับความสงบสุขทางใจกลับมาแทน ด้านแม่ของพระบอกว่าสำหรับเธอเอง ถึงแม้ลูกชายจะอยู่ไกลทั้งทางกายและใจ แต่พระลูกชายสอนให้ฝึกทำสมาธิและโยคะ ซึ่งเธอมองว่าเธอก็ได้กำไรชีวิตและได้ประสบการณ์ที่ดีเช่นกัน

หากใครอยากทราบประวัติเพิ่มเติมของพระจูเลียง ลองเสิร์ชหาอ่านตามอินเตอร์เน็ทว่า “พระจูเลียน” หรือ "Phra Julien" เราก็เพิ่งรู้ว่าพระเขาดัง (ป.ล. ครอบครัวของพระมาจากเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส ดังนั้น Julien จึงอ่านว่า “ฌูเลียง” หรือ "จูเลียง" ตามหลักการออกเสียงของภาษาฝรั่งเศส)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่