ความหลังริมคลองเปรม
กรรมของคนมีเวร
" วชิรพักตร์ "
ทหารที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามนั้น เป็นผู้ที่มีกรรมจริง ๆ สมดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย และจะต้องเป็นผู้รับกรรมนั้น อย่างจริงแท้แน่นอน ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปได้เลย
ในตลอดชีวิตของการอยู่เวรของผม แทบจะไม่เคยได้พบเห็นคำชมเชย สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามเลย อาจจะมีบ้างสัก ๒ - ๓ เรื่อง ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะได้รับแต่คำตำหนิ หรือคาดโทษ หรือถูกลงโทษอยู่บ่อยมาก
เมื่อสมัยที่ผมปฏิบัติหน้าที่นายทหารเวรใหม่ ๆ ในตอนเช้าตรู่วันหนึ่งซึ่งเป็นเวลาก่อนเจ็ดนาฬิกา ผมได้รับโทรศัพท์จากนายทหารคนสนิทของท่านเจ้ากรม เรียกให้ผมไปพบที่บ้าน ผมก็ดีใจว่าท่านจะเรียกไปใช้ให้ทำอะไร จึงรีบเดินจากหน้ากองบัญชาการเก่า ไปถึงหลังสโมสรอย่างเร่งรีบจนเหงื่อท่วมตัว เพราะผมขี่รถจักรยานสองล้อไม่เป็น เขามีไว้ให้เป็นพาหนะของนายทหารเวร ผมก็เอาไปพิงไว้เฉย ๆ
เมื่อไปถึงบ้านท่านเจ้ากรม ซึ่งก็เป็นพื้นที่เดียวกับบ้านของเจ้ากรมในปัจจุบันนี่แหละ ยังไม่ทันจะย่างก้าวเข้าไปในเขตรั้วบ้าน ก็ได้ยินเสียงตะโกนออกมาว่า สายป่านนี้แล้วทำไมยังไม่ปิดไฟที่เสาไฟฟ้า มัวไปทำอะไรอยู่ คงจะไม่ใช่ประโยคอย่างนี้ทีเดียว แต่ก็ได้ความทำนองนี้แหละ ผมตกใจยืนงงแทบจะลืมทำความเคารพ เพราะยังไม่เห็นตัวท่านเลย ต้องตั้งสติอยู่ชั่วอึดใจ จึงเห็นว่าท่านยืนอยู่บนระเบียงหน้าบ้าน ท่านคงเห็นผมยืนเฉยเป็นสากกระเบือ ก็เลยไล่ให้ไปจัดการเสีย
ผมก็รีบทำความเคารพรับคำเสียงสนั่น แล้วก็หันหลังจ้ำกลับไปทางเก่า ให้พ้นหูพ้นตาท่านโดยเร็วที่สุด เดินไปจนถึงทางแยกช่องทาง ๒ แล้ว ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าผมจะปิดไฟฟ้าตามเสาในกรมทั้งหมดได้อย่างไร เพราะผมไม่รู้ว่าสวิทช์นั้นมันอยู่ที่ไหน ผมรู้แต่เพียงว่าอีกสักสิบนาที ถ้าไฟฟ้ายังไม่ดับ ผมคงจะดับแน่
ด้วยความรู้ที่ว่า กิจการสาธารณูปโภคของกรมการทหารสื่อสาร อยู่ในความดูแลของกองบริการ ผมก็ตั้งใจจะไปถามที่กองร้อยโยธา กองร้อยนะครับไม่ใช่หมวดอย่างเดี๋ยวนี้ แต่ขาก็เดินไม่ทันใจเลย พอผ่านหน้าโรงพิมพ์ทหารสื่อสารเจอเพื่อน ซึ่งเป็นคนขยันมาทำงานแต่เช้าทุกวัน เขาทักทายก็เลยปรับทุกข์ให้เขาฟัง เขาก็หัวเราะบอกว่าสวิทช์อันนั้นมันอยู่ที่เสาไฟฟ้าหน้าโรงพิมพ์นี้เอง มีคัทเอาท์ตัวหนึ่งและมีป้ายแปะไว้ว่าเปิดเวลา ๑๘๓๐ ปิดเวลา ๐๗๐๐ หรืออะไรทำนองนี้แหละ จำไม่ได้แน่เพราะมันนานมาแล้ว ก็รีบยกคัทเอาท์ตัวนั้นขึ้น ไฟฟ้าตามเสารอบกรมมันก็ดับหมด
ผมถอนใจด้วยความโล่งอก แล้วก็เลยลืมถามเพื่อนว่า มันมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร และเป็นหน้าที่ของใครที่จะเปิดและปิดคัทเอาท์ตัวนี้
และเจ้ากรมท่านนี้เองที่ได้วางกติกา อย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ว่า ถ้ากองรักษาการณ์เรียกแถวทำความเคารพเจ้ากรมไม่ทัน ไม่ว่าผ่านเข้าหรือออกผู้บังคับกองรักษาการณ์จะต้องเข้าเวรติดต่อไปอีก ๓ วันหรือที่เรียกกันว่าดองเวร ๓ วันนั่นเอง ซึ่งทำให้ผู้บังคับกองรักษา การณ์สมัยนั้น หูตาว่องไวขึ้นมากทีเดียว
ต่อมาจึงได้มีการติดออดไว้ที่โต๊ะเสมียนเวร เมื่อท่านเจ้ากรมขึ้นรถที่หน้ากองบัญชา การ ก็จะมีผู้กดออดนี้ ให้กองรักษาการณ์รู้ตัวจะได้ตั้งแถวทัน ซึ่งนับว่าเป็นความกรุณาอย่างยิ่ง แต่ถ้าเป็นเวลาเช้า ก็ต้องสังเกตุเอาเองว่าท่านเจ้ากรมท่านใด นั่งรถชนิดใดมาทางทิศใด โดยปกติจะมาถึงเวลาเท่าใด ก็ให้พลทหารยามไปคอยเฝ้ามองทางทิศนั้น เมื่อเห็นว่าใช่รถของท่านแน่ก็จะเป่านกหวีด ให้สัญญาณแก่กองรักษาการณ์เรียกแถว เตรียมทำความเคารพ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับไหวพริบและความขยันของพลทหารผู้นั้นด้วย ถ้าเหม่อเพียงนิดเดียวรถเลี้ยวขึ้นสะพานแล้วจึงเป่านกหวีด ตั้งทันหรือไม่ทัน ผู้บังคับกองรักษาการณ์ก็ชักกระบี่สั่งวันทยาวุธเอาไว้ก่อน บางทีเรียบอาวุธแล้วเหลียวมาดูลูกแถวมีเพียงสามสี่คนก็มี
แต่มีพลขับรถของเจ้ากรมบางคน เกิดความเวทนาต่อยามรักษาการณ์ผู้ยาก พอขับรถมาใกล้ช่องทางก็จะเปิดไฟเลี้ยวเป็นสัญญาณให้ยามรู้ แล้วก็ค่อย ๆ เลี้ยวรถขึ้นสะพานอันสูงชันผิดชาวบ้าน อย่างแช่มช้านิ่มนวล จนกองรักษาการณ์ตั้งแถวได้ทันทั้งผลัด อย่างนี้ก็สมควรปรบมือให้เป็นอย่างยิ่ง
เรื่องที่นายทหารเวรกรม และนายทหารเวรผู้ใหญ่ จะต้องถูกตำหนิ หรือคาดโทษส่วนมาก ก็จะเป็นเรื่องที่อยู่ในความดูแลของกองบริการแทบทั้งนั้น ถนนหนทางเป็นหลุมบ่อ น้ำท่วมขัง เพราะสมัยนั้นยังไม่เป็นถนนคอนกรีตเหมือนเดี๋ยวนี้ ก๊อกน้ำชำรุดน้ำไหลไม่หยุด หรือหลอดไฟแสงสว่างภายนอกอาคารดับ เมื่อนายทหารเวรขยันตรวจขยันรายงาน กองบริการก็จะต้องรับปฏิบัติเกือบทุกเรื่อง
เมื่อผมได้เข้าเวรต่อมานานขึ้นจึงเห็นใจกองบริการ ใช้วิธีโทรศัพท์บอก หรือเดินไปบอก ข้อบกพร่องที่ตรวจพบจะได้แก้ไขเสียโดยไม่ต้องรายงาน แต่ปรากฎว่าบางครั้งก็ไม่ได้แก้ไข พอผมเข้าเวรในครั้งต่อไป ผมก็เดินไปต่อว่าตามประสาคนชอบ ๆ กัน เพื่อนก็บอกว่า พี่ไม่ได้เขียนรายงานผมก็เลยไม่มีหลักฐาน ตั้งเรื่องของบประมาณซ่อมแซม อ้าวเป็นงั้นไป
เรื่องที่น่าหนักใจของนายทหารเวร ที่ต้องเดินท่อม ๆ หรือขี่จักรยานสองล้อไปรอบกรม อย่างน้อยวันละสองเวลานั้น ก็คือทหารยามย่อหย่อนต่อหน้าที่ อาจยืนพิงกำแพงกอดปืนหลับ หรือลงนั่งสับประหงก หรือหาตัวไม่เจอ ไม่ทราบว่าไปซุ่มอยู่ที่ไหน ถ้าพบแล้วนายทหารเวรบางคนก็ทำโทษให้ตาสว่าง มากน้อยแล้วแต่คติของนายทหารเวรผู้นั้น แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะทหารที่ประจำกองรักษาการณ์มีน้อยเกินไป ต้องเข้าเวรถี่มาก จึงอ่อนเพลียและเบื่อหน่าย บางสมัยทหารที่ปฏิบัติหน้าที่กองรักษาการณ์จนครบ ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ถึงเวลาเปลี่ยนผลัดได้กลับกองร้อยเพียงครึ่งจำนวน พวกที่ไม่ได้กลับจึงต้องเข้าเวรเป็นสองเท่า คือ ๔๘ ชั่วโมง อย่างนี้ก็มี
เมื่อถูกตรวจพบว่าปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เขาจะยินดีถูกรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อจะได้ถูกขังในที่ควบคุมของกรมการทหารสื่อสาร เขาบอกว่าเวลาถูกขัง ไม่ต้องลงกองรักษาการณ์ ได้นอนเต็มอิ่มดี เอากะเขาซี ปัจจุบันนี้คงจะไม่มีปัญหาเช่นนี้แล้ว เพราะจำนวนทหารยามแต่ละผลัดน้อยลง และกองบริการได้รับทหารกองประจำการเพิ่มขึ้น มากกว่าเดิมแล้ว
ทหารยามพวกนี้มีนิสัยที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะถามเขาเรื่องอะไร เขาจะตอบว่าไม่ทราบครับ ประโยคเดียวไม่มีอย่างอื่น สมัยก่อนรั้วกรมการทหารสื่อสารเป็นสังกะสี ตรงที่ทหารยืนทั้งช่องทาง ๒ และช่องทาง ๓ จะต้องมีรูพรุนด้วยคมดาบปลายปืน ประปรายไปทั่วทั้งแผ่น ถามผลัดไหนก็ตอบว่าไม่ทราบครับ ยามคลังอาวุธเก่าที่อยู่หลังกองบัญชาการเก่า มีหลอดไฟฟ้าที่ดับอยู่เป็นประจำ ถามว่าหลอดขาดเมื่อไร ก็ไม่ทราบครับทุกที เพราะไม่มีใครอยากให้สว่าง จะได้แอบงีบได้ง่ายไม่มีใครเห็น
ต่อมารั้วกรมเป็นกำแพงอิฐบล็อค ทางด้านหลังสโมสรติดกับสะพานแดง ข้างกำแพงด้านในมีไม้ท่อนยาวพิงไว้ ถามว่าใช้ทำอะไรก็ไม่ทราบครับ ผมลงทุนเดินออกไปดูด้านนอกที่ติดริมคลองเปรมประชากร ซึ่งยังไม่ได้ทำเขื่อนสวยงามอย่างเดี๋ยวนี้ ก็ปรากฎว่ามีดินพูนเป็นกองสูงอยู่พอควร และกำแพงก็มีรอยดำปื้นติดอยู่ ตรงกับที่มีไม้พาดด้านในนั้นเอง ไม่ต้องบอกก็คงทราบได้ว่า เขาใช้เป็นช่องทางที่ ๔
แต่ที่ร้ายกว่านั้น ข้างป้อมยามช่องทาง ๒ ใกล้ตึกกองขายของ ออท.ที่ จำหน่ายโทรทัศน์ราคาถูกของ RTA เหนือกำแพงมีลวดหนามห้อยร่องแร่งอยู่ถามว่าทำไมถึงขาด ก็ไม่ทราบครับตามเคยทั้ง ๆ ที่อยู่เหนือศีรษะของยามเอง จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครใช้เป็นช่องทางที่ ๕ ได้ นอกจากเพื่อนของเขาหรือตัวของเขาเอง
เรื่องอย่างนี้ผมก็จำเป็นต้องรายงาน เพื่อสั่งการให้กองบริการแก้ไขต่อไป เพื่อนคนเก่าก็ต่อว่า พี่ทำไมรายงานแต่กองบริการผมก็แย่ซีพี่ ผมเองก็ต้องปลอบโยนเขาไปตามเรื่อง
ไหน ๆ ก็เล่าเรื่องเวรยามและกองรักษาการณ์มามากแล้ว ขอต่ออีกหน่อยให้ครบถ้วนกระบวนความไปเลย เมื่อสมัยที่เสาธงประจำกรมยังตั้งอยู่ที่ หน้าห้องประชุมกองการฝึกเจ้าหน้าที่พิเศษ รร.ส.สส. บริเวณที่ก่อสร้างพระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน นั้น เนื่องจากอยู่ใกล้เคียงกับกองรักษาการณ์ ตอนเช้าก่อนชักธงชาติแปดนาฬิกาทหารยามคนหนึ่งจะต้องเอาธงมาผูกเชือกไว้ก่อน เขาก็จะเอาธงชาติซึ่งผืนเล็กกว่าปัจจุบัน พันคอเดินมาแต่ผู้เดียว และผูกเข้ากับเชือกที่โคนเสาธง ซึ่งไม่สูงเหมือนอย่างปัจจุบัน เมื่อถึงเวลา ผู้บังคับกองรักษาการณ์หรือผู้ช่วย ก็จะนำทหารเดินมาตั้งแถวเป่าแตรชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา ถึงตอนเย็นชักธงชาติลงแล้วแถวก็กลับไปก่อน ทหารคนเดิมหรือคนใหม่ก็ไม่ทราบ เป็นผู้แก้เชือกผูกออก เอาผืนธงพันคอเดินกลับไปกองรักษาการณ์ ผมทนดูไม่ได้ก็รายงานให้แก้ไข จนได้เชิญธงชาติใส่พานเดินพร้อมแถวทหาร ทั้งไปและกลับมาจนถึงบัดนี้
เรื่องชักธงชาติยังมีอีก คือโรงเรียนสื่อสารสงเคราะห์ เข้าเรียนแปดโมงครึ่ง หรือ ๐๘๓๐ เด็กนักเรียนก็เข้าแถวร้องเพลงชาติหน้าเสาธงของโรงเรียนเป็นประจำ ข้าราชการที่เดินผ่านหน้าหรือเข้าเขตโรงเรียน ก็ต้องหยุดเคารพธงชาตินั้น ทุกวัน แต่เมื่อเวลาแปดนาฬิกา หรือ ๐๘๐๐ ธงชาติของกรมการทหารสื่อสาร กำลังชักขึ้นตามเวลาราชการ ทุกคนในกรมการทหารสื่อสาร ที่ได้ยินเสียงแตรเคารพ จะต้องหยุดทำความเคารพกันทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านพัก บนถนนในกรมหรือที่ทำงาน จะเห็นธงหรือไม่ก็ตาม ในสมัยนั้นแม้แต่ประชาชนที่เดินสัญจรไปมา ภายนอกใกล้เคียงกรมการทหารสื่อสาร ก็ยังต้องหยุดเคารพธงชาติของทหารสื่อสาร เว้นแต่เด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ ยังคงวิ่งเล่นเจี๊ยวจ๊าวโดยไม่สนใจ ทั้ง ๆ ที่ผู้ใหญ่หลายคนก็หยุดยืนเคารพธง อยู่บนถนน หน้าโรงเรียนให้เห็นตำตา ผมก็ทนไม่ได้อีกตามเคย ต้องรายงานขอให้แก้ไข จึงเป็นระเบียบ เรียบร้อยมาได้ แม้ว่านอกกรมจะไม่มีใครสนใจแล้วก็ตาม
เรื่องที่ไม่น่าดูอย่างยิ่งก็คือ ในกาลครั้งหนึ่ง กองบริการนึกอย่างไรไม่ทราบ เวลาเปลี่ยนกองรักษาการณ์ซึ่งเคยเข้าแถวเดินจากกองร้อยไปยังกองรักษาการณ์ มีพลแตรเดี่ยวนำหน้า ผู้บังคับกองรักษาการณ์คาดกระบี่เดินนำแถว ส่วนผู้ช่วยผู้บังคับกองรักษาการณ์และพลทหาร แบกปืนเดินเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งไปและกลับ ในกาลครั้งนั้นเกิดเปลี่ยนแปลงไม่ต้องให้ทหารแบกปืน เดินแต่ตัวเปล่าไปและกลับ คงใช้ปืนชุดเดิมที่พิงอยู่ประจำกองรักษาการณ์นั้นเอง ไปเปลี่ยนเวรยามตามที่ต่าง ๆ ในแง่ของการประหยัดเวลา ที่จะต้องตรวจหมายเลขปืนทุกกระบอกทั้งขาไปและกลับ หรือการที่จะได้ทำความสะอาดปืนน้อยกระบอกลง ก็อาจจะพอฟังได้ แต่ภาพของทหารกองรักษาการณ์ ที่เดินมือเปล่านั้น เราคงจะไม่เคยเห็นหน่วยทหารที่ไหนทำอย่างนั้น
พอผมเห็นเป็นครั้งที่สอง ก็ร่ายยาวเสียเกือบเต็มหน้ากระดาษชี้แจงทั้งข้อดีข้อเสีย สิ่งสำคัญก็คือความภาคภูมิผึ่งผายของผู้ปฏิบัติหน้าที่ยามรักษาการณ์อันมีเกียรติ ที่จะลดลงไปอย่างมากมาย จึงได้มีคำสั่งให้ปฏิบัติตามประเพณีของทหารรักษาการณ์ต่อมาจนทุกวันนี้
เรื่องที่เล่ามานั้นทำให้ผมคิดถึงท่านเจ้ากรม ที่ผมเอ่ยถึงเป็นครั้งแรกในตอนนี้ ถ้าท่านได้เห็นด้วยตาของท่าน ผมไม่ทราบว่าท่านจะรู้สึกอย่างไร เพราะเมื่อครั้งที่ท่านยังอยู่ในตำแหน่ง วันหนึ่งท่านเปิดบังตาห้องของท่านบนกองบัญชาการเก่า ออกมายืนที่ระเบียงหน้าห้อง บังเอิญทหารกองรักษาการณ์ผลัดเก่า กำลังเดินแถวกลับกองร้อยผ่านมา ด้วยความที่เดินเท้าไม่ค่อยจะพร้อมกันมาก่อน พอผู้บังคับกองรักษาการณ์ออกคำสั่งทำความเคารพ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ทางซ้ายแลซ้ายทำ แถวก็เลยคดเป็นงูเลื้อย เพราะถึงมุมที่จะเลี้ยวพอดี ท่านสั่งให้แถวหยุด แล้วให้เดินสวนสนามผ่านหน้าท่าน และแสดงความเคารพกลับไปกลับมาไม่ทราบว่ากี่เที่ยว
ผมยังจำได้อย่างฝังใจมาจนแก่.
##########
กรรมของคนมีเวร ๒๐ มี.ค.๖๑
กรรมของคนมีเวร
" วชิรพักตร์ "
ทหารที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามนั้น เป็นผู้ที่มีกรรมจริง ๆ สมดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย และจะต้องเป็นผู้รับกรรมนั้น อย่างจริงแท้แน่นอน ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปได้เลย
ในตลอดชีวิตของการอยู่เวรของผม แทบจะไม่เคยได้พบเห็นคำชมเชย สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามเลย อาจจะมีบ้างสัก ๒ - ๓ เรื่อง ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะได้รับแต่คำตำหนิ หรือคาดโทษ หรือถูกลงโทษอยู่บ่อยมาก
เมื่อสมัยที่ผมปฏิบัติหน้าที่นายทหารเวรใหม่ ๆ ในตอนเช้าตรู่วันหนึ่งซึ่งเป็นเวลาก่อนเจ็ดนาฬิกา ผมได้รับโทรศัพท์จากนายทหารคนสนิทของท่านเจ้ากรม เรียกให้ผมไปพบที่บ้าน ผมก็ดีใจว่าท่านจะเรียกไปใช้ให้ทำอะไร จึงรีบเดินจากหน้ากองบัญชาการเก่า ไปถึงหลังสโมสรอย่างเร่งรีบจนเหงื่อท่วมตัว เพราะผมขี่รถจักรยานสองล้อไม่เป็น เขามีไว้ให้เป็นพาหนะของนายทหารเวร ผมก็เอาไปพิงไว้เฉย ๆ
เมื่อไปถึงบ้านท่านเจ้ากรม ซึ่งก็เป็นพื้นที่เดียวกับบ้านของเจ้ากรมในปัจจุบันนี่แหละ ยังไม่ทันจะย่างก้าวเข้าไปในเขตรั้วบ้าน ก็ได้ยินเสียงตะโกนออกมาว่า สายป่านนี้แล้วทำไมยังไม่ปิดไฟที่เสาไฟฟ้า มัวไปทำอะไรอยู่ คงจะไม่ใช่ประโยคอย่างนี้ทีเดียว แต่ก็ได้ความทำนองนี้แหละ ผมตกใจยืนงงแทบจะลืมทำความเคารพ เพราะยังไม่เห็นตัวท่านเลย ต้องตั้งสติอยู่ชั่วอึดใจ จึงเห็นว่าท่านยืนอยู่บนระเบียงหน้าบ้าน ท่านคงเห็นผมยืนเฉยเป็นสากกระเบือ ก็เลยไล่ให้ไปจัดการเสีย
ผมก็รีบทำความเคารพรับคำเสียงสนั่น แล้วก็หันหลังจ้ำกลับไปทางเก่า ให้พ้นหูพ้นตาท่านโดยเร็วที่สุด เดินไปจนถึงทางแยกช่องทาง ๒ แล้ว ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าผมจะปิดไฟฟ้าตามเสาในกรมทั้งหมดได้อย่างไร เพราะผมไม่รู้ว่าสวิทช์นั้นมันอยู่ที่ไหน ผมรู้แต่เพียงว่าอีกสักสิบนาที ถ้าไฟฟ้ายังไม่ดับ ผมคงจะดับแน่
ด้วยความรู้ที่ว่า กิจการสาธารณูปโภคของกรมการทหารสื่อสาร อยู่ในความดูแลของกองบริการ ผมก็ตั้งใจจะไปถามที่กองร้อยโยธา กองร้อยนะครับไม่ใช่หมวดอย่างเดี๋ยวนี้ แต่ขาก็เดินไม่ทันใจเลย พอผ่านหน้าโรงพิมพ์ทหารสื่อสารเจอเพื่อน ซึ่งเป็นคนขยันมาทำงานแต่เช้าทุกวัน เขาทักทายก็เลยปรับทุกข์ให้เขาฟัง เขาก็หัวเราะบอกว่าสวิทช์อันนั้นมันอยู่ที่เสาไฟฟ้าหน้าโรงพิมพ์นี้เอง มีคัทเอาท์ตัวหนึ่งและมีป้ายแปะไว้ว่าเปิดเวลา ๑๘๓๐ ปิดเวลา ๐๗๐๐ หรืออะไรทำนองนี้แหละ จำไม่ได้แน่เพราะมันนานมาแล้ว ก็รีบยกคัทเอาท์ตัวนั้นขึ้น ไฟฟ้าตามเสารอบกรมมันก็ดับหมด
ผมถอนใจด้วยความโล่งอก แล้วก็เลยลืมถามเพื่อนว่า มันมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร และเป็นหน้าที่ของใครที่จะเปิดและปิดคัทเอาท์ตัวนี้
และเจ้ากรมท่านนี้เองที่ได้วางกติกา อย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ว่า ถ้ากองรักษาการณ์เรียกแถวทำความเคารพเจ้ากรมไม่ทัน ไม่ว่าผ่านเข้าหรือออกผู้บังคับกองรักษาการณ์จะต้องเข้าเวรติดต่อไปอีก ๓ วันหรือที่เรียกกันว่าดองเวร ๓ วันนั่นเอง ซึ่งทำให้ผู้บังคับกองรักษา การณ์สมัยนั้น หูตาว่องไวขึ้นมากทีเดียว
ต่อมาจึงได้มีการติดออดไว้ที่โต๊ะเสมียนเวร เมื่อท่านเจ้ากรมขึ้นรถที่หน้ากองบัญชา การ ก็จะมีผู้กดออดนี้ ให้กองรักษาการณ์รู้ตัวจะได้ตั้งแถวทัน ซึ่งนับว่าเป็นความกรุณาอย่างยิ่ง แต่ถ้าเป็นเวลาเช้า ก็ต้องสังเกตุเอาเองว่าท่านเจ้ากรมท่านใด นั่งรถชนิดใดมาทางทิศใด โดยปกติจะมาถึงเวลาเท่าใด ก็ให้พลทหารยามไปคอยเฝ้ามองทางทิศนั้น เมื่อเห็นว่าใช่รถของท่านแน่ก็จะเป่านกหวีด ให้สัญญาณแก่กองรักษาการณ์เรียกแถว เตรียมทำความเคารพ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับไหวพริบและความขยันของพลทหารผู้นั้นด้วย ถ้าเหม่อเพียงนิดเดียวรถเลี้ยวขึ้นสะพานแล้วจึงเป่านกหวีด ตั้งทันหรือไม่ทัน ผู้บังคับกองรักษาการณ์ก็ชักกระบี่สั่งวันทยาวุธเอาไว้ก่อน บางทีเรียบอาวุธแล้วเหลียวมาดูลูกแถวมีเพียงสามสี่คนก็มี
แต่มีพลขับรถของเจ้ากรมบางคน เกิดความเวทนาต่อยามรักษาการณ์ผู้ยาก พอขับรถมาใกล้ช่องทางก็จะเปิดไฟเลี้ยวเป็นสัญญาณให้ยามรู้ แล้วก็ค่อย ๆ เลี้ยวรถขึ้นสะพานอันสูงชันผิดชาวบ้าน อย่างแช่มช้านิ่มนวล จนกองรักษาการณ์ตั้งแถวได้ทันทั้งผลัด อย่างนี้ก็สมควรปรบมือให้เป็นอย่างยิ่ง
เรื่องที่นายทหารเวรกรม และนายทหารเวรผู้ใหญ่ จะต้องถูกตำหนิ หรือคาดโทษส่วนมาก ก็จะเป็นเรื่องที่อยู่ในความดูแลของกองบริการแทบทั้งนั้น ถนนหนทางเป็นหลุมบ่อ น้ำท่วมขัง เพราะสมัยนั้นยังไม่เป็นถนนคอนกรีตเหมือนเดี๋ยวนี้ ก๊อกน้ำชำรุดน้ำไหลไม่หยุด หรือหลอดไฟแสงสว่างภายนอกอาคารดับ เมื่อนายทหารเวรขยันตรวจขยันรายงาน กองบริการก็จะต้องรับปฏิบัติเกือบทุกเรื่อง
เมื่อผมได้เข้าเวรต่อมานานขึ้นจึงเห็นใจกองบริการ ใช้วิธีโทรศัพท์บอก หรือเดินไปบอก ข้อบกพร่องที่ตรวจพบจะได้แก้ไขเสียโดยไม่ต้องรายงาน แต่ปรากฎว่าบางครั้งก็ไม่ได้แก้ไข พอผมเข้าเวรในครั้งต่อไป ผมก็เดินไปต่อว่าตามประสาคนชอบ ๆ กัน เพื่อนก็บอกว่า พี่ไม่ได้เขียนรายงานผมก็เลยไม่มีหลักฐาน ตั้งเรื่องของบประมาณซ่อมแซม อ้าวเป็นงั้นไป
เรื่องที่น่าหนักใจของนายทหารเวร ที่ต้องเดินท่อม ๆ หรือขี่จักรยานสองล้อไปรอบกรม อย่างน้อยวันละสองเวลานั้น ก็คือทหารยามย่อหย่อนต่อหน้าที่ อาจยืนพิงกำแพงกอดปืนหลับ หรือลงนั่งสับประหงก หรือหาตัวไม่เจอ ไม่ทราบว่าไปซุ่มอยู่ที่ไหน ถ้าพบแล้วนายทหารเวรบางคนก็ทำโทษให้ตาสว่าง มากน้อยแล้วแต่คติของนายทหารเวรผู้นั้น แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะทหารที่ประจำกองรักษาการณ์มีน้อยเกินไป ต้องเข้าเวรถี่มาก จึงอ่อนเพลียและเบื่อหน่าย บางสมัยทหารที่ปฏิบัติหน้าที่กองรักษาการณ์จนครบ ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ถึงเวลาเปลี่ยนผลัดได้กลับกองร้อยเพียงครึ่งจำนวน พวกที่ไม่ได้กลับจึงต้องเข้าเวรเป็นสองเท่า คือ ๔๘ ชั่วโมง อย่างนี้ก็มี
เมื่อถูกตรวจพบว่าปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เขาจะยินดีถูกรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อจะได้ถูกขังในที่ควบคุมของกรมการทหารสื่อสาร เขาบอกว่าเวลาถูกขัง ไม่ต้องลงกองรักษาการณ์ ได้นอนเต็มอิ่มดี เอากะเขาซี ปัจจุบันนี้คงจะไม่มีปัญหาเช่นนี้แล้ว เพราะจำนวนทหารยามแต่ละผลัดน้อยลง และกองบริการได้รับทหารกองประจำการเพิ่มขึ้น มากกว่าเดิมแล้ว
ทหารยามพวกนี้มีนิสัยที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะถามเขาเรื่องอะไร เขาจะตอบว่าไม่ทราบครับ ประโยคเดียวไม่มีอย่างอื่น สมัยก่อนรั้วกรมการทหารสื่อสารเป็นสังกะสี ตรงที่ทหารยืนทั้งช่องทาง ๒ และช่องทาง ๓ จะต้องมีรูพรุนด้วยคมดาบปลายปืน ประปรายไปทั่วทั้งแผ่น ถามผลัดไหนก็ตอบว่าไม่ทราบครับ ยามคลังอาวุธเก่าที่อยู่หลังกองบัญชาการเก่า มีหลอดไฟฟ้าที่ดับอยู่เป็นประจำ ถามว่าหลอดขาดเมื่อไร ก็ไม่ทราบครับทุกที เพราะไม่มีใครอยากให้สว่าง จะได้แอบงีบได้ง่ายไม่มีใครเห็น
ต่อมารั้วกรมเป็นกำแพงอิฐบล็อค ทางด้านหลังสโมสรติดกับสะพานแดง ข้างกำแพงด้านในมีไม้ท่อนยาวพิงไว้ ถามว่าใช้ทำอะไรก็ไม่ทราบครับ ผมลงทุนเดินออกไปดูด้านนอกที่ติดริมคลองเปรมประชากร ซึ่งยังไม่ได้ทำเขื่อนสวยงามอย่างเดี๋ยวนี้ ก็ปรากฎว่ามีดินพูนเป็นกองสูงอยู่พอควร และกำแพงก็มีรอยดำปื้นติดอยู่ ตรงกับที่มีไม้พาดด้านในนั้นเอง ไม่ต้องบอกก็คงทราบได้ว่า เขาใช้เป็นช่องทางที่ ๔
แต่ที่ร้ายกว่านั้น ข้างป้อมยามช่องทาง ๒ ใกล้ตึกกองขายของ ออท.ที่ จำหน่ายโทรทัศน์ราคาถูกของ RTA เหนือกำแพงมีลวดหนามห้อยร่องแร่งอยู่ถามว่าทำไมถึงขาด ก็ไม่ทราบครับตามเคยทั้ง ๆ ที่อยู่เหนือศีรษะของยามเอง จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครใช้เป็นช่องทางที่ ๕ ได้ นอกจากเพื่อนของเขาหรือตัวของเขาเอง
เรื่องอย่างนี้ผมก็จำเป็นต้องรายงาน เพื่อสั่งการให้กองบริการแก้ไขต่อไป เพื่อนคนเก่าก็ต่อว่า พี่ทำไมรายงานแต่กองบริการผมก็แย่ซีพี่ ผมเองก็ต้องปลอบโยนเขาไปตามเรื่อง
ไหน ๆ ก็เล่าเรื่องเวรยามและกองรักษาการณ์มามากแล้ว ขอต่ออีกหน่อยให้ครบถ้วนกระบวนความไปเลย เมื่อสมัยที่เสาธงประจำกรมยังตั้งอยู่ที่ หน้าห้องประชุมกองการฝึกเจ้าหน้าที่พิเศษ รร.ส.สส. บริเวณที่ก่อสร้างพระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน นั้น เนื่องจากอยู่ใกล้เคียงกับกองรักษาการณ์ ตอนเช้าก่อนชักธงชาติแปดนาฬิกาทหารยามคนหนึ่งจะต้องเอาธงมาผูกเชือกไว้ก่อน เขาก็จะเอาธงชาติซึ่งผืนเล็กกว่าปัจจุบัน พันคอเดินมาแต่ผู้เดียว และผูกเข้ากับเชือกที่โคนเสาธง ซึ่งไม่สูงเหมือนอย่างปัจจุบัน เมื่อถึงเวลา ผู้บังคับกองรักษาการณ์หรือผู้ช่วย ก็จะนำทหารเดินมาตั้งแถวเป่าแตรชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา ถึงตอนเย็นชักธงชาติลงแล้วแถวก็กลับไปก่อน ทหารคนเดิมหรือคนใหม่ก็ไม่ทราบ เป็นผู้แก้เชือกผูกออก เอาผืนธงพันคอเดินกลับไปกองรักษาการณ์ ผมทนดูไม่ได้ก็รายงานให้แก้ไข จนได้เชิญธงชาติใส่พานเดินพร้อมแถวทหาร ทั้งไปและกลับมาจนถึงบัดนี้
เรื่องชักธงชาติยังมีอีก คือโรงเรียนสื่อสารสงเคราะห์ เข้าเรียนแปดโมงครึ่ง หรือ ๐๘๓๐ เด็กนักเรียนก็เข้าแถวร้องเพลงชาติหน้าเสาธงของโรงเรียนเป็นประจำ ข้าราชการที่เดินผ่านหน้าหรือเข้าเขตโรงเรียน ก็ต้องหยุดเคารพธงชาตินั้น ทุกวัน แต่เมื่อเวลาแปดนาฬิกา หรือ ๐๘๐๐ ธงชาติของกรมการทหารสื่อสาร กำลังชักขึ้นตามเวลาราชการ ทุกคนในกรมการทหารสื่อสาร ที่ได้ยินเสียงแตรเคารพ จะต้องหยุดทำความเคารพกันทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านพัก บนถนนในกรมหรือที่ทำงาน จะเห็นธงหรือไม่ก็ตาม ในสมัยนั้นแม้แต่ประชาชนที่เดินสัญจรไปมา ภายนอกใกล้เคียงกรมการทหารสื่อสาร ก็ยังต้องหยุดเคารพธงชาติของทหารสื่อสาร เว้นแต่เด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ ยังคงวิ่งเล่นเจี๊ยวจ๊าวโดยไม่สนใจ ทั้ง ๆ ที่ผู้ใหญ่หลายคนก็หยุดยืนเคารพธง อยู่บนถนน หน้าโรงเรียนให้เห็นตำตา ผมก็ทนไม่ได้อีกตามเคย ต้องรายงานขอให้แก้ไข จึงเป็นระเบียบ เรียบร้อยมาได้ แม้ว่านอกกรมจะไม่มีใครสนใจแล้วก็ตาม
เรื่องที่ไม่น่าดูอย่างยิ่งก็คือ ในกาลครั้งหนึ่ง กองบริการนึกอย่างไรไม่ทราบ เวลาเปลี่ยนกองรักษาการณ์ซึ่งเคยเข้าแถวเดินจากกองร้อยไปยังกองรักษาการณ์ มีพลแตรเดี่ยวนำหน้า ผู้บังคับกองรักษาการณ์คาดกระบี่เดินนำแถว ส่วนผู้ช่วยผู้บังคับกองรักษาการณ์และพลทหาร แบกปืนเดินเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งไปและกลับ ในกาลครั้งนั้นเกิดเปลี่ยนแปลงไม่ต้องให้ทหารแบกปืน เดินแต่ตัวเปล่าไปและกลับ คงใช้ปืนชุดเดิมที่พิงอยู่ประจำกองรักษาการณ์นั้นเอง ไปเปลี่ยนเวรยามตามที่ต่าง ๆ ในแง่ของการประหยัดเวลา ที่จะต้องตรวจหมายเลขปืนทุกกระบอกทั้งขาไปและกลับ หรือการที่จะได้ทำความสะอาดปืนน้อยกระบอกลง ก็อาจจะพอฟังได้ แต่ภาพของทหารกองรักษาการณ์ ที่เดินมือเปล่านั้น เราคงจะไม่เคยเห็นหน่วยทหารที่ไหนทำอย่างนั้น
พอผมเห็นเป็นครั้งที่สอง ก็ร่ายยาวเสียเกือบเต็มหน้ากระดาษชี้แจงทั้งข้อดีข้อเสีย สิ่งสำคัญก็คือความภาคภูมิผึ่งผายของผู้ปฏิบัติหน้าที่ยามรักษาการณ์อันมีเกียรติ ที่จะลดลงไปอย่างมากมาย จึงได้มีคำสั่งให้ปฏิบัติตามประเพณีของทหารรักษาการณ์ต่อมาจนทุกวันนี้
เรื่องที่เล่ามานั้นทำให้ผมคิดถึงท่านเจ้ากรม ที่ผมเอ่ยถึงเป็นครั้งแรกในตอนนี้ ถ้าท่านได้เห็นด้วยตาของท่าน ผมไม่ทราบว่าท่านจะรู้สึกอย่างไร เพราะเมื่อครั้งที่ท่านยังอยู่ในตำแหน่ง วันหนึ่งท่านเปิดบังตาห้องของท่านบนกองบัญชาการเก่า ออกมายืนที่ระเบียงหน้าห้อง บังเอิญทหารกองรักษาการณ์ผลัดเก่า กำลังเดินแถวกลับกองร้อยผ่านมา ด้วยความที่เดินเท้าไม่ค่อยจะพร้อมกันมาก่อน พอผู้บังคับกองรักษาการณ์ออกคำสั่งทำความเคารพ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ทางซ้ายแลซ้ายทำ แถวก็เลยคดเป็นงูเลื้อย เพราะถึงมุมที่จะเลี้ยวพอดี ท่านสั่งให้แถวหยุด แล้วให้เดินสวนสนามผ่านหน้าท่าน และแสดงความเคารพกลับไปกลับมาไม่ทราบว่ากี่เที่ยว
ผมยังจำได้อย่างฝังใจมาจนแก่.
##########