คนมีเวร ๒๐ มี.ค.๖๑

ความหลังริมคลองเปรม

คนมีเวร

" วชิรพักตร์ "

ในทางธรรมะนั้น มีพุทธภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร หรือ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ผมก็จำไม่ค่อยแม่นนัก แต่ในทางทหารจำได้แม่นว่า เวรย่อมระงับได้ด้วยการอยู่เวร เพราะทหารกับการอยู่เวรนั้น นับว่าเป็นของคู่กันเหมือนช้อนกับส้อม มาตั้งแต่โบราณกาล ใครที่แต่งเครื่องแบบทหารแล้วไม่เคยเข้าเวรยาม น่าจะเป็นทหารที่แปลกประหลาดมาก นอกจากทหารหญิงบางคนเท่านั้น

ในวงการทหารมีเวรยามให้เลือกหลายแบบ ถ้าเป็นระดับลูกแถวก็เป็นเวรโรงนอน เวรคลังอาวุธ เวรจัดเลี้ยง ผู้ช่วยสิบเวร ยามรักษาการณ์ นายทหารประทวนก็เป็นเวรกองร้อย เวรประจำหน่วย นายสิบเวร เสมียนเวร ผู้ช่วยหรือผู้บังคับกองรักษาการณ์ ผู้ช่วยนายทหารเวร และเวรสายตรวจ ถ้าเป็นนายทหารสัญญาบัตรก็จะเป็น นายทหารเวรประจำหน่วย ระดับต่าง ๆ ตั้งแต่แผนกถึงกรม นายทหารเวรผู้ใหญ่ นายทหารเวรตรวจวินัย นายทหารเวรฝ่ายอำนวยการ ไปจนถึงเวรราชองครักษ์ เป็นสูงสุด

สำหรับนายสิบและนายทหารหญิงนั้น บางหน่วยก็อาจจัดให้เป็น เสมียนเวร และนายทหารเวร ในเวลาราชการ เพื่อแบ่งเบาภาระของทหารชาย ในหน่วยเล็กที่ขาดแคลนกำลังพลก็ยังมี แต่ที่จะให้อยู่เวรตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงนั้น ยังไม่เคยเห็น หรือได้ข่าวว่ามีหน่วยไหนจัด อาจเป็นหน่วยทหารพรานก็ได้

ส่วนตัวผมเองนั้น..ฟังดูเป็นยี่เกดีนะครับ..คุยได้ว่าผ่านมาแล้วทุกประเภท เว้นแต่ประการสุดท้ายเท่านั้น เพราะวาสนาไม่ถึง เมื่อเข้ามาอาศัยร่มไม้ชายคาอยู่ในกรมการทหาร สื่อสาร ค่ายสะพานแดงนี้ ตอนแรกเป็นนักเรียนนายสิบก็เริ่มเป็นเวรโรงนอน ซึ่งมีหน้าที่เข้าเวรตั้งแต่เป่าแตรนอนสามทุ่ม ผลัดละ ๒ ชั่วโมง ไปจนถึงตีห้าเป่าแตรปลุก คอยตรวจตราดูแลเพื่อนนักเรียนให้เข้านอนโดยเรียบร้อย สวมเสื้อคอกลม นุ่งกางเกงขาสั้น มีผ้าห่มปิดหน้าอกทุกคน ไม่ว่าอากาศจะร้อนแค่ไหน จะมานอนเปลือยกาย หรือนุ่งผ้าขาวม้าตัวเดียวไม่ได้เด็ดขาด และต้องคอยดูแลให้ผู้ที่ขออนุญาตไปทำธุระส่วนตัวทั้งเบาและหนัก ให้กลับมานอนในเวลาอันสมควร ไม่ใช่แอบซุกเครื่องแต่งตัวแบบพลเรือนปีนรั้วออกไปเที่ยวข้างนอก หรือหนีกลับบ้านไปเลย

เวรอีกประเภทหนึ่งของนักเรียนนายสิบก็คือ เวรห้องอาวุธ มีหน้าที่ยืนเฝ้าหน้าห้องเก็บอาวุธหัวโรง ซึ่งมีแต่ปืนเล็กยาวและดาบปลายปืนสำหรับฝึกเท่านั้น ไม่มีลูกกระสุน เวรแต่งเครื่องแบบปกติคือเสื้อคอกลมสีขาวตุ่น กางเกงขาสั้นสีกากี สวมรองเท้าไอ้โอ๊บหัวงอน คาดเข็มขัดหนังสีน้ำตาลห้อยดาบปลายปืนที่เอว และต้องยืนประจำอยู่ภายในวงกลม ที่เขียนเอาไว้บนพื้น ถ้าล้ำออกมานอกเส้น หรือยืนไม่เรียบร้อยในท่าตามระเบียบพัก หรือพูดคุยเล่นหยอกล้อกับเพื่อน เป็นต้องถูกลงโทษอย่างแน่นอน

เป็นต้นว่าวิดพื้นหรือดันพื้น กระโดดสลับเข่า เดินเป็ด คือเอามือเท้าเอวทั้งสองข้าง ย่อตัวลงครึ่งหนึ่ง แล้วก็เดินไปตามที่สั่ง หรือให้เดินช้าง คือเอามือจับข้อเท้าทั้งสองข้าง แล้วเดินไปเป็นวงกลม หรืออาจจะมีอย่างอื่นแล้วแต่ปัญญาของสิบเวร จะคิดให้มันแผลงออกไปได้อีก อย่างการลงโทษในสนาม ก็ให้วิ่งรอบต้นไม้ หรือรอบเสาโกล์ฟุตบอล หรือให้จับปืนสองมือชูขึ้นให้สุดแขน หรือเอาปืนคล้องคอให้ลำกล้องอยู่ทางด้านหน้า แล้ววิ่งไปรอบสนาม ซึ่งทั้งสองท่านี้ อาจทำให้เป็นง่อย หรือไอเป็นเลือดได้สบายมาก ส่วนที่ใช้เท้าสวมรองเท้าบู๊ตเตะหน้าแข้งที่เปล่าเปลือย หรือกำหมัดตุ๊ยท้องนั้นมีอยู่เป็นธรรมดา ไม่ใช่ของแปลกอะไร

จบจากการเรียนมาเป็นนายสิบแล้ว ก็ต้องไปเข้าเสมียนเวรประจำกองบัญชาการกรมการทหารสื่อสาร เพราะอยู่ในหน่วยที่ไม่มีกำลังทหาร เป็นสิบเอกแล้วก็เลื่อนเป็นผู้ช่วยนายทหารเวรกรม บังคับบัญชาเสมียนเวรและพลทหารที่เป็นพลแตรเดี่ยวอีกที สมัยโน้นกองบัญชาการเก่า ด้านหน้ามีระเบียงยาวตลอด ตรงกลางตั้งโต๊ะสูงขนาดใหญ่ เหมือนเอ้หของโรงรับจำนำ เป็นที่นั่งของเวร คอยรับเอกสารจากภายนอก รับโทรศัพท์จากภายนอก แล้วก็ติดต่อทางโทรศัพท์ภายในตามคนที่จะต้องพูดโทรศัพท์ ในกองฝ่ายอำนวยการมารับสาย เพราะขณะนั้นยังไม่มีโทรศัพท์ประจำแทบทุกโต๊ะเหมือนเดี๋ยวนี้

ด้านขวามือเป็นห้องประชุมใหญ่ ด้านซ้ายมือเป็นห้องทำงานของ เสนาธิการกรม ผู้ช่วยเจ้ากรม รองเจ้ากรม และเจ้ากรมการทหารสื่อสาร เรียงกันไปจนสุด ห้องสุดท้ายของท่าน เจ้ากรมมีตู้เก็บธงชัยเฉลิมพล ของกองพันทหารสื่อสาร ต้องมีทหารถือปืนติดดาบเฝ้าหน้าห้อง ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

พลแตรเดี่ยวจะมีหน้าที่ เคาะระฆังแผ่นเหล็กที่แขวนอยู่ริมระเบียงบอกเวลาทุกชั่วโมง และเป่าแตรตามเวลา เริ่มตั้งแต่แตรปลุกลงฝึก รับประทานอาหารเช้า เคารพธงชาติ เข้าทำงาน รับประทานอาหารกลางวัน เลิกงาน รับประทานอาหารเย็น ชักธงชาติลง แตรสวดมนต์และเคารพเวลาทหารร้องเพลงสรรญเสริญพระบารมี สุดท้ายแตรนอน และถ้ามีเหตุฉุกเฉินเช่นไฟไหม้ ก็เป่าแตรเหตุสำคัญ ซึ่งไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้จะมีใครเป่าได้บ้าง

ผู้มีเวรทั้งสามคนนี้ จะต้องแบ่งเวลากันนอน ซึ่งมีเตียงสนามเล็ก ๆ กางเรียงไว้ริมระเบียง ส่วนเครื่องนอนต้องหอบหิ้วเอามาเอง ส่วนใหญ่ผู้ช่วยซึ่งอาวุโสสูงกว่าเพื่อนก็จะนอนก่อน แล้วเสมียนเวรก็นอน สุดท้ายพลแตรเดี่ยวก็ฟุบหลับอยู่บนโต๊ะ ใกล้กับโทรศัพท์โดยไม่มีใครปลุกใคร ยามหน้าห้องเจ้ากรมก็กอดปืนยืนหลับ ถ้านายทหารเวรซึ่งนอนที่กองรักษาการณ์ เดินมาตรวจเจอตอนดึก ก็อาจจะต้องลุกขึ้นวิ่งให้ตาสว่างกันบ้าง

เมื่อมีอาวุโสมากขึ้น หน้าที่เวรยามก็มีความรับผิดชอบมากขึ้นตามลำดับ ถ้าเป็นนายสิบอาวุโสเข้าผู้ช่วยผู้บังคับกองรักษาการณ์ ถ้าเป็นจ่านายสิบเข้าเวรผู้บังคับกองรักษาการณ์ ต้องประจำอยู่ที่กองรักษาการณ์ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ต้องดูแลพลทหารยาม ซึ่งสมัยนั้นมีผลัดละ ๖ คน คือยามช่องทาง ๑ ด้านถนนพระรามที่ ๕ ช่องทาง ๒ และช่องทางสโมสร ด้านถนนทหาร ช่องทาง ๓ ด้านตรอกวัดประชาระบือธรรม ยามประจำคลังอาวุธซึ่งอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์ และได้รื้อเพื่อขยายกองบัญชาการใหม่ไปแล้ว ยามประจำที่ควบคุม และยามประจำธงชัยเฉลิมพล รวม ๔ ผลัด ให้เปลี่ยนกันตามเวลา ผลัดละสองชั่วโมง

ทหารยามสมัยที่ถือปืนเล็กยาว แบบ ๖๖ ซึ่งเป็นปืนที่กองทัพบก บรรจุเข้าประจำการตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๖ นั้น เมื่อปฏิบัติหน้าที่ยืนยามจะต้องติดดาบปลายปืนด้วย นับว่าเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพดี เพราะมีขนาดยาวมาก เมื่อติดดาบแล้วปลายดาบยาวประมาณใบหูของทหาร ทำท่าเตรียมแทงแล้ว ฝ่ายตรงข้ามไม่มีทางเข้ามาประชิดตัวได้ ใช้การได้ทั้งแทง และตีด้วยพานท้ายตั้ง พานท้ายนอน กระแทกด้วยพานท้าย ใครโดนก็มีหวังสลบคาที่ เพราะทำด้วยไม้แข็งมาก เช็ดถูขัดทุกวันอยู่สามสิบปียังไม่สึก ไม่เหมือนปืนสมัยปัจจุบันนี้กระบอกสั้นนิดเดียว พานท้ายเป็นวัสดุเบาบาง ขืนใช้ตีก็คงแตกหักกุดหมด ถ้าไม่มีกระสุนติดตัว ก็คงมีคุณค่าน้อยกว่ากระบองเสียด้วยซ้ำไป

ปืนรุ่นพระเจ้าเหาที่ว่านั้น บรรจุกระสุนได้ครั้งละ ๕ นัด มีแหนบยึดไว้เป็นตับ ยามตามช่องทางต่าง ๆ จะได้รับกระสุนแห่งละ ๓ ตับ ๑๕ นัด แต่ไม่ได้ให้ติดตัว ให้ใส่ไว้ในตู้กระจกเล็ก ๆ ประจำช่องทาง ใส่กุญแจตู้เรียบร้อย เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน หรือได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา จึงจะทุบกระจกเอาลูกกระสุนออกมาบรรจุปืนได้ แต่ในตลอดชีวิตของผมที่รับราชการอยู่กับปืนเล็กยาวแบบนี้ ก็ไม่เคยมีการทุบกระจกเอากระสุนออกมาใช้เลยสักครั้งเดียว จนกระทั่งผมได้เลื่อนฐานะขึ้นเป็นนายทหารเวร จึงเขียนรายงานขอให้กำหนดเวลา นำกระสุนตามตู้ที่ช่องทางมาเปลี่ยนใหม่ และนำกระสุนเก่าให้กองร้อยรักษาการณ์ เอาไปให้ทหารฝึกยิงเป้าเสียบ้าง ไม่งั้นพอจะใช้จริงเกิดด้านขึ้นมา ก็คงจะขายขี้หน้าผู้ร้ายแย่ไปเลย

เรื่องกระสุนปืนเล็กยาวแบบเก่าแก่นี้ ขณะที่ผมเติบโตจนเป็นนายทหารเวรผู้ใหญ่แล้ว สมัยนั้นอันธพาลขาสั้น หรือที่เรียกกันในยุคนั้นว่าจิ๊กโก๋ มีมากในตรอก วัดประชาระบือธรรม คืนหนึ่งมีเสียงปืนดังแถว ๆ ปากตรอกตรงข้ามกับซอยระนอง ๑ ผมนั่งอยู่หน้ากองบัญชาการเก่า ก็เดินไปสดับตรับฟังเหตุการณ์ที่ช่องทาง ๓ ยังไม่ทันถึงเจอพลทหารยามประจำช่องทางนั้นวิ่งสวนทางมาหน้าตาตื่น ขออนุญาตเอากระสุนในตู้บรรจุปืนจะไปยิงกับจิ๊กโก๋ เขาบอกว่ามันยิงเฉียดหูเขาดังเฟี้ยว ๆ ทนไม่ไหวแล้ว ผมต้องค่อยปลอบใจยามเลือดร้อนคนนั้นว่า เขาไม่ได้ยิงเราหรอก ใจเย็น ๆ ไว้ก่อน แล้วก็เลยยืนคุยเป็นเพื่อนเขาที่ช่องทางซึ่งปิดประตูแล้ว ก็ไม่ได้กล้าหาญชาญชัยอะไร แต่เป็นเพราะคู่กรณีที่ก่อเหตุ เงียบหายไปทางไหนหมดแล้วก็ไม่รู้

ย้อนถอยหลังไปอีกนิด สมัยที่ผมยังเป็นนายทหารเวรกรม มีการเตรียมพร้อมบ่อยมาก ไม่ทราบว่าเตรียมเอาไว้สู้กับใคร ทุกคนก็เข้าเวรยามตามปกติ แต่ที่กองรักษาการณ์จะต้องมีทหารยามจำนวนหนึ่งผลัด นั่งม้ายาวหลังราวปืนเป็นการเตรียมพร้อมตลอดเวลา ที่กองรักษาการณ์สมัย นั้นมีอาวุธหนักคือ ปืนกลเบา แบบ ๖๖ ที่เคยมีชื่อเสียงในสงครามอินโดจีน และสงครามมหาเอเซียบูรพา ประจำอยู่ ๑ กระบอก พร้อมกระสุนหนึ่งหีบ ปืนชนิดนี้มีซองกระสุนบรรจุได้สามสิบนัด แต่ไม่เคยบรรจุ ปืนก็ตั้งไว้บนกรงเหล็ก ที่เก็บกระสุนทั้งหมดของกองรักษาการณ์ เพราะทั้งปืนกลเบาและปืนเล็กยาว ใช้กระสุนชนิดเดียวกัน ผมถามว่าใครยิงปืนแบบนี้เป็นบ้าง ปรากฏว่าพลทหารทุกคนไม่มีใครเคยฝึกยิงเลย ตัวผู้บังคับกองรักษาการณ์ก็ไม่เคยฝึก มีแต่นายสิบผู้ช่วยผู้บังคับกองรักษาการณ์ซึ่งเป็นพลทหารเกณฑ์รุ่นเก่า เช่นเดียวกับผม ที่เคยฝึกยิงกระสุนจริงในสนามยิงปืนเขาอีโต้ปราจีนบุรีมาแล้ว ผมจึงสั่งให้ลองเอากระสุนในหีบ ออกมาบรรจุเข้าซองกระสุน จำนวน ๓ ซอง ใส่กล่องหนังประจำตัวพลกระสุน แล้ววางไว้ใกล้ ๆ ตัวปืน เพราะผมคิดเอาเองว่า ถ้าเตรียมพร้อมแล้ว ไม่มีปืนที่พร้อมจะยิง จะเตรียมไปทำไมให้อดนอน แล้วผมก็มอบให้ ผู้ช่วยคนนั้น รับผิดชอบปืนกลเบากระบอกนั้น ตลอดเวลาที่ผมเข้าเวรอยู่ แกก็เลยต้องนอนฟุบหลับเฝ้าปืนอยู่ตลอดคืน แต่ถัดจากเวรผมไปแล้ว คงไม่มีใครทำพิเรนแบบนี้อีก

ปืนเล็กยาวและปืนกลเบา แบบ ๖๖ นี้ ใช้ราชการในกรมการทหารสื่อสารอยู่นานมาก แม้ในยุคที่กองทัพบกได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นต้นมา หน่วยกำลังรบของเหล่าอื่น จะได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่หมวกเหล็ก ถึงรองเท้าคอมแบต และเปลี่ยนเป็นปืนเล็กยาวบรรจุเอง หรือ ปลยบ.แบบ ๘๘ กับปืนเล็กสั้นบรรจุเอง หรือ ปสบ.แบบ ๘๗ แล้ว ทหารสื่อสารก็ยังคงใช้ ปลยบ.แบบ ๖๖ มาตลอดเวลา จนถึงยุคที่สหรัฐอเมริกาเลิกช่วยเหลือ หน่วยกำลังรบหลักได้รับปืนเล็กยาวอัตโนมัติ แบบ M.16 ทหารสื่อสารจึงได้รับการเปลี่ยนปืนเล็กยาว แบบ ๖๖ เป็น แบบ HK.33 หรือที่เรียกเป็นทางการว่า ปลยบ.๑๑ ซึ่งนำเข้ามาใช้ราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ นี่เอง แต่กว่าจะได้รับก็ดูเหมือนว่าต้องรอให้กรมสรรพาวุธทหารบกของเรา ผลิตได้เองเสียก่อนด้วยซ้ำไป

เรื่องที่เกี่ยวกับยามรักษาการณ์ก็ยังมีอีก คือปืนแบบนี้เป็นปืนกึ่งอัตโนมัติ ยิงทีละนัดก็ได้ หรือจะยิงเป็นชุดก็ได้ มีซองกระสุนยาวบรรจุได้ ๒๐ นัด เมื่อนำมาใช้ในกองรักษาการณ์ ตอนแรกให้ทหารยามถือปืนเปล่า ๆ ไม่เสียบซองกระสุน เพราะเก็บอยู่ในตู้พร้อมกระสุน ๑๕ นัดในกล่อง ใคร ๆ ก็ต้องรู้ว่าปืนนี้ไม่พร้อมที่จะใช้งาน ผมก็ใช้ความเป็นนายทหารเวร รายงานขอให้ทหารยามถือปืนที่เสียบซองกระสุนเปล่า จะได้มีผู้เกรงใจว่าอาจมีกระสุนอยู่ ส่วนในตู้นั้นกระสุนในกล่องไม่มีประโยชน์อะไร เพราะกว่าจะบรรจุเข้าซองครบทุกนัด ฝ่ายตรงข้ามก็เปิดไปไกลแล้ว หรือไม่ยามก็ลืมหายใจไปแล้ว ก็ให้เอามาบรรจุในซองกระสุนเก็บไว้อีก ๑ ซอง ถ้าจำเป็นต้องใช้จริง ก็จะได้เอาออกมาเปลี่ยนกับซองเปล่าที่ตัวปืน และให้มีกำหนดเวลาที่จะเอาซองปืนในตู้ ออกมาเปลี่ยนใหม่ เอากระสุนออก เพื่อไม่ให้แหนบสปริงในซองกระสุนล้า ซึ่งก็ได้รับอนุวัติให้ดำเนิน การได้ และคงจะได้ปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าจะไม่เคยได้หยิบออกมาใช้เลยเช่นกันก็ตาม

เพราะทหารยามคงไม่อยากให้ใครมาหัวเราะเยาะว่า ปืนบ่มีลูก ยิงถูกก็บ่ตาย จริงไหมครับ.

##########
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่