[หมายเหตุเพลงไทย 2531-2535] ตอน โปรโมท...จอมลวงโลก?

โปรโมท...จอมลวงโลก?

      ตลอดช่วงปี 2531-2535 เราเห็นได้ว่าตลาดเพลงไทยมีการขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากการสร้างนักร้องนักดนตรีใหม่ ๆ ที่มากขึ้น อีกทั้งขั้นตอนการผลิตและเผยแพร่ผลงานเพลงที่หลากหลาย โดยเฉพาะขั้นตอนที่เด่นชัดและใช้งบมากที่สุดนั่นก็คือ “การโปรโมท” ซึ่งเป็นการแนะนำศิลปินและผลงานเพลงให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชน โดยเพียบพร้อมด้วยสื่อหลายสื่อ จนทำเอาคนฟังเกิดความตื่นตะลึงอยู่ไม่น้อย

      รายการทางสื่อวิทยุที่มีบทบาทในการแนะนำผลงานเพลงมีอยู่หลายรายการซึ่งกระจายเสียงทางสถานีวิทยุทั้งในภาคเอฟ.เอ็ม. และ เอ.เอ็ม. แต่รายการที่เป็นที่นิยมและได้รับการเชื่อถืออย่างเป็นกลางโดยไม่สนกับระบบ “คิวเพลง” ที่รายการวิทยุคลื่นอื่น ๆ มีกันก็ได้แก่ “สไมล์ เรดิโอ” ทางคลื่นเอฟ.เอ็ม. 88 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่สร้าง “ดี.เจ.” ขึ้นมาประดับวงการสื่อวิทยุ ไม่ว่าจะเป็น “วินิจ เลิศรัตนชัย”, “หัทยา เกษสังข์” (หัทยา วงษ์กระจ่าง), “สาลินี ปันยารชุน”, “มณฑาณี ตันติสุข” และอีกมากมาย  อีกรายการหนึ่งคือ “ร่มไม้รายทาง” ของ สายทิพย์ ประภาษานนท์ หรือ “พี่ฉอด” ซี่งเน้นการเปิดเพลงฟังสบาย ก่อนจะพัฒนามาเป็นคลื่นวิทยุ “กรีนเวฟ” เมื่อสายทิพย์เข้ามาบริหารรายการวิทยุในเครือของค่ายเพลงแกรมมี่จวบจนถึงปัจจุบัน

      ส่วนสื่อโทรทัศน์ก็มีรายการหลากหลายรูปแบบที่มีการโปรโมทผลงานเพลงหรือตัวศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม โดยรายการที่เรียกว่าเป็นรายการหลักในช่วงนั้นก็คือ “มิวสิกวิดีโอ” ที่เปิดให้ชมในรายการหรือคั่นระหว่างรายการประเภทอื่น โดยได้มีการประเมินว่าใน 1 ปี จะมีรายการแบบนี้ออกอากาศมากถึง 80-100 รายการ ในสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ทุกเวลา ยกตัวอย่างชื่อรายการเช่น วันละเพลง, แบบว่าโลกเบี้ยว, เพลงติดดาว, หมอดูเพลงดัง, ฮัลโหลวันหยุด, เมนูวันหยุด, โลกสวยกับเสียงเพลง, บันเทิงมื้อเที่ยง, เสาร์สนุก, ฉันมากับเพลง, เพลงสนธยา, จับโน้ตใส่จอ, เพลินใจกับเพลง, สวัสดีไมโครโฟน, แว่วหวานออนแอร์, โบกี้บันเทิง ฯลฯ

      ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งก็คือรายการบันทึกการแสดงสด หรือที่เรียกเป็นภาษาสากลว่า “คอนเสิร์ต” ซึ่งมีวิธีการเผยแพร่ที่ต่างกันออกไป ทั้ง “รายการถ่ายทอดสด” อย่าง “โลกดนตรี” และ “7 สี คอนเสิร์ต” ซึ่งเป็นเวทีหลักที่ศิลปินทุกรายและทุกค่ายต่างหมายมาแสดงคอนเสิร์ตเพื่อแนะนำผลงานเพลงใหม่ต่อสาธารณชนในช่วงกลางวันอันอบอ้าวของวันหยุดสุดสัปดาห์


ภาพการแสดงจากรายการ โลกดนตรี และ 7 สีคอนเสิร์ต


       และยังมีรายการแห้งหรือ “เทปการแสดง” ซึ่งเป็นหน้าที่ของทางค่ายเพลงหรือผู้จัดอิสระที่เชิญศิลปินมาแสดงในที่สัญจรต่าง ๆ  โดยทำการบันทึกเทปล่วงหน้าแล้วนำมาออกอากาศเพื่อสร้างความรู้สึกของแฟนเพลงในภายหลัง โดยสถานที่ที่นิยมจัดแสดงคอนเสิร์ตในเขตกรุงเทพฯ คงหนีไม่พ้น “เอ็มบีเค ฮอลล์” หรือที่กลางแจ้งอย่าง สนามกีฬากองทัพบก และ ลาน สวป. มหาวิทยาลัยรามคำแหง

       นอกจากนี้ยังมีรายการที่ทำในลักษณะเกมส์โชว์ทายปัญหาเกี่ยวกับวงการเพลง เช่น “มิวสิกเกมส์” หรือจะเป็นรายการในรูปแบบแมกกาซีนหรือวาไรตี้ที่เชิญศิลปินมาพูดคุยและอาจมีการแสดงในแบบมินิคอนเสิร์ต เช่น “สี่ทุ่มสแควร์”, “ทไวไลท์โชว์” ฯลฯ หรือจะเป็นรายการละคร ซึ่งมีเพลงประกอบที่คุ้นหูแทบจะทุกเรื่อง รวมถึงการนำศิลปินนักร้องมาแสดงความสามารถทางละคร ผลงานละครของค่ายเพลงที่เด่นในยุคนั้นก็อย่างเช่น “ตะกายดาว”, “3 หนุ่ม 3 มุม” เป็นต้น

      ส่วนรายการประเภท “การประกวดร้องเพลง” ในช่วงเวลานั้นมีรายการให้ติดตามชมเป็นจำนวนไม่มากหรือไม่แพร่หลายเท่ากับในยุคปัจจุบัน แต่ในทุก ๆ ปี จะมีรายการประกวดร้องเพลงระดับประเทศออกมาเพื่อค้นหาบุคลากรมาประดับวงการเพลงอย่างชัดแจ้ง ซึ่งนักร้องส่วนหนึ่งเคยผ่านเวทีประกวดลักษณะนี้มาแล้ว รายการที่น่าจดจำในยุคนั้นก็ได้แก่ รายการประกวดร้องเพลงของ “สยามกลการ” ทั้งรุ่นผู้ใหญ่และรุ่นเด็ก และ “โค้ก มิวสิก อะวอร์ดส์”  ซึ่งรายการเหล่านี้ได้สร้างวงดนตรื “โมเดิร์นด็อก”, “โจ้ วงพอส” หรือ “ทาทา ยัง” ให้กลายเป็นศิลปินขวัญใจวัยรุ่นในเวลาถัดมา

       เรื่องของวงการเพลงยังได้ลามมาถึงสื่อภาพยนตร์อีกด้วย ทั้งภาพยนตร์ที่นำเสนอเบื้องลึกของวงการเพลงซึ่งรวบรวมศิลปินนักร้องชื่อดังไว้มากที่สุด อย่าง “สงครามเพลง แผน 2” หรือการนำศิลปินนักร้องมาแสดงภาพยนตร์อย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือค่ายเพลงที่มีทุนพอในการสร้างภาพยนตร์อย่างค่ายอาร์เอส กับงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง “รองต๊ะแล่บแปล๊บ” เมื่อปี 2535 ที่ได้ “ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง” เป็นพระเอกของเรื่อง สามารถทำรายได้จากการฉายได้พอสมควร ขณะที่คู่แข่งอย่างแกรมมี่ ซึ่งมี ธงไชย แมคอินไตย์ เป็นศิลปินเบอร์หนึ่งในสังกัด ยังอยู่ในขั้นที่ยังไม่พร้อมสำหรับการสร้างภาพยนตร์


ภาพใบปิดภาพยนตร์เรื่อง รองต๊ะแล่บแปล๊บ ของ อาร์เอส โปรโมชั่น


      ทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือเฉพาะเรื่อง ก็มีบทบาทไม่น้อยในการถ่ายทอดความเคลื่อนไหวในวงการเพลง โดยเฉพาะในหน้าบันเทิงของหนังสือพิมพ์บางฉบับ มักมีลักษณะข่าวกึ่งโฆษณา โดยใช้ข้อความแบบโน้มน้าวใจที่อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความไขว้เขวในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นความจริง เช่น “นักร้องมาดขรึม วางแผงวันเดียวขายได้ 5 แสน” หรือ “ร็อกถล่มพายุ” ส่วนสิ่งที่เหลืออยู่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลงานเพลงอย่างจริงใจและไว้สำหรับการอ้างอิงได้โดยง่าย  ซึ่งก็อยู่ที่ดุลยพินิจของผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลงานเพลงที่ตนชื่นชอบโดยไม่ใส่ใจกับข่าวที่ดูแรงหรือเว่อร์เกินเหตุ


เนื้อที่ข่าวกึ่งโฆษณาของค่ายเพลง นิธิทัศน์ โปรโมชั่น ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง


      ภายหลังจากที่บรรดาศิลปินและคนทำเพลงเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาครบปี การจัดงานมอบ “รางวัล” จึงตามมา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานที่ดีและมีคุณภาพจนสำเร็จลุล่วง รายการมอบรางวัลที่โดดเด่นในช่วงนั้นก็ได้แก่ “โทรทัศน์ทองคำ” ที่มอบสำหรับผู้สร้างสรรค์ผลงานมิวสิกวิดีโอดีเด่นแห่งปี, “สีสันอะวอร์ดส์” ที่จัดโดย นิตยสารสีสัน เป็นการมอบรางวัลสำหรับผู้มีผลงานยอดเยี่ยมในแนวเพลงไทยสากล, รางวัลจากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ที่มอบสำหรับนักร้องยอดเยี่ยมแห่งปี, “ดาวเทียมทองคำ” ที่มอบสำหรับเจ้าของเพลงที่ได้รับความนิยมจากประชาชน รวมถึง “แบดอะวอร์ดส์” ที่มอบสำหรับผู้สร้างสรรค์ผลงานมิวสิกวิดีโอและผู้สร้างสรรค์ปกเทปเพลงไทย เป็นต้น

- - - - - - - - - - โปรดติดตามตอนต่อไป สวัสดี. - - - - - - - - - -



บทความย้อนหลัง

[หมายเหตุเพลงไทย 2531-2535] ตอน ป๊อปไอดอลแห่งยุค
https://ppantip.com/topic/37469809

[หมายเหตุเพลงไทย 2531-2535] ตอน ร็อกยังครองเมือง
https://ppantip.com/topic/37472389

[หมายเหตุเพลงไทย 2531-2535] ตอน จับดารามาคว้าไมค์ใส่ตลับ
https://ppantip.com/topic/37476018

[หมายเหตุเพลงไทย 2531-2535] ตอน เพื่อชีวิตฮิตสนั่นเมือง
https://ppantip.com/topic/37476107

[หมายเหตุเพลงไทย 2531-2535] ตอน อวสานลูกทุ่ง? และ เพลงเก่า-ดนตรีใหม่
https://ppantip.com/topic/37478306
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่