[หมายเหตุเพลงไทย 2531-2535] ตอน ร็อกยังครองเมือง

ร็อกยังครองเมือง

         แนวดนตรีที่เป็นกระแสหลักของวงการเพลงไทยตลอดช่วงปี 2531-2535 เป็นอันดับที่ 1 คงจะหนีไม่พ้นแนว “ร็อก” ไม่ว่าจะเป็น ป๊อปร็อก, ร็อกแอนด์โรล, คันทรี่ร็อก หรือจะเป็น เฮฟวี่ เมทัล ก็อยู่ในกลุ่มร็อกอีกเช่นกัน แนวเพลงนี้ระบาดไปถึงคนไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นศิลปินมืออาชีพ และดาราอีกหลายคนที่ได้ออกเทป ก็ถูกจัดภาพลักษณ์ให้เป็นร็อกเกอร์กันแทบทั้งนั้น ทั้งการแต่งกาย การทำดนตรี และเนื้อเพลงที่บาดใจคนฟัง โดยเฉพาะบทเพลงที่เอาใจพวกจิ๊กโก๋อกหัก...

      ซึ่งศิลปินผู้เปิดตำนานเพลงจิ๊กโก๋อกหักนั่นก็คือ  “อัสนี-วสันต์ โชติกุล” ที่เริ่มแนะนำตัวจากอัลบั้ม บ้าหอบฟาง ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จทางการตลาดมากนัก จนเมื่อย้ายค่ายไปอยู่กับแกรมมี่ ก็ทำให้สองศรีพี่น้องชาวจังหวัดเลยผู้นี้เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ และข้ามน้ำข้ามทะเลถึงต่างประเทศด้วยซ้ำ จากบทเพลงซึ้ง ๆ เอาใจวัยโจ๋อย่าง “ก็เคยสัญญา”, “ยินยอม”, “ได้อย่างเสียอย่าง”, “เธอปันใจ” หรือซีรีส์เพลงจังหวะคึกคักอย่าง “บังอรเอาแต่นอน”, “บังเอิญติดดิน” และ “ยินดีไม่มีปัญหา” ขณะที่น้องชายอย่างวสันต์ยังได้แตกหน่อทำอัลบั้มในนามตัวเองอีก 2 ชุด  ซึ่งมีเนื้อหาและจังหวะดนตรีที่เบากว่างานเพลงของพี่ชาย

      วงดนตรีอีกกลุ่มที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน นั่นคือ “ไมโคร” เจ้าของเสียงเพลง “เอาไปเลย”, “ส้มหล่น”, “เติมน้ำมัน” เป็นที่เอาใจของขาร็อกมือขวามาอย่างยาวนาน แต่ภายหลังจากการทำอัลบั้มชุด “เต็มถัง” เมื่อปี 2533 ก็ได้ประกาศแยกวง ทำให้ “อำพล ลำพูน” นักร้องนำของวงเป็นศิลปินเดี่ยวในที่สุด โดยสร้างผลงานเพลงชุด “วัตถุไวไฟ” ส่วนสมาชิกที่เหลือก็ยังคงทำอัลบั้มในนามวงเช่นเดิม แม้จะได้รับความนิยมน้อยลงกว่าเดิม แต่ก็ได้รับรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ สาขาศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม ประจำปี 2534 ไปครอบครอง

      ในปี 2533 ได้ถือกำเนิดวงดนตรีร็อกแบบเฮฟวี่เมทัลนาม “ไฮร็อก” ที่มีนักร้องนำคือ “เป้-สุรัช ทับวัง” ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นนักร้องที่มีน้ำเสียงแหลมสูงคนหนึ่งของเมืองไทย โดยออกอัลบั้มเพลงชุดแรก “คนพันธุ์ร็อก” ที่มีเพลง “กระจกร้าว” เป็นเพลงเด่นในอัลบั้ม จนมีอัลบั้มตามมาอีกชุดคือ “บัญญัติผ่าแปด” กับบทเพลง “นานแสนนาน” ซึ่งเพลงนี้ยังได้มีการจัดทำมิวสิกวิดีโอที่ถ่ายทำระบบ 3 มิติเป็นเพลงแรกของไทย    

    อีกกลุ่มที่มีชื่อขึ้นต้นพ้องกันอย่าง “ไฮดร้า” เกิดขึ้นในปี 2535 โดยมีสมาชิกคือ “ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์” และ “ปอนด์-ธนา ลวสุต” ภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลังของค่ายนิธิทัศน์ แม้ว่าวงนี้ออกอัลบั้มได้เพียงชุดเดียว แต่ก็มีเพลงดังในอัลบั้มอยู่หลายเพลง เช่น “ชุดแดง”, “ไว้ใจ”, “ไกลเท่าเดิม” ฯลฯ โดยป้างรับหน้าที่แต่งเพลงและร้องเองเกือบทั้งหมด ส่วนปอนด์รับหน้าที่ทำดนตรีและเป็นโปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม ก่อนจะสลายตัวเพื่อไปทำงานเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังของแต่ละคนจนถึงปัจจุบัน

    ยังมีวงดนตรีร็อกของไทยที่น่าสนใจอีกหลายคณะ อย่างเช่น “ดิ โอฬาร โปรเจ็กต์” โดยการนำของ “โอฬาร พรหมใจ” ทำให้เพลง “อย่าหยุดยั้ง” ดังกระหึ่มในวงกว้าง แต่ภายหลังจากการออกอัลบั้มชุดที่ 2 คือ “หูเหล็ก” นักร้องนำอย่าง “โป่ง-ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์” ได้ลาออกจากวงแล้วเงียบหายไประยะหนึ่งจึงกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในนามวงดนตรี “หิน เหล็ก ไฟ” ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างล้นหลาม เช่นเดียวกับวง “บลู แพลนเน็ต” ของ “ชัคกี้ ธัญญรัตน์” กับอัลบั้ม “พาฝัน” ที่มีนักร้องนำของวงคือ “ปู-อานนท์ สายแสงจันทร์” ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ต่อมาปูจึงได้รวบรวมพรรคพวกใหม่อีก 4 คนก่อตั้งวงดนตรี “ยูเรเนียม” กับอัลบั้ม “ปฏิกิริยาร็อก” ของค่ายเอสพี ศุภมิตร ซึ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าเดิม  

    วงดนตรี “คาไลโดสโคป” ที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคดนตรีในแคมป์ทหารอเมริกัน (G.I.) เมื่อปี 2512 มีผลงานเพลงออกมาเป็นเพลงสากลโดยตลอด แต่มาออกอัลบั้มเพลงภาษาไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2535 ในชุด “กระชากใจ” ที่พาผลงานเพลง “เพราะเรานั้นคู่กัน” ดังกระหึ่มไปทั่วประเทศ

    ส่วนผู้ที่ออกมาทำงานเดี่ยวแล้วดังกว่าตอนอยู่เป็นวง ก็ได้แก่ “หรั่ง ร็อกเคสตร้า” เจ้าของบทเพลง “รักเธอประเทศไทย”, “รักเธอจริง ๆ” และโดยเฉพาะเพลง “คิดถึง” ที่เป็นที่คุ้นหูจนมีศิลปินคนอื่น ๆ นำไปขับร้องต่ออย่างแพร่หลาย

      อีกทั้งยังได้เปิดตัวร็อกเกอร์หน้าแปลกและชื่อแปลกอย่าง “ปฐมพร ปฐมพร” กับอัลบั้ม “ไม่ได้มามือเปล่า” ที่เรียกความฮือฮาไม่น้อยหน้าศิลปินคนอื่น จนมีการทำอัลบั้มชุดที่ 2 ซึ่งแหวกความจำเจด้วยการไม่ระบุชื่อเพลงในทุกเพลง



- - - - - - - - - - โปรดติดตามตอนต่อไป สวัสดี. - - - - - - - - - -
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่