การสร้าง content ยุคใหม่กับสื่อร่วมสมัย 4.0



หัวข้อ “นิตยสารวารสารกับโลกการอ่านที่เปลี่ยนแปลง” คลิกที่  https://ppantip.com/topic/37474989


เขาว่ากันว่าในยุคดิจิทัลนี้ทุกคนสามารถเป็นนักเขียนได้  ทุกคนสามารถคอนเทนต์ของตัวเองได้  ซึ่งการแข่งขันที่สำคัญที่สุดในยุคนี้คือการสร้าง content    ถ้าเรื่องของใครมีคอนเทนต์ที่ดีกว่าก็ชนะ  ของใครมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจกว่าก็ชนะ  ถ้าเราอยากเป็นผู้ชนะในสนามออนไลน์เราก็ต้องรู้ให้ได้ว่าทุกวันนี้คนที่ประสบความสำเร็จเขามีเทคนิคการสร้างคอนเทนต์กันอย่างไร?  และโลกออนไลน์ในปัจจุบันนี้เขานิยมเสพคอนเทนต์ในลักษณะไหนบ้าง?  เราลองมาฟังผู้เชี่ยวชาญในการสร้างคอนเทนต์ที่เป็นสื่ออนไลน์ชื่อดัง  ฟังเขาพูดถึงเคล็ดลับการสร้างเนื้อหาในยุค 4.0 กันดีกว่า

โดยหัวข้อการเสวนาในวันนี้มีชื่อว่า “การสร้าง content  ยุคใหม่กับสื่อร่วมสมัย 4.0”  มัผู้ร่วมเสวนาคือ คุณพัภภล สามสี (พี่ต้น) ผู้อำนวยการเนื้อหาและสื่อสังคมออนไลน์  ของสถานีวิทยุนานาแห่งชาติแห่งประเทศจีน ประจำภูมิภาคเอเชีย และคุณมฃนัส  อ่อนสังข์ (พี่ลาเต้) บรรณาธิการข่าวการศึกษาและแอดมิชชั่น  ประจำเว็บไชต์ www.dek-d.com การเสวนานี้มีขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2561 เป็นส่วนหนึ่งในโครงการหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ร่วมสมัย  ที่จัดโดย สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก  คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร)  ผมขอรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจมานำเสนอดังนี้

(รายละเอียดจากการเสวนาในครั้งนี้  ผมจดเป็นบันทึกช่วยจำอย่างย่อ (จดเลคเชอร์) แล้วจึงนำมาเรียบเรียงใหม่  ดังนั้นถ้ามีรายละเอียดประการใดที่ผิดพลาด , คาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง หรือผิดเพี้ยนไปจากที่ท่านวิทยากรพูดไว้   ผมก็ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ)




พิธีกรให้พี่ทั้งสองแนะนำตัวให้น้องๆ ได้รู้จัก

คุณมนัส  อ่อนสังข์

-จริงๆ แล้วชื่อเล่นคือเต้  แต่พอเข้าไปทำงานที่เว็บเด็กดีมีคนชื่อเต้อยู่แล้ว 2 คน  เมื่อเป็นเต้คนที่ 3 พวกพี่ๆ จึงเรียกว่าลาเต้

-พี่ลาเต้เรียนจบมาทางด้านนิเทศศาสตร์ เอกวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต  หลังจากเรียนจบได้ทำงานที่สถานีโทรทัศน์ ITV (เคยฝึกงานที่ ITV มาก่อน) เป็นลูกน้องของคุณฐปณีย์  เอียดศรีไชย ทำหน้าที่เป็นนักข่าวภาคสนามโดยทำข่าวแรกในชีวิต (ช่วงฝึกงาน) คือข่าวกระทิงหลุดที่เขาอ่างฤาไน (กุมภาพันธ์ ปี 2550)

-จนกระทั่งสถานีโทรทัศน์ ITV ปิดตัวลงในเดือนมกราคม 2551  พี่ลาเต้ก็ย้ายเข้ามาทำงานที่เว็บเด็กดี  รวมแล้วเป็นเวลากว่า 11 ปีแล้วที่มาทำสื่อให้เด็กอ่าน

-ช่วง 3 เดือนแรกที่พี่ลาเต้เข้ามาทำงานที่เว็บเด็กดีก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน  เพราะกลายเป็นว่ากลุ่มเป้าหมายคือเด็กๆ     พี่ลาเต้จึงต้องเปลี่ยนแนวมาเขียนข่าวให้เด็กอ่าน

@@@@@@@@@@@

คุณพัลลภ  สามสี

-คุณพัลลภ ชื่อเล่นว่าต้น  (ผมขอเรียกว่าพี่ต้น  เพื่อให้คู่กับพี่ลาเต้ ไปตลอด) เรียนจบที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) โดยถือว่าเป็นเด็กเอกวรรณกรรมเด็กรุ่นที่ 1 โดยตอนนั้นยังเรียนอยู่ที่เอกไทย  และสาขาวิชาโทคือการผลิตหนังสือ

-จริงๆ พี่ต้นบอกว่าอยากเป็นนักโฆษณา  แต่ว่าจบมาตอนที่ฟองสบู่แตกแล้ว เป็นช่วงที่เศรษฐกิจบ้านเราไม่ดีเลยจึงไม่ได้ทำงานโฆษณาอย่างที่ใจหวัง

-พี่ต้นเคยเป็นนักเทนนิสอาชีพ  เคยสอนเทนนิสอยู่ที่โรงแรมฮิวตันอยู่ประมาณ 3 ปี

-หลังจากนั้นได้ไปทำงานที่ราชบัณฑิต  ได้มีโอกาสร่วมงานกับอ.กาญจนา นาคสกุล  ทำโครงการวิจัยการออกเสียงคำไทยให้ถูกต้อง  เป็นงานในลักษณะการทำงานวิชาการ เพื่อเอาข้อมูลไปชำระ(แก้ไข)พจนานุกรม  โดยทำอยู่ 1 ปี

-หลังจากนั้นได้มาทำงานที่สำนักพิมพ์มติชน เริ่มงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ตั้งแต่ปี 2544 ได้มีโอกาสร่วมงานกับนักเขียนดังๆ หลายท่าน  อาทิเช่น อาจินต์ ปัญจพรรค์ ,  ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ , ทวีป วรดิลก , เสนีย์ เสาวพงค์ ฯลฯ

-ทำงานที่สำนักพิมพ์มติชนได้ประมาณ 7 ปี จึงได้ไปทำงานให้รัฐบาลจีน พอดีว่าทางจีนเปิดรับสมัครผู้เชี่ยวชาญในการแก้ไขข่าว  แก้ไขเนื้อข่าวที่แปลมาจากภาษาจีนเป็นภาษาไทย จึงได้ไปอยู่ที่ปักกิ่งประมาณ 5 ปี  หลังจากนั้นจึงกลับมาทำงานที่มติชนต่ออีก 4 ปี

-ถูกทางจีนเรียกตัวอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยให้มาทำงานข่าวที่ศูนย์เอเชียแปซิฟิคประจำประเทศไทย  จึงทำงานมาจนถึงปัจจุบันนี้


@@@@@@@@@@@


พิธีกรถามว่าแต่ละท่านมีหลักเกณฑ์ในการทำงานอย่างไรบ้าง?

คุณมนัส  อ่อนสังข์

-พี่ลาเต้บอกว่า จริงๆ แล้วพอฝึกงานที่สถานีโทรทัศน์ ITV แล้วก็ได้ทำงานที่นั้นต่อเลย  ตอนทำงานก็ได้ซึมซับตัวตนไปพร้อมกับพี่ๆ ที่อยู่ในองค์กรนั้น

-คุณค่าของการทำงานข่าวคือ ต้องทำคอนเทนต์ให้สดใหม่เสมอ  และต้องให้คนอ่านได้ข้อมูลที่ครบถ้วนด้วย

-ในการทำงานข่าวภาคสนาม  ผู้ชายอาจจะได้เปรียบมากกว่าผู้หญิง  เพราะผู้ชายจะทำงานลุยๆ ได้มากกว่า  ผู้ชายจึงถูกเรียกใช้งานมากกว่า

-ในการออกไปสัมภาษณ์คน  ทางเว็บเด็กดีจะไม่ให้น้องฝึกงานที่ออกไปสัมภาษณ์ใส่ชุดนักศึกษาไปเลย  เพราะผู้ถูกสัมภาษณ์เห็นว่าเป็นนักศึกษาแล้วเขาจะขาดความน่าเชื่อถือในตัวเราในทันที

@@@@@@@@@@@

คุณพัลลภ  สามสี

-สำหรับพี่ต้นหลักการทำงานคือ เราต้องมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนก่อน  โชคดีที่พี่ต้นค้นพบตัวเองตั้งแต่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย เพราะรู้ว่าตัวเองอยากจะทำหนังสือ  หรือไม่ก็อยากทำงานโฆษณา  ดังนั้นเราจึงต้องชัดเจนกับชีวิตของเราก่อน

-สมัยแรกๆ ที่พี่ต้นจบมาใหม่ก็ออกตระเวณไปสัมภาษณ์งานตามที่ต่างๆ เหมือนกัน แต่ยังไม่ได้งานเพราะว่าเรายังไม่มีประสบการณ์  เขาอื่นเขาจึงยังไม่รับเราเข้าทำงาน

-ตอนที่พี่ต้นไปทำงานที่สำนักพิมพ์มติชน  โดยงานแรกที่ได้ทำคือทำหนังสือเรื่อง “ปีศาจ” ที่เป็นวรรรกรรมอมตะของเสนีย์ เสาวพงศ์  โชคดีที่พี่ต้นเป็นนักอ่านมาก่อน จึงเคยอ่านเรื่องนี้ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว  การทำงานจึงได้ง่ายขึ้น

@@@@@@@@@@@

คุณมนัส  อ่อนสังข์

-อยากจะแนะนำน้องๆ นักศึกษาทุกคนว่า  พยายามหาตัวเองให้เจอก่อนที่จะไปฝึกงาน  จะได้รับโอกาสและประสบการณ์ตามที่เราต้องการจริงๆ  คือถ้าเรารู้ก่อนว่าทางของเราคือทางไหน?  มันจะดีมากๆ เลย  เช่นเราชอบถ่ายภาพ  เราก็ลองไปฝึกงานเป็นช่างภาพ , เราชอบทำอาร์ตเวิร์ค เราก็ไปฝึกงานด้านอาร์ตเวิร์คโดยตรงเลย

-หลายๆ องค์กรในบ้านเราเขาจะให้เกียรติเด็กฝึกงานเป็นพนักงานระดับต้นๆ ขององค์กรเขาเลย บางครั้งอาจให้สิทธิพิเศษก่อนพนักงานประจำอีก

-แต่ถ้าเราหาตัวเองไม่เจอจริงๆ เราต้องสร้างตัวตนของเราขึ้นมา  พยายามหาอะไรก็ได้ที่เป็นสิ่งยืนยันว่าเราชอบทางด้านนั้นจริงๆ  ลองสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง สร้างตัวตน , สร้างคลิปวีดีโอ , สร้างให้ตัวเองเป็นไอดอล ฯลฯ  แล้วดูว่าคนอื่นเขาชอบอย่างที่เราเป็นไหม?

-อย่างน้องๆ ที่เรียนด้านวรรณกรรมเด็ก  ลองสร้างคลิปเล่านิทานให้เด็กฟัง  ดูว่าคนดูเขาจะชอบในสิ่งที่เราทำไหม?

@@@@@@@@@@@

คุณพัลลภ  สามสี

-จริงๆ แล้วพี่ต้นอยากเป็นบรรณาธิการ  แต่ว่าสำนักพิมพ์ในไทยมีประมาณ 450 แห่ง  แต่ละแห่งเขาก็ต้องมีบรรณาธิการของเขาอยู่แล้ว  ดังนั้นถ้าไม่ได้เป็นบรรณาธิการล่ะ?  เป็นฝ่ายอื่นดูได้ไหม?

-นักศึกษาที่เรียนเอกไทย  อยากจะแนะนำให้ลองไปทำงานด้านพิสูจน์อักษรดู อาจจะเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบก็ได้ ไม่ต้องไปกลัวว่าจะทำงานพิสูจน์อักษรไม่ได้  เพราะเดี๋ยวนี้มีเครื่องมือเยอะมากสำหรับใช้ในการทำงานด้านนี้

@@@@@@@@@@@

คุณมนัส  อ่อนสังข์

-พี่ลาเต้บอกว่าเรื่องการพิสูจน์อักษรเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ยิ่งเดี๋ยวนี้เว็บต่างๆ แข่งขันกันด้านความเร็วอยู่แล้ว  การพิสูจน์อักษรจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

-พี่ลาเต้บอกว่าที่เว็บเด็กดีมีพี่คนหนึ่งชื่อ พี่นิพาน (ถ้าผมจดชื่อมาผิดก็ขออภัยด้วยครับ) เป็นคนที่เก่งเรื่องการพิสูจน์อักษรมาก  รวมทั้งเก่งเรื่องการรีไรท์ประโยค การเปลี่ยนแปลงคำโดยหาคำที่เหมาะสมกว่ามาใช้แทน ทำให้คอนเทนต์ในเว็บเด็กดีมีความถูกต้องสามารถแข่งขันกับเว็บอื่นๆ ได้

-ปัจจุบันงานพิสูจน์อักษรเป็นวิชาชีพที่มีคนทำน้อยมาก

@@@@@@@@@@@

คุณพัลลภ  สามสี

-พี่ต้นเล่าประสบการณ์การทำงานต่อว่า  ตอนที่ทางจีนเรียกตัวไปทำงานวิทยุที่ไซน่าเรดิโอนั้น  พี่ต้นจำเป็นต้องนำวิชาวรรณกรรมมาประยุกต์ใช้เยอะมาก  โดยการทำงานที่วิทยุของจีนนั้นสวนใหญ่จะเป็นการเขียนบทความออนไลน์เป็นหลัก

-ที่สำนักพิมพ์มติชนได้สร้างตัวตนให้แก่พี่ต้นเป็นอย่างมาก (ทำให้คนในวงการวรรณกรรมรู้จักชื่อ พัลลภ  สามสี)

-สำหรับพี่ต้นถือว่าโชคดีที่ได้ทำงานที่อยากจะทำได้หมด  โดยการเรียนรู้เพิ่มเติมทำให้เราทำงานประเภทอื่นได้  เช่นตอนที่ไปทำไซน่าเรดิโอ  พี่ต้นไม่รู้ภาษาจีนมาก่อนเลย  จึงจำเป็นต้องจ้างครูมาสอนภาษาจีน

-สำหรับใครที่สนใจงานหนังสือ หรืองานอีเว้นท์หนังสือ  พี่ต้นแนะนำให้ไปชมที่เชียงไฮ้ที่นั้นมีการจัดงานหนังสือเป็นประจำ


คุณพัลลภ  สามสี



พิธีกรถามว่า  จุดเปลี่ยนจากการทำอาชีพหนึ่งมาสู่คนทำสื่อออนไลน์นั้น  อะไรคือประเด็นสำคัญสำหรับพี่ทั้งสอง?

คุณมนัส  อ่อนสังข์

-พี่ลาเต้บอกว่าตอนที่เข้ามาทำที่เว็บเด็กดีนั้น  พี่ลาเต้ต้องปรับตัวอยู่ถึง 3 เดือน  โดยประเด็นสำคัญที่สุดที่ต้องปรับตัวคือเรื่องการเขียน  เพราะเว็บเด็กดีต้องการดำรงภาพลักษณ์ไว้ให้เป็นเว็บสำหรับเด็ก  การเขียนจึงจำเป็นต้องเขียนเพื่อให้เด็กอ่าน

-ซึ่งการเขียนให้เด็กอ่านนั้น  เราต้องรู้ว่าเด็กสนใจอะไร? หรือเด็กอยากอ่านอะไร?  ปัจจุบันเว็บเด็กดีมีเด็กกดไลท์ให้ (ติดตาม) ประมาณ 2 ล้านคน

-คอนเทนต์สำหรับเด็กมีความเหมือนกับคอนเทนต์ออนไลน์คือ  คอนเทนต์ต้องเร็วและต้องมีผลกระทบโดยตรงแก่ผู้อ่าน

-คอนเทนต์ที่เป็นข่าว  ต้องมาในเวลาที่ใช่  และแค่เร็วยังไม่เพียงพอ  ยังต้องลงลึกอีกด้วย

-ปัจจุบันสมาคมเว็บไซด์ของไทยออกกฎว่า  ห้ามแต่ละเว็บทำเป็นคิกเบส  หรือห้ามทำข่าวหลอกเพื่อให้คนกดเข้าไปอ่านแล้วเนื้อหาเป็นอย่างอื่นไม่ตรงกับหัวข้อข่าว

-สำหรับเว็บเด็กดีได้สอนคนทำข่าวว่า  ถ้ามีเหตุการณ์อะไรให้เอามาให้หมด  โดยต้องให้ข้อมูลแก่ผู้อ่านครบทุกด้านด้วย

-ยกตัวอย่างเช่น  ในตอนนี้กระแสละครเรื่องบุพเพสันนิวาสกำลังมาแรง  เว็บเด็กดีจึงต้องสร้างคอนเทนต์ที่ลึกและครบในทุกด้าน  ด้วยการทำบทความชื่อ “10 บุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในละครบุพเพสันนิวาส”

-ตอนที่พี่ลาเต้อยู่ ม.6  พี่ลาเต้อยากเป็นครูสอนแนะแนว  แต่ปรากฏว่าในปีต่อมาไม่มีที่ไหนเปิดสอนเอกครูแนะแนวเลย  พี่ลาเต้จึงต้องเปลี่ยนเป้าหมายไปเรียนนิเทศศาสตร์แทน  โดยได้เรียนเรื่องการถ่ายภาพ , เรียนจัดทำหน้าหนังสือพิมพ์ , เรียนวิธีการทำข่าว ฯลฯ

-จึงทำให้พี่ลาเต้เป็นคนชอบดูข่าว  ชอบอ่านข่าว จึงซึมซับความเป็นคนข่าวไว้ในตัวตลอด ซึ่งในการทำข่าวนั้นทุกข่าวต้องเพิ่งบรรยากาศ , สถานที่เกิดเหตุ , คนในข่าว ฯลฯ ชั่วโมงบินในการออกภาคสนามทำข่าวจะช่วยสอนให้เราเอง  เราต้องปรับตัวเข้ากับทุกอย่างให้ได้  ต้องฝึกคิดให้เร็ว  คิดไว้ในหัวแล้วพิมพ์ให้ได้เลย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่