เปิด 4 มุมอันตรายในบ้านเสี่ยง "ผู้เฒ่า" หกล้ม แนะวิธีจัดพื้นที่ให้ปลอดภัย


แพทย์เตือน 4 จุดสำคัญในบ้าน เสี่ยงทำ "ผู้เฒ่า" หกล้ม ทั้งห้องนอน ห้องน้ำ ทางเดิน และบันได แนะเตียงนอนความสูงเหมาะสมกับข้อเข่า ไม่ห่างไกลห้องน้ำ เหตุผู้สูงอายุกลั้นปัสสาวะลำบาก ยิ่งไกลยิ่งเสี่ยงหกล้ม ย้ำทางเดินต้องไม่ขรุขระ ห้องน้ำมีราวจับในทุกพื้นที่ใช้งาน ตั้งเก้าอี้สำหรับอาบน้ำ พื้นไม่ลื่น บันไดความกว้างรองรับความยาวเท้า ไม่สูงชันเกินไป

ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย รองคณบดี และหัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสมกับการดูแลผู้สูงอายุ ว่า ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการพลัดตกหกล้มสูง เนื่องมาจากร่างกายมีความเสื่อมถอยลง โดยจุดสำคัญหลักๆ ภายในบ้านที่มีความเสี่ยงสูงในการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุมีอยู่ประมาณ 4 จุดด้วยกันคือ 1.ห้องนอน โดยเฉพาะตอนลุกขึ้นยืนจากเตียงภายหลังตื่นนอน เนื่องจากตอนเช้าความดันโลหิตของร่างกายจะตกลง จึงมีความเสี่ยงที่จะหกล้มได้ 2.พื้นที่เดินภายในบ้าน หากมีความขรุขระ หรือมีสิ่งของเกะกะขวางทาง เช่น สายไฟต่างๆ เป็นต้น ก็อาจทำให้เกิดการสะดุดหกล้มลงได้ 3.ห้องน้ำ ที่ปกติจะมีความลื่น และ 4.บันไดที่มีความเสี่ยงในการตกลงมาสูง


ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า การปรับสภาพแวดล้อมทั้ง 4 จุดดังกล่าวให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญมาก โดยเบื้องต้นที่แนะนำคือ ในส่วนของห้องนอนนั้น เตียงนอนควรมีความสูงในระดับที่ผู้สูงอายุนั่งห้อยขาแล้วข้อเข่าอยู่ในมุมฉาก 90 องศาพอดี และเท้าติดพื้น ถ้าเตียงเตี้ยไปลุกขึ้นลำบาก เพราะต้องใช้แรงอย่างมากในการลุกขึ้น ก็จะเสี่ยงหกล้ม ขณะที่เตียงสูงไปก็มีโอกาสไหลจากเตียงลงมา การเลือกเตียงนอนจึงไม่ใช่แค่เลือกจากความสวยงามของเตียงเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงความสูงที่ต้องเหมาะสมกับผู้สูงอายุด้วย ส่วนเตียงที่สามารถปรับระดับความสูงได้นั้นก็ต้องยอมรับว่ามีราคาสูง นอกจากนี้ ระยะทางระหว่างห้องน้ำและเตียงนอนก็ไม่ควรห่างไกลกันมาก เนื่องจากผู้สูงอายุมักกลั้นปัสสาวะนานไม่ได้หรือกลั้นไม่อยู่ และต้องกลางคืนก็มักมีการปวดปัสสาวะบ่อย หากห้องน้ำอยู่ไกลเตียงนอนก็มีโอกาสสูงที่ผู้สูงอายุจะรีบเดิน เพราะกลัวกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จนเกิดความเสี่ยงในการสะดุดหกล้ม ดังนั้น ห้องน้ำและเตียงนอนควรอยู่ใกล้กันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทางเดินไปห้องน้ำไม่ควรมีสิ่งกีดขวางใด เพราะอาจทำให้สะดุดกล้มได้


ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับภายในห้องน้ำนั้นแนะนำว่า สิ่งแรกที่สำคัญมากคือ พื้นห้องน้ำต้องเป็นพื้นที่ไม่ลื่นเมื่อเปียกน้ำ สิ่งต่อมาคือราวจับ จะต้องมีราวจับให้รอบในบริเวณที่ผู้สูงอายุใช้งาน เช่น โถชักโครก อ่างล้างหน้า และพื่นที่อาบน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของโถชักโครกเองก็ต้องไม่เตี้ยไม่สูงเกินไปเช่นเดียวกับเตียงนอนเช่นกัน คือต้องนั่งแล้วห้อยขาได้ ขณะที่โซนอาบน้ำก็สำคัญอาจต้องมีการติดตั้งเก้าอี้สำหรับให้ผู้สูงอายุใช้อาบน้ำ เพราะเวลาถูขาหรือเท้า เมื่อมีการยกขาขึ้นมาก็อาจเสี่ยงต่อการหกล้มได้ จึงต้องควรมีเก้าอี้นั่งไว้อาบน้ำก็จะลดความเสี่ยงตรงนี้ลงไปได้ ส่วนอ่างล้างหน้าก็ต้องมีความสูงพอดี ไม่ต้องก้มมากเกินไป ซึ่งจะเสี่ยงต้อการล้มได้ แต่หากเป็นผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็นหรือวีลแชร์ แนะนำว่าห้องน้ำต้องสร้างให้มีความกว้างมากพอในการให้ผู้สูงอายุสามารถหมุนวีลแชร์ได้ ยกตัวอย่างตรงอ่างล้างหน้า ก็ต้องมีความกว้างประมาณ 1.50 เมตร เพื่อให้มีความกว้างมากพอในการหมุนวีลแชร์ และตัวอ่างล้างหน้าก็ต้องมีความสูงในระดับที่สามารถเลื่อนวีลแชร์เข้าไปได้ด้วย

ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ส่วนการลดความเสี่ยงบริเวณบันไดนั้น ต้องปรับให้พื้นบันไดไม่มีความลื่น และพื้นบันไดต้องมีความกว้างมากพอในการรองรับความยาวของเท้าผู้สูงอายุ นอกจากนี้ บันได้ต้องไม่มีความชันมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ก้าวขาลำบาก และต้องมีราวจับด้วย อย่างไรก็ตาม การจัดพื้นที่ในบ้านให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมาก ทั้งเรื่องของโต๊ะ เก้าอี้ ตู้ต่างๆ ประตู และเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ต่างๆ ในบ้านอีกมากที่ต้องมีความเหมาะสม ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้ามาหาความรู้ได้ที่ศูนย์ความรู้สูงวัย ชั้น 4 โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ หรือจากคู่มือความรู้ผู้สูงวัย ก็ได้เช่นกัน



ข่าวจาก : MGR Online
https://mgronline.com/qol/detail/9610000023175
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่