ไทยควรทำอย่างไร เพื่อพัฒนาคุณภาพของประชากร ที่มีอัตราการเกิดลดลง

วันนี้อยากจะถามความคิดเห็นว่า ไทยควรทำอย่างไร เพื่อพัฒนาคุณภาพของประชากร ที่มีอัตราการเกิดลดลง

อย่างที่หลายท่านทราบดีว่า ในช่วงนี้ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บางส่วนก็มองว่าไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว เนื่องจากอัตราการเกิดที่น้อยลง และประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น ทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรไม่สมดุล วัยเด็ก, วัยแรงงานเริ่มจะขาดแคลน ในขณะที่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น

ที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ยินว่า ไทยนั้น "แก่ก่อนรวย" เพราะว่าประเทศที่เป็นลักษณะนี้ มักเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีเงินและสวัสดิการเพื่อรับรองส่วนนี้ กรณีไทยนั้นยังไม่มีส่วนนี้มากนัก ทำให้ช่วงหลังเรามักเห็นแคมเปญเรื่องผู้สูงอายุกันบ่อยขึ้น เช่นเรื่องเงินบำนาญ สวัสดิการผู้สูงอายุ

แต่สิ่งที่เราอาจจะยังไม่ค่อยเห็นคือ "นโยบายการพัฒนาคุณภาพประชากร ที่มีอัตราการเกิดน้อยลง" ว่าควรทำอย่างไร

เท่าที่อ่านจากหลายๆกระทู้มา สิ่งที่หลายคนเป็นกังวล จะประมาณว่า "ต่อไปคนที่มีการศึกษา มีเงินหรืออะไรพอเลี้ยงลูกได้ จะมีลูกน้อยลง/ ช้าลง ส่วนคนที่ (อันนี้คือที่อ่านมานะครับ) อาจเลี้ยงลูกได้ไม่ดีนัก ไม่มีความพร้อมทั้งในแง่รายได้ และวุฒิภาวะ ไม่มีการวางแผนครอบครัว จะมีลูกมาก และจะเป็นปัญหาสังคมต่อไป"

ตรงนี้เลยทำให้ จขกท. นำมาเป็นประเด็นถกเถียงในวันนี้ ว่าไทยควรมีนโยบายอย่างไร ในการทำให้ประชาชนที่มีอัตราการเกิดน้อยลง มีคุณภาพพอที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปได้ คุณภาพที่ว่าคือ ได้รับการศึกษาที่ดี มีทักษะในการทำสิ่งต่างๆ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีระเบียบวินัย และมีคุณธรรม

ถามว่าสำคัญอย่างไร ที่ผ่านมาไทยที่เป็นสังคม 1.0 2.0 3.0 นั้นเราเน้นการเกษตร, การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า, การผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก ตามลำดับ เราใช้แรงงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และมีราคาถูก ต่อมาค่าแรงสูงขึ้น อัตราการเกิดน้อยลง ทำให้ไทยอาจจะพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักได้ไม่มากเท่าสมัยก่อน เลยจำเป็นต้องเปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ที่อาจใช้แรงงานน้อยลง แต่มีคุณภาพมากขึ้น ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลักในอนาคต
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่