[บุพเพสันนิวาส] ตัวละคร แม่จันทร์วาด เป็นใครมาจากไหน และเรื่องชุดเมืองสองแควของแม่การะเกดครับ

แม่หญิงจันทร์วาด เห็นมวยผมสูง เลยคิดว่ามีเชื้อสายทางล้านช้าง หลวงพระบางหรือเปล่า
จะว่าเป็นทรงโซงโขดง ก็ไม่น่าใช่เพราะนิยมกันตอนอยุธยาต้น-กลาง
หรือผมเข้าใจผิดไปเอง ยุคสมเด็จพระนารายณ์ยังนิยมทำทรงนี้กันอยู่ เพราะก็ค่อนๆมาทางอยุธยาตอนปลายแล้ว

อันนี้คิดไปเอง ว่าตัวละครที่มีชื่อว่า จันทร์ๆ อินทร์ๆ จะมาจากทางล้านช้าง 555


*เข้ามาแก้ไขเพิ่ม
พอดีไปได้คำตอบจากอีกกลุ่มมา จากภาพไตรภูมิ สมัยราชวงศ์ปราสาททอง ผู้หญิงยังมีนิยมไว้ทรงโซงโขดงอยู่ เอาเป็นว่าก็เคลียร์ละครับ แต่ใครอยากเพิ่มเติมข้อมูล คุยกันได้ต่อนะครับ



แล้วก็เห็นแม่การะเกดในชุดเมืองสองแคว แล้วสวยดี สมัยนั้นคนแถวนั้นเค้าแต่งกันยังไงครับ
ดูละครทำออกมาให้ดูตรงกลางระหว่างล้านนากับสยาม จะเหนือก็ไม่เหนือซะทีเดียว

แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 15
"ทรงผมของเบลล่ากับมะปรางที่แตกต่างกัน มีเรียกต่างกันเด้อ ทรงผมมะะปรางจะเรียกโซงโขดงแบบสุโขทัย เป็นทรงผมสตรีชั้นสูงในสมัยนั้น ส่วนทรงผมเบลล่าเรียกว่าทรง มหาดไทย แบบอยุธยา การเชตผมของคนสมัยก่อนจะใช้ขี้ผึ้งในการทำให้ผมอยู่ทรง และล้างด้วยมะกรูดกับขี้เถ้า

แม่หญิงจันทร์วาดในละครเป็นลูกของ พระยาโกศาเหล็ก ซึ่งท่านมีตัวตนจริงในประวัติศาตร์ค่ะ พระยาโกศาเหล็กเป็นเหมือนพี่น้องของพระนารายณ์ กินนมจากเต้าเดียวกัน ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กัน เป็นเพื่อนคู่คิด จึงถูกเรียกว่า คู่เหล็ก เพราะฉะนั้น จันทร์วาดเหมือนเป็นลูกของชนชั้นสูง

การะเกดเป็นลูกพระยา จากเมืองสองแควซึ่งคล้ายเป็นเมืองรองของอยุธยาสมัยนั้น ถ้าเอายศพ่อมาเทียบ แม่หญิงจันทร์วาดจะเป็นชนชั้นสูงกว่าค่ะ  การแต่งกายตอนแรกก็ได้อธิบายไปแล้วนะคะ

สุโขทัยปกครองอยุธยาค่ะ การแต่งกายจึงได้รับอิทธิพลการชาวละโว้ จากทางลพบุรี การเกล้าผมจะเกล้าตามกฎมณเฑียรบาล ผู้กญิงที่เป็นภรรยา ลูกก็จะทำตามด้วย เกล้าผมก็จะมี 2 แบบ เกล้าไว้บนสวมทัดด้วยทองตามฐานะ และเกล้าไว้ข้างล่างค่ะ จะเห็นว่าตอนแรกการะเกดก็เกล้าผมนะคะ"


ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับข้อความดังกล่าวครับ การเกล้าผมมวยของคนสมัยโบราณไม่น่าเกี่ยวข้องกับอิทธิพลกับสุโขทัยเลย เพราะพบหลักฐานอยู่ว่ารัฐโบราณในแถบนี้ส่วนใหญ่ก็ไว้ผมยาวเกล้ามวยกันทั้งหมด สำหรับอยุทธยาก็เช่นเดียวกันมีหลักฐานว่าเดิมก็ไว้ผมเกล้ามวยสูงแบบโซงโขดง เพิ่งพบว่ามาตัดผมสั้นในช่วงหลังๆ ไม่พบหลักฐานว่าไว้ผมสั้นมาแต่แรกครับ ดังที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลที่ตราในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ และศิราภรณ์ที่พบในกรุวัดราชบูรณะ สมัยเจ้าสามพระญา


นอกจากนี้เมื่อเทียบกันแล้ว แม้หลักฐานทางโบราณคดีจะบ่งชี้ว่าละโว้ซึ่งเคยเป็นรัฐศูนย์กลางของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างจะมีส่วนเกื้อหนุนให้เกิดรัฐภายในแผ่นดินในลุ่มแม่น้ำยมน่านอย่างศรีสัชนาลัย-สุโขทัย ดังที่พบความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอยู่หลายส่วน แต่อยุทธยานั้นมีความใกล้ชิดกับละโว้สูงกว่ามาก ทั้งตำแหน่งและในแง่ของวัฒนธรรมที่รับถ่ายทอดวัฒนธรรมขอมจากละโว้มาโดยตรง แม้แต่ในช่วงสถาปนากรุงศรีอยุทธยาก็ยังพบว่าละโว้ตกอยู่ในอำนาจของอยุทธยาในฐานะสามนตราชแล้ว ในขณะที่สุโขทัยยังเป็นอิสระอยู่ การที่จะบอกว่าสุโขทัยถ่ายทอดวัฒนธรรมละโว้ให้อยุทธยาจึงไม่ค่อยสมเหตุสมผลครับ

ถ้าจะบอกว่าสุโขทัยมีอำนาจเหนืออยุทธยาจริง ก็หลังสงครามเสียกรุง พ.ศ. ๒๑๑๒ ที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งเมืองพิษณุโลกได้ครองกรุงศรีอยุทธยา และมีการเทครัวประชากรในหัวเมืองเหนือลงมาอยุทธยาจำนวนมากเพื่อทดแทนประชาการดั้งเดิมที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่หงสาวดี ทำให้พลเมืองเหนือเข้ามาผสมกลมกลืนกับพลเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมากขึ้น

กว่าที่สุโขทัยจะมีอำนาจเหนืออยุทธยานั้น ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลอยุทธยามาเป็นเวลานานร่วมร้อยปีแล้วครับ เนื่องจากสุโขทัยถูกอยุทธยาพิชิตตั้งแต่รัชกาลขุนหลวงพ่องั่วซึ่งเพิ่งสถาปนากรุงได้ไม่นาน แต่ก็น่าเชื่อว่าในระหว่างรี้มีการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมจากสุโขทัยเข้ามาผสมผสานอยู่มากเพราะว่ากษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิมีการเกี่ยวดองกับกษัตริย์สุโขทัยอย่างแน่นแฟ้น หลายพระองค์มีพระมารดาและพระมเหสีเป็นชาวเหนือ และอยุทธยาก็ส่งเจ้านายไปครองเมืองพิษณุโลกหลายพระองค์ ดังนั้นถ้าจะมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากเมืองเหนือจริงก็น่าจะเกิดมาก่อนช่วงเสียกรุงแล้วครับ ช่วงหลังเสียกรุงน่าจะมี impact จากทางเหนือสูงขึ้นจากการกวาดต้อนประชากรที่กล่าวมาแล้ว


ส่วนการแต่งกายของการะเกดและบ่าวไพร่ที่ตามมาเป็นแบบล้านนาอย่างชัดเจน เข้าใจว่าอ้างอิงจากนิยายที่ระบุว่าการะเกดมีย่าเป็นคนล้านนา แต่ก็ประหลาดพอสมควรเมื่อเทียบกับบรรทัดฐานสมัยโบราณครับ

บริเวณหัวเมืองฝ่ายเหนือของกรุงศรีอยุทธยาซึ่งเคยเป็นรัฐสุโขทัยเดิมอย่าง พิษณุโลก สุโขทัย สวรรคโลก กำแพงเพชร พิชัย พิจิตร นครสวรรค์ มีเขตแดนใกล้ชิดกับล้านนาซึ่งอยุทธยารับว่าเป็น "ลาว" ถึงกระนั้นก็เป็นหัวเมืองที่อยู่ในอำนาจกรุงศรีอยุทธยาโดยตรงและควรมีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมกับอยุทธยาหรือสยามซึ่งนับตนเองว่าเป็น "ไท/ไทย" มากกว่ามาตั้งแต่โบราณ และผมเห็นด้วยกับ คห.ที่ 9 ที่ว่าเจ้าเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นหัวเมืองเอกที่ขึ้นกับอยุทธยานั้นควรเป็นข้าหลวงที่ใกล้ชิดกับส่วนกลางและปฏิบัติตามวัฒนธรรมของอยุทธยามากกว่าล้านนาครับ

และเท่าที่ทราบ อยุทธยาเรียกดินแดนในรัฐสุโขทัยเดิมว่าเมืองเหนือก็จริง แต่ผมยังไม่เคยเจอหลักฐานว่าคนสุโขทัย (ไม่แน่ใจว่ายุคไหน) เรียกอยุทธยาว่า "เมืองใต้"  มีแต่ในหลักฐานล้านนาอย่างพื้นเมืองเชียงใหม่ที่เรียกดินแดนทางใต้ตนเองลงไปซึ่งรวมตั้งแต่สุโขทัยไปถึงอยุทธยาว่า "เมืองใต้" และเรียกพลเมืองว่า "ชาวใต้" ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าล้านนามองว่าสุโขทัยแตกต่างจากตนพอสมควร และควรจะใกล้ชิดกับอยุทธยามากกว่า ซึ่งเมืองเหนือในรัชกาลพระนารายณ์เองก็น่าจะแทบไม่ต่างจากอยุทธยาแล้วครับ เพราะหลังจากการเปลี่ยนผ่านประชากรในช่วงเสียกรุงมานานพอสมควร

นอกจากนี้ คนไทยสยามตั้งแต่สมัยอยุทธยาก็มองล้านนาว่าเป็น "ลาว" ที่มีความแตกต่างกับตนมาก มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ก็ยังปรากฏเรียกขานเช่นนั้นอยู่ และหลายครั้งคนล้านนาก็ถูกคนไทยสยามมองอย่างดูถูกอยู่บ้างเพราะแปลกแยก เห็นได้จากกรณีของเจ้าดารารัศมีในสมัยรัชกาลที่ ๕


แม้แต่ในพงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ ก็ยังแต่งเนื้อหาในทำนองที่สะท้อนว่าคนอยุทธยาเห็นว่า "ลาว" นั้นต่ำกว่า อย่างตอนที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงได้ธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่มาเป็นบาทบริจาริกาจนนางตั้งครรภ์ ก็ทรงละอายไม่กล้าพาเข้าวัง จึงมอบ "นางลาว" นั้นให้พระเพทราชาแทน

"เมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาจากเมืองเชียงใหม่นั้น พระองค์เสด็จทรงสังวาสด้วยราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ และนางนั้นก็ทรงครรภ์ขึ้นมา ทรงพระกรุณาละอายพระทัย จึ่งพระราชทานนางนั้นให้แก่พระเพทราชา แล้วดำรัสว่า นางลาวคนนี้มีครรภ์ขึ้นมา เราจะเอาไปเลี้ยงไว้ในพระราชวัง ก็คิดละอายแก่พระสนมทั้งปวง และท่านจงรับเอาไปเลี้ยงไว้ ณ บ้านเกิด"

ดังนั้น การที่ลูกสาวข้าราชการอยุทธยาอย่างเจ้าเมืองพิษณุโลกจะแต่งตัวเป็น "ลาว" ก็ดูจะแปลกประหลาดพอสมควร ยิ่งเมื่อย้ายมาอยู่ที่อยุทธยาโดยแต่งกายสภาพนั้นแล้ว ก็อาจจะถูกคนอยุทธยามองอย่างเหยียดๆ ว่าเป็นพวก "ลาว" ที่แปลกแยกจากคนอยุทธยาทั่วไปด้วยครับ


ดังนั้นถ้าการะเกดแต่งกายเป็น "ลาว" เดินทางเข้ามาอยุทธยาโดยมีขบวน "ลาว" อย่างใหญ่โตนั้น อาจตีความได้ว่านางเป็นคนมั่นจนไม่แคร์สายตาใครครับ
ความคิดเห็นที่ 12
สรุปว่าที่มาของแม่จันทร์วาดเป็นไปตามนี้ใช่หรือเปล่าครับ?

ความคิดเห็นที่ 8
ขอพูดในแง่ของวัฒนธรรมในภาพรวมนะครับ

แม่หญิงการะเกดเป็นชาวเหนือ (คำว่า “ชาวเหนือ” ในความหมายของผู้คนลุ่มน้ำเจ้าพระยาสมัยนั้นใช้เรียกผู้คนในแถบลุ่มน้ำปิง ยม และน่านตอนล่าง คือภาคเหนือตอนล่างปัจจุบันนะครับ ไม่ใช่ล้านนา) เมืองสองแควในอดีตก็คือส่วนหนึ่งของแคว้นสุโขทัยที่ชาวอยุธยาเรียกว่า “เมืองเหนือ” (ในทางกลับกันคนสุโขทัยก็เรียกอยุธยาว่า “เมืองใต้” )

แคว้นสุโขทัยแต่เดิมมีวัฒนธรรมบางอย่างคล้ายชาวล้านนาและล้านช้าง เช่น การแต่งกาย ฉากที่แม่หญิงการะเกดขึ้นเรือนครั้งแรก สังเกตว่าทั้งแม่หญิงทั้งบ่าวล้วนนุ่งซิ่นตีนจก บ่าวผู้ชายข้างหลังก็เคียนหัวแบบชาวเหนือซึ่งภาคกลางไม่นิยมเคียนหัวกัน


ในแผนที่ฝรั่งจะเรียกแคว้นสุโขทัยเดิมนี้ว่า “Upper Siam” หรือ “สยามตอนบน” คือ พื้นที่ของจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี และตอนเหนือของชัยนาทในปัจจุบัน สมัยอยุธยาวัฒนธรรมค่อนข้างแตกต่างจากอยุธยาพอสมควร เช่น การแต่งกาย สถาปัตยกรรม ดนตรีพื้นเมืองมีกลองกลองมังคละเภรีและกลองชัย (คล้ายกลองสะบัดชัยของชาวล้านนา) มีภาษาท้องถิ่นของตัวเอง หลักฐานในเรื่องขุนช้างขุนแผนผู้เขียนได้บรรยายสำเนียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเหนือเอาไว้หลายครั้งว่า “สำเนียงชาวเหนือเสียงเกื๋อไก๋” ซึ่งสอดคล้องกับสำเนียงสุโขทัยในปัจจุบันที่ยังหลงเหลืออยู่ในจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ บางส่วนของกำแพงเพชรและพิษณุโลก มีคำศัพท์แบบล้านนาและล้านช้างเยอะ บางท้องถิ่นพูด ช เป็น ซ พูด ฉ เป็น ส

แสดงว่าเมืองเหนือกับเมืองใต้สมัยนั้นมีวัฒนธรรมแตกต่างกันพอสมควร แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมสุโขทัยถูกวัฒนธรรมชาวใต้ดูดกลืนไปเยอะ คนพิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี และชัยนาทปัจจุบันพูดสำเนียงดั้งเดิมของสุโขทัยไม่ได้แล้ว แต่ยังมีร่องรอยความเหน่อ คำศัพท์โบราณบางคำ และกลองมังคละเภรีที่ไม่มีใครเล่นเป็นเก็บรักษาอยู่ตามวัดที่มีอายุเก่าแก่ย้อนถึงสมัยอยุธยา
ความคิดเห็นที่ 11
ตามประวัติศาสตร์  พ่อของพระยาโกษาเหล็ก เป็นขุนนางมอญที่ตามพระนเรศวรเข้ามาสมัยเทครัวจากหงสาวดี  จากนั้นก็เป็นขุนนางอยุธยาสืบมา  จนมาแต่งงานกับเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นเจ้าสายสุโขทัย แล้วมีบุตรคือโกษาเหล็ก และโกษาปาน ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าหลังเสียกรุง เชื้อสายสุพรรณภูมิที่เป็นผู้นำอยุธยาถูกกวาดต้อนไปพม่าหมด  ส่วนพระนเรศวรเป็นสายพิษณุโลก หรือเรียกกันว่าสายพระร่วง  ก็ขยับมามีบทบาทแทน พ่อก็ถูกแต่งตั้งให้ครองเมืองอยุธยา  แต่ต้องส่งลูกมาเป็นตัวประกันที่เมืองหงสา พระนเรศวรก็เลยได้เรียนรู้วิชาจากพม่ามา  ก่อนจะเทครัวกลุ่มคนไทย และขุนนางมอญที่มีฝืมือและจงรักภักดีกลับมาอยุธยาหลังพระเจ้าบุเรงนองสวรรณคต  ซึ่งตอนนั้นอยุธยาเต็มไปด้วยคนสุโขทัย พิษณุโลก ที่ถูกเทครัวมาอยู่อยุธยาแทนกลุ่มสุพรรณภูมิเดิมที่ถูกยกครัวไปพม่า

ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเป็นปึกเป็นแผ่น ขุนนางที่มีสามารถ และมีตำแหน่งสูงๆ ก็จะได้รับมอบสตรีที่สูงศักดิ์  ซึ่งพ่อของโกษาเหล็กก็คือหนึ่งในนั้น และได้แต่งงานกับเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นสตรีชั้นสูงเชื้อสายพระร่วงเช่นกัน

ดังนั้นสายตระกูลของโกษาเหล็กจึงถือว่าเป็นสายตระกูลชั้นสูง  พอเจ้าแม่วัดดุสิตท้องและมีบุตร ก็ประจวบกับช่วงเวลาเดียวกันกับที่พระนารายณ์ประสูตรพอดี  ก็เลยได้มีเจ้าแม่วัดดุสิตเป็นแม่นมเอก  ส่วนแม่นมโทก็คือพระนมเปรม มารดาของพระเพทราชา ซึ่งเป็นสายตระกูลขุนนางชั้นสูงเหมือนกัน ไม่งั้นคงไม่ถูกเลือกมาเป็นพระนมของพระมหากษัตริย์  แต่สายตระกูลคงเป็นรองทางเจ้าแม่วัดดุสิต  ดังนั้นการที่คนเข้าใจว่าพระเพทราชาเป็นชาวบ้านธรรมดาจึงไม่ใช่เรื่องจริง  คนธรรมดาที่ไหนจะโชคดีแม่ถูกเลือกไปเป็นแม่นมได้  ต้องเป็นคนชั้นสูงเท่านั้นถึงจะได้รับตำแหน่งเป็นแม่นม

ดังนั้นถ้าถามว่าเชื้อสายของพระยาโกษาเหล็กคือสายตระกูลแบบไหน  ก็มีเลือดมอญมาจากฝั่งพ่อ และมีเลือดสุโขทัยจากฝั่งแม่  จากนั้นชั้นต่อมาโกษาเหล็กแต่งงานกับคุณนิ่มซึ่งเป็นพี่สาวของ คุณทิป (ซึ่งต่อมาเป็นพระยาสีหราชเดโชชัยนั่นเอง) และเป็นบุตรตรีของท่านพระยาเกษมสงคราม เจ้าเมืองสวรรคโลก ซึ่งก็ถูกระบุว่าเป็นสายมอญเช่นกัน

ดังนั้นจันทร์วาดจึงเป็นเชื้อสายมอญแบบเข้มหน่อยๆ ปนกับสายพระร่วงสุโขทัย  ใบหน้าจึงจะคมๆ เข้มๆ แบบที่เห็นครับ

ส่วนพระยาโกษาเหล็กนี่ ตามประวัติศาสตร์เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2226 เพราะขัดขวางการสร้างป้อมทหารสมัยใหม่ แล้วพระนารายณ์ทราบและมีหลักฐานว่าที่พระยาโกษาเหล็กมาขัดขวางเพราะรับส่วยมาจากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งหากมีการสร้างป้อมตรงนั้นก็จะถูกยึดบ้านเรือนไป เลยรวมตัวมาขอความช่วยเหลือจากพระยาโกษาเหล็ก  จากนั้นก็ถูกโบยจนสลบ  และกลายเป็นอ่อนแอเรื้อรังจนเสียชีวิตในที่สุด

พอหมดยุคพระยาโกษาเหล็ก ซึ่งเป็นคนกุมเสถียรภาพอำนาจระหว่างหลายๆ กลุ่มในกรุงศรีอยุธยา  สมดุลอำนาจก็พังทลายลง ต่อมาฟอลคอลเสนอให้ตั้งออกญาพระเสด็จขึ้นมาครองตำแหน่งโกษาธิบดีแทนโกษาเหล็ก  แล้วตัวเองก็ชักใยอยู่เบื้องหลัง จนภายหลังบ้านเมืองวุ่นวาย และพระนารายณ์ก็ถูกลอบวางยาพิษตอนปี 2230 จนร่างกายอ่อนแอ และเสียชีวิตในปี 2231 ในที่สุด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่