#ร่วมทำบุญครบ 100 ท่านอาจารย์ยิ้ม เพื่อนมิตรยังคงศรัทธา...สืบสานอุดมการณ์#

กระทู้คำถาม
เช้าตรู่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561 ข้าพเจ้ามีจุดหมายอยู่ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
เพื่อร่วมทำบุญถวายอาหารเพล ในวาระครบรอบ 100 วัน ของท่านอาจารย์ยิ้ม...รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ...


บรรยากาศในวันนี้ ยังอบอวลด้วยมิตรไมตรี น้ำใจ และอุดมการณ์ของเหล่าเพื่อนพ้อง มิตรสหาย ผู้ร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตยเช่นเดิม
หลายท่านมุ่งมั่นตั้งใจ เดินทางไกล มาจากทั่วสารทิศ เพื่อร่วมประกอบบุญ
และขออธิษฐานบุญกุศลในวันนี้ให้เกิดแด่ท่านอาจารย์ยิ้มในสัมปรายภพ




ข้าพเจ้าเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า เลือดเนื้อ จิตวิญญาณ และอุดมการณ์ของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของท่านอาจารย์ยิ้มนั้นมิได้สูญสลายไปแต่อย่างได้
ข้าพเจ้าได้พบว่า อย่างน้อย เลือดเนื้อ จิตวิญญาณ และอุดมการณ์ของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของท่านอาจารย์ยิ้มนั้น ได้ถ่ายทอดส่งต่อมาแล้ว สู่สาวน้อยคนหนึ่ง...คนนี้...


และแม้จะเป็นงานทำบุญ แต่วันนี้ข้าพเจ้าก็หาได้รับอานิสงค์เพียงแค่ผลบุญเท่านั้น
แต่ข้าพเจ้า...กลับได้รับความรู้ประวัติศาสตร์และการเมือง เสริมปัญญาอีกด้วย

โดยผู้ที่กรุณาให้ความรู้ประวัติศาสตร์ของวัดพระศรีมหาธาตุและประวัติศาสตร์การเมืองสมัยคณะราษฎร์
เป็นลูกศิษย์ที่ท่านอาจารย์ยิ้มภูมิใจ และกล่าวกับเพื่อนสนิทว่า นี่คือคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์
และมีอุดมการณ์สามารถต่อยอดงานวิชาการเพื่อมวลชนได้
ปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

วันนี้ข้าพเจ้าขอนำความรู้ที่ได้รับมาแบ่งปันโดยย่อ ดังนี้

บางเขน ถือเป็นพื้นที่ทางการเมืองของคณะราษฎร์
เมื่อคณะราษฎร์เข้ายึดอำนาจและเปลื่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ ก็ได้สร้างวัดขึ้นเป็นสัญลักษณ์
คล้ายๆ กับทุกรัชกาล ที่จะมีวัดประจำแต่ละรัชกาล
โดยคณะราษฎร์เลือกที่จะสร้างวัดใกล้อนุสาวรีย์ปราบกบฏ
อุปมา เหมือน ชาติต้องเคียงคู่กับศาสนา

วัดพระศรีมหาธาตุ เดิมมีชื่อว่า...วัดประชาธิปไตย...

สมัยนั้นพุทธศาสนามีปัญหามากเกี่ยวกับมหานิกาย และ ธรรมยุติ
วัดพระศรีมหาธาตุ เป็นความพยายามอย่างหนึ่งของคณะราษฎร์ในการแก้ปัญหาระหว่างธรรมยุติและมหานิกาย
โดยจำลองการปกครองทางโลก ของระบอบประชาธิปไตย ที่มีการถ่วงดุลและคานอำนาจของ 3 สถาบันการปกครอง มาใช้กับคณะสงฆ์
จึงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองคณะสงฆ์จากเดิมที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่เถระสมาคม มาเป็น สังฆนายก สังฆมนตรี สังฆสภา

แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จและถูกยกเลิกไปในสมัยจอมพล ป.


อุโบสถของวัดพระศรี มีรูปแบบคล้าย อุโบสถวัดเบญจมบพิตร
แต่ส่วนรายละเอียดจะเน้นความเรียบง่าย ลดทอนความหรูหราแบบศักดินาออกไป
หน้าบรรณของอุโบสถเปลี่ยนจาก ครุฑ เป็น อรุณเทพบุตร หรือสารถีของพระอาทิตย์
มีความหมายคือ ผู้นำพาประชาชนไปสู่รุ่งอรุณวันใหม่

ยอดเจดีย์ จะมี 6 ชั้น แตกต่างจากวัดอื่นทั่วไป
โดยมีความหมายสื่อถึงบัญญัติ 6 ประการของคณะราษฎร์

นอกจากสร้างวัดแล้ว คณะราษฎร์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างโรงเรียน
เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหลานชาวบ้านได้มีความรู้ โรงเรียนมัธยมที่คณะราษฎร์สร้าง ปัจจุบัน คือ สาธิตมัธยมราชภัฎพระนคร

เมื่อเข้าไปภายในเจดีย์ จะได้พบกับช่องบรรจุอัฐิของบุคคลผู้มีคุณูปการต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง


ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงความเคารพต่อผู้กล้าทุกท่าน
ทั้งทหารและพลเรือนที่เสียสละแสดงอุดมการณ์ตลอดจนต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยมา ณ ที่นี้

ด้วยจิตคาราวะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่