เข้าใจผิดไปใหญ่แล้ว! “แบงก์ชาติ” ยันไม่ได้ให้ “ร้านสะดวกซื้อดัง” ทำธนาคาร

เข้าใจผิดไปใหญ่แล้ว! “แบงก์ชาติ” ยันไม่ได้ให้ “ร้านสะดวกซื้อดัง” ทำธนาคาร
เผยแพร่: 19 ก.พ. 2561 08:37:00   ปรับปรุง: 19 ก.พ. 2561 09:05:00   โดย: MGR Online




ธนาคารแห่งประเทศไทย แจงการแต่งตั้ง “ตัวแทนธนาคาร” ไม่ใช่ให้ทำธุรกิจธนาคาร แต่ให้ธนาคารพาณิชย์เลือกร้านค้า เป็นตัวแทน และมีขอบเขตการให้บริการจำกัด เตรียมชี้แจงวันนี้ ด้านปลัดคลังหนุน “ร้านสะดวกซื้อชื่อดัง” เป็นตัวแทนธนาคาร ชี้ปกติให้จ่ายค่าน้ำไฟได้อยู่แล้ว หนุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

จากกรณีที่ในโซเชียลมีเดียมีการแชร์ข่าวจากเว็บไซต์ประเภทคลิกเบท (Clickbait) ระบุว่า ร้านสะดวกซื้อชื่อดัง ได้รับการอนุมัติให้รับฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน 24 ชั่วโมง เหมือนธนาคารพาณิชย์ โดยอ้างถึงกรณีที่ น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในเร็วๆ นี้ จะมีการประกาศหลักเกณฑ์การเป็นตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) หลังจากนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยลงนามแล้วนั้น

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า การเปิดให้มีตัวแทนการให้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้เป็นการอนุญาตให้เอกชนมาขอใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ใหม่ ซึ่งปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไม่มีนโยบายให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับบริการการเงินได้สะดวก และทั่วถึงมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งตัวแทนธนาคารจะมีขอบเขตการให้บริการจำกัด ในกรณีนี้ธนาคารพาณิชย์ จะเป็นผู้เลือก โดยเปิดกว้างให้ได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และธนาคารพาณิชย์ จะต้องจัดให้มีระบบควบคุมและบริหารความเสี่ยงสำหรับธุรกรรมที่ทำผ่านตัวแทนธนาคาร

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม สายนโยบายสถาบันการเงินจะชี้แจงสื่อในวันนี้ (19 ก.พ.) เวลา 14.00 น. ที่ห้องแถลงข่าว อาคาร 2 ชั้น 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย

ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเห็นด้วยกับการจัดตั้งตัวแทนธนาคาร เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้รับฝากถอนเงิน เพราะปัจจุบันประชาชน ถอน โอนเงินฝากทางโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้บริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทนธนาคาร ต้องมีคุณสมบัติในหลายด้าน ทั้งจำนวนเงินทุนตั้งสำรองดำเนินธุรกิจ จำนวนสาขา บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ หากเอกชนรายใดไม่พร้อมจะดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากเป็นบริการทางการเงิน อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายอี-เพย์เมนต์ อำนวยความสะดวกบริการทางการเงินให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ขณะที่แบงก์รัฐ หรือธนาคารอื่นต้องปรับตัวรองรับบริการในยุคไทยแลนด์ 4.0

ส่วนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่แห่งหนึ่ง จะเข้ามาขอเป็นตัวแทนธนาคารนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ถือว่าเหมาะสม เพราะที่ผ่านมาเปิดให้บริการชำระสาธารณูปโภคอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะมีหลักธรรมาภิบาลในการบริหารที่ดี และยังมีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าของประชาชนให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย อนุมัติให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นตัวแทนรับฝากเงินให้กับธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารทิสโก้ และ ธนาคารยูโอบี และให้บริการมาตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถรับถอนเงินจากบัญชีธนาคารได้





ที่มา https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000016801
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่