วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

สัมมาทิฏฐิ ๓๕

วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ]

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงพระเถราธิบายข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบมาโดยลำดับ จนถึงได้แสดงอธิบายในข้อที่แสดงถึงเหตุปัจจัย เมื่ออวิชชาเกิดอาสวะเกิด
เมื่ออาสวะเกิดอวิชชาเกิด เมื่ออวิชชาเกิดสังขารเกิด เมื่อสังขารเกิดวิญญาณเกิด  และในวันนี้จะได้แสดงอธิบายต่อไป
เมื่อวิญญาณเกิดนามรูปก็เกิด ในข้อวิญญาณนี้ที่ได้แสดงอธิบายมาแล้ว ในพระเถราธิบายก็ยกเอาวิญญาณ ๖ ซึ่งเป็นวิถีวิญญาณ
คือวิญญาณในวิถี คือในทางของอายตนะภายในภายนอกทั้ง ๖

ส่วนในพระสูตรบางพระสูตร โดยเฉพาะ มหานิทานสูตร พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงถึงปฏิสนธิวิญญาณรวมเข้าด้วย
และก็ได้มีพระพุทธาธิบายในพระสูตรนั้น ว่าเมื่อวิญญาณเกิดนามรูปก็เกิดอย่างไร
โดยที่ได้ตรัสแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยทรงตั้งเป็นพระพุทธปุจฉาคือเป็นคำถามภิกษุทั้งหลายว่า
เมื่อวิญญาณไม่หยั่งลง คือไม่เป็นไป ไม่ปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา นามรูปจักก่อตัวขึ้นในครรภ์ของมารดาได้หรือไม่
ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบทูลว่าไม่ได้
และก็ได้มีอธิบายในคำที่ว่า จักก่อตัวขึ้นได้หรือไม่ ก็หมายถึงว่า จักก่อตัวขึ้นโดยเป็นกลละเป็นต้นนั้นเอง
เมื่อรวมพระพุทธปุจฉา และคำกราบทูลตอบของภิกษุทั้งหลายเข้าด้วยกัน ก็รวมความเข้าว่า
ในการถือกำเนิดเกิดก่อของเด็กชายหญิง ตั้งต้นขึ้นในครรภ์ของมารดานั้น ถ้าหากว่าวิญญาณไม่ก้าวลง คือไม่เป็นไป ดังที่เรียกว่าไม่ถือปฏิสนธิ
หรือปฏิสนธิวิญญาณไม่เข้ามา นามรูปก็จะก่อตัวขึ้นโดยเป็นกลละเป็นต้นหาได้ไม่

ได้มีพระพุทธปุจฉาต่อไปอีกว่า เมื่อวิญญาณหยั่งลง ดังที่เรียกว่าถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาแล้ว หากว่าดับไป เคลื่อนไป
นามรูปจักบังเกิดเจริญขึ้นต่อไปได้หรือไม่ ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่าไม่ได้ รวมพระพุทธปุจฉา และคำกราบทูลตอบเข้าก็ได้ความว่า
แม้วิญญาณจะปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา เริ่มก่อตัวเป็นนามรูปขึ้นแล้ว แต่ถ้าหากว่าวิญญาณที่เข้าถือปฏิสนธินั้น จุติคือเคลื่อนออกไป ดับไป
นามรูปแม้จะก่อตัวขึ้น ก็จะไม่บังเกิดเจริญเติบโตขึ้นต่อไป

ได้มีพระพุทธปุจฉาต่อไปอีกว่า แม้เมื่อเด็กคลอดออกจากครรภ์ของมารดาแล้ว เป็นเด็กหญิงเป็นเด็กชาย ที่เป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นแล้ว
หากวิญญาณดับไปขาดไป นามรูปจักดำรงต่อไปได้หรือไม่ ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่านามรูปก็จักดำรงต่อไปไม่ได้ ก็จะต้องดับต้องแตกสลาย
รวมความเข้าแล้วก็ได้ว่า แม้เมื่อคลอดออกมาเป็นเด็กชายหญิง แม้เติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว
หากวิญญาณขาดไปดับไปเสียเมื่อใด นามรูปก็แตกสลายเมื่อนั้น หากวิญญาณยังอยู่ นามรูปก็ดำรงอยู่

ก็ได้มีพระพุทธาธิบายโดยทรงตั้งเป็นพุทธปุจฉาขึ้นเพียงเท่านี้ แม้เพียงเท่านี้ก็ย่อมทำให้เข้าใจต่อไปได้ทั้งหมดว่า
แม้เมื่อเด็กชายหญิง ที่เป็นหนุ่มเป็นสาว เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ เมื่อวิญญาณยังเป็นไปอยู่ นามรูปนี้ก็เป็นไปอยู่
เมื่อวิญญาณนี้ดับ หรือเคลื่อนไปที่เรียกว่าจุติ นามรูปนี้ก็จักขาดจักดับ ก็เป็นไปตามพระพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นแล้วว่า
กายนี้ไม่นานหนอจักนอนทับแผ่นดิน มีวิญญาณไปปราศคือปราศจากวิญญาณ ถูกทอดทิ้งเหมือนอย่างท่อนฟืนท่อนไม้ ไม่มีประโยชน์

ปฏิสนธิวิญญาณ วิถีวิญญาณ

เพราะฉะนั้น วิญญาณตามพระพุทธาธิบายนี้ จึงเป็นวิญญาณที่มักจะเรียกกันว่า ปฏิสนธิวิญญาณ
แต่ว่ามักจะเรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ ก็เฉพาะเมื่อแรกปฏิสนธิ ต่อจากปฏิสนธิคือทีแรกนั้นแล้ว
วิญญาณนั้นก็ยังดำรงอยู่ และท่านยังมีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่า ภวังค์จิต

พระอาจารย์ผู้แสดงอธิบายพระสูตรท่านใช้คำเรียกอย่างนั้น และก็ได้อธิบายถึงนามรูป
เช่นอธิบายรูปเป็น กัมมัชชรูป รูปที่เกิดจากกรรมเป็นต้น ตามนัยยะในอภิธรรม
เมื่อรวมความเข้าแล้วก็คือว่า นามรูปนี้ที่ยังดำรงชีวิตอยู่ จะต้องมีวิญญาณ หรือมีจิต หรือมีวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ ตั้งอยู่
เมื่อวิญญาณธาตุ หรือจิต หรือวิญญาณดังกล่าวจุติ คือว่าเคลื่อนไปดับไป นามรูปนี้ก็แตกสลาย
เพราะฉะนั้น เมื่อวิญญาณเกิดขึ้นนามรูปจึงเกิด หรือเพราะวิญญาณเป็นปัจจัยนามรูปจึงบังเกิดขึ้น ดั่งนี้ ตามพระพุทธาธิบาย

อนึ่ง อธิบายได้โดยทางวิถีวิญญาณ คือวิญญาณที่บังเกิดขึ้นตามวิถี คือตามทางของอายตนะภายในภายนอกทั้ง ๖ ที่มาประจวบกัน เป็น

จักขุวิญญาณ รู้รูปทางจักษุก็คือเห็นรูป โสตะวิญญาณ รู้เสียงทางหูก็คือได้ยินเสียง ฆานะวิญญาณ รู้กลิ่นทางจมูกคือทราบกลิ่น
ชิวหาวิญญาณ รู้รสทางลิ้นคือทราบรส กายวิญญาณ รู้โผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องทางกายคือทราบสิ่งถูกต้อง
และมโนวิญญาณ คือรู้เรื่องราวทางมโนคือใจ

ก็ต้องมีวิญญาณนี้บังเกิดขึ้นก่อน นามรูปจึงบังเกิดขึ้น อันหมายความว่าส่วนที่เป็นรูปก็ปฏิบัติหน้าที่ของรูป
ส่วนที่เป็นนามคือเวทนา สัญญา สังขาร ก็บังเกิดขึ้นสืบต่อจากวิญญาณ เป็นไปตามพระเถราธิบายนั้น
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีวิญญาณบังเกิดขึ้นก่อน นามรูปจึงบังเกิดขึ้น

ในข้อนี้ก็พึงทำความเข้าใจง่ายๆ ว่า ในเบื้องต้นนั้นทุกคนจะต้องเกิดวิญญาณขึ้นก่อนตามวิถี เช่นจะต้องเห็นรูป ต้องได้ยินเสียง
ต้องได้ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ และได้คิดได้รู้เรื่องทางมโนคือใจ และเมื่อเป็นดั่งนี้
นามคือเวทนา สัญญา สังขารทั้งหลายจึงบังเกิดสืบต่อกันไป และรูปจึงปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามนาม เวทนา สัญญา สังขารนั้นสืบต่อไป
ถ้าหากว่าไม่มีวิญญาณ คือไม่เห็นรูป ไม่ได้ยินเสียง เป็นต้น นามรูปก็ไม่ปฏิบัติหน้าที่ คือไม่บังเกิดเป็นนามรูปขึ้น

และข้อที่พึงหยิบยกขึ้นมาพิจารณาให้เห็นชัดขึ้นไปอีก ก็คือตัวจิตกับอารมณ์ จิตที่คิดไปในอารมณ์ต่างๆ ดำริไปในอารมณ์ต่างๆ
ครุ่นคิดไปในอารมณ์ต่างๆ ก็ต้องมีอาศัยวิญญาณบังเกิดขึ้นก่อน
และการที่จะทำความเข้าใจในข้อนี้ ก็จะต้องทำความเข้าใจในข้อนามรูปอีกสักหน่อยหนึ่ง

นามรูป

คำว่า นาม นั้นเข้าใจกันง่ายๆ ก็คือมิใช่รูป สักแต่ว่าเป็นชื่อเรียกขึ้นในสิ่งที่ไม่มีรูป คือมีแต่นามไม่มีรูป
ส่วนที่เป็นรูปนั้นก็คือที่เป็นวัตถุ อันเป็นรูปอย่างหยาบ และที่เป็นตัวที่ตั้งของจิตแม้ไม่ใช่รูป ที่กำหนดของจิตแม้มิใช่รูป
ก็ขอยืมคำว่า รูป มาเรียกด้วย เช่นคำว่า ปิยะรูปสาตะรูป รูปที่เป็นที่รัก รูปที่เป็นที่พอใจสำราญใจ อันหมายถึงทุกๆ สิ่งที่จิตกำหนดถึง
ก็คือตัวอารมณ์นั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่เป็นส่วนรูป หรือเป็นอารมณ์ที่เป็นส่วนธรรม คือเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่รูป
แต่ว่าเป็นสิ่งที่จิตกำหนดถึง จิตคิดถึง อันเป็นส่วนที่รักใคร่ เป็นส่วนที่ชอบใจ สำราญใจ ก็เรียกว่าปิยะรูปสาตะรูปได้
ขอยืมคำว่ารูปมาใช้เรียกครอบไปได้ทั้งหมด
และโดยเฉพาะส่วนที่เป็นอารมณ์ของจิตนั้น คือเป็นตัวเรื่อง ไม่ใช่เป็นตัววัตถุโดยตรง เป็นตัวเรื่อง
เป็นเรื่องของวัตถุก็ได้ เป็นเรื่องของสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุก็ได้
คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตครุ่นคิดถึงหรือหมกมุ่นถึง อันเรียกว่าอารมณ์ อารมณ์นี่แหละ
ซึ่งเป็นที่รักใคร่ที่พอใจสำราญใจ ก็เรียกว่าปิยะรูปสาตะรูปได้ คือเป็น สิ่ง

รูป ก็คือเป็น สิ่ง สิ่งที่จิตคิดดำริหมกมุ่นถึง อันเป็นที่ชอบใจสำราญใจพอใจ ก็เป็นปิยะรูปสาตะรูป
คำว่ารูปจึงมีความหมายที่เป็นวัตถุโดยตรง หรือหมายถึงสิ่งที่จิตกำหนดคิดถึงหมกมุ่นถึง อันเรียกว่าอารมณ์ดังกล่าว นี้เป็นตัวอารมณ์

และเมื่ออายตนะภายในภายนอกมาประจวบกัน จิตก็ออกจากภวังค์ น้อมออกไปรับอารมณ์ คือไปรับเรื่องของรูป ของเสียง ของกลิ่น
ของรส ของโผฏฐัพพะ ของธรรมะ คือเรื่องราวนั้นเข้ามา ตัวรูปจริงๆ เสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะจริงๆ เป็นวัตยิ้ม่อมเข้ามาสู่จิต ซึ่งมิใช่วัตถุ
เพราะจิตไม่มีสรีระรูปร่างสัณฐาน ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า อสรีรัง ไม่มีสรีระรูปร่างสัณฐาน แต่มีกายนี้เป็นที่อาศัย
วัตถุเข้ามาสู่จิตไม่ได้ สิ่งที่เข้ามาสู่จิตได้ก็คือตัวอารมณ์ คือเป็นเรื่อง เรื่องของสิ่งเหล่านั้น ธรรมารมณ์
อารมณ์คือเรื่องราวของรูปเสียงเป็นต้น ที่ประสบพบผ่านมาแล้วเป็นต้น ก็เหมือนกัน ไม่ใช่วัตถุ ก็เข้าสู่จิตได้
เข้าสู่จิตในฐานะเป็นอารมณ์คือเป็นเรื่องเช่นเดียวกัน

อารมณ์คือเรื่องที่จะเข้าสู่จิตได้นี้ ก็จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่วิญญาณเช่นเดียวกัน คือจะต้องเกิดวิญญาณขึ้นก่อน
อารมณ์ทั้งหลายจึงจะเข้าสู่จิตได้

ภวังคจิต

( เริ่ม ๗๑/๑ ) และจิตนี้ท่านได้มีแสดงอธิบายไว้ในอภิธรรม ว่า จิตที่เป็นตัวจิตซึ่งยังไม่มีอารมณ์เรียกว่า ภวังคจิต
คำว่า ภวังค์ นั้นแปลว่า องค์ของภวะ คือองค์ของภพ คือ ความเป็น

พิจารณาดูในทางหนึ่งก็น่าเข้าใจว่า นามรูปนี้เมื่อมีจิตที่เริ่มแต่ปฏิสนธิจิต หรือปฏิสนธิวิญญาณ
ดั่งที่กล่าวมาแล้วตามพระพุทธาธิบายที่อ้างมาข้างต้นนั้น จึงมีตัวภพคือความเป็น ในที่นี้มุ่งถึงความมีชีวิต
นามรูปนี้ยัง..ก็ดำรงอยู่ และเมื่อมีปฏิสนธิจิตปฏิสนธิวิญญาณตั้งแต่เบื้องต้น ก็ก่อตั้งนามรูปนี้มาในเบื้องต้น
เติบใหญ่ขึ้นเจริญขึ้นมาโดยลำดับ ดังที่ปรากฏอยู่แก่ทุกๆ คนในบัดนี้ เพราะยังมีตัวจิตที่เป็นปฏิสนธิจิตปฏิสนธิวิญญาณในเบื้องต้น

และดังที่ได้กล่าวแล้วว่า พระอาจารย์ท่านเรียกว่าภวังคจิตอีกคำหนึ่งด้วย
คือจิตที่เป็นองค์ของภพ คือเป็นองคสมบัติ หรือองคคุณแห่งภพคือความเป็น ในที่นี้คือชีวิตความดำรงอยู่ ความเป็นอยู่ ความมีชีวิตอยู่
ชีวิตก็คือความเป็นไม่ตาย ยังเป็นอยู่ เพราะฉะนั้น ตัวจิตที่ทำให้ชีวิตนี้ดำรงอยู่ ทำให้นามรูปนี้ดำรงอยู่ จึงเรียกอีกคำหนึ่งว่า ภวังคะ
องค์ของภพ องค์ของความเป็น เป็นอยู่ดำรงอยู่ ไม่ตาย ยังมีจิตนี้อยู่ก็แปลว่ายังไม่ตาย ยังดำรงอยู่ ยังเป็นอยู่
พิจารณาดูความก็เป็นดั่งนี้ได้ จึงเรียกว่าภวังคจิต ท่านอาจารย์ท่านก็เรียกดั่งนั้นว่าภวังคจิต อันทำให้ยังดำรงอยู่ ยังเป็นอยู่ ไม่ตาย

และความหมายของภวังคจิตอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ตัวภวังคจิตที่แท้ๆ นั้นไม่รับ ยังไม่มีอารมณ์
คือ จิตที่ยังไม่มีอารมณ์เรียกว่าภวังคจิต ต่อเมื่อมีอารมณ์จึงเป็น วิถีจิต วิถีวิญญาณ จิตที่บังเกิดขึ้นเป็นไปตามทาง
ในเมื่ออายตนะภายในภายนอกมาประจวบกันเป็นต้น จิตที่เป็นไปตามนี้ก็คือว่าจิตเดินทาง จิตเคลื่อนไหว จิตที่น้อมไป ไม่ใช่จิตที่อยู่ตัว
คือนิ่งอยู่เฉยๆ เพราะฉะนั้น ท่านจึงมีคำเปรียบเอาไว้ว่า

เหมือนอย่างคนที่นอนหลับอยู่ใต้ต้นมะม่วง เมื่อผลมะม่วงหล่นลงมา เสียงผลมะม่วงหล่นลงมากระทบแผ่นดิน
เสียงนั้นก็มากระทบโสตะประสาทของคนที่นอนหลับ ก็ตื่นขึ้นมา ตื่นขึ้นมาก็เอื้อมมือไปหยิบเอาผลมะม่วงมาบริโภค
เสร็จแล้วก็หลับไปใหม่ นี้เป็นอุปมา มีข้ออุปมัยว่าจิตที่อยู่ในภวังค์นั้น ก็เหมือนอย่างคนนอนหลับ และจิตที่ออกรับอารมณ์นั้น
ก็เหมือนอย่างคนนอนหลับที่ตื่นขึ้น เอื้อมมือออกไปหยิบผลมะม่วงบริโภค แล้วก็หลับไปใหม่
(มีต่อใน คห.)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่