JJNY : เสดตะกิดดี๊ดี..ซี้จุกสูญ ม.หอค้าไทยเผยสำรวจธุรกิจเอสเอ็มอีพบฟื้นตัวระดับต่ำ ชี้บาทแข็ง-ขึ้นค่าแรงเป็นปัจจัยเสี่ยง

กระทู้คำถาม
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ไตรมาส4/2560 จากสำรวจธุรกิจ 1,202 ราย ระหว่างวันที่ 3-22 มกราคม 2561 พบว่า
ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ไตรมาส 4/2560 อยู่ระดับ 47.9 จุด เพิ่มขึ้น 0.2 จุด จากไตรมาส 3/2560
แนวโน้มดัชนีฯดีขึ้นอยู่ระดับ 48.5 จุด ในไตรมาส 1/2561

ซึ่งเป็นผลจากดัชนีสถานการณ์ธุรกิจไตรมาส 4/2560 อยู่ระดับ 42.3 จุด เพิ่มขึ้น 1.2 จุดจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากธุรกิจมีสภาพคล่อง สต็อกวัตถุดิบ หนี้สินรวม ยอดขายรวมดีขึ้น และคาดว่าดัชนีสถานการณ์ธุกิจดีขึ้นอยู่ระดับ 42.8 จุด ในไตรมาส1/2561
แต่ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ไตรมาส4/ 2560 อยู่ระดับ 50.2 จุด ลดลง 0.1 จุด เนื่องจากต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้น การเพิ่มราคาขายยังไม่ได้ และยังไม่มีกำไร แต่แนวโน้มไตรมาส 1/2561 จะดีขึ้นและอยู่ระดับ 50.4 จุด

เช่นเดียวกับดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจไตรมาส 4/2560 อยู่ระดับ 51.2 จุดลดลง 0.5 จุด จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเอสเอ็มอียังไม่ได้ปรับวิสัยทัศน์หรือกลยุทธ์ รวมถึงการเตรียมรับมือรับความเสี่ยงที่ทำให้รายได้หดตัวฉับพลัน ความเสี่ยงการผลิตเพื่อขายยังไม่เต็ม และยังไม่ได้ทำดำเนินธุรกิจแบบมีความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดีนัก โดยแนวโน้มดัชนีฯไตรมาส1/2561 ดีขึ้นและอยู่ระดับ 52.3 จุด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจดัชนีฯดังกล่าว สะท้อนว่าเอสเอ็มอีฟื้นตัวแล้ว โดยภาพรวมภาวะที่ดีขึ้นทั้งยอดขาย สภาพคล่องธุรกิจ และสภาพหนี้สิน แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ เพราะระดับดัชนีฯยังต่ำกว่าระดับ 50

” ในภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจยังกระจุกตัว และยังไม่กระจายสู่เศรษฐกิจฐานราก จึงเชื่อว่าเอสเอ็มอีจะฟื้นตัวเต็มที่ปลายไตรมาส 3/2561 และรับรู้กำไรได้ ที่เด่นคือภาคบริการและท่องเที่ยว คาดว่าปี 2561 เศรษฐกิจจะเติบโต 4.2-4.5% ตามการขยายตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึงรัฐอัดงบประมาณผ่านมาตรการต่างๆ เช่น สวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อย ราคาสินค้าเกษตรและน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น ดีต่อกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโตได้ 4.4-4.7% ”

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า แต่ในการสำรวจพบว่ากำไรเอสเอ็มอียังไม่ค่อยดี เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันและค่าบริหารจัดการสูงขึ้น แต่คาดจะเกิดกำไรครึ่งหลังของปีนี้ตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ในสำรวจยังพบอีกว่าเอสเอ็มอีไทยพร้อมปรับตัวในระยะยาว เริ่มลงทุนด้านไอทีตามกระแสดิจิทัล และหากได้สนับสนุนสินเชื่อจะทำให้เอสเอ็มอีฟื้นตัวได้ดีขึ้น

สำหรับผลกระทบต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 นั้น เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ ระบุว่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที โดยเอสเอ็มอีใช้การปรับตัวและประคองตัวด้วยการไม่จ้างงานเพิ่ม นำเครื่องจักรมาทดแทนคน และทำงานเองบางส่วน ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงปี 2561 เฉลี่ยที่ 15% มีการจ้างงาน 6 ล้านคน จะทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้เม็ดเงินเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.1-0.2% ของจีดีพี และเชื่อว่าด้วยมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ การลงทุนมีต่อเนื่อง การส่งออกและท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง จะมีเม็ดเงินมหาศาลสู่ระบบเศรษฐกิจจะเป็นโอกาสเอสเอ็มอีสร้างรายได้และไตรมาส 1/2561 จะไม่กระทบอะไร และมีเวลาให้ปรับตัวในไตรมาส 2/2561 ก็จะไม่กระทบต่อธุรกิจเกินไป

สำหรับเงินบาทแข็งค่า นั้น ยังไม่มีใครทราบว่าเงินบาทจะวิ่งถึงเท่าไหร่ โดยมีแนวโน้มธนาคารกลางสรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก จะช่วยยับยั้งการแข็งค่าของเงินบาทได้ระดับหนึ่ง เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะติดตามดูแลใกล้ชิด และคาดว่าไตรมาส 1-2 ธุรกิจส่งออกยังประคองตัวได้ หันทำประกันความเสี่ยงค่าเงินมากขึ้น ก็จะไม่กระทบกับการส่งออกโดยรวม แต่กระทบต่อกำไรลดลงบ้าง คาดว่าปีนี้ขยายตัว 5%

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมมาตรการสินเชื่อ 78,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาทิ 1.โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท เริ่มปล่อยสินเชื่อเดือนกุมภาพันธ์นี้ อัตราดอกเบี้ย1% 2.โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนรายย่อย วงเงิน 50,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม มีผู้ส่งคำขอแล้ว 1,800 ล้านบาท เน้นท่องเที่ยวชุมชนและเกษตรแปรรูป และ3.โครงการสินเชื่อ Factoring สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดย่อมและกลาง วงเงิน 12,000 ล้านบาท จะปล่อยสินเชื่อเดือน
มีนาคมนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่