ห้องเพลง**คนรากหญ้า**พักยกการเมือง มุมเสียงเพลง มุมนี้ไม่มีสีไม่มีกลุ่ม มีแต่เสียง 28/1/2561 - จักรวรรดิไบแซนไทน์

กระทู้คำถาม


สวัสดีครับอมยิ้ม17 สมาชิกห้องเพลงทุกๆท่าน วันนี้วันอาทิตย์ MC แอ๊ด (WANG JIE) เข้าประจำการอีก 1 วันครับ อมยิ้ม36


เมื่อวานนี้ ได้นำเรื่องที่มาของคำว่า "นกสองหัว" มาฝาก และมีส่วนหนึ่งซึ่งกล่าวถึงจักรวรรดิ "ไบแซนไทน์" ซึ่งมีรูปสัญลักษณ์เป็นนกอินทรีสองหัว วันนี้จึงนำเรื่องราวของจักรวรรดินี้มาฝากครับ อมยิ้ม36



จักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) สืบทอดโดยตรงจากจักรวรรดิโรมันในปลายสมัยโบราณและยุคกลาง ศูนย์กลางอยู่ที่กรุง คอนสแตนติโนเปิล สมัยโรมันโบราณตอนปลายจักรวรรดิถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จักรวรรดิโรมันตะวันออก ทั้งที่ยังมีจักรวรรดิโรมันตะวันตกอยู่ ทั้งคำว่า "จักรวรรดิไบแซนไทน์" และ "จักรวรรดิโรมันตะวันออก" เป็นคำที่ใช้ในทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์กันอย่างแพร่หลายในหลายศตวรรษต่อมา ขณะที่พลเมืองยังเรียกจักรวรรดิของตนว่า "จักรวรรดิโรมัน" หรือ "โรมาเนีย" เรื่อยมาจนกระทั่งล่มสลายไป ในสมัยที่ยังมีจักรวรรดิไบแซนไทน์อยู่ นี่คือชาติที่มีเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและกำลังทหารที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป

จากประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่า จักรวรรดิไบแซนไทน์คือจักรวรรดิของชาวกรีก ด้วยอิทธิพลของภาษา วัฒนธรรม และประชากร แต่ชาวจักรวรรดิเองนั้น มองจักรวรรดิของตนว่าเป็นเพียงจักรวรรดิโรมันที่มีจักรพรรดิโรมันสืบทอดตำแหน่งต่อเนื่องกันมาเท่านั้น เรื่องราวความเป็นมาของจักรวรรดินี้มีมากมาย ความโดยย่อดังต่อไปนี้


ค.ศ.324 คอนสแตนตินสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิโรมัน ปี ค.ศ.330 ทรงย้ายเมืองหลวงไปไบแซนทิอุม ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น "โนวาโรม" (กรุงโรมใหม่) หลังจากพระองค์สวรรคตในปี ค.ศ. 337 เมืองหลวงก็เปลี่ยนชื่อเป็น คอนสแตนติโนเปิล เพื่อเป็นการถวายเกียรติแด่พระองค์

เมืองหลวงนี้ มีความสำคัญทางการเมืองและเป็นศูนย์กลางการค้าของจักรวรรดิ ขณะนั้นจักรวรรดิโรมันตะวันตกและตะวันออกยังมีจักรพรรดิองค์เดียวกัน การแบ่งจักรวรรดิเป็นสองส่วนก็เพื่อแบ่งแยกการปกครองเท่านั้น จนถึงปี ค.ศ.395 จักรพรรดิเธโอดอซุสที่ 1 ทรงแบ่งแยกจักรวรรดิโรมันเป็น 2 ส่วน ให้พระโอรสคือเจ้าชายอาร์คาดิอุส ครองจักรวรรดิโรมันตะวันออกโดยมีกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวง ในขณะที่จักรวรรดิโรมันตะวันตกถูกทำลายและล่มสลายไปในปี ค.ศ.476 ซึ่งนำไปสู่ยุคมืดของยุโรป จักรวรรดิไบแซนไทน์ได้หันมารับภาษาและวัฒนธรรมกรีก ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในอนาโตเลีย ภาษาละตินของโรมันค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยภาษากรีกซึ่งเป็นภาษาที่ยอมรับกันในจักรวรรดิ

จักรวรรดิไบแซนไทน์เจริญถึงขีดสุดในรัชสมัยจักรพรรดิจัสติเนียน (ค.ศ.527-565) ทรงรวบรวมดินแดนของจักรวรรดิโรมันที่สูญเสียไปกลับคืน ทรงปกครองขยายดินแดนกว้างใหญ่กว่าจักรวรรดิโรมันตะวันออก

และได้ทรงสร้างและบูรณะเมืองต่างๆ ทั่วจักรวรรดิ ทำให้อีกหลายเมืองเช่น ดามาคัส แอนติออค เบรุต และอเล็กซานเดรีย มีศิลปกรรมที่สวยงามและเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน ผลงานชิ้นเอกคือ ฮายาโซฟีอา เป็นศิลปะไบแซนไทน์แท้ๆ

ผลงานสำคัญของพระองค์คือ ประมวลกฎหมายจัสติเนียนซึ่งตราขึ้นในปี ค.ศ.529 ทรงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาชำระและร่างกฎหมายขึ้นโดยพระองค์เองก็มีส่วนในการวินิจฉัยแก้ประมวลกฎหมายนั้นด้วย

ค.ศ.565 จักรพรรดิจัสติเนียนเสด็จสวรรคต จากนั้นจักรวรรดิไบแซนไทน์เริ่มเสื่อมอำนาจลง จนถึง ค.ศ.641 มีจักรพรรดิถึง 6 พระองค์ แต่ละพระองค์ปกครองในช่วงเวลาสั้น ๆ และจักรวรรดิต้องเสียดินแดนอย่างต่อเนื่องโดยจักรพรรดิทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากพยายามรักษาจักรวรรดิจากการรุกรานของต่างชาติ โดยเฉพาะพวกเปอร์เซียและสลาฟ

กองทัพเปอร์เซียซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับจักรวรรดิได้ยกทัพเข้ามารุกรานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พรมแดนยุโรปตะวันออกก็ถูกพวกสลาฟรุกราน ทำให้จักรพรรดิต้องดำเนินนโยบายต่างๆ ซึ่งทำให้ประชาชนไม่พอใจ ปี ค.ศ.582-602 ประชาชนร่วมกันขับไล่จักรพรรดิมอริส นายทหารชื่อโฟคาสได้สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิปกครองในช่วงปี ค.ศ.602-610 ซึ่งโฟคาสก็พบกับปัญหาเดิม ๆ และเพราะเขาปกครองแบบเผด็จการจึงทำให้ประชาชนต่อต้าน ในที่สุดเขาก็ถูกชิงอำนาจโดยนายทหารอีกคนหนึ่ง

ค.ศ.610-641 ยุคสมัยจักรพรรดิเฮราเคียส มีการรุกรานจากเปอร์เซียรุกเข้ามาถึงอาร์มีเนียและเมโสโปเตเมียและยึดเมืองแอนนิออคได้ในปี ค.ศ.613 ปีต่อมาก็ยึดเมืองเยรูซาเล็ม ซีเรีย ปาเลสไตน์ และอียิปต์ และที่เอเชียไมเนอร์ก็กำลังถูกรุกราน สถานการณ์คับขันทำให้จักรพรรดิต้องลงนามสนธิสัญญาสันติภาพกับพวกอวาร์ที่รุกรานอยู่ในยุโรปตะวันออก หวังจะระดมพลยกทัพไบแซนไทน์ทั้งหมดไปเอเชียไมเนอร์ แต่พอยกทัพไป ทัพของเปอร์เซียก็ดันร่วมมือกับอวาร์เข้าโจมตีคอนสแตนติโนเปิล ทำให้จักรพรรดิต้องยกทัพกลับ

ปลายปี ค.ศ.627 กองทัพไบแซนไทน์เอาชนะกองทัพเปอร์เซียได้ จึงขับไล่กษัตริย์เปอร์เซียและปลงพระชนม์พระองค์ เปอร์เซียถูกบังคับให้ลงนามสนธิสัญญาสงบศึก ไบแซนไทน์ดูเหมือนกลับมาสงบอีกครั้ง

แต่การรุกรานใหม่ก็เริ่มอีก ศาสนาอิสลามกำลังเผยแผ่โดยการนำของมุสลิมชาวอาหรับที่มีอำนาจมากขึ้นๆ ค.ศ.632 กองทัพมุสลิมอาหรับเข้ายึดครองคาบสมุทรอารเบีย แล้วเริ่มรุกรานจักรวรรดิไบแซนไทน์และเปอร์เซีย จากนั้นก็ยึดครองเมืองดามัสกัสในปี ค.ศ.635 จอร์แดนและซีเรียในปี ค.ศ.636 และเยรูซาเล็มในปี ค.ศ.638 แล้วรุกเข้าอียิปต์และเอเชียไมเนอร์ จักรพรรดิเฮราเคลียของไบแซนไทน์พยายามต่อต้านเต็มที่ จนสิ้นรัชกาลในปี ค.ศ.641 สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น

กลางคริสต์ศตวรรษที่ 7 มุสลิมอาหรับยึดดินแดนแอฟริกาตอนเหนือของไบแซนไทน์ซึ่งเป็นดินแดนสำคัญของจักรวรรดิที่มีประชากรมากที่สุด ชาวเมืองมีความรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการและเป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่สำคัญๆ เช่น อเล็กซานเดรีย เยรูซาเล็มไปจนหมด นี่คือการสูญเสียครั้งใหญ่ของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ทำให้จักวรรดิอ่อนแอลงทั้งด้านกำลังคนและเศรษฐกิจ เป็นเหตุส่วนหนึ่งของการล่มสลายในเวลาต่อมา

ปัญหาการรุกรานของมุสลิมอาหรับดูเหมือนจะจบลงชั่วคราวเมื่อได้พันธมิตร โดยจักรพรรดิลีโอที่ 3 ได้ดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับพวกเติร์กจากเอเชียกลางมาช่วยผลักดันพวกมุสลิมอาหรับและบัลแกเรียที่รุกรานให้ออกห่างกรุงคอนสแตนติโนเปิลไปได้

ค.ศ.867–1025 จักรวรรดิไบแซนไทน์กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง การเมืองภายในสงบ มึการขยายดินแดน เศรษฐกิจมั่นคง ศิลปวิทยาการเจริญก้าวหน้า ด้วยการปกครองของจักรพรรดิที่มาจากราชวงศ์มาซิโดเนียที่สำคัญคือ เบซิลที่ 1 และที่ 2 ตำแหน่งจักรพรรดิของไบแซนไทน์นั้น มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ราชวงศ์มาซิโดเนียสามารถเข้ามาเป็นผู้นำได้ ด้วยผลงานของจักรพรรดิเบซิลที่ 1 ที่สามารถมีชัยชนะต่อกองทัพอาหรับ และสามารถขยายดินแดนไปยุโรปตะวันออก และเป็นผู้นำคริสต์ศาสนานิกายออร์ทอดอกซ์ไปเผยแพร่อีก ทำให้พระองค์ได้รับความนิยมอย่างมาก

ช่วงปลายรัชสมัยของจักรพรรดิเบซิล สามารถเป็นพันธมิตรกับบัลแกเรียด้วยนโยบายทางศาสนา จักรพรรดิเบซิลที่ 2 ได้ทำสงครามกับบัลแกเรียนานหลายปี จนถึงปี ค.ศ.1018 บัลแกเรียก็พ่ายแพ้และตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไบแซนไทน์ จักรวรรดิขยายอาณาเขตในยุโรปตะวันออกไปไกลมากขึ้น ได้เซอร์เบียและโครเอเชียมา แต่อำนาจและความรุ่งเรืองของจักรวรรดิเริ่มเสื่อมลงเรื่อยๆ หลังจากที่จักรพรรดิเบซิลที่ 2 สวรรคตในปี ค.ศ.1025

จากนั้น พระอนุชาคือจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8 ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิ ทรงครองอำนาจในระยะสั้น แม้ต่อมาพระองค์จะไม่มีพระโอรสแต่ก็มีพระราชธิดา 2 พระองค์คือ โซอิ์และธีโอโดรา ประชาชนส่วนใหญ่เลือกพระธิดาของพระองค์ให้ขึ้นครองราชย์ เพราะเชื่อกันว่าความมั่งคั่งของจักรวรรดิไบแซนไทน์มาจากราชวงศ์มาซิโดเนีย แม้จะมีจักรพรรดิจากราชวงศ์อื่นขึ้นมาบ้างแต่ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะประชาชนไม่นิยม สุดท้าย โซอิ์ ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินี ครองราชย์ในช่วงค.ศ.1028-1050 พระนางได้อภิเษกสมรสถึง 3 ครั้ง พระสวามีทั้งสามจึงได้เป็นจักรพรรดิตามไปด้วย คือ โรมานุสที่ 3 (1028-1034) ไมเคิลที่ 4 (1034-1041) และ คอนสแตนตินที่ 9 (ปี 1042-1055) เมื่อคอนสแตนตินที่ 9 สิ้นพระชนม์ ธีโอโดราก็ได้เป็นจักรพรรดินีองค์ต่อมาจนถึง ค.ศ.1055

ปี 1025-1081 เป็นช่วงปลายยุคทองของจักรวรรดิ ระยะเวลา 56 ปี มีจักรพรรดิปกครองถึง 13 พระองค์ มีความพยายามที่จะเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่เข้ามาปกครองแต่ไม่สำเร็จ จนถึงปี ค.ศ.1081 อเล็กเซียสที่ 1 จากตระกูลคอมเมนุส ก็ทำการสำเร็จ ปกครองต่อตั้งแต่ปี 1081-1185

ความมั่งคั่งและรุ่งเรืองตลอดระยะเวลานาน ทำให้ประชาชนหลงใหลขาดการเตรียมตัว จักรวรรดิเริ่มอ่อนแอลง ทั้งเกิดความแตกแยกในหมู่ผู้ปกครองและชนชั้นสูงและระหว่างกลุ่มขุนนางทหารกับพลเรือน เมื่อศัตรูโดยเฉพาะชนเผ่าเติร์กหรือเซลจุกเติร์กรุกราน ทำให้ไบแซนไทน์ต้องประสบปัญหาในกลางศตวรรษที่ 11 ชนเผ่าเติร์กเป็นศัตรูกลุ่มใหม่ที่เริ่มรุกรานจักรวรรดิ ทั้งๆที่สมัยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 7 ก็เคยร่วมกับพวกเติร์กต่อต้านการรุกรานของบัลแกเรียมาก่อนแล้วจักรพรรดิก็ทรงอนุญาตให้ชาวเติร์กตั้งถิ่นฐานอยู่ทางใต้แม่น้ำดานูบ ที่สำคัญและเจ็บแสบคือ ชาวไบแซนไทน์สอนการรบที่มีระบบให้ชาวเติร์กเอง!

พวกเติร์กขยายตัวมากขึ้น รุกรานพื้นที่หลายแห่งของจักรวรรดิ ปี 1055 เติร์กชนะเปอร์เซีย แล้วยกทัพเข้าแบกแดดสถาปนาตนเองเป็นสุลต่านและอ้างตัวเป็นผู้คุ้มครองกาหลิบอับบาสิค เริ่มขยายอำนาจเข้าสู่อียิปต์และอนาโตเนีย ค.ศ.1065 รุกเข้าอาร์มีเนีย และ ค.ศ.1067 ก็ขยายอำนาจสู่กลางอนาโตเลีย

ค.ศ.1067 ไบแซนไทน์มีจักรพรรดิคือ โรมานุสที่ 4 ซึ่งทรงพ่ายแพ้ต่อกองทัพเติร์กที่สนามรบอาร์มีเนียและถูกจับเป็นเชลย จักรวรรดิจำเป็นต้องเซ็นสัญญาสงบศึกกับเติร์ก พระองค์จึงถูกปล่อยตัว เมื่อจักรพรรดิโรมานุสเสด็จกลับถึงคอนสแตนติโนเปิล พระองค์ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ จนเกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้นภายในจักรวรรดิ เติร์กจึงส่งกองกำลังมารบกวนจนสามารถยึดไนเซีย ซึ่งเป็นเมืองฐานกำลังทหารและเศรษฐกิจของจักรวรรดิได้ มิหนำซ้ำไบแซนไทน์ยังถูกยึดฐานที่มั่นอิตาลีที่เมืองบารีอีกโดยชาวนอร์แมนผู้บุกยึดอิตาลีได้ทั้งหมดในกลางปี 1071 กลายเป็นการปิดฉากอำนาจของไบแซนไทน์ในคาบสมุทรอิตาลีไปด้วย

หลังจากนั้น ไบแซนไทน์ก็มีอาณาเขตเล็กลงมาก ภายในก็มีการแย่งชิงอำนาจกันนานถึง 4 ปี สุดท้าย อเล็กเซียส คอมมินุส ซึ่งเป็นขุนนางทหาร ได้เป็นจักรพรรดิ เมื่อจักรวรรดิถูกปิดล้อมทั้งทางตะวันตกโดยชาวนอร์แมนและทางตะวันออกโดยเซลจุกเติร์ก ทำให้จักรพรรดิ อเล็กเซียสที่ 1 (ค.ศ.1081-1811) ต้องไปขอความช่วยเหลือจากพวกวินีเทียน โดยที่พระองค์ต้องยอมตกลงตามข้อเรียกร้องของวินีเทียน โดยการให้สิทธิการค้าในกรุงคอนสแตนติโนเปิลและที่อื่น ๆ ในไบแซนไทน์ ข้อตกลงนี้ทำให้ชาวเวนิสกลายเป็นพ่อค้าสำคัญในด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในเวลาต่อมา

(ต่ออีกนิดครับ)
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1


การรุกรานของชนทั้งสองต่อไบแซนไทน์ยังไม่สิ้นสุด จนกระทั่งจักรพรรดิอเล็กเซียสที่ 1 ต้องขอความช่วยเหลือต่อสมเด็จพระสันตะปาปา โดยยกข้ออ้างให้ช่วยเหลือเมืองเยรูซาเล็ม ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกเติร์กยึดครองไปตั้งแต่ ค.ศ.1077 และกองทัพครูเสดครั้งที่ 1 ก็ถูกส่งเข้ามา ด้วยชัยชนะของกองทัพครูเสด ดินแดนบางส่วนก็ได้ส่งคืนให้กับจักรพรรดิไบแซนไทน์ แต่บางส่วนแม่ทัพชาวนอร์แมนกลับไม่ยอมยกคืนให้ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นั้นจักรพรรดิไบแซนไทน์เป็นผู้ที่เสียให้เกือบทั้งหมด ผ่านพ้นสงครามครูเสดครั้งที่ 1 พวกเติร์กก็ยังรุกรานอยู่เช่นเดิม จักรพรรดิองค์ต่อมาเห็นว่าชาวตะวันตกมีบทบาท จึงได้ดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับชาวตะวันตกเอาไว้

ต่อมา เกิดสงครามครูเสดครั้งที่ 2 กองทัพครูเสดต้องใช้ไบแซนไทน์เป็นทางผ่าน ทำให้ไบแซนไทน์ถูกกองทัพครูเสดบางกลุ่มเข้าปล้น

ไบแซนไทน์ยังต้องทำสงครามกับเติร์กมาโดยตลอดจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยชาวเติร์กรุกเข้ามาในจักรวรรดิ โดยเริ่มจาก ค.ศ. 1377 เติร์กประกาศตั้งเมืองหลวงของออตโตมันที่อเดรียนเนเปิล ค.ศ.1385 ก็ยึดเมืองโซเฟีย ค.ศ.1386 ได้เมืองนีส เมืองเทสสาโลนิกา กรุงคอนสแตนติโนเปิลโดนล้อมในปี ค.ศ.1453 โดยกองทัพออตโตมัน

มกราคม ค.ศ. 1453 จักรวรรดิไบแซนไทน์ก็ต้องพ่ายแพ้แด่จักรวรรดิออตโตมันของชาวเติร์ก และถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน ในที่สุด กรุงคอนสแตนติโนเปิลแตก ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอิสตันบูลมาจนถึงปัจจุบัน


จักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือจักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 330 และพยายามรักษาวัฒนธรรมของโรมันและวัฒนธรรมกรีกมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 1123 ปี ก็ถึงกาลล่มสลาย และในทางประวัติศาสตร์ก็ถือว่า การสิ้นสุดของจักรวรรดิไบแซนไทน์ เป็นที่สิ้นสุดของยุคกลางในยุโรปอีกด้วย

สุดท้าย ก็อยากจะฝากไว้ให้คิดกันครับ...

ขนาดอาณาจักร หรือจักรวรรดิ ซึ่งเคยอยู่ยั้งยืนยงมาถึงพันกว่าปี สุดท้ายก็ยังถึงกาลล่มสลายไปได้

นับประสาอะไร กับอำนาจ หรือความยิ่งใหญ่ของคนเราเล่า จะอยู่ยั้งยืนนานได้นานสักแค่ไหนกัน ?


ขอบคุณ ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%84%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B9%8C และภาพประกอบจาก กูเกิ้ล

พบกันใหม่ เสาร์อาทิตย์หน้าครับผม หัวใจดอกไม้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่