วันที่ผมลุกขึ้นมาจัดระเบียบบ้าน

ผมเชื่อว่าตัวเองเป็นเหมือนคนทั่วไปที่มีเสื้อผ้าไม่มาก แต่มักจะวางชุดต่างๆ ให้ซ้อนทับกันแน่นเต็มกล่องหรือแขวนเบียดกันไว้ในตู้เสื้อผ้า พอจะหาเสื้อผ้าแต่ละครั้ง เราจะบุกตะลุยรื้อในกองกันอย่างหัวเสีย เพื่อจะหยิบเสื้อที่อยากใส่ซึ่งมักจะซ่อนอยู่ล่างสุดเสมอ

เวลาแม่เห็นทุกครั้งก็ต้องส่ายหัว คอยบ่นและสอนให้ผมต้องหยิบเสื้อจากกล่องแล้วพับเก็บให้เรียบร้อยทุกครั้ง

พอแม่พูดจบ ไม่นานมันจะกลับมารกอีกเหมือนเดิมนั่นแหละ

.........................


อีกปัญหาหนึ่งคือผมเรียนจบคณะนิติศาสตร์มา ทำให้มีตำราหลายสิบเล่มและกองเอกสารที่ถ่ายสำเนาเก็บเอาไว้ตั้งแต่เรียนปริญญาตรีแม้ว่าจะเรียนจบมานานเป็นสิบปีแล้ว ซึ่งถ้านำมากองไว้บนพื้นก็จะสูงท่วมหัวผมพอดี ผมมองกองหนังสือและชีทเหล่านั้นและบอกตัวเองทุกๆ ครั้งว่า “อย่าเพิ่งทิ้ง”

มันน่าเสียดาย ที่เรียนวิชาเหล่านั้นมาแทบตาย หัดเขียนข้อสอบส่งอาจารย์เป็นร้อยๆ ข้อแล้วจะให้ตัดใจทิ้งหนังสือกับแบบฝึกหัดที่ที่มีลายมือของเราไปได้ยังไงกัน

ผมใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่นาน โดยเชื่อมาตลอดว่าตัวผมเองไม่เคยวางข้างของทำให้บ้านรก และก็ไม่ได้มีข้าวของมากจนน่าเกลียด

มันแค่จัดวางไม่ได้สวยงามเหมือนในนิตยสารแต่งบ้านก็เท่านั้น เราจะต้องวางให้มันดูดีทำไม ในเมื่อพรุ่งนี้ก็ต้องหยิบใช้มันอีก


ผมใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่นาน พอทำงานได้สักพักหนึ่ง ผมเริ่มรู้สึกเพลียอยู่บ่อยๆ ง่วงนอนตลอดเวลาและหลับระหว่างเวลาทำงาน ตอนขับรถกลับบ้านผมจะง่วงมาก มีอาการวูบแบบคนหลับใน ผมพยายามแก้ปัญหาด้วยการนอนให้เร็วขึ้น แต่อาการก็ยังเป็นเหมือนเดิม คิดว่าตัวเองคงทำงานหนักมากเกินไป วันไหนที่ได้หยุดพักผ่อนจริงๆ วงจรชีวิตผมจะเป็นนอนตั้งแต่หัวค่ำ ตื่นมาตอนเที่ยงของอีกวัน ลงมาอาบน้ำกินข้าว และเผลอหลับตั้งแต่บ่ายโมงถึงหกโมงเย็นหรือหนึ่งทุ่ม

พอพฤติกรรมเปลี่ยนไป นิสัยของผมก็ค่อยๆ เปลี่ยนตาม อารมณ์อ่อนไหวง่าย ขี้หงุดหงิด โมโหง่าย จุดเดือดต่ำ พูดจาขึ้นเสียง ที่เลวร้ายกว่านั้นคือเริ่มพูดจาโกหก ไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกตัวเองด้อยค่า และไม่มีความภาคภูมิใจ

พอสุขภาพกายและใจแย่ ความสัมพันธ์ก็รวนตาม ผมเริ่มมีปัญหาหลายๆ ด้าน ทั้งทะเลาะวิวาทกับคนในบ้าน มีปัญหาเรื่องความรัก โลเล สับสน ไม่กล้าตัดสินใจ วางแผนจะลาออกจากที่ทำงาน เพราะรู้สึกว่าหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานมองว่าเราเป็นพวกคนขี้โรค อ่อนแอ ใจเสาะ ขี้แพ้ และไม่มีคนเข้าใจเราจริงๆ เลย

คนรอบๆ ตัวที่หวังดีมักจะเดินเข้ามาให้คำแนะนำที่คุ้นหูดีว่าให้ไปออกกำลังกาย เล่นกีฬา เที่ยวหรือไปทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้ปล่อยวางได้บ้าง
สำหรับพวกเขา คำพูดที่ช่วยปลุกและช่วยปลอบใจเหล่านั้น มันช่างฟังดูง่ายไปหมด แต่สำหรับผม กลับมีคำถามผุดขึ้นมากมายว่า

“แล้วผมต้องทำ “อะไร” ถึงจะเรียกว่า “ปล่อยวาง” ?”

ผมพยายามแก้ปัญหาตามคำแนะนำของคนอื่นๆ ลองไปไหว้พระสวดมนต์เพื่อจะหาความสงบ นั่งสมาธิ ฟังธรรมะทุกเช้า ออกเดินทางท่องเที่ยว ลองปรึกษานักจิตวิทยา รวมถึงพบหมอเพื่อแก้ไขปัญหาการนอนหลับ

ช่วงที่ต้องรอผลตรวจการนอนหลับ ผมมานั่งทบทวนว่า จะเอาตัวรอดหรือช่วยบรรเทาความว้าวุ่นใจจากปัญหาเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง ตอนนั้นผมเริ่มอ่านหนังสือการจัดระเบียบบ้านเรื่อง “ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” ของคนโด มาริเอะ แต่ไม่ได้สนใจที่จะลองทำอย่างจริงจัง

วันหนึ่งที่ผมนั่งอยู่ในห้องนอนและมองไปรอบห้อง คุยกับตัวเองว่า ที่ผ่านมาผมพยายามจะเปลี่ยนบรรยากาศรอบตัวด้วยการออกไป “ข้างนอก” แล้วหวังว่า จะแก้ปัญหาให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่สุดท้าย กลับมาเผชิญหน้ากับเรื่องเก่าๆ อยู่ที่เดิมอยู่ดี

ในความว้าวุ่นใจ สายตาเหลือบไปเห็นกองเสื้อผ้าพร้อมกองเอกสารและหนังสือที่วางรก ผมตัดสินใจทันทีว่า วันนี้จะเลิกเดินออกไป “ข้างนอก” แล้ว จะอยู่เผชิญหน้ากับ “ข้างใน” ด้วยการลองปรับเปลี่ยนข้าวของที่อยู่รอบตัวเราทั้งหมดแทน

เริ่มต้นจากการเทเสื้อผ้าทั้งหมดมากองไว้ คัดสรร แยก ทิ้ง เก็บ ส่งต่อ บริจาค ฝึกหัดพับผ้าด้วยตนเอง รวบรวมหนังสือการ์ตูน ตำราเรียนหนังสือต่างๆ ที่ผมเก็บมาตั้งแต่สมัยประถม มากองเพื่อคัดแยก

การคัดสรรเสื้อผ้าทำได้ง่ายกว่าที่ตัวเองคิด เพราะผมไม่ได้มีเสื้อผ้ามากนัก แต่สิ่งที่สร้างความทรมานใจมากๆ กลับเป็นการคัดแยกของหนังสือ ต้องบอกลาหนังสือหลายเล่มที่เราเก็บไว้มานานหลายสิบปีและทิ้งเอกสารที่เขียนด้วยลายมือของตัวเอง


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ผมหยิบหนังสือขึ้นมา บอกขอบคุณมันที่ได้ทำหน้าที่ที่ดีมาตลอด ตอนนี้ผมไม่จำเป็นต้องใช้อีกต่อไปแล้ว วันนี้ยินดีจะส่งต่อให้แก่ผู้อื่น เพื่อให้เราได้ใช้ชีวิตอยู่กับในปัจจุบันที่มีคุณค่า
ตอนที่ค่อยๆ วางหนังสือไว้ในกองที่ตั้งใจจะบริจาค จู่ๆ ก็มีความรู้สึก “ปิ๊งแว้บ” ขึ้นมาในหัวว่า “เฮ้ย นี่ไง สิ่งนี้แหละคือการปล่อยวางที่เราเฝ้าถามหา”

เหมือนเส้นผมบังภูเขา คำตอบที่โผล่มาไม่ทันคาดคิดก็ทำให้ผมเริ่มเข้าใจว่าการปล่อยวางนั้นมันต้องใช้ “ความรู้สึก” ไม่ใช่ “ความคิด” เลย

หลังจากการจัดระเบียบบ้านครั้งใหญ่ ผมค่อยๆ มีสมาธิมากขึ้น มองปัญหาและปล่อยวางเรื่องที่ไม่จำเป็นไปทีละเรื่อง หลายสัปดาห์ถัดมา หมอแจ้งผลตรวจการนอนหลับให้ฟังว่า ตัวผมมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่พอจึงส่งผลต่ออารมณ์ซึ่งต้องใช้เครื่องปรับแรงดันช่วยหายใจขณะนอนหลับ

พอรู้สาเหตุและแก้ไขได้ สภาพร่างกายและจิตใจก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

ผมไม่ได้จะบอกว่าการจัดระเบียบบ้านคือยาวิเศษที่แก้ได้สารพัดนึก แต่ในวันหนึ่งที่ผมตกอยู่ในหลุมที่หาทางออกไม่ได้ การเก็บและทิ้งสิ่งของทำให้ผมค้นพบการปล่อยวางจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวได้ง่ายๆ มันช่วยเยียวยาความรู้สึก อารมณ์ และประคองชีวิตให้ผ่านพ้นช่วงวันเวลาแห่งความสับสนมาได้สำเร็จ

หลังจากเหตุการณ์วันนั้น ผมตัดสินใจฝึกการจัดระเบียบบ้านอย่างจริงจัง ค่อยๆ เรียนรู้ ทดลอง ถามหาผู้รู้ ฝึกฝนและออกไปให้คำแนะนำคนอื่นๆ

ผมเชื่อว่ายังมีผู้คนอีกมากที่ยังจมทุกข์กับกองสิ่งของในบ้าน

การจัดระเบียบบ้านคือหนทางที่ทำให้มองเห็นปัญหา เห็นศักยภาพของตัวเอง และทำให้วันหนึ่งคุณกลับมาชื่นชมชีวิต กับสิ่งของที่น่าชื่นชอบ ในบ้านแสนรัก

มันคือ การ "สร้างตัวตนใหม่ ในคนๆ เดิม" ให้กล้าเผชิญหน้ากับตัวเอง ไม่ยึดติดกับอดีต ไม่หวาดกลัวอนาคต และกล้าที่จะก้าวมาอยู่กับปัจจุบัน
.............
สำหรับคนที่อยากแบ่งปันประสบการณ์การจัดระเบียบบ้านของตัวเอง ว่าสำเร็จ หรือไม่สำเร็จอย่างไร ลองแวะมาพูดคุยกันได้ที่ เพจ Proud จัดระเบียบเปลี่ยนชีวิต กันครับ www.facebook.com/proud.tidy
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่