ญี่ปุ่นตั้งศูนย์ฝึกอบรมผู้ดูแลคนชราในไทย หวังเปลี่ยนค่านิยม “กตัญญู ดูแลเอง”


องค์กรความร่วมมือแห่งญี่ปุ่น หรือ JICA จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยผู้เข้าอบรมมีโอกาสเรียนรู้การดูแลผู้สูงวัยแบบญี่ปุ่น เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่น

อาสาสมัครชาวไทยได้เรียนรู้วิธีดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ณ ศูนย์ดูแลที่ จ. นนทบุรี ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย JICA อาสาสมัครชาวไทยจะฝึกปฏิบัติงานสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยทุกคนต่างบอกว่าผู้สูงอายุที่มารับบริการต่างพอใจการดูแลแบบญี่ปุ่น ที่มีการออกแบบให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยแต่ละคน

ญี่ปุ่นได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจึงได้รับความนิยมอย่างมากและขาดแคลนแรงงาน จนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องพิจารณาเปิดให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำงานดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นได้ แต่จะต้องผ่านการฝึกอบรมก่อน โดยประเมินว่าในปี 2017 ญี่ปุ่นต้องการผู้ที่ทำงานดูแลผู้สูงอายุมากกว่า 1 ล้านคน และประเทศที่ได้สิทธิ์ในโครงการนำร่องทำงานที่ญี่ปุ่น คือ ฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังคาดหวังที่จะส่งเสริมธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในต่างประเทศอีกด้วย

JICA ได้ร่วมมือกับท้องถิ่นต่างๆ ในไทย จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยแล้ว 6 แห่งตั้งแต่ปี 2013 และได้ส่งอาสาสมัคร 75 คนไปรับการฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นยังหวังจะ “ส่งออก” บริการดูแลผู้สูงอายุไปยังต่างประเทศด้วย โดยในปี 2016 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศโครงการความริเริ่มเพื่อสวัสดิภาพและสุขภาพที่ดีแห่งเอเชีย หรือ Asia Health and Human Well-Being Initiative ซึ่งจะสนับสนุนธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่ดำเนินการในประเทศกลุ่มเอเซีย

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ค่านิยมการดูแลผู้สูงอายุถูกผูกอยู่กับเรื่องความกตัญญู แต่ละครอบครัวจะดูแลกันเองมากกว่าจะส่งพ่อแม่ที่แก่เฒ่าไปยังศูนย์ดูแลที่เน้นการฟื้นฟูสุขภาพควบคู่ไปด้วย

“ฝากผีฝากไข้ไว้กับลูกหลาน” ไม่ดูแลเองคืออกตัญญ?
อาสาสมัครชาวไทยที่เข้ารับการอบรมการดูแลผู้สูงอายุแบบญี่ปุ่น ยอมรับว่า คนไทยยังเชื่อว่าถ้าส่งพ่อแม่ไปอยู่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจะถูกหาว่า “ทอดทิ้ง” พ่อแม่ คนส่วนใหญ่จึงยังดูแลกันเอง หรือจ้างผู้ช่วยมาดูแลที่บ้าน ซึ่งแตกต่างกับการอยู่ในศูนย์ฯ ที่มีผู้ดูแลและพยาบาลมืออาชีพ หลายครอบครัวต้องดูแลผู้สูงอายุจนกว่าจะจากกันไป การดูแลแบบนี้นอกจากจะทำไม่ได้ดีที่สุดแล้ว ยังทำให้คนในครอบครัวต้องใช้เวลาและกำลังกายกำลังใจเพื่อดูแลผู้สูงอายุด้วย

โยชิคะซุ ฮะเซะงะวะ ผู้อำนวยการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่จังหวัดไซตะมะ ยอมรับว่า ค่านิยมในการดูแลผู้สูงอายุโดยครอบครัว ทำให้ธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุต้องใช้เวลาอีกระยะในการฝ่าค่านิยมเรื่องความกตัญญูของคนไทยได้

หน่วยงานของญี่ปุ่นประเมินว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่รวดเร็วกว่าญี่ปุ่น โดยในปี 2015 ไทยมีผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีจำนวน 7.25 ล้านคน หรือร้อยละ 10.6 ของประชากรทั้งประเทศ แต่จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14 ที่เข้าข่าย “สังคมผู้สูงอายุ” ในปี 2020 แค่ระบบสวัสดิการสังคมของไทยยังด้อยมาก ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุของรัฐมีเพียง 12 แห่ง รองรับได้เพียง 1,600 คน ขณะที่ศูนย์ของเอกชนก็มีราคาแพง

คนไทยที่มีค่านิยมเรื่อง “กตัญญู” จึงต้องใคร่ครวญว่า แต่ละครอบครัวสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ดีจริงหรือ? และผู้สูงอายุของไทยจะสามารถอยู่เป็น “ร่มโพธิ์ร่มไทร” ของลูกหลานได้อย่างมีความสุขจริงหรือไม่.



ข่าวจาก : MGR Online
https://mgronline.com/japan/detail/9600000127912
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่