ภาค2 มาดูการเลือกซื้อไขควงบ้างครับ ไขความลับ ที่ไม่ลับ ทำไมหัวน๊อตถูกไขจนพัง

สืบเนื่องมาจากกระทู้ที่แล้วผมเขียนเรื่องประแจบล็อกไปแล้ว ตามกระทู้นี้
https://ppantip.com/topic/37082373  

วันนี้ผมจะขอมาคุยเรื่องไขควงกันบ้าง นะครับ จริงๆผมศึกษาเรื่องไขควงมาพอสมควร แล้วพบว่ามันมีรายละเอียดอะไรซ่อนอยู่ ที่เราไม่เคยรู้ ทำเอาผมต้องยิ่งศึกษาลงลึกเข้าไปเพื่อให้เข้าใจถึงมาตรฐานและการซื้อไขควงมาใช้มาครับเริ่มกันเลย

ถ้าจะจัดประเภทเครื่องมือแล้ว ไขควงนับเป็นเครื่องมือที่ใกล้ชิดกับเราแทบจะที่สุดก็ว่าได้  ถ้าเรามองสิ่งรอบๆตัวเราจะพบว่ามีอุปกรณ์ที่มีน๊อต ที่ต้องใช้ไขควงไขอยู่รอบๆตัวเรา Note book , กุญแจรถ  , โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา แว่นตา  หากอยากจะซ่อมแซม เปลี่ยนถ่าน หรือแกะออกมาทำอะไรก็ตามย่อมต้องใช้ไขควงมาไข  
ถ้าเราใช้ไขควงหลายคนต้องเคยเจอ อาการที่ไขแล้วมันไม่ยอมออก ไขจนหัวน๊อตมันเยินจนไขไม่ได้อีก อาการแบบนี้เราไม่ต้องการให้เกิดแต่มันก็เกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะอะไร !!!!!!!  เพราะน๊อตมันแน่นเกินไป ใช่มั้ย  คำตอบคือไม่ใช่ครับ  




สรุปสาเหตุสำคัญที่ทำให้หัวน๊อตพังมีอยู่ 2 -3ประเด็น  

1.ใช้ไขควงผิดมาตรฐาน    อันนี้มักจะเกิดกับไขควงแฉกขนาดมันก็โอเคแต่น๊อตมันแน่นมากๆไขจนหัวเริ่มเยินกว่าจะไขออก อันนี้เจอบ่อยมากแต่มักจะ อาการออกหนักเมื่อไข รอบสอง รอบสาม    หารู้ไม่ว่าเราใช้ไขควงผิดมาตรฐานมาไข  !!!!!!!

2.ใช้ไขควงผิดเบอร์       มีไขควงอยู่ตัวเดียว น๊อตใหญ่น๊อตเล็ก พวกใช้อันเดียวกันหมด ^ ^ อันนี้เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ

3.น๊อตไม่มีคุณภาพเอง   น๊อตไม่มีคุณภาพ อันนี้เราคงควบคุมลำบาก เนื่องจากเวลาเราใช้ของอะไรเราคงไม่สามารถดูน๊อตได้ทุกตัวว่าคุณภาพดีแค่ไหน ให้ดูก็ดูไม่รู้ ด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือการเข้าใจไขควง และน๊อตให้ถูกต้อง จะได้ไม่ใช้ผิดเบอร์และมาตรฐาน  เรามาเริ่มจากมาดูลักษณะน๊อตแบบต่างๆกันก่อนดีกว่าครับ  


รูปแสดง ลักษณะ หัวน๊อตแบบต่างๆ



เราจะเห็นได้ว่าน๊อตมีรูปแบบหลากหลายมาก แต่ที่เราจะพบเจอบ่อยจะเป็น 3 แบบแรก คือ Slot  หรือแบบแบน  Phillip หรือแบบแฉก Pozidriv หรือแบบแฉก ( A : แฉกอีกแล้วเหรอ ?   B: ไขๆไปเหอะมันเหมือนกัน  555555   จขกท : ไม่เหมือนนนน   เสียงสูง  )  

เรามาดูการจับคู่ระหว่างน๊อตกับไขควงแต่ละแบบ กัน

จะเห็นได้ว่าน๊อตแบบ Slot ถ้าเราใช้ไขควงแบนถูกเบอร์ไม่มี ปัญหา แต่ถ้าน๊อตมันเป็นแบบ Pozidriv ล่ะ เราเอา ไขควงแฉกธรรมดาไปไข จะเกิดอะไรขึ้น ?  คำตอบคือ ไข ได้ ครับ แต่ จะไขออกหัวก็เสียหาย จะไขเข้าก็ไม่แน่นตามสปก เพราะว่า น๊อตแบบ Prozidriv ถูกออกแบบให้ต้องใช้แรงขันสูงจึงเพิ่มแฉกเล็กๆเข้ามา ถ้าเอาไขควงธรรมดา แรงจะถูกกระทำแค่ 4 แฉก จาก 8 แฉก  ทำให้หัวน๊อตอาจเสียได้   เพราะฉะนั้นหากเจอน๊อตแบบนี้ เราต้องใช้ไขควงให้ถูกมาตรฐาน จึงจะไขได้ 100 %  


ยัง ยัง ไม่หมด !!!!!!!
นอกจากนั้น น๊อต แฉก ธรรมดา  ยังแบ่งมาตรฐานได้ 2 แบบอีก คือ มาตรฐาน PH  กับมาตรฐาน JIS   ดังนี้



สังเกตุง่าย น๊อต Phillip จะไม่มีสัญลักษณ์อะไร  ส่วนน๊อต JIS จะมีจุดอยู่ที่หัวน๊อต
และจะเห็นได้ว่า ขนาด ความลึกจะแตกต่างกัน เพราะ น๊อต PH  จะออกแบบให้ ไขควงหลุดออกมาจากน๊อตเมื่อแรงไขเกินค่าที่กำหนด  จึงออกแบบให้ลึกกว่า และมุมกากบาทจะป้านกว่าแบบ JIS  ทำให้ถ้าเราเอาไขควง PH  ไขน๊อต JIS ผลที่เกิดขึ้นคือ หัวพังครับ  !!!!!!!!    นี่เป็นเพราะความแตกต่างของมาตรฐานฝั่งฝรั่งกับ ญี่ปุ่น  


เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นบ่อยๆ ทางฝั่ง Phillip จึงได้พยายาม ปรับมาตรฐาน  โดยใช้มาตรฐาน DIN 5260   และ ISO 8764-1  ทำให้ไขน๊อต JIS  ได้ดี
ประกอบกับ JIS ได้ยกเลิกการรับรองมาตรฐานไขควงแล้ว  ตั้งแต่ปี 2008 ไขควงค่ายญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องมาอ้างอิง มาตรฐาน DIN 5260 กับ ISO 8746แทน   ทำให้มาตรฐานไขควง พศ. นี้ เสมือนถูกยุบมาเป็น Phillip เพียงอย่างเดียว  หากแต่ในทางปฎิบัติ ถ้าเจอน๊อตมีจุด ผมจะใช้ไขควงสัญชาติญี่ปุ่นไขครับ เพราะมีความรู้สึกว่ามันเกิดมาเพื่อกันและกันมากกว่า ^ ^

ตัวอย่างการอ้างอิงมาตรฐานที่ใช้ผลิต ไขควง

ต่อมาเรามาพูดเรื่อง ขนาดต่างๆของไขควงกันดีกว่า

ไขควงแฉก

จะบอกขนาดหัวเป็นเบอร์  ตามนี้  PH 000 , PH 00 , PH 0 ,PH1 ,PH 2 ,PH 3 ,PH 4    เรียงจากเล็กไปหาใหญ่  
มักจะบอกความยาว พ่วงด้วยเช่น   PH 2 x 100    แปลว่าหัวแฉก PH เบอร์ 2 ยาว 100 mm  
ถ้าเป็น แบบ Prozidriv  จะเป็นPZ แทน PH


ไขควงแบน

จะบอกเป็นความหนา  x ความกว้าง ของปลายไขควง และ บอกความยาว  เช่น  0.5 x 3 x  80   , 0.6 x3.5 x 100 , 0.8x4x100 , 1x5.5x125 ,1.2x6.5x150 ,1.2x8x175 , 1.6x10 x 200  




ลักษณะต่างๆ ของไขควง

ไขควงจะมีลักษณะที่หลากหลาย ซึ่งในที่นี้จะนำเสนอไขควงรูปแบบต่างๆดังนี้ครับ

1.ไขควง Stubby  

เป็นไขควงสั้น ใช้งานในที่แคบด้านบน หัวจะมีลักษณคล้ายไขควงปกติ แต่ด้าม กับความยาวก้านไขควงจะสั้น  


2. ไขควง ออฟเซต

เป็นไขควงที่เหมาะสำหรับงานที่แคบต้องเข้าไปไขน๊อตด้านข้าง    มีลักษณะดังรูป



3.ไขควงด้ามทะลุ กับ ด้ามไม่ทะลุ

ไขควงด้ามทะลุสามารถใช้ค้อนตอกได้ ส่วนไขควงด้ามไม่ทะลุจะช่วยในเรื่องกันไฟฟ้าดูด ได้ แต่ไม่ถึงขั้น 1000 V  แบบรุ่น VDE

ด้ามไม่ทะลุ

ด้ามทะลุ



4. ไขควง VDE  

จะเป็นไขควงกันไฟฟ้าได้เป็นพิเศษถึง 1000 Volt  ตามมาตรฐาน VDE  


5. ไขควง ESD

ไขควงงาน อิเล็คทรอนิค กันไฟฟ้าสถิตได้


6.ไขควง SL/PH   SL/PZ

อันนี้เป็นไขควงที่เรามักเห็นบ่อยในงานไฟฟ้า  ช่างส่วนใหญ่จะคิดว่า ใช้ไขควง ปากแบนไข หรือ ไขควงแฉกไขก็ได้  หากแต่น๊อตแบบนี้มีไขควงเฉพาะอยู่  

ตัวอย่างน๊อต

ไขควงเฉพาะ





แบรนด์ต่างๆที่ทำตลาดในไทย  

หากจะจัดอันดับตามแบรนด์ แบบมีระดับ อย่าง Snap on , Hazet ,Stahlwille  Facom  Proto  คงต้องติดอันดับอย่างแน่นอนบางยี่ห้อผมเข้าใจว่าเค้าจ้างผลิต ไม่ได้ทำด้วยตัวเอง ดังนั้นที่ผมเลือกเอามาแนะนำ  จะเป็นแบรนด์ที่เน้นทำไขควงโดยเฉพาะเท่านั้น ซึ่งผมว่ามันน่าใช้กว่าเพราะเค้าเกิดมาเพื่อสิ่งนี้   เราไปดูกันเลยครับ  

1.    PB Swiss Tool  

ถ้าถามช่างว่าไขควงยี่ห้อไหนดี เกือบทุกคนต้องตอบว่า PB  ด้วยเนื้อเหล็กคุณภาพสูงจาก Swiss มียิง เลเซอร์ ซีรี่ส์ นัมเบอร์ ไว้เช็คได้ทุกตัวว่าของแท้มั้ย  ต้องยอมรับว่าเป้นไขควงอันดับต้นๆในวงการ


2.    WERA

ไขควงเยอรมัน Design สวย  มีการออกแบบอย่างดีทุกอย่างแม้แต่กระทั้งกล่องใส่  เป็นไขควงที่น่าใช้มาก มีเอกลักษณ์ คือ Laser tip ที่ปลายไขควง ช่วยเรื่องการจับหัวน๊อต  ตอนนี้ได้ข่าวว่าย้ายการผลิตไปที่ เช็ค รีพับบลิก


3.    Vessel  

ไขควงจากแดนปลาดิบ ส่งเข้าประกวด  มีรุ่นที่ผมชอบใช้มากคือรุ่น Megadora  ดีไชน์ด้ามที่เพิ่มแรงไข เพิ่มความกระชับของมือขณะจับด้าม ปลายไขควงมีเทคโนโลยี JawsFit  ช่วยจับหัวน๊อตเวลาไข ได้ข่าวว่าผลิตในประเทศไทยด้วย ข้อเสียคือหาซื้อยาก  


4.    Felo

ไขควงเยอรมัน คุณภาพสูง มีรุ่นเด่นคือ รุ่น Ergonic



5.    WIHA

ไขควงเยอรมัน อีกยี่ห้อที่นิยมกันมาก คุณภาพสูง การออกแบบ ค่อนข้าง เรียบๆ  


6.    Champion

ไขควงในตำนานจากญี่ปุ่น  ราคาไม่แพง แต่ของปลอมเยอะมาก


หวังว่าคงเป็นประโยชน์ แก่เพื่อนๆ ไม่มากก็น้อยนะครับ  ^ ^
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่