อาหารกับโรคเกาต์

โรคเกาต์คืออะไร
โรคเกาต์ เป็นโรคที่มักพบได้บ่อยในผู้ชายวัยสูงอายุมากกว่าผู้หญิง อาการของโรคนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวด บวมแดง ร้อนตามข้อ โดยเกิดจากร่างกายมีการสะสมของกรดยูริคตามข้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนเราในแต่ละวัยก็มีระดับของกรดยูริคในเลือดที่แตกต่างกัน อีกทั้งการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนปริมาณสูง ก็นับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดกรดยูริคขึ้นในร่างกายมากไปได้เช่นเดียวกัน



ระดับกรดยูริคในเลือดควรเป็นเท่าไร
ผู้ชาย ควรมีกรดยูริคในเลือดน้อยกว่า 7 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ผู้หญิง ควรมีกรดยูริคในเลือดน้อยกว่า 6 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

เพราะเหตุใดกรดยูริคจึงสูง
สาเหตุที่กรดยูริคสูงขึ้นนั้น อาจเป็นผลมาจาก
1. ไตไม่สามารถขับกรดยูริคได้ตามปกติ โดยอาจเป็นปัจจัยทางพันธุกรรม ไตเสื่อมหรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
2. การรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง โดยพิวรีนถูกเผาผลาญให้กลายเป็นกรดยูริคในเลือด
3. มีโรคหรือภาวะที่ผิดปกติของร่างกาย ทำให้เกิดการสลายตัวของเซลล์และอวัยวะที่ผิดปกติ



ปฎิบัติตัวอย่างไรดีนะ?
1. หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากส่งผลให้กรดยูริคในเลือดสูงขึ้น รวมทั้งลดการขับกรดยูริคออกจากร่างกาย
2. ควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในผู้ที่น้ำหนักเกินควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
3. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง อันก่อให้เกิดระดับกรดยูริคในเลือดสูง
5. ไม่ควรรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากเกินไป โดยเฉพาะเครื่องในสัตว์ โดยเลือกรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
    ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อป้องกันการสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงาน
6. ควรหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มไขมันสูง เช่น อาหารทอด อาหารผัดที่ใส่น้ำมันมากๆ และเนื้อสัตว์ติดมัน เนื่องจากอาหารที่มีไขมันสูง
    ทำให้การขับกรดยูริคลดน้อยลง
7. เลือกปรุงอาหารด้วยวิธีนึ่ง ตุ๋น ต้ม ย่าง หรือผัดที่ใช้น้ำมันน้อย เพื่อลดการรับประทานไขมันจากอาหาร
8. ไม่ควรรับประทานน้ำหวานหรืออาหารที่มีส่วนผสมของฟรุกโตสมากเกินไป เพราะสามารถทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูง



อาหารพิวรีนน้อย (0 – 15 มิลลิกรัม/อาหาร 100 กรัม)
สามารถรับประทานได้ ได้แก่

ข้าว       : ข้าวขาว ขนมปัง สาคู ข้าวโพด แครกเกอร์
แป้ง       : ก๋วยเตี๋ยว มักกะโรนี พาสต้า มันฝรั่ง มันเทศ
ผักต่างๆ  : ผักต่างๆ (ยกเว้นบางชนิดที่มีพิวรีนมากและส่วนของยอดผัก)
ผลไม้     : ผลไม้ต่างๆ น้ำผลไม้
เนื้อสัตว์  : ไข่ไก่ ไข่เป็ด เนยถั่ว เนยแข็ง
นม         : นมพร่องมันเนย นมขาดมันเนย
ไขมัน     : น้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร เนย
อื่นๆ       : น้ำส้มสายชู วุ้น เจลาติน พุดดิ้ง คัสตาร์ด เครื่องเทศชนิดต่างๆ


อาหารพิวรีนปานกลาง (50 - 150มิลลิกรัม/อาหาร 100 กรัม)
ลดปริมาณลง ได้แก่

ข้าวแป้ง  : ข้าวโอ๊ต ข้าวแดง ข้าวที่ไม่ขัดจนขาว บิสกิต ยอดข้าวสาลี
ผัก         : ใบขี้เหล็ก หน่อไม้ สะตอ ผักโขม ดอกกะหล่ำปลี เมล็ดถั่วลันเตา
เนื้อสัตว์  : เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ปลากะพง ปลาทูน่า ปลาแซลมอล ปู แฮม ปลาหมึก
ไขมัน     : ถั่วลิสง


อาหารพิวรีนสูง (มากกว่า150 มิลลิกรัม/อาหาร 100 กรัม)
ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่

ข้าวแป้ง : ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง
ผัก        : กระถิน ชะอม ยอดตำลึง ยอดฟักแม้ว ยอดฟักทอง เห็ด
เนื้อสัตว์ : ไข่ปลา เครื่องในสัตว์ ปลาไส้ตัน ปลาแอนโชวี่ ปลาอินทรีย์ ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลากระตัก กุ้ง หอย ห่าน
อื่นๆ      : ซุป ซุปก้อน น้ำปลา กะปิ ยีสต์

โรคเกาต์ เป็นโรคที่เกิดจากการการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิต การกินอยู่ ดังนั้นหากจะแก้ไขต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือการหลีกเลี่ยง
การกินอาหารที่มีสารพิวรีนสูงนะครับ

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่