อ่านง่าย ดูสนุก ประยุกต์ใช้ได้...กับ"มารยาทสังคมไทย" จากเว็บไซต์ธนชาต

เป็นเรื่องเป็นราวจนได้กับธนาคารธนชาต....  เมื่อคุณหลานตัวดีลูกพี่ชายเรียนชั้นประถมโดนครูสั่งการบ้าน ให้เขียนบทความสั้นๆ ประกอบรูปภาพเกี่ยวกับมารยาทไทยที่พึงประพฤติปฏิบัติเมื่อต้องเข้าไปร่วมกิจกรรมกับคนหมู่มาก คุณหลานชายบอกว่า สนใจอยากทำเรื่องมารยาทในการเชียร์กีฬา เพราะเป็นแฟนบอลช้างศึกทีมชาติไทย นั่งเชียร์ส่งเสียงสนั่นทุกนัดหน้าจอ ชวนลุงชวนน้าไปดูถึงขอบสนามหลายครั้ง ญาติผู้ใหญ่อย่างเราก็ไม่ว่างเสียที (อย่าว่ากัน ก็รถมันติดนี่ครับ ไว้มีรถไฟฟ้าผ่านเมื่อไหร่ จะพาไปดูเน้อ)  

แล้วเจ้าคุณหลานก็ยิงคำถามตรงๆเอากับน้องชายของพ่อว่า อาครับ...มารยาทในเชียร์มีอะไรบ้าง อาอย่างผมก็อึ้งกินซิครับ โถถถถ..เคยไปดูในสนามครั้งหนึ่งนานมากแล้ว  สัก 20 ปีแล้วกระมัง สมัยเดอะตุ๊ก ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เล่นเป็นกองหน้าโน้น ตอนอยู่ในสนามก็ไม่ได้ทำอะไรมาก ก็นั่งๆยืนๆ ตะโกนไทยแลนด์ๆๆๆ สู้ๆๆตามๆเขาไป พอได้รับคำตอบแบบนี้ เจ้าคุณหลานเลยเหวี่ยงกลับมาว่า นี่ต้องทำส่งการบ้านครูนะครับ คุณอาจตอบให้มีหลักการหน่อยดิ(เอากับเขาซิ เด็กสมัยนี้เจ้าหลักกงหลักการตั้งแต่อายุยังน้อยๆอยู่เลย )  

สรุปว่า เราสองคนอากับเจ้าคุณหลาน ก็มานั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์กันนะซิ เสิร์จหาข้อมูลในอากู๋กันพอเป็นไอเดีย แล้วก็เป็นเรื่องจนได้ ดันมาหัวข้อที่คุณหลานสนใจพอดี.... มารยาทที่ต้องรู้ก่อนไปเชียร์กีฬา จากเว็บไซต์  http://www.thanachartcsr.com/thaiculture/kb/blog/view/60 ข้อมูลน่าสนใจเสียด้วย เขาว่าไว้อย่างนี้ครับ

@ เหตุทะเลาะวิวาทระหว่างการเชียร์กีฬาในไทยเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ  สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะความคึกคะนองและไม่ปฏิบัติตามมารยาทของการเชียร์กีฬา  ในฐานะแฟนกีฬาที่ดี เราไม่ควรปล่อยให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น  มาเรียนรู้มารยาทในการเชียร์กีฬาและช่วยกันรณรงค์ให้เชียร์กีฬากันอย่างสุภาพกันเถอะ

1.เชียร์อย่างสุภาพ
          มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ ให้เกียรตินักกีฬาและแฟนกีฬาทั้งฝ่ายเดียวกันและฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช้คำหยาบคายหรือแสดงกิริยาดูหมิ่น เยาะเย้ยถากถาง เช่น การเขียนป้ายด้วยข้อความหยาบคาย การโห่ร้อง หรือแสดงกิริยาไม่เหมาะสมต่อเพลงชาติหรือธงชาติของทีมคู่แข่ง ฯลฯ  

2. หลีกเลี่ยงเหตุที่นำไปสู่การทะเลาะวิวาท
          นอกจากการเชียร์อย่างสุภาพแล้ว กองเชียร์ที่ดีต้องหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทด้วย  หากมีการกระทบกระทั่งเกิดขึ้นก็ควรให้อภัยกัน  ไม่พกอาวุธหรืออุปกรณ์เชียร์ที่สามารถใช้เป็นอาวุธเข้าไป  เพราะหากมีเหตุทะเลาะวิวาทขึ้น ไม่เพียงแต่กองเชียร์ที่บาดเจ็บเท่านั้น  ทีมและนักกีฬาก็อาจได้รับบทลงโทษด้วยเช่นกัน          

3. ปฏิบัติตามกฎและมารยาทของการเชียร์กีฬาแต่ละประเภท
       กีฬาแต่ละประเภทมีกฎและมารยาทการเชียร์ที่แตกต่างกันไป เช่น การเชียร์ฟุตบอลไม่ควรนำพลุไฟเข้าไปจุดในสนาม ไม่ควรเขียนป้ายเชียร์ด้วยคำหยาบคาย  หรือการเชียร์เทนนิสไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนขณะนักกีฬากำลังเล่นอยู่ ฯลฯ  กองเชียร์ที่ดีต้องเรียนรู้และปฏิบัติตามกฎและมารยาทเหล่านี้ เพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างราบรื่น

"เท่อย่างไทย  ใครๆ ก็ทำได้" คนไทยชอบการเชียร์กีฬาเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว  ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เรียนรู้มารยาทการเชียร์กีฬาไว้  เพื่อให้การเชียร์เป็นไปอย่างสนุกสนานและเหมาะสม  รวมถึงการแข่งขันก็จะมีสีสันมากขึ้นด้วย

มารยาทเมื่อไปพัก Hostel แบบห้องรวม http://www.thanachartcsr.com/thaiculture/kb/blog/view/21

...เสร็จภารกิจเจ้าคุณหลานแล้ว คุณอาก็เลยถือโอกาสสำรวจเรื่องมารยาทไทยๆ เว็บไซต์ธนาคารสีส้มนี้ คลิกไปคลิกมา โน่นนี่นั่นวนๆกันไป เข้าท่าดีแฮะ อ่านง่าย ดูสนุก  ประยุกต์ใช้ได้เลย ไม่เวิ่นเว้อ ไม่เน้นวิชาการจ้าจนหนักสมองเหมือนเว็บราชการ บางเรื่องราวทำเป็นคลิปก็ชัดเจนทั้งเนื้อหา ประเด็น และความคมชัด  หลายเรื่องทันยุคทันเหตุการณ์ อย่างเรื่องนี้  "เมื่อไปพัก Hostel แบบห้องรวม"    นี่ก็กำลังสนใจอยู่พอดี และคิดว่าหลายคนก็น่าจะอยากรู้เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ พักห้องพักแบบนี้ ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง
มารยาทในการใช้ฟิตเนสเซ็นเตอร์ http://www.thanachartcsr.com/thaiculture/kb/blog/view/49

หลายคนคิดว่าต้องมีมารยาทด้วยหรือยังไงกัน แต่รู้ไว้กันผิดพลาดก็ดีในยุคสมัยที่การใช้ชีวิตประจำวันต้องเร่งรีบกันเหลือเกิน อย่างเรื่อง เมื่อใช้ห้องน้ำสาธารณะ , เมื่อเข้าโรงภาพยนตร์ ,บนโต๊ะอาหาร ,เมื่อต้องหยิบยืมสิ่งของ,เมื่อไปสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ,การใช้โซเชียลมีเดีย,การใช้ฟิตเนสเซ็นเตอร์,การเข้าร้านอาหารพร้อมลูกน้อย ,ที่ไหนบ้างควรปิดเสียงโทรศัพท์,การแต่งตัวให้เกียรติสถานที่ ,การเขียนจดหมายสมัครงาน,การทักทายด้วยการไหว้ ฯลฯ  

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
บอกตรงๆ สารภาพเลยครับ เกิดมาก็นานโขอยู่ เพิ่งรู้ว่า การไหว้ของบ้านเรามี 3 ระดับ หรือมี 3 ท่า ปกติเจอใคร ผมก็ยกมือไหว้แบบนักมวยไทยนั่นแหละครับ คือ ไหว้กราดไปทั่วทุกคน เพราะคิดว่า สุภาพที่สุดแล้ว   โอ้โห..ทางธนาคารสีส้มทำเป็นคลิปออกมาเลยนะ การไหว้  3 ระดับมีดังนี้

1. ถ้าเป็นผู้ที่อาวุโสกว่า ให้ค้อมตัวลง พร้อมยกมือขึ้นไหว้ นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ปลายจมูก
2. ถ้าเป็นบุคคลทั่วไป ให้ค้อมตัว พร้อมยกมือขึ้นไหว้ นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ปลายคาง
3. ถ้าไหว้พระ  นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ระหว่างคิ้ว
แต่ถ้ามีสัมภาระ แค่ค้อมตัวลง พร้อมกล่าวสวัสดี แค่นี้ก็ดูดีแล้วครับ

ถ้าไม่ได้เปิดคลิปนี้ดู คงใช้ผิดกาละเทศะไปอีกนาน  ดูคลิปจบแล้วถึงกับต้องยิ้มกับมุขตอนท้ายเลยครับ นอกจากได้สาระแล้ว ยังได้ฮาอีก จะเอาฮาไปถึงไหนเนี่ย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่นะ ต้องสร้างสรรค์อย่างนี้แหละครับถึงไม่น่าเบื่อ

หรืออย่างเรื่อง งามอย่างไทยใส่อะไรไปวัด? กางเกง หรือ กระโปรง?
คำตอบก็ดูกลางๆดี ซึ่งเป็นเรื่องจริงและนำไปปฏิบัติได้ทันที
" ไม่ว่ากางเกงหรือกระโปรงก็สวมได้ทั้งนั้น เพียงแต่ควรเลือกตัวที่ไม่สั้นเกินไป จำไว้เสมอว่ากิจกรรมในวัดอาจมีทั้งการนั่งพับเพียบ คุกเข่า ก้มกราบ ฯลฯ คงไม่ดีแน่ ๆ หากเราต้องคอยกังวลทุกอิริยาบถ แต่ถ้าจะให้เลือก กางเกงขายาวก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เพราะสวมใส่ง่าย เคลื่อนไหวร่างกายได้กระฉับกระเฉงไม่ต้องคอยกังวลตลอดเวลา และต้องไม่ลืมเรื่อง การปฎิบัติตัวในวัดเช่นกัน ต้องมีความสำรวมทั้งกายและวาจา ไม่ส่งเสียงดังโวยวาย ไม่สูบบุหรี่ รักษาความสะอาด "

นานๆทีจะเจอธุรกิจเอกชนที่นำเสนอแคมเปญการอนุรักษ์และเผยแพร่แบบอย่างของวัฒนธรรมประจำชาติที่ถูกต้องให้แก่คนไทยเรา ซึ่งต้องยอมรับความจริงกันว่ามารยาทไทยๆก็แทบลืมเลือนกันไปหมด มีมารยาทฝรั่งเข้ามาแทนที่เสียเป็นส่วนใหญ่  ต้องขอกด LIKE รัวๆให้ธนาคารธนชาตครับ  มีบริษัทไทยไม่กี่แห่งหรอกครับ  ที่ใส่ใจและสนใจจริงจังถึงขนาดจัดประกวด "การแข่งขันอ่านฟังเสียงภาษาไทย" และ"การประกวดมารยาทไทย"  ในระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษา เป็นเรื่องเป็นราวอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ได้ใจจริงๆ  ขอบอกเลยว่าชอบนะสโลแกนนี้ "เท่อย่างไทย ใครๆ ก็ทำได้"

ไม่ได้เป็นลูกค้าธนาคารสีส้มนะ แต่ทำดีก็ต้องบอกว่าดีครับ ยุคสมัยนี้ใครคิดดีทำดีก็ต้องช่วยกันสนับสนุนส่งเสริม เป็นกำลังใจให้กัน แต่ที่อยากให้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมก็มีนะ บอกแล้วอย่าโกรธ ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เข้ามาค้นคว้าหาข้อมูลด้านมารยาทและเอกลักษณ์ไทยใน  เว็บไซต์   http://www.thanachartcsr.com/thaiculture/kb/home/homepage ก็แล้วกันครับ

อย่างการใช้ภาษาไทยหรือมารยาทไทย มีอยู่มากมายหลายซีรีส์ด้วยกัน ควรจัดแยกให้เป็นหมวดหมู่ ด้วยการทำเป็นเมนูใส่เฉพาะหัวเรื่องเข้าไป จะได้หาอ่านหาชมกันง่ายขึ้น หรือจะแยกเพิ่มเป็นเรื่องเขียนและคลิปวิดีโอด้วยก็จะดีมีสไตล์มากขึ้น อย่างเรื่อง "มารยาทเมื่อไปพัก Hostel แบบห้องรวม" พอจะย้อนกลับไปอ่านอีกครั้ง ไม่รู้อยู่ตรงไหนแล้ว ใช้เวลาหานานพอควรทีเดียวครับ กว่าจะเข้าไปคลิกอ่านในรายละเอียดได้อีกครั้ง

และถ้าเพิ่มฟังค์ชั่นให้สามารถเล่นแชร์ตรงออกสู่โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น FB,Line,twitter,pinterest,instagram ได้ ก็ทำให้เนื้อหาในเว็บไซต์ออกสู่สายตรงสายตาชุมชนออนไลน์ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์โครงการ"เท่อย่างไทย ใครๆ ก็ทำได้" ของธนาคารธนชาต ดูรวมๆแล้วมีเสน่ห์ครับ  
ต้องขอบคุณเจ้าหลานชายจริงๆ ที่ทำให้เข้ามาสัมผัสกับเรื่องใกล้ๆ ตัวอย่าง "มารยาทสังคมไทย"
มันดีต่อใจจริงๆ...
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่