และนี้คือเหตุผลที่ทำไหมคนมุสลิมรักพระองค์ท่าน !

ดิฉันเป็นคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และภูมิใจมากๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์ต่างๆของพระองค์ท่าน รักท่านสุดหัวใจ #ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป.

นี่คือคำตอบ ว่าทำไมมุสลิมไทยจึงรักในหลวงสุดหัวใจตราบนานเท่านาน...!!!

💞9 เรื่องราวประทับใจระหว่าง "ในหลวง" กับ มุสลิม💞  
.
👉 "ในหลวง" ทรงเสด็จฯ แปรพระราชทานไปประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ. นราธิวาส เป็นประจำทุกปี
.
👉 "ในหลวง" เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรมุสลิมในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล ให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด และทรงถามถึงทุกข์ สุข ของราษฎร
.
👉 "ในหลวง" ทรงพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้
.
👉 "ในหลวง" ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนในการประกอบอาชีพของชาวมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้
.
👉 มุสลิมบางรายที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงอันสุดวิสัยที่จะช่วยตนเองได้ "ในหลวง" ก็จะทรงรับคนไข้ดังกล่าวเข้าในพระบรมราชานุเคราะห์
.
👉 "ในหลวง" ทรงรับเด็กกำพร้าอนาถาชาวมุสลิมเข้ามาอยู่ภายใต้พระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งเด็กเหล่านี้ได้รับการเลี้ยงดู มีการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และไม่รู้สึกว่ามีปมด้อย ซึ่งเด็กกลุ่มนี้รวมถึงเด็กกำพร้าจากแหลมตะลุมพุกด้วย
.
👉 ความสัมพันธ์ระหว่าง "ในหลวง" กับ ลุงวาเด็ง ปูเต๊ะ “พระสหายแห่งสายบุรี” แสดงให้เห็นถึงความผูกพันธ์ที่ท่านมีต่อชาวมุสลิมที่เป็นสามัญชนคนธรรมดา ความสัมพันธ์ของท่านทั้งสองยังเป็นจุดกำเนิดของตำนาน “ปลาร้องไห้ที่บ้านปาตาตีมอ” อีกด้วย
.
👉 เมื่อเกิดเหตุเผาโรงเรียนกว่า ๓๐ แห่งพร้อมกันในพื้นที่
3 จังหวัดภาคใต้ ในช่วงกลางปี พ.ศ. ๒๕๓๖ หลายคนคงนึกถึงภาพความประทับใจที่ "ในหลวง" และพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนผู้นำศาสนาและราษฎรของพระองค์ ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๖
.
👉 ถ้าพูดถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ หลายคนคงนึกถึงแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของ "ในหลวง " ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หลักในการนำสันติสุขมาสู่พื้นที่

แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
ตำนานปลาร้องไห้ที่ปาตาติมอ (ขออนุญาตเพิ่มแทนเจ้าของกระทู้)

นายพลากร  สุวรรณรัฐ องคมนตรี เล่าไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทรงติดตามความก้าวหน้าของการขุดคลอง นับตั้งแต่เริ่มมีการขุดคลอง ราษฎรมานั่งเฝ้าฯ รับเสด็จฯ

        เต็นท์แรกๆ มีชาวไทยมุสลิมหลายคนเอาข้าวมาทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงถามว่า “...เป็นข้าวที่ไหน...”
        ชาวนาก็บอกว่า เป็นข้าวที่สายบุรี ปัตตานี แต่เม็ดเล็กไม่งาม เพราะน้ำไม่มี
        มีพระราชดำรัสให้กำลังใจว่า “...อย่าท้อถอย จงปลูกข้าวไป คนไทยเรากินข้าว เราต้องปลูกข้าว เราจะมีสวนยาง สวนลองกอง เราจะมีสวนเงาะ สวนทุเรียน แต่อย่าลืมการปลูกข้าว อย่าทอดทิ้งการทำนา...”

         และชาวนากลุ่มนั้นกราบบังคมทูลว่า “...ข้าวปลูกแล้วไม่พอกิน ต้องซื้อจากจังหวัดพัทลุง...”

         มีพระราชดำรัสตอบว่า “...เราต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว และพัฒนานาให้สมบูรณ์ขึ้นเพื่อจะได้ไม่ต้องซื้อข้าวกิน...”
        เสด็จฯ มาถึงเต็นท์ที่ ๒-๖ ก็มีกล่องโฟมตั้งอยู่บนโต๊ะ มีราษฎรยืนเฝ้าฯ บ้าง ก็เสด็จฯ มาข้างหน้า ทรงเปิดกล่องโฟม ทอดพระเนตรเห็นปลาแช่น้ำแข็งอยู่ตัวเล็กๆ ดำๆ

         ทรงถามว่า “...ทำไมปลาตัวเล็ก...”

         ชาวบ้านก็ไม่พูดแต่กลับยื่นอัลบั้มรูปใส่ซองพลาสติกถวาย ทรงเปิดออกทอดพระเนตร เป็นรูปปลาอยู่ในคลองตายลอยเป็นแพเต็มคลอง

         ทรงถามว่า “...ทำไมตาย...”

         ชาวบ้านก็ไม่พูดยืนร้องไห้ ผู้ชาย ๓-๔ คน ก็ร้องไห้

         รับสั่งถามว่า “...ร้องไห้ทำไม...”

          ท่านองคมนตรีก็ตอบไม่ถูกว่า ทำไมชาวบ้านร้องไห้
        แต่นายอำเภอสายบุรีมาให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าเป็นผู้สั่งไม่ให้ราษฎรถวายฎีกา ไม่ให้ชาวบ้านพูดอะไรทั้งสิ้น คือ ให้ถวายปลาได้ แต่ห้ามพูด

          ชาวบ้านก็กลัวไม่กล้าพูด ร้องไห้อย่างเดียว ก็เลยถวายอัลบั้มรูปแทน

         ในที่สุดจึงทรงทราบว่า ปลาตายเพราะน้ำในพรุ (น้ำเปรี้ยว) ไหลลงคลองน้ำจืดที่ชาวบ้านยกกระชังขึ้นไม่ทัน ปลาก็เลยตายเพราะเจอน้ำเปรี้ยว

         เป็นปัญหาการสื่อสารระหว่างชลประทานที่ปล่อยน้ำทุกปี เมื่อจะปล่อยน้ำมา จะบอกล่วงหน้าสองวันก่อนน้ำเปรี้ยวจะมา ชาวบ้านจะยกปลาขึ้นให้น้ำเปรี้ยวไหลไปก่อนแล้วค่อยเอาปลาลงแล้วปลาก็จะอยู่ได้

         แต่ปีนั้นสื่อสารกันไม่ดี น้ำเปรี้ยวมาถึงชาวบ้านเก็บกระชังปลาไม่ทันปลาตาย
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ทรงแก้ปัญหาทันที ทรงเรียกแผนที่มาดู ให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประชุมกัน

        ทรงถามว่า “...น้ำเปรี้ยวมาอย่างไร น้ำจืดมาอย่างไร มีพื้นที่ไหน ที่จะเปลี่ยนน้ำเปรี้ยวไปลงทะเลไม่มายุ่งกับน้ำจืด...” ก็ทรงทราบปัญหาและข้อมูลอย่างทันท่วงที

        คืนนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปประชุมด่วนที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

        เช้าวันรุ่งขึ้นจึงนำเครื่องจักรเข้าพื้นที่ และเริ่มขุดคลองทันที ภายใน ๗ วัน คลองก็แล้วเสร็จ

        ทำให้ในปีนั้นน้ำเปรี้ยวไหลลงทะเลไป และไม่ต้องกลัวว่าน้ำเปรี้ยวจะไหลลงมาอีก

        การขุดคลองในครั้งนี้ใช้งบประมาณจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อจัดซื้อน้ำมันมาใช้ก่อน ตั้งแต่นั้นมาเวลาพูดถึงคลองนี้ก็เลยเรียก “คลองปลาร้องไห้” มาจนถึงทุกวันนี้

    
        ปีต่อมา เสด็จฯ ชาวบ้านมารอรับเสด็จฯ ทรงเปิดกล่องโฟมทอดพระเนตร พบว่า ปลาตัวใหญ่ ขาวสวย ก็ทรงทราบว่า ทำไมปลาปีนี้ไม่เหมือนปลาปีที่แล้ว ชาวบ้านไม่กล้าพูด

        จึงมีพระราชดำรัสว่า “...ปีนี้ปลาไม่ร้องไห้แล้วนะ...” และบัดนี้ปลาก็อ้วนท้วนแข็งแรง ขายได้เงินมีกำไรดี

        และทุกครั้งที่เสด็จฯ ชาวบ้านก็จะนำปลามาทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตร เห็นว่า ปลาตัวโต ก็มีพระราชดำรัสว่า “...ในเมื่อให้ ฉันก็ให้เจ้าหน้าที่ขนกลับไป...”

       ชาวบ้านก็ดีใจที่พระองค์จะเสวยปลาของพวกเขา เพราะจากการที่ได้รับพระราชทานความช่วยเหลือ ทำให้อาชีพเลี้ยงปลาในกระชังดังกล่าวไม่ขาดทุนอีก
        
        นี่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ทรงหาข้อมูลทันทีที่ฉับไว  เรียกผู้รับผิดชอบและเกี่ยวข้องทั้งหมดมาประชุมด่วน

        เพื่อทรงดูรายละเอียดว่า ข้อมูลที่ได้รับเบื้องต้นถูกต้องหรือไม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก็มาประชุมกันตรงนั้นเลย เป็นการประชุมและมีการปฏิบัติที่เร็วที่สุด เวลาที่บันทึกประชุม ๐๐.๑๕ น. ของวันใหม่

       พอรุ่งเช้าก็รุดไปพื้นที่ เมื่อคลองสายใหม่ขุดเสร็จ มีการประเมินทุก ๗ วัน ว่าน้ำเปรี้ยวไหลลงทะเลจริงไหม จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างไร.

ที่มา
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 4
ถ้าทุกหน่วยงานสานต่องานต่างๆตามหน้าที่ของตัวเองตามที่ท่านวางไว้อย่างตั้งใจ ประเทศไทยคงเจริญไปไกลแล้ว แต่เสียดายที่แต่ละคนไม่รู้จักใช้อำนาจหน้าที่อย่างถูกต้อง ไม่สานต่อ ไม่มองการไกล ละเลยต่อหน้าที่การงานของตัวและมัวแต่โทษนักการเมือง นายก และคนอื่นๆ โดยที่ไม่มองว่าตัวเองทำหน้าที่ของตัวเองดีพอหรือยัง ไม่ว่าอาชีพไหนการงานอะไรล้วนแต่เป็นกลไกพัฒนาประเทศด้วยกันทั้งสิ้น
ความคิดเห็นที่ 5
คนที่รู้จักทุกมุมของประเทศไทยดีที่สุด คือในหลวงกับสมเด็จ
ทรงเสด็จไปทุกหนแห่ง  ทรงรับข้อมูลข่าวสารด้วยพระองค์เอง
ไม่ได้ทรงนั่งรับถวายรายงานอยู่ในวังสบายๆ
ทรงตรากตรำลำบากพระวรกาย สิ้นเปลืองพระพลานามัย เสี่ยงพระชนม์ชีพก็หลายหน
แต่ทรงไม่ย่อท้อเลย ทรงเหมือนพระมหาชนกที่ว่ายในมหาสาครแต่ไม่ท้อแท้ ไม่ปริปากบ่น

ทรงประเสริฐถึงขนาดนี้ แล้วประชาชนอย่างฉันจะไม่รักพระองค์ได้อย่างไร
ความคิดเห็นที่ 13
อ่านแล้วยิ่งรู้สึกเคว้งคว้าง ต่อไปนี้ทิศทางของประเทศจะไปในทางไหน
ปัญหาแก้เรื่องน้ำเปรี้ยวเชื่อว่าผู้มีอำนาจในท้องถิ่นก็คงคิดได้
แต่ละเลย แถมยังปิดปากไม่ให้พูดอะไรอีก ไม่คิด ไม่ทำ ไม่ใช่เรื่องของตู
ยิ่งมาเห็นน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ช่วงนี้ยิ่งคิดถึงพระองค์ท่าน ถ้ายังทรงพระชนม์และแข็งแรง
เชื่อว่าประชาชนหลายพื้นที่คงไม่เดือดร้อนนานขนาดนี้
ช่วงนี้ได้อ่าน ได้ฟังถึงพระปรีชาสามารถแล้วทึ่งในพระองค์มากๆ
ประเทศเราได้สูญเสียมหาบุรุษผู้ที่เป็นทั้งหัวใจ สมอง กำลังของแผ่นดินไปแล้วจริงๆ
ความคิดเห็นที่ 6
อ่านเรื่อง ตำนานปลาร้องไห้ แล้วน้ำในตาก็เอ่อๆ มาคลอๆ
เราโชคดีแค่ไหน ที่ได้เกิดมาในรัชสมัยของพระองค์ ได้ทันเห็นพระองค์ท่านออกไปทรงงานเพื่อราษฎร

จำได้สมัยเด็กๆ แต่จำความได้ รู้เรื่องแล้ว
ปู่ซื้อทีวี ขาว-ดำ เครื่องแรกของบ้าน
ผมก็เห่อมาก เพราะที่บ้านจน ไม่เคยมีโทรทัศน์
แล้วก็จะต้องมีข่าวในหลวง ให้ดูทุกวัน วันนี้เห็นท่านบนยอดเขา ยอดดอย
อีกไม่กี่วันท่านก็ไปเดินตามคันนา  ไปกางแผนที่ ดูป่าชายเลน ฯลฯ

ท่านทรงงานหนัก สม่ำเสมอ ตลอดระยะเวลาเป็นสิบๆปี
เราจึงได้อาศัยอยู่บนแผ่นดินนี้กันอย่างสุขสบาย

คิดถึงพระองค์ท่านจริงๆครับ
ความคิดเห็นที่ 27
"เดิมทีนั้นเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ มาใหม่ๆ พวกเราชาวบ้านจะเรียกว่า รอยอซีแย
หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งคล้ายๆกับเรียกชาวต่างประเทศที่ดูห่างเหิน"
..แต่กาลเวลาที่ผ่านมา 60 ปี ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของคนไทยทั้งปวง
ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือไทยมุสลิม ทุกคนจะมีคำกล่าวถึงพระองค์ที่เหมือนกัน โดยไม่แบ่งแยก

เวลาผ่านไป ในตอนนี้ ชาวไทยมุสลิมเรียกในหลวงว่า "รายอกีตอ" เรียกสมเด็จพระราชินีว่า "ประไหมสุหรีกีตอ"
ซึ่งแปลว่า "ในหลวงของเรา และพระราชินีของเรา"
"การที่พวกเราเรียกเช่นนี้ ย่อมหมายถึงการได้รับความไว้วางใจ ความเคารพรัก เลื่อมใสศรัทธา
และความจงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง สิ่งเหล่านี้ซื้อไม่ได้ด้วยเงินตรา และสร้างขึ้นมาไม่ได้ด้วยวัตถุ"

ข้อความบางส่วน จากบล็อค เรื่องเล่าดีๆทีวีบูรพา
http://tvburabha.blogspot.com/2017/10/blog-post_6.html


*อยากแนะนำให้ดูรายการ "The Story เรื่องของพ่อที่รอ...ทุกคนเล่า" : ภาคใต้ (11 ต.ค. 60) ช่อง ThaiPBS
ตอน "พระผู้ทรงเป็นที่พึ่งของชาวไทยทั้งปวง แม้จะต่างภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม"
https://www.youtube.com/watch?v=trc6PstIvoM

ว่าที่ร้อยตรีดิลก ศิริวัลลภ ล่ามภาษามลายูประจำพระองค์ กับ คุณเมธี อรุณ  
เล่าได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง..ทำไมจาก "รอยอซีแย"-พระเจ้าแผ่นดินสยาม  ปัจจุบันคนมุสลิมจึงเรียก "รายอกีตอ"-ในหลวงของเรา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่