'เปลี่ยน' ก่อนที่จะโดนบังคับให้ 'เปลี่ยน' : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

กระทู้ข่าว
ที่มา : https://www.matichon.co.th/news/695643

           เป็นปริศนามาพักใหญ่ว่าบริการ “ไลน์ โมบาย” (LINE MOBILE) เป็นของใครกันแน่   ใช่ของ “LINE” เจ้าพ่อแอพพลิเคชั่น “แชท” ที่ปัจจุบันขยายบริการไปมากมาย และกำลังจะกระโดดเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ในฐานะ MVNO หรือไม่ (Mobile Virtual Network Operator-ผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายของตนเอง) ด้วยการเช่าใช้โครงข่ายของ “DTN-ดีแทค ไตรเน็ต” บริษัทในเครือดีแทค หรือของใครกัน?
          “ไลน์ โมบาย” ปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็น MVNO (ซึ่งถ้าจะเป็นต้องขอใบอนุญาตจาก “กสทช.” ก่อน) ถึงจะเปิดทดลองให้บริการได้ โดย “กสทช.” ในฐานะองค์กรอิสระที่กำกับดูแลผู้ประกอบการในธุรกิจนี้เองก็ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับบริการดังกล่าว หลังจากมีค่ายมือถือหลายรายร้องเรียนให้ตรวจสอบ
          หลังเปิดตัวบริการอย่างเป็นทางการ ข้อสงสัยต่างๆ ก็ยังไม่คลี่คลาย จนในที่สุด “ดีแทค” ต้องออกมาชี้แจงข้อมูลทั้งหลาย และยอมรับว่า “LINE MOBILE” เป็นแบรนด์ที่ 2 ของดีแทคเอง พร้อมอธิบายว่าบริการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง “ดีแทค ไตรเน็ต” (DTN) และ “ไลน์ ประเทศไทย”
          ให้บริการ และดำเนินงานโดย DTN ภายใต้กฎระเบียบและข้อบังคับของ “กสทช.” มีเป้าหมายเพื่อส่งมอบประสบการณ์ในการใช้งานที่ “ดีกว่า” ใน “ราคาที่ถูกกว่า” ไปยังผู้บริโภคเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชนคนใช้บริการโทรศัพท์มือถือ

          ส่วนที่สงสัยกันว่า “LINE MOBILE” เป็นผู้ให้บริการประเภท MVNO หรือไม่ และถ้าไม่ใช่จะทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่??

          “ดีแทค” ยืนยันว่า LINE MOBILE ไม่ใช่ MVNO เพราะใช้โครงข่ายคลื่น และบริหารจัดการโดย DTN จึงเป็นบริการของ DTN ดังนั้น รายได้ของ LINE MOBILE คือรายได้ของ DTN ซึ่งรัฐจะได้รับรายได้ทุกบาททุกสตางค์เสมือนการให้บริการอื่นๆ เป็นส่วนแบ่งที่ให้รัฐเช่นเดียวกับผู้ให้บริการรายอื่น
          แล้วทำไมต้องมีแบรนด์ที่ 2 แบรนด์ “ดีแทค” เดิมขายไม่ได้แล้วหรือ
          แอนดริว กวาลเซท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดิจิทัล บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) อธิบายว่า การมีแบรนด์ที่ 2 เป็นกลยุทธ์ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั่วโลก
          “ผู้บริโภคในไทยตื่นตัวกับโซเชียลเน็ตเวิร์กมาก บริษัทจึงตั้งดิจิทัลกรุ๊ปขึ้นมาเป็น 1 ใน 7 ของกลุ่มงานภายในบริษัท เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับดีแทคไปสู่วิถีดิจิทัลมากขึ้น เพื่อเปลี่ยนตนเองไปสู่การเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลภายในปี 2020”
          โดยภายในปี 2020 “ดีแทค” จะต้องมียอดขายที่เกิดจากช่องทางออนไลน์ถึง 40% และมีช่องทางในการให้บริการลูกค้าผ่านทางออนไลน์ได้ถึง 80% จากเดิมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวมจะมียอดขายผ่านช่องทางออนไลน์น้อยกว่า 5% และมีช่องทางบริการผ่านออนไลน์เพียง 15% เท่านั้น
          สำหรับ “LINE MOBILE” ถือเป็นแบรนด์ใหม่ ภายใต้ความรับผิดชอบของสายธุรกิจ “ดิจิทัล” ที่จะมีทีมงานเป็นอิสระเพื่อเอื้อให้เกิดการคิดนอกกรอบ และสร้างบริการที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ดีที่สุด เช่นกันกับบริการภายใต้แบรนด์ “ดีแทค” เดิมก็จะต้องมุ่งไปสู่ความเป็นแบรนด์ดิจิทัลเพื่อสลัดภาพเดิมๆ
          และ LINE MOBILE จะต้องแข่งขันกับบริการภายใต้แบรนด์ “ดีแทค” เดิมด้วย
          “ไลน์ โมบายเป็นการลงทุนในธุรกิจใหม่ของดีแทค ในลักษณะเดียวกับโครงการ ดีแทค แอคเซอเลอเรทที่ดีแทคลงทุนกับสตาร์ตอัพ โดยไลน์ โมบายคือการลงทุนสร้างแบรนด์ใหม่ มีการบริหารงานอิสระ มีทีมแยกต่างหาก แต่พนักงานไลน์ โมบายยังถือเป็นพนักงานของดีแทคแค่ทำงานแยกส่วนกันชัดเจนกับแบรนด์ดีแทค”
          เป็นความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้แข่งขันกันเองภายใน เพื่อให้บริการที่ดีที่สุดให้กับ “ลูกค้า”
          “ผู้บริหารดีแทค” ระบุว่า เปรียบได้กับ “การดิสรัปตนเองของดีแทค”
          “การดิสรัปตนเองเป็นเรื่องใหม่ในตลาดจึงทำให้เกิดคำถามในสังคมตามมามากมาย แต่โดยข้อเท็จจริงไลน์ โมบายไม่ใช่แบรนด์ที่ 2 บนโครงข่ายเดิมรายแรกในประเทศไทย ก่อนนี้ก็เคยมีแล้ว เช่น แบรนด์ YOU ของเอไอเอส”
          จากข้อมูลของ GSMA (สมาคมจีเอสเอ็ม) พบว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั่วโลก มีการใช้กลยุทธ์ second brand มากกว่า 260 แบรนด์ และเป็นกลยุทธ์ที่มักใช้ในตลาดโทรศัพท์มือถือที่เริ่มอิ่มตัว ซึ่งมีอัตราการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยที่ 127% ขณะที่อัตราการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือของไทยอยู่ที่ 133%
          “การแข่งขันระหว่าง 2 แบรนด์ ทำให้เกิดความกดดัน ความขัดแย้งกับพนักงานแน่นอน แต่เป็นข้อดีที่จะเป็นแรงผลักดันให้ทั้ง 2 แบรนด์ดีขึ้น น่าจะเป็นผลบวกกับทั้ง 2 แบรนด์ และด้วยราคาของไลน์โมบายที่ถูกกว่าจึงจะมีลูกค้าดีแทคบางส่วนย้ายมาใช้แน่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดแน่นอน เพราะไลน์ โมบายเจาะกลุ่มดิจิทัลกับออนไลน์เท่านั้นจึงเชื่อว่าจะไม่เข้ามาแทนที่แบรนด์ดีแทคทั้งหมด แต่จะช่วยดึงลูกค้าจากค่ายอื่นเข้ามา”
          ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยี “ดิจิทัล” กำลังเปลี่ยนโลกใบเดิมให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่เฉพาะกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง
          เรากำลังอยู่ในยุค “ทำลายล้างเพื่อสร้างสรรค์” จากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” อย่างแท้จริง
          เมื่อพฤติกรรม “ผู้บริโภค” ไม่เหมือนเดิม ถ้าเจ้าของสินค้าและบริการต่างๆ ไม่เปลี่ยนแปลงตนเองก็จะต้องโดนบังคับให้ต้องเปลี่ยนอยู่ดี ใครปรับตัวไม่ทันก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วจากการล่มสลายของบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกหลายราย ไม่ว่าจะเป็นโนเกีย, บล็อกบัสเตอร์, โกดัก, แบล็กเบอรี่ และสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของโลก
          “กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” ผู้ก่อตั้งสถาบันสอนสตาร์ตอัพ Disrupt University และผู้จัดการกองทุน 500 Tuk Tuks เคยกล่าวไว้บนเวทีสัมมนาของ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อปลายปีที่แล้วว่า ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุค “innovate or die” จาก digital disruption
          “แพลตฟอร์ม” Airbnb เป็นแพลตฟอร์มจองโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไม่มีโรงแรมของตนเอง เช่นกันกับธุรกิจสื่อที่ใหญ่ที่สุดในโลกในวันนี้ คือ “เฟซบุ๊ก” แต่ไม่มีสื่อเป็นของตนเอง เพราะให้ทุกคนเป็นสื่อ
          หมายความว่า ธุรกิจเดิมๆ จะต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนตนเองให้ทัน หากต้องการอยู่ให้รอดในยุค “ดิจิทัล”
          ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม โลกวันนี้ และในอนาคตจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว
          เมื่อความสำเร็จในอดีตไม่ได้การันตีอนาคต จะเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน หรือรอให้โดนบังคับให้เปลี่ยน?
          สำหรับ “ดีแทค” เลือกเขย่าองค์กรครั้งใหญ่ ด้วยการมีแบรนด์ที่สอง “LINE MOBILE”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่