[CR][SR] หัวใจพาเดิน.. เพื่อ.. พ่อหลวง

กระทู้แรกของหัวใจพาเดิน ก็เป็นกระทู้ที่สำคัญสำหรับตัวเองเอาเสียด้วย ผมใช้เวลากับข้ออ้างเรื่องความพร้อมของตัวเองมานานมาก..
ล่วงเลยมานานจนครบ 1 ปี
การเริ่มต้นของกระทู้นี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เวลาตอนนั้นของผมประมาณ 1 ทุ่ม..ในวันที่คนไทยทราบข่าวการจากไปของพ่อหลวง..ขณะนั้นตัวผมเองมีเพียงความสับสน เคว้งคว้าง เหมือนมีบางสิ่งที่สำคัญในชีวิตได้หายไป...........................จนกระทั่ง ผมได้มีโอกาสเข้าไปเคารพพระบรมศพ ทำให้ผมก็ได้สัมผัสกับเรื่องราวภายในนั้นมากมายให้จดจำ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดการเดินทางในครั้งนี้ก็คือ ความเสียสละ ของอาสาสมัครทั้งหลายที่ผมได้เห็น ไม่ว่าจะพี่ๆน้องๆที่ขี่มอเตอร์ไซด์ รับส่ง สนามหลวง (ซึ่งผมเองก็ใช้บริการ) อาสาสมัครเก็บขยะ.. ถ่ายรูป หรือช่วยเหลือผู้สูงอายุ ตลอดจนทุกๆส่วนที่ผมไม่อาจกล่าวได้หมด ทำให้ผมเองเกิดคำถามว่า ...แล้วตัวผมเองละ สามารถทำอะไรได้บ้าง..กลับไปคิดทบทวนหลายต่อหลายครั้ง ว่าเราจะสามารถทำอะไรเพื่อพ่อหลวงได้บ้าง แล้วสิ่งไหนคือสิ่งที่ผมถนัดที่สุด...แล้วผมก็ได้คำตอบสำหรับตัวเอง ...ผมเป็นคนชอบเที่ยว... ผมก็จะพาทุกคนที่ไม่เคยได้เห็น ไปได้เห็นในสิ่งที่พ่อหลวง ได้ทำให้กับประชาชนชาวไทยเอาไว้มากมาย ผมจึงตัดสินใจ เดินทางไปยังโครงการหลวงต่างๆที่ ท่านเป็นผู้ริเริ่ม และพัฒนาจนชาวเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผมไม่เพียงแต่เดินทางไปในโครงการหลวงที่ใครหลายๆคนรู้จัก แต่ผมเลือกเดินทางไปยังโครงการหลวงอื่นๆที่ผมไม่เคยรู้จักเพียงเพราะ ต้องการเดินตามรอยเท้าท่าน...แล้วผมสัมผัสได้เลยว่า ท่านได้ทำอะไรไว้ให้พวกเราคนไทยไว้มากมายจริงๆ
การเดินทางของผมเดินทางไปทั้งหมด 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 19 - 23 พฤศจิกายน 2559
ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 3 ธันวามคม 2559
และครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 24 - 25 มีนาคม 2560
การเดินทางของครบเกือบจะครบทุกอย่าง ตั้งแต่เครื่องบิน รถไฟ รถยนต์ รถตู้ รถมอเตอร์ไซด์
ก่อนเข้าสู่การเดินทาง..ผมขอขอบคุณ คนหลายๆคนที่มีส่วนช่วยเหลือในการเดินทางในครั้งนี้ของผม ปู สำหรับการช่วยวางแผนเดินทาง ช่วยถ่ายรูปและอีกมากมาย พี่คม สำหรับรับส่งสถานีรถไฟฟ้าไป บ.ข.ส. น้องเชอรี่สำหรับพาคุณลุงไปส่งที่หัวลำโพงแบบเร่งด่วน และเพื่อนเกิ้ลกับคู่ชีวิตที่พาตะล่อนทั่วแม่ฮ่องสอน

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านขุนวาง เป็นครั้งแรก ได้ทอดพระเนตรเห็นว่า บริเวณนี้ยังมีพืชเสพติดอยู่มาก ควรจะส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่มีรายได้ทัดเทียมหรือดีกว่าปลูกฝิ่นจึงรับสั่งให้หน่วยงานในพื้นที่ช่วยกันพิจารณา ปรับปรุงและพัฒนา มีหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบจำนวน 7 หมู่บ้านคือ บ้านขุนวาง บ้านป่ากล้วย บ้านโป่งลมแรง บ้านโป่งน้อยเก่า บ้านห้วยยาว และบ้านขุนแม่วาก
พื้นที่บริเวณเคยเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นแหล่งใหญ่แห่งหนึ่ง แต่ด้วยพระบารมีทำให้พื้นที่บริเวณนีถูกพลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ใครมีโอกาสลองมาช่วงกลางเดือนมกราคม จะได้ชมดอกพญาเสือโคร่งบานพรั่ง
การเดินทางในปัจจุบันมีถนนลาดยางอย่างเป็นอย่างดี แต่ก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงในการเดินทาง ลองจินตนาการย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้วท่านขับรถมาเอง ในเส้นทางที่ทุรกันดาร อย่างนี้เพื่ออะไร

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงดอยอินทนนท์,สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์  ราษฎรที่อาศัยบนพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าม้ง ซึ่งบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด และฝิ่น ส่งผลให้ป่าที่เคยสมบูรณ์กลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม พ่อหลวงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวเขาเหล่านั้นให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง และได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ทางด้านการเกษตรแผนใหม่ ปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ด้วยการหันมาทำการเกษตรแบบถาวร อันเป็นที่มาของการจัดตั้ง “สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์” ในปี พ.ศ.2522 ณ บริเวณบ้านขุนกลาง เพื่อเป็นสถานีวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงอีกแห่งหนึ่ง ดำเนินงานวิจัยด้านไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก และไม้ผล รวมทั้งถ่ายทอดผลงานวิจัยไปสู่การส่งเสริมให้เป็นรายได้ของครอบครัวเกษตรกรทั้งชาวกะเหรี่ยง และ ม้งในหมู่บ้านรอบๆ สถานีฯ พร้อมกับการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานพัฒนาด้านสังคมและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารและโปรดให้เป็น “สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์” ในปี พ.ศ.2550

ระหว่างทางเข้าสถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์ เป็นจุดที่ผมชอบมากที่สุด เพราะเจ้าดอกไม้เล็กๆข้างหลังผมนี้แหละครับ

ชีวิตที่ดีขึ้นของชาวเขาเกิดมาจากพ่อหลวง ทรงนำกาแฟเข้ามาส่งเสริมให้ปลูกทดแทน และในปัจจุบันกาแฟจากที่นี้ส่งขาย Star buck เป็นหลัก ขนาดผมไม่ใช่คอกาแฟ ได้กินกาแฟที่นี้ยังอร่อยเลยจริงๆครับ ไม่ขมเหมือนกาแฟที่อื่นๆ

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 พ่อหลวงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับก่อสร้างศูนย์ฯ ตีนตก ด้วยจำนวนเงิน 300,000 บาท เพื่อจัดตั้งให้เป็นศูนย์พัฒนา สาธิต และส่งเสริมการเพาะเห็ดหอม และการปลูกกาแฟเป็นอาชีพเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ นอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง พื้นที่รับผิดชอบดำเนินงาน 34.65 ตร.ม. (21,656 ไร่) เป็นพื้นที่ของศูนย์ฯ 52.1 ไร่

มีแปลงสาธิตปลุกกาแฟให้เราเข้าไปชมได้ กาแฟที่นี่อยู่ท่ามกลางป่าเขาและลำธาร

ปัจจุบันโครงการหลวงตีนตก มีโรงคั่วกาแฟขนาดใหญ่ที่ใช้คั่วกาแฟในแบรด์ของโครงการหลวง

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง
ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2522 ในเขตหมู่บ้านห้วยตอง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามแนวทางพระราชดำริของพ่อหลวงโดยเริ่มดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมด้านพืช ได้แก่ ไม้ผล, ไม้ดอก, และผักเป็นลำดับแรก ต่อมาได้ทำการขยายผลการดำเนินงานไปในด้านการเลี้ยงสัตว์ จนสามารถดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม พร้อมทั้งได้ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป

ที่นี่ก็จะเน้นการปลูกผักสลัด ซึ่งมีมากจริงๆ

ตลอดการสนทนาระหว่างผมกับเจ้าหน้าที่ของโครงการหลวง มีแต่ความรู้สึกดีๆ ที่พี่เค้าเต็มใจเล่าให้ฟัง ความภูมิใจที่ได้มาทำงานในโครงการหลวงต่อจากแม่ และความรักที่มีต่อพระองค์ที่ทรงเมตตาชาวเขาในพื้นที่แห่งนี้ได้มีอาชีพ เสียดายไม่ได้ไปอ่างเก็บน้ำของพ่อหลวง ที่พี่เค้าแนะนำให้ไป

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ
ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยน้ำดิบ ตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ณ บริเวณสองฟากฝั่งน้ำแม่ทา อันเป็นถิ่นอาศัยของชาวพื้นเมืองและชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งบุกรุกทำลายป่าเพื่อการเกษตรกรรม เช่น การทำนา การปลูกฟักทองและการปลูกข้าวโพดอ่อน ส่งจำหน่ายให้แก่โรงงาน เกษตรกรจึงมีรายได้ค่อนข้างต่ำ และมีสภาพความเป็นอยู่ไม่ดีเท่าที่ควร ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือจึงเริ่มต้นขึ้น ในรูปโครงการหลวงพัฒนาภาคเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2521 ตามพระราชดำริของพ่อหลวงที่จะช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ขุนแม่ทาเหนือ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เป็นโครงการหลวงที่แทบไม่มีป้ายบอกทาง แม้แต่ใน Google map ยังไม่มี ขับไปด้วยความไม่แน่ใจว่า กำลังหลงทางไหมเนี่ย..จนเจอรถของโครงการหลวงขับรถสวนทางไป ถึงใจชื้นขึ้นมาหน่อย

ที่นี่ชาวบ้านสวยใหญ่จะปลูกผักที่สามารถปลูกได้ในระดับความสูงของพื้นที่ที่ไม่มาก เช่นพริกหยวก หรือถั่วเข็ม ซึ่งปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี ซึ่งชาวบ้านบอกจะได้ราคาดีกว่ามาก

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก
ตั้งอยู่ที่บ้านแม่สะป๊อก หมู่ 5 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2526 เพื่อต้องการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับราษฎรในพื้นที่ การวิจัยพืชเกษตรหลักที่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอแก่การเลี้ยงชีพ เพื่อหลีกการปลูกฝิ่น อีกทั้งปลูกฝั่งให้เกิดจิตสำนึกอนุรักษ์ป่าอันเป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำ ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน

โครงการหลวงที่นี้เป็นที่แรกที่ผมเริ่มเดินทาง ที่นี้เน้นไปในเรื่องของการปลูกผักสลัดเป็นหลัก โดยเพาะต้นกล้าให้ชาวบ้านนำไปเพาะปลูกอีกที

ผมว่าท่านอยู่กับเราในทุกๅสถานที่จริงๆ

สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด
พัฒนามาจากศูนย์วิจัยกาแฟอาราบิก้า ที่บ้านแม่หลอดซึ่งมีการปลูกกาแฟอาราบิก้า และมีการแพร่ระบาดโรคราสนิมอย่างรุนแรง พันธุ์กาแฟลูกผสม เป็นสายพันธุ์ต้านทานโรคราสนิม จากศูนย์วิจัยโรคราสนิม ของโปรตุเกส ชั่วที่ 2 ( F2 ) จำนวน 28 คู่ผสม รวมทั้งพันธุ์แท้อื่นๆ ทั้งหมดนำลงปลูกที่ศูนย์วิจัยกาแฟบ้านแม่หลอด การดำเนินงานวิจัยสายพันธุ์ จึงเริ่มจากปี พ.ศ.2517 ถึงปี พ.ศ.2523 สายพันธุ์กาแฟได้แพร่หลายออกไปยังแหล่งปลูกต่างๆ เช่นที่ ขุนวาง วาวี เขาค้อ ดอยมูเซอ ป่าเมี่ยงดอยสะเก็ด ปีพ.ศ. 2527 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงพระกรุณารับไว้ในความดูแลของโครงการหลวง และได้ชื่อว่า “สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด” การคัดเลือกสายพันธุ์ต้านทานโรคราสนิมดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง มีแปลงลูกผสมชั่วที่ 3-4-5 และชั่วที่ 6 สถานีได้นำไม้โตเร็วมาปลูกให้เป็นร่มเงามากถึง 7 ชนิด จนเป็นสวนกาแฟภายใต้ร่มเงาที่สมบูรณ์ทีสุด

รู้สึกเหมือนโดนต้นกาแฟโอบกอด

ที่นี่มีแปลงกาแฟเยอะมากๆๆๆๆ เพราะเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์กาแฟ ที่มากที่สุดของโครงการหลวง
ชื่อสินค้า:   รัชกาลที่ ๙
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
**SR - Sponsored Review : ผู้เขียนรีวิวนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง แต่มีผู้สนับสนุนสินค้าหรือบริการนี้ให้แก่ผู้เขียนรีวิว โดยที่ผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอื่นใดในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่