เมื่อต้องบริหารประเทศในมุมมองของการบริหารธุรกิจเอกชนจะเป็นอย่างไร?

อยู่ดีๆก็นึกสนุกตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะเป็นไปได้มั้ยที่การบริหารประเทศจะใช้วิธีเหมือนกับการบริหารธุรกิจเอกชนต่างๆ? ก็เลยกลายมาเป็นเนื้อหาสนุกๆในกระทู้นี้ ซึ่งกระทู้นี้จะไม่เป็นการอ้างอิงถึงประเทศใดๆทั้งสิ้นหัวเราะ โดยเราจะสามารถบริหารประเทศประเทศหนึ่งโดยใช้หลักการเหมือนการบริหารธุรกิจได้หรือไม่นั้น ลองมาดูกัน

เริ่มแรกด้วยการวิเคราะห์ตัวเอง
อันดับแรกเริ่มด้วยการวิเคราะห์ตัวเองก่อนว่า เราอยู่ในบทบาทใด ทำอะไร และจะทำเงินได้อย่างไร? ซึ่งก่อนเราจะเริ่มทำอะไรเราก็ต้องวิเคราะห์ตัวเองก่อนเสมอ
ในบทบาทของการบริหารประเทศ รัฐบาลมีหน้าที่เป็นผู้นำหลักของประเทศ คอยกำหนดชี้ทิศทางต่างๆในการเดินหน้าโดยมีคนอื่นๆตามหลัง โดยรัฐบาลจะเก็บเงินจากภาษี ซึ่งเงินภาษีนั้นจะได้มาจะกำหนดเป็นอัตราต่างๆตามเหมาะสม และภาษีจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีเงินไหลผ่านตามระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเงินภาษีของรัฐบาลเกิดจากส่วนประกอบสองส่วนที่สำคัญคือ อัตราภาษี และ ขนาดของเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นถ้ามองในมุมของการทำธุรกิจ เราอยากได้เงินเยอะขึ้นต้องทำยังไง? ก็ต้องเพิ่มราคา หรือ เพิ่มปริมาณ

“ถ้าอยากได้เงินมากขึ้น การเพิ่มอัตราภาษีไม่ใช่แค่หนทางเดียวที่มี”

วิธีแรกคือการเพิ่มราคาก็เหมือนการเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้น แน่นอนว่าวิธีนี้ง่ายแสนง่าย แถมไม่มีคู่แข่งให้ปวดหัวเรื่อง Price war อีกต่างหาก
ส่วนอีกวิธีคือการเพิ่มปริมาณหรือก็คือการทำให้เศรษฐกิจขยายตัว เศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น ปริมาณเงินจะมากขึ้น ภาษีก็ได้มากขึ้นตาม

แล้ววิธีไหนจะดีกว่ากัน? แน่นอนว่าวิธีแรกนั้นง่ายมากๆ แต่ก็จะมีผลทำให้ประชาชนที่อยู่ส่วนผู้บริโภคสุดท้ายต้องมีรายจ่ายที่มากขึ้น และการขึ้นภาษีจนทำให้ข้าวของแพงขึ้นนั้น ยังส่งผลให้ประชาชนจะลดการจับจ่ายใช้สอยลง ทำให้เศรษฐกิจฝืดลงอีกด้วย
ส่วนวิธีที่สอง ในส่วนตัวมุมมองคนทำธุรกิจ มองว่าเป็นวิธีที่ดีและยั่งยืน เนื่องจากถ้าเราสามารถทำให้เศรษฐกิจดี ขยายตัวมากขึ้น นอกจากตัวเราเอง(รัฐบาล) จะได้ภาษีที่มากขึ้นแล้ว ประชาชนนั้นยังมีความเป็นอยู่ที่สบายมากขึ้นอีกด้วย

ผมมักจะมองเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจเป็นหลักมากกว่าอะไรที่ฉาบฉวย สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจอย่างหนึ่งคือจะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน

การทำธุรกิจแบบยั่งยืนและไม่ยั่งยืน นั้นไม่แตกต่างกันมากในเรื่องของพลังงานและทรัพยากรที่ต้องใช้มากเท่าไหร่ แต่จะต่างกันที่การใช้สมองและความคิดในการเลือกทางเดินว่าทางไหนจะให้ผลและให้ความยั่งยืนที่มากกว่ากันแค่นั้น

เอาละ ในเมื่อการเลือกวิธีที่สองคือการขยายเศรษฐกิจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าทางเลือกแรก แล้วจะต้องทำยังไง?

บทบาทและการทำงานของเรา(รัฐบาล)ในการหาเงินและการบริหาร

โอเค ต้องทำยังไงละทีนี้ ถึงจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้?  ก่อนอื่นก็คงต้องมาดูก่อนว่าอะไรที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว
ระบบเศรษฐกิจหรือทำมาค้าขายของธุรกิจต่างๆ เกิดขึ้นด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ไม่พ้นมีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องสินค้าหรือบริการที่  และยังรวมถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกด้วย

แล้วในฐานะที่รัฐบาลเป็นผู้นำทิศทางของประเทศ เราจะต้องทำอย่างไรถึงจะคอยสนับสนุนและวางแผนรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศดีละ?
งั้นมาดูทีละส่วนแล้วกัน

1.คนเป็นส่วนสำคัญแน่นอนอยู่แล้ว แล้วเราจะต้องทำอะไรกับคนหรือประชาชนดีละ? คนเป็นส่วนสำคัญที่สุดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่มีคน ก็ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การมีคนที่มีคุณภาพสูงหรือคุณภาพต่ำก็มีผลด้วยเช่นกัน คนที่มีคุณภาพสูงก็ย่อมสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจได้มากเมื่อเทียบกับคนที่มีคุณภาพต่ำ เพราะงั้นไม่ต้องลังเลเลยว่า รัฐบาลต้องลงทุนในส่วนของการศึกษาของคนในประเทศเป็นอันดับแรก

คนทุกคน มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งล้วนแต่มีผลกับเศรษฐกิจทั้งสิ้น ถ้าคนเจ็บทำงานไม่ได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็หยุดชะงักหรือช้าลง ถ้าคนตายก็ทำให้ปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงหรือหายไป ดังนั้น ปัจจัยที่สองที่เราควรสนับสนุนก็คือระบบสาธารณสุข
การลงทุนในระบบสาธารณสุขนอกจากจะช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการ Maintain กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ดีอีกทางหนึ่งด้วย คงจะไม่ดีแน่ๆถ้าคนเจ็บป่วย คนตายเยอะๆ แบบนี้เศรษฐกิจจะเดินต่อหรือขยายได้อย่างไรกัน

2.สิ่งที่จะขาย ได้แก่สินค้า บริการ การท่องเที่ยว แล้วในฐานะรัฐบาล เราจะสนับสนุนส่วนนี้ได้ยังไง? ก็มีหลายอย่าง ตั้งแต่การสนับสนุนเงินลงทุนในส่วนของพื้นที่ต่างๆตามลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศและพื้นที่ๆเหมาะสม การเลือกเก็บอัตราภาษี โปรโมชั่นอัตราภาษีต่างๆเพื่อขยายการลงทุนในแต่ละส่วน ทำได้เยอะแยะมาก เป็นการลงทุนที่ยอมขาดทุนกำไรนิดหน่อยแต่จะได้ผลลัพท์ในอนาคตกลับมาอีกมากมาย

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเองที่จะต้องกำหนดว่าจะต้องทำอย่างไร เทรนด์โลกเป็นอย่างไร บุคคลากรในประเทศเป็นอย่างไร วิสัยทัศน์ต้องมองล่วงหน้าถึงแนวโน้มของสิ่งต่างๆทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นสิบๆปี แล้ววางแผนดำเนินงานให้สนับสนุนสิ่งที่ได้คาดการณ์เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นพาหนะพลังงานไฟฟ้า ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานสะอาดต่างๆ ที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วและจะเป็นส่วนสำคัญในอนาคตของโลก

3.ส่วนการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากกิจกรรมต่างๆไม่ได้เกิดขึ้นและจบในที่เดียวเสมอๆ ดังนั้นการเดินทางจึงเป็นส่วนสำคัญ การมีระบบโครงสร้างคมนาคมที่ดีจะช่วยสนับสนุนได้มาก ถ้าประเทศมีระบบการคมนาคมที่ดี ระยะ Wait time ที่เสียไปโดยไร้ค่าก็จะลดลง อย่างบางทีการส่งสินค้าที่ต้องส่งไปยังที่ทุรกันดาร ถ้าถนนไม่ดี รถทำความเร็วได้ช้า ของก็ส่งไปถึงช้า แต่ถ้าเรามีถนนที่ดีก็จะทำให้สามารถส่งของได้เร็วขึ้น หรือถ้าเรามีระบบการขนส่งพิเศษอย่างรถไฟความเร็วสูง หรือ Hyperloop ที่กำลังคิดค้น ลองคิดดูว่า จากระยะเวลาที่เท่ากัน การคมนาคมแต่ละประเภทมันจะสามารถเพิ่มปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากมายขนาดไหน

แน่นอนว่าปัญหารถติดก็เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญ วันๆนึงแทนที่เราจะได้ไปทำงานหรือไปส่งของหรือเจรจาธุรกิจได้หลายที่ แต่ถ้าเจอรถติดบางทีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สามารถทำจบได้หลายๆกิจกรรมในวันเดียว ก็จะเหลือเพียงแค่ 1-2 กิจกรรมที่จะสามารถทำได้ ซึ่งะส่งผลล่าช้าในแง่ธุรกิจต่างๆ นี่ก็เป็นปัญหาที่ฉุดรั้งระบบเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งเหมือนกัน ถ้าแก้ไขได้จะสามารถเพิ่ม GDP ได้มากมายจริงๆ

นอกจากนี้ก็ยังเป็นเรื่องการวางระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และขยายความเจริญไปยังหัวเมืองที่ได้กำหนดจุดยุทธ์ศาสตร์ไว้ ปกติแล้วการลงทุนควรมีการกระจายความเสี่ยง ซึ่งการมีหัวเมืองที่เป็นหัวเมืองหลักของระบบเศรษฐกิจที่น้อย ก็จะทำให้มีความเสี่ยงมาก แต่ถ้าประเทศมีหัวเมืองที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจจำนวนมาก ก็จะส่งผลดีและลดความเสี่ยงในการลงทุนได้

ถึงเวลาทำจริง
ไม่ว่าแผนจะได้ผลลัพท์ที่ดีแค่ไหน แต่ถ้าทำไม่ได้ตามแผนหรือทำไม่ครบหรือขาดหาย ก็จะลดทอนผลลัพท์ของแผนลง โดยปกติแล้วแผนเป็นเรื่องที่ง่าย มองเห็นเป็นฉากๆ มองเห็นผลลัพท์ได้เลยจากความคิดและการคาดการณ์ แต่พอมาทำจริงนี่แหละปัญหาที่ทำให้แผนที่ดีไม่ประสบผลสำเร็จได้อย่างที่วางไว้
ส่วนสำคัญอีกส่วนก็คือเรื่องคอรัปชั่น ไม่ว่าแผนจะดีแค่ไหน วางเงินลงทุนไปเท่าไหร่ แต่ถ้าเกิดคอรัปชั่นก็จะทำให้คุณภาพและปริมาณต่อจำนวนเงินลดลง ซึ่งปัญหาคอรัปชั่นก็เป็นปัญหาสำคัญอีกเรื่องที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการลงทุนของรัฐบาลนั้นมีผลลัพท์ที่ควรจะได้นั้นลดลงไป หรือบางทีอาจจะทำให้เป็นการลงทุนที่สูญเปล่าเลยก็ได้เช่นกัน

ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต โดยปกติของคนทำธุรกิจจะลงทุนแล้วได้เงินกลับมาในทางตรง เรารู้ว่าเราซื้อมาเท่าไหร่ ขายเท่าไหร่ ต้นทุนเท่าไหร่ ค่าบริหารเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ แต่ในฐานะของรัฐบาลจะเป็นการการลงทุนและได้ผลตอบแทนกลับมาในทางอ้อมในรูปแบบของภาษี เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน จากเงินที่ลงทุนไปในส่วนต่างๆ แต่ทั้งนี้ก็สามารถมองในลักษณะเป็นการลงทุนเหมือนทำธุรกิจได้เช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ารายได้ที่ยั่งยืนของรัฐบาลไม่ใช่การขึ้นภาษี แต่เป็นการผลักดันและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าและมีความยั่งยืนที่มากกว่า

ส่วนเรื่องการจัดการส่วนความมั่นคงอื่นๆของรัฐบาลไม่ขอพูดถึงเพราะตัวผมเองก็เป็นแค่คนทำธุรกิจเล็กๆแค่นั้น ก็เลยจะมีแค่มุมมองของการหาเงินและการบริหารว่าจะสามารถทำได้แบบไหนบ้างเท่านั้น หัวเราะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่