ตะโกน้อย ชวนฝอย อร่อยกับ “ปลากระบอก ทอดขมิ้น”

ข้างขึ้น6-7 ค่ำ น้ำที่เคยขึ้นและลงไหลเชี่ยวในช่วง1-5ค่ำ เปลื่ยนเป็นน้ำเอื่อยๆ และเริ่มที่จะหยุดเข้าสู่ น้ำตายราว3-4วัน
ฝูงปลากระบอก ที่เคยว่ายเข้าตื้นในช่วงน้ำเต็ม กลับหายไป อาจจะเป็นเพราะวางไข่เรียบร้อยแล้ว ก็ออกสู่ทะเลไกลออกไปไม่ห่างนัก
ส่วนปลารุ่นใหม่ คงต้องรอน้ำหน้า ถึงจะกลับมาวางไข่ใกล้ชายฝั่ง

ปลากระบอกในช่วงนี้ จะมีเนื้อที่มัน ไข่ก็จะล้นหลาม
ยิ่งเป็นปลากระบอกในทะเลใน หมายถึง ทะเลสาป เนื้อยิ่งมันอร่อย
ส่วนที่อยู่ทะเลนอก คือแถบชายหาดตั้งแต่หัวเขื่อนจนถึงสะกอม ก็พอกินได้
แตกต่างจากปลากระบอกทางฝั่งอันดามัน ทั้งคุณภาพและราคา

จากปลาที่เคยยกบาม(ยอ)ได้ ต้องเปลื่ยนวิธีจับ เพราะปลาในช่วง6-7 ค่ำจะอยู่ห่างออกไป
จึงต้องใช้อวนติด หรือกัด วางดักปลาในช่วงเช้ามืด ครั้นสายหน่อยก็ออกไปกู้อวน
ปลาติดอวนไม่มากนัก พอได้ทอด ได้แกง ทำกับข้าวกินไปมื้อๆ
ปลาที่จับได้ด้วยอวน จะเห็นร่องรอยถูกอวนรัดบริเวณหัว และคอ จึงเป็นข้อสังเกตุได้ในระดับนึงว่า “ปลาติดอวน”

อยู่ใกล้ทะเล ใช่ว่าจะได้กินกุ้ง กินปู ตลอด ยามที่หาไม่ได้ก็ต้องจำใจกิน
ได้อะไรมาก็ต้องทนกิน ชีวิตชาวประมง เลือกกินไม่ได้ อดตายแน่นอน

กู้อวนเสร็จ แวะกินน้ำชา กับ ต้มหาง ข้างมัสยิด
ถึงบ้านจอดซาเล้ง ตะโกน้อยจำเสียงรถซาเล้งได้ รีบวิ่งมาชะเง้อดู
ครั้นเห็นในมือถือปลามา ก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ แทบจะตะกายผ่านกระจก
แถมมีเล่นหู เล่นตา ปานว่า เจอเนื้อคู่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่