'ค่าบริการ' ระเบิดเวลารอถล่ม 'เน็ตประชารัฐ'


โครงการเน็ตชายขอบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยิ่งเดินหน้าได้รวดเร็วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ขยะที่ซุกใต้พรมของโครงการเน็ตประชารัฐใกล้ทะลักออกมาส่งกลิ่นคละคลุ้ง โดยเฉพาะจุดตายเรื่องการคิดราคา 'ค่าบริการ' ที่วันนี้ กสทช.รอเซ็นสัญญากับผู้ชนะการประมูลติดตั้ง แต่ 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' เลขาธิการกสทช.ได้ประกาศเสียงดังฟังชัดว่าไม่น่าจะเกินเดือนละ 200 บาท ในขณะที่เน็ตประชารัฐของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่มอบหมายให้ทีโอทีดำเนินการ กลับคิดราคา 399-599 บาท ทำให้โครงการที่เกือบจะแล้วเสร็จ 24,700 หมู่บ้านยังไม่สามารถเปิดบริการได้สักหมู่บ้านเดียวมีแค่ราคาคุยผักชีฟุ้งกระจาย

ปัญหาเรื่องค่าบริการที่ต่างกันสุดขั้ว ทำให้มีความพยายามล้มโครงการเน็ตชายขอบของ กสทช. เพื่อไม่ให้เกิดการเปรียบเทียบราคาค่าบริการ และเพื่อดึงเม็ดเงินกว่าหมื่นล้านบาทจากกสทช.ให้เข้ากองทุนดีอีเพื่อนำมาให้ทีโอทีดำเนินการทั้งหมด โดยยืมมือสตง.ส่งหนังสือท้วงติงโครงการแบบแผ่นเสียงตกร่อง เพราะขณะที่กระทรวงดีอี กำลังโชว์ผลงานสุดภาคภูมิใจในการขยายโครงการเน็ตประชารัฐที่คาดว่าจะติดตั้งได้ครบ 24,700 หมู่บ้านภายในเดือน พ.ย. 2560 ซึ่งนับว่าเร็วกว่ากำหนดการเดิม 1 เดือน ก็ตาม แต่กลับถูกสังคมตั้งคำถาม โดยเฉพาะชาวบ้านที่ชะเง้อรอบริการเข้าถึงครัวเรือน ว่าเหตุไฉนถึงยังไม่มีการเคาะราคาเชื่อมต่อถึงบ้านของพวกเขาแบบชัดๆ เหมือนที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดราคาเน็ตชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ที่ราคาไม่เกิน 200 บาท ในขณะที่ยังไม่ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างผู้ชนะการประมูลเลยด้วยซ้ำ

เหตุใดกสทช.ถึงคิดเร็ว ทำเร็วกว่า ดีอี ทั้งๆที่การลงทุนโครงข่ายหลักใช้เงินของรัฐ เหมือนกันทั้ง 2 หน่วยงาน สูตรการคำนวณต้นทุนที่รัฐออกให้และการลงทุนลากสายเข้าถึงบ้านของเอกชนเพียงไม่กี่กิโลเมตรถึงคิดกันไม่ตกเสียที

***ปูดราคาเน็ตเห็นถึงไส้พุงใครบางคน

กสทช.มีการพูดถึงราคาให้บริการเข้าถึงครัวเรือน ตั้งแต่โครงการยังไม่เริ่มเขียนทีโออาร์ด้วยซ้ำ เหตุเพราะสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู จะขยับอันดับการพัฒนาไอซีทีของประเทศก็ต่อเมื่อประชาชนตามบ้านสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สะดวก ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการลงทุนโครงข่ายหลักโดยเม็ดเงินของกสทช.แล้ว ผู้ชนะการประมูลก็ต้องสามารถให้บริการในราคาที่กสทช.กำหนดด้วย ซึ่งไม่แน่ใจว่าประเด็นนี้กระทรวงดีอีรู้หรือไม่ ถึงไม่เร่งกำหนดราคาเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้งานที่บ้าน แต่กลับรอสร้างให้เสร็จก่อนทั้งหมด ประชาชนถึงจะมีสิทธิ์เชื่อมต่อเข้าบ้าน

หากยังจำกันได้ 'พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์' รมว.ดีอี พยายามบ่ายเบี่ยงที่จะพูดถึงราคาใช้งานตามบ้านมาโดยตลอด โดยอ้างว่า ต้องการให้เป็นไปตามกลไกการตลาด เพราะกลัวว่าจะเกิดการเหลื่อมล้ำของประชาชน บางบ้าน รวย จน ไม่มีใครรู้ จะให้ราคาถูก ก็ดูยังไงๆ อยู่ แต่เมื่อถูกจี้หลายครั้ง ประกอบกับ กสทช.ให้ข้อมูลถี่ขึ้นถึงราคาที่ไม่ควรเกิน 200 บาท ต่อเดือน ทำให้ช่วง 1-2 เดือนหลังนี้ เริ่มมีราคากลางในใจที่ 300 บาทต่อเดือน สำหรับความเร็ว 30/10 Mbps แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ที่กระทรวงดีอีเปิดกว้างให้มาทำตลาดกับประชาชนได้ว่าจะให้บริการในระดับความเร็วเท่าไหร่ ซึ่งก็ต้องล้อกับราคากลางที่กำหนด

'เรื่องการทำโครงการของดีอี กับ กสทช. เรายังไม่ได้ตกลงราคากัน เน็ตประชารัฐมี 2 ส่วน คือส่วนที่ดีอีให้ทีโอทีทำ กับ ส่วนที่กสทช.ทำ โดยเปิดประมูลนั้น มีเงื่อนไขต่างกัน เพราะดีอีให้เงินทีโอทีทำ ด้วยวิธีการเบิกจ่ายแทนกัน ทำเท่าไหร่ เบิกเท่านั้น ขณะที่ของกสทช.เป็นลักษณะการประมูล ให้ผู้ชนะประมูลเหมาราคาไปทำ จึงต้องมาหาราคาที่เท่ากันให้ได้ก่อน ส่วนเน็ตชายขอบยอมรับว่าราคาต่อครัวเรือนต้องถูกกว่าเน็ตประชารัฐเพราะเป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีรายได้น้อย' พิเชฐกล่าว

แต่จนป่านนี้ราคากลางก็ยังไม่ได้ตัวเลขชัดๆ แม้ว่าจะมีการหารือกับ กสทช.ไปแล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หรือเป็นเพียงคำกล่าวอ้างซื้อเวลาไปก่อน เพราะแท้ที่จริงแล้ว ผู้รับเหมาโครงการเน็ตประชารัฐ อย่างทีโอทีโดยรัฐบาลเต็มใจให้ทำนั้น เตรียมราคาต่อครัวเรือนไว้สูงถึง 599 บาท ต่อเดือน ที่ถึงแม้จะมีการปรับตัวเลขล่าสุดมาอยู่ที่ 399-599 บาท ต่อเดือน แต่ก็ยังสูงกว่าสิ่งที่กสทช.ประกาศ ทั้งๆที่ทีโอทีเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการบรอดแบนด์แต่กลับไม่สามารถคิดราคากลาง หรือ เคาะราคาต่อครัวเรือนได้ มันก็ออกจะแปลกๆเกินไป หรือ พยายามหมกตัวเลขบางอย่างไว้

แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า เหตุที่ดีอียังไม่สามารถเปิดให้บริการได้นั้นก็เพราะยังไม่สามารถเคาะตัวเลขค่าบริการได้ เนื่องจากทีโอทีที่เป็นผู้ติดตั้งยังไม่สามารถแจกแจงต้นทุนค่าบริการติดตั้งและบริการให้ดีอีได้ ในเบื้องต้นนั้นทีโอทีกำหนดราคาเน็ตประชารัฐเอาไว้สูงถึง 599 บาท ใกล้เคียงและสูงกว่าค่าบริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทเอกชนเสียอีก ทำให้ดีอีไม่กล้าประกาศราคาดังกล่าวออกมาด้วยเกรงว่าสวนทิศทางนโยบายเน็ตประชารัฐของรัฐบาลและนายกฯที่ต้องการให้ประชาชนได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตราคาถูกเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0

***ยืมมือสตง.กินรวบเบ็ดเสร็จ

จิ๊กซอว์สำคัญอีกชิ้นของเกมช่วงชิงผลประโยชน์ครั้งนี้คือสตง.ที่ส่งหนังสือ 3-4 ฉบับถึงกสทช.เหมือนต้องการให้โครงการเน็ตชายขอบเดินหน้าไม่ได้และต้องการให้กสทช.โอนเงินให้ดีอีเพื่อประเคนให้ทีโอทีทำอีก เพราะแทนที่จะไปตั้งข้อสังเกตหรือตรวจสอบการทำงานเน็ตประชารัฐของทีโอที กลับมาจี้ กสทช.ให้ตอบคำถามที่ก็รู้คำตอบอยู่แล้วว่าให้ทีโอทีทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น 'ทำไมไม่โอนเงินให้กระทรวงดีอีทำ' เพราะตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.กสทช.เดิม) ได้กำหนดให้โครงการ USO นั้น กสทช.ต้องดำเนินการประกวดราคาเอง

ส่วนเรื่องราคาที่กสทช.กำหนดก็ระบุไว้ในทีโออาร์ซึ่งผู้ประมูลก็รับทราบอยู่แล้วโดยอาศัยทำตามประกาศกสทช.ข้อ 27 ซึ่งระบุว่าหากให้บริการแบบสายแยกส่วนก็ต้องมีการคิดราคาแยกว่ารัฐลงทุนกี่เปอร์เซ็นต์ เอกชนกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเอกชนที่ชนะการประมูลต้องทำราคาต้นทุนมาเสนอว่าภายใต้วงเงิน 12,000 กว่าล้านบาทนั้น เอกชนจะมีต้นทุนลงทุนเพิ่มเติมเท่าไหร่ หากเอกชนลงทุนเพียง 15% ค่าบริการเข้าสู่ครัวเรือนจะอยู่ที่เดือนละ 180 บาท และหากในอนาคตค่าบริการในท้องตลาดลดจากเดือนละ 590 บาท เป็นราคาที่ถูกกว่า ราคาที่ต่อเข้าครัวเรือนของโครงการเน็ตชายขอบก็ต้องลดลงด้วย

'ทีโอทีรู้อยู่เต็มอก หากดำเนินการเน็ตชายขอบไปตามเงื่อนไขทีโออาร์ที่กสทช.วางเอาไว้คือ 200 บาทต่อเดือนบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้แน่ เพราะต้นทุนที่แท้จริงนั้นสูงกว่า ในขณะที่ ทีโอทีสามารถชนะการประมูลโครงการเน็ตชายขอบได้ถึง 3 ใน 8 สัญญา วงเงินรวมกว่า 6,000 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 12,989.69 ล้านบาท เมื่อทำไปก็เจ๊ง จึงพยายามยื้อโครงการนี้และหวังจะอาศัยการยืมมือรัฐและสตง.บีบให้โอนโครงการทั้งหมดมาอยู่ในมือของคนกลุ่มนี้'

แหล่งข่าวกล่าวว่า เบื้องหลังสตง.ส่งหนังสือให้ทบทวนโครงการเน็ตชายขอบของกสทช. นั้น เชื่อได้ว่ามีกลุ่มผลประโยชน์ในทีโอทีต้องการล้มโครงการเน็ตชายขอบและหวังให้กสทช.โอนเงินงบประมาณของโครงการนี้เข้ากองทุนดีอีซึ่งดีอีจะต้องให้บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co.) หรือ บริษัทลูกของทีโอที ที่ตั้งขึ้นมาใหม่และเพิ่งได้รับอนุมัติจากครม.เป็นผู้ดำเนินโครงการ

'ถ้ากสทช.ยกเลิกเน็ตชายขอบเพราะคำท้วงติงจากสตง. เงินงบประมาณทั้งหมดต้องโยนให้กองทุนดีอีทำต่อ ผู้ที่ได้ประโยชน์เต็มๆก็คือทีโอที เพราะจะไม่มีข้อเปรียบเทียบเรื่องอัตราค่าบริการและจะเป็นผู้คุมเกมการจัดซื้อการติดตั้งโครงการเน็ตประชารัฐทั้งหมด'

กลไกล้มโครงการเน็ตชายขอบของกสทช.เริ่มทำงานเพื่อประโยชน์ 2 ด้านที่เห็นชัดๆ คือ 1.ไม่มีตัวเปรียบเทียบเรื่องค่าบริการ และ 2.โอนงบประมาณกว่าหมื่นล้านบาทมาให้ทีโอทีทำ เพื่อความมั่งคั่งของกลุ่มพวกพ้อง ในการจัดซื้ออุปกรณ์ โดยไม่แยแสประชาชนคนในชนบทที่เฝ้ารออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

***ตอบ สตง.อีกแล้ว

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ส่งหนังสือฉบับล่าสุดเกี่ยวกับโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมาซึ่งตอบกลับข้อสังเกตของ สตง.ไปประมาณ 3-4 ประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของอัตราค่าให้บริการ และค่าบำรุงรักษาโครงข่าย ทั้งนี้ กสทช.ขอยืนยันว่า สำนักงาน กสทช.คิดค่าบริการเกินกว่า 200 บาท/เดือน ไม่ได้ เพราะเป็นไปตามทีโออาร์และสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับประชาชน ซึ่งหากรัฐลงทุนไม่ต่ำกว่า 70% ทำให้เอกชนลงทุนเพียง 30% ค่าบริการจะอยู่ที่ 180 บาท/เดือน เท่านั้น ส่วนค่าบำรุงรักษาโครงข่าย ก็อยู่ในวงเงินที่ประมูลด้วย ไม่มีการแยกออกมา

'คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาโครงการดังกล่าวได้ไม่เกินวันที่ 20 ก.ย.2560 ทำให้การเริ่มให้บริการล่าช้ากว่ากำหนดเล็กน้อย โดยอาจเริ่มให้บริการได้ประมาณปลายเดือน ธ.ค.2560 จากกรอบระยะเวลาที่กำหนดเริ่มเปิดให้บริการได้กลางเดือน ธ.ค.นี้ ไม่น้อยกว่า 15% ของหมู่บ้านเป้าหมาย และเพิ่มเป็น 60% ภายในเดือน มี.ค.2561 จากนั้นจะให้บริการครบทั้งหมดภายในเดือน ก.ค.2561'

อย่างไรก็ตาม หากผู้ชนะการประมูลรายใดมองว่าไม่สามารถทำได้ตามเงื่อนไขในทีโออาร์ก็ไม่ต้องมาลงนามสัญญาในโครงการดังกล่าว แต่จะถูกขึ้นบัญชีดำ และถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งหากมีผู้ไม่มาลงนามสัญญาใดก็จะมีการเปิดประมูลในสัญญานั้นๆ ใหม่

ที่มา : https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9600000094505
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่