[MotoGP] Tech: ไม่ว่าจะลุยบ่อกรวดหรือออกไปตัดหญ้า มาดูกันว่าหลังการล้มแล้วมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

ต้นทุนของรถโมโตจีพีนั้นตกอยู่ที่ราวๆคันละ 2-3 ล้านเหรียญดอลล่าห์สหรัฐ ตีเป็นตัวเลขคร่าวๆก็เฉียดๆ 100 ล้านบาท ถือว่าแพงระยับกันเลยทีเดียว ซึ่งตัวเลขที่ว่านี้นับแค่ค่าใช้จ่ายในการผลิตอย่างเดียวเท่านั้น ยังไม่รวมต้นทุนจากการออกแบบ วิจัยและพัฒนาเลยด้วยซ้ำ ทุกชิ้นส่วนของรถไม่ว่าจะมาจากโรงงานอย่าง Honda, Yamaha, Ducati, Suzuki, Aprilia และ KTM เองหรือจากพาร์ทเนอร์เช่น Michelin, Ohlins, Akrapovic และเจ้าอื่นๆนั้นถูกพัฒนามาสำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะ



ส่วนประกอบแต่ละชิ้นถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีความซับซ้อนสูง เนื่องจากต้องการประสิทธิภาพที่สูงที่สุด ส่งผลให้การผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ แทบจะต้องทำกันแบบชิ้นต่อชิ้นเหมือนกับสินค้าแฮนด์เมด ทำให้ต้นทุนพุ่งขึ้นไปสูงกว่าการผลิตแบบอุตสาหกรรมทั่วๆไป ทว่าอายุการใช้งานอะไหล่แทบทุกชิ้นนั้นค่อนข้างจะสั้น เนื่องจากต้องทำงานอยู่บนขีดจำกัดความสามารถของวัสดุนั้นๆ หลายชิ้นส่วนถูกใช้งานเซสชั่นต่อเซสชั่น, สนามต่อสนามอย่าง เช่นยางที่ต้องการการยึดเกาะที่สูงที่สุด เนื้อยางแต่ละเส้นจะถูกใช้งานเพียงไม่กี่สิบรอบเท่านั้น



เครื่องยนต์ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของรถเป็นชิ้นส่วนที่แพงที่สุด แต่ละโรงงานก็ล้วนแต่มีเทคโนโลยีเฉพาะของตัวเองและมีความลับมากมายที่ถูกซ่อนอยู่ภายในนั้น โดยต้นทุนในในการผลิตเครื่องยนต์  1 เครื่องอย่างต่ำจะอยู่ที่ 100,000 เหรียญสหรัฐฯแต่ส่วนใหญ่จะมากกว่านี้ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ของรถ Honda นั้นว่ากันว่าสูงถึง 220,000 เหรียญหรือมากกว่านั้น เอามาแลกเป็นเงินไทยก็จะตกอยู่ที่ราวๆ 7 ล้านกว่าบาท จากกฏที่ทีมสามารถใช้เครื่องยนต์ได้สูงสุด 7 เครื่องต่อฤดูกาล นั่นหมายความว่าเงินจำนวนนี้ จะถูกใช้งานได้แค่ 2-3 สนามเท่านั้น อิอิ



วัสดุที่นำมาผลิตนั้นก็ล้วนแต่เป็นวัสดุคุณภาพสูงและที่สำคัญคือต้องมีน้ำหนักเบา ซึ่งวัสดุจำพวกไทเทเนียม, แมกนี่เซียมและคาร์บอน ไฟเบอร์นั้นล้วนแต่มีราคาแพง โดยทั่วไปชิ้นส่วนที่ผลิตด้วยคาร์บอน ไฟเบอร์จะมีราคาสูงกว่าที่ผลิตจากเหล็กและพลาสติกถึงประมาณ 10 เท่า นอกจากนี้ เทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างเช่น Pneumatic Valves, Seamless Transmission รวมไปถึงพวกเซ็นเซอร์ความละเอียดสูงสำหรับเก็บข้อมูลในตัวรถ ก็ล้วนแต่มีความซับซ้อน ทำมาจากวัสดุพิเศษที่หาและผลิตได้ยาก



ภายใต้กฏปัจุบันนั้น (เริ่มใช้ฤดูกาล 2017) กำหนดให้ทุกโรงงานปล่อยให้ทีมแข่งเช่ารถด้วยราคาไม่เกิน 2.2 ล้านยูโรต่อรถ 2 คันหรือประมาณเกือบๆ 90 ล้านบาท ซึ่งราคานี้เป็นราคารวมเบ็ดเสร็จยกเว้นค่าอะไหล่ที่ต้องเบิกเพิ่มจากการล้ม (ราคาในตลาดสำหรับการเช่ารถสำหรับนักแข่ง 2 คนตอนนี้จะอยู่ประมาณ 4 ล้านยูโร) ซึ่งการล้มแต่ละครั้งนั้นหมายถึงต้องซ่อมรถ มีบทความจาก The Telegraph เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างน่าสนใจ เลยหยิบมาสรุปให้อ่านกัน ซึ่ง Christophe Bourguignon หัวหน้าช่างของ Cal Crutchlow นักแข่งจากทีม LCR Honda หรือที่ทุกคนภายในทีมจะเรียกแกว่าลุงอ้วน (Beefy) เป็นคนให้สัมภาษณ์กับทางเดอะ เทเลกราฟ



โดยทั่วไปแล้วจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถประมาณ 15,000 ยูโรไปจนถึง 100,000 ยูโรเลยทีเดียวในกรณีที่ล้มหนักๆ ตีเป็นเงินไทยก็ราวๆ 4 ล้านบาทเท่านั้น! อยู่ที่โชคด้วยว่าล้มแบบไหน ไปชนอะไรบ้าง โดนแจ็คพ๊อตรึเปล่า ซึ่งนี่หนึ่งในสาเหตุที่ทาง Aprilia ตัดสินใจโบกมือบ๊าย บายกับ Sam Lowes ที่เป็นเจ้าชายแห่งการล้มในวงการ อิอิ



นักแข่งจะมีรถคนละ 2 คัน กรณีที่ล้มหนักๆจนรถพังยับเยิน ก็ต้องใช้รถสำรองสลับออกไปวิ่งแทน (ถ้ายังอยู่ในรอบทดสอบหรือควอลิไฟท์) แต่ถ้ายังล้มซ้ำอีก งานนี้ก็ไม่มีตัวเลือกอื่นนอกจากนั่งตบยุงรอทีมช่างซ่อมรถ จะเห็นว่ามีกรณีที่รถพังจนไม่ได้ออกไป QP ให้เห็นได้อยู่เรื่อยๆ โดยปกติทีมจะสำรองอะไหล่ไว้อีก 1-2 เซ็ต ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้าหากช่วงไหนต้องแข่งติดๆกันก็จะมีสำรองเยอะหน่อย ชิ้นส่วนที่เสียหายบ่อยจะถูกเตรียมไว้ในปริมาณที่เยอะเช่นที่พักเท้านี่ต้องมีไว้เกิน 10 อัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาด้วยของอะไหล่แต่ละชิ้นด้วย



แต่สำหรับอันไหนที่ไม่ได้พังกันบ่อยๆก็จะเตรียมไว้แค่ 2-3 ชิ้น เนื่องจากชาวคณะโมโตจีพีต้องเดินทางแข่งไปรอบโลก แต่ทาง Dorna ช่วยเหลือค่าขนของที่น้ำหนัก 8 พันกิโลเท่านั้น ส่วนที่เกินกว่านั้นทีมต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มเอง นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ทีมไม่สามารถขนทุกอย่างไปด้วยได้ ในกรณีอะไหล่ในกลุ่มนี้พังหลายอัน ก็ต้องถือว่างานเข้ากันเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ก็อาจจะมีการหยิบยืมจากทีมโรงงานได้บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละโรงงานนั้นดูแลทีมลูกค้ายังไง



ท่อและหม้อน้ำเป็นหนึ่งในอะไหล่ที่ทีมจะเตรียมสำรองไว้ไม่ค่อยเยอะ ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้จะถูกแยกเป็น 2 เวอร์ชั่นคือสำหรับทดสอบและแข่งจริง ถ้าหากอาทิตย์ไหนมีการล้มหนักๆไปครั้งหรือสองครั้งก็ถือว่าเข้าข่ายวิกฤต โดยทั่วไปชิ้นส่วนของรถโมโตจีพีส่วนใหญ่จะไม่มีเก็บไว้ในสต๊อก โรงงานจะวางแผนกันผลิตเป็นฤดูกาล เช่นก่อนเปิดฤดูกาลจะมีเครื่องยนต์ที่พร้อมใช้ประมาณ 3 เครื่อง อีก 4 สนามค่อยรับเพิ่มอีก 2 เครื่องอะไรทำนองนี้ ชิ้นส่วนอื่นก็เหมือนกัน กรณีที่ต้องสั่งใหม่จากการล้มนั้นถือว่าเป็นงานที่เพิ่มขึ้นมา ก็ต้องเผื่อระยะเวลาในการผลิตและจัดส่งด้วย อย่างกรณีของ Honda นั้น อาจจะต้องใช้เวลา 5-6 สัปดาห์เลยทีเดียว



เนื่องจากรถ MotoGP นั้นคันใหญ่ หนักและวิ่งเร็ว เวลาล้มทีมันก็อย่างที่พวกเราเห็น ต่อให้ผลิตมาจากวัสดุเทพแค่ไหนก็พังกันไปเป็นแถบๆ กรณีที่ล้มแบบหน้าทิ่ม ชิ้นส่วนในช่วงหน้าส่วนใหญ่ก็จะกลับบ้านเก่ากันเป็นแถบ ไม่ว่าจะเป็นแฟร์ริ่ง แผงหน้าปัด แฮนด์และชิ้นส่วนอื่นๆที่ทำมาจากคาร์บอน ไฟเบอร์ แต่ยังดีว่าอะไหล่ส่วนใหญ่นั้นสามารถซ่อมและทำสีใหม่ได้ เว้นแต่กรณีที่กลิ้งหนักจริงๆจนเฟรมหรือสวิงอาร์มเบี้ยว เคสนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสจริงๆ แทบจะประเมิณราคาไม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ แต่ละโรงงานก็จะมีวิธีจัดการที่แตกต่างกันไป

คาร์บอน เบรก 1 ชุดจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 10,000 ยูโร หรือราวๆ 4 แสนบาท โดยปกติถ้ารถล้มในบ่อกรวด ก็มักจะมีเศษหินเล็กๆติดมากับจาน ถ้าจานเบรกได้รับความเสียหาย ปกติก็จะไม่ซ่อมกัน เนื่องจากเบรกนั้นทำหน้าที่สำคัญอย่างการหยุดรถ คงไม่มีใครกล้าส่งนักแข่งออกไปเสี่ยงที่ความเร็วมากกว่า 300 km/h โดยที่ไม่รู้ว่าเบรกจะทำงานได้สมบูรณ์รึเปล่า



ล้อทำมาจากแมกนีเซียม สนนราคาก็วงละ 4000 ยูโร ซึ่งลุงอ้วนบอกว่าล้อของมิชลินมีขนาดเล็กว่าของบริดเจสโตน ทำให้ขอบล้อนั้นเสียหายง่ายกว่า แค่ปีนเคิร์บนี่ก็ไปละ ซึ่งถ้าล้อมีปัญหาก็ถือเป็นเรื่องใหญ่พอๆกับเบรก ทำให้นี่เป็นอีกชิ้นที่ต้องเปลี่ยนถ้ามีการล้มหนักๆ ถัดมา โดยปกติแล้วที่พักเท้า ก้านเบรกหรือครัชท์ แฮนด์จับ คันเร่ง ส่วนใหญ่ก็มักจะได้รับความเสียหายจากการกระแทกพื้น รวมไปถึงหม้อน้ำที่มีขนาดใหญ่ เวลาล้มก็อาจจะเบี้ยวหรือผิดรูปไป อุปกรณ์พวกนี้ราคาก็มีหลายหลาย ไปจนถึง 1 พันยูโรหรือ 4 หมื่นบาท ก็ควักจ่ายกันไปสิครับ

เนื่องจากการล้มนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน นักแข่งก็จะรู้ว่าล้มยังไงให้ตัวเองปลอดภัย ในกรณีที่ล้มไม่หนัก ก็จะพยายามทำให้รถเสียหายน้อยที่สุดด้วย การล้มแบบสไลด์เป็นรูปแบบการล้มที่เราเห็นกันได้เป็นประจำ เวลาหลุดโค้งในขณะที่รถเอียงเยอะๆ ซึ่งด้านข้างของรถจะมีชิ้นส่วนสำหรับรับหน้าที่สไลด์ไว้อยู่ เพื่อลดหรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับเซ็นเซอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กๆที่ติดอยู่ตามตัวรถ



ในกรณีของรถ Honda RC213V ถ้าหากรถล้มทางซ้าย ที่ต้องเปลี่ยนก็จะมีที่พักเท้า คันเกียร์ เซนเซอร์ที่จับการเปลี่ยนเกียร์ ตัวครอบแบตเตอร์รี่ สายไฟและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางตัว ในส่วนของฝั่งขวาก็จะเป็นที่พักเท้า  ก้านเบรกหลัง ท่อ ฝาครอบท่อ หรือบางทีตรงแผงคอรถก็อาจจะต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน

ในส่วนของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ, ความดัน ถ้าเกิดต้องเปลี่ยนขึ้นมา ราคาก็จะอยู่ที่ราวๆ 2,500 ยูโร ตัวจ่ายไฟหลักราคาประมาณ 1 หมื่นถึง 15,000 ยูโร (6 แสน) นอกจากนี้ก็จะเป็นตัวเซนเซอร์อื่นๆที่มีอยู่เกือบแทบทั้งคัน ซึ่งแต่ละตัวนั้นไม่มีตัวไหนราคาต่ำกว่า 1,000 ยูโรหรือ 4 หมื่นบาทเลย



ถังน้ำมันเป็นส่วนหนึ่งที่เสียหายได้ง่าย แต่ถ้าบุบแค่เล็กน้อยทีมช่างก็สามารถซ่อมได้ แต่ต้องระวังกันหน่อย เพราะปริมาณน้ำมันที่เติมได้นั้นคือ 22 ลิตร ถ้าเกิดซ่อมแล้วมันใส่ได้น้อยกว่าเดิมก็งานเข้า ทำให้โดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเปลี่ยนกันเลย ที่ซ่อมไว้ก็จะเอาไปเป็นอะไหล่ไว้ใช้เวลาทดสอบรถซะมากกว่าแต่จะไม่นำกลับมาใช้ในการแข่งจริง

สวิงอาร์มทำหน้าเป็นจุดเชื่อมต่อหลักกับล้อที่รับการส่งผ่านกำลังจากเครื่องยนต์มากกว่า 260 แรงม้า ดูแล้วน่าจะเป็นชิ้นส่วนที่แข็งแรงอันดับต้นๆและน่าจะพังได้ยาก แต่ว่าจริงๆแล้วมันไม่ได้ทนอย่างที่ควรจะเป็น มีบ่อยครั้งที่สวิงอาร์มนั้นได้รับความเสียหายจากการล้ม เบาะที่ทำมาจากไฟเบอร์ก็เป็นอีกอันที่พังอยู่บ่อยๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะที่ล้มด้วยแหละว่าเบาหรือหนักแค่ไหน



สำหรับชิ้นส่วนที่ทนที่สุดในความเห็นของลุงอ้วนก็คือคาลิปเปอร์ ซึ่งลุงแกบอกว่านานๆทีถึงจะได้เปลี่ยนไอ้เจ้านี่ อีกอย่างก็ที่ทนทรหดคือเครื่องยนต์ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างยอดเยี่ยม เคยมีกรณีที่รถล้มหนักมาก ชิ้นส่วนกว่า 90% ของตัวรถต้องเปลี่ยนใหม่หมดแต่เครื่องยนต์ยังคงโอเคอยู่

ในส่วนของงานซ่อมบำรุงนั้นถือว่ามีน้อย โดยทั่วๆไปก็จะมีแค่ตรวจเช็คและเปลี่ยนแผ่นคลัทช์ น้ำมันเครื่อง ผ้าเบรก แต่สำหรับชิ้นส่วนหลักๆที่มีราคาสูงจะไม่ต้องทำอะไรกับมันเว้นแต่ว่าเปลี่ยนจากการล้ม เนื่องจากชิ้นส่วนของรถโมโตจีพีส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งานตามที่โรงงานระบุไว้ เมื่อครบระยะแล้ว ทีมช่างก็จะเปลี่ยนแบบยกเซ็ตไปเลย แม้ว่ามันจะยังไม่ชำรุดและยังใช้งานต่อได้ก็ตาม



งานหลักของบรรดาแมคคานิคจะเป็นการรื้อ ถอด ประกอบ ชิ้นส่วนแทบทุกชิ้นจะต้องถูกนำมาทำความสะอาดและตรวจสอบอย่างละเอียดว่า ชำรุด แตกหักหรือได้รับความเสียหายมั้ย  เราจะเห็นว่าช่างในโมโตจีพีนั้นถอดและประกอบรถกันเหมือนกับรถของเล่นกันเลยทีเดียว เนื่องจากทีมช่างเหล่านี้เค้าอยู่กับมันตั้งแต่เช้ายันเย็นในทุกๆวัน ตั้งแต่ทดสอบรถในช่วงต้นปีลากยาวไปจนจบฤดูกาล ทำให้รู้จักชิ้นส่วนทุกชิ้นภายในรถ อันไหนถอดก่อน อันไหนใส่ทีหลัง เครื่องยนต์ที่ติดตั้งอยู่กลางตัวรถสามารถเปลี่ยนได้ภายใน 1 ชั่วโมงหรือจะเปลี่ยนเฟรมด้วยก็เพิ่มเวลาเข้าไปอีกแค่ 15-20 นาทีเท่านั้น โดยทั่วไปแล้วรถจากโรงงานฝั่งญี่ปุ่นจะถอดและประกอบได้ง่ายกว่ารถยุโรป

จบ! 555 ขอบคุณข้อมูลตามลิงค์ข้างบนค้าบ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่