ประโยคเดียว คิดได้ กดเป็นพระอรหันต์ได้

สมมติว่าคนหนุ่มคนสาวคนหนึ่งซึ่งไม่เคยเรียนธรรมะเลย แล้วก็มีเรื่องอย่างว่าที่เรียกว่าหัวใจจะแตก อกจะหักเกิดขึ้น แล้วก็ไปถามพระพุทธเจ้าว่าเรื่องมันเกิดขึ้นอย่างนี้จะทำอย่างไร ในบางกรณีสำหรับบางคน พระพุทธเจ้าจะตรัสว่า
.
"มันเป็นอย่างนั้นเอง"
.
คนๆนั้นจะสว่างไสวบรรลุมรรคผลที่ตรงนั้นได้ ด้วยคำที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง หรือว่าในโลกนี้มันเป็นอย่างนั้นเอง
.
คนนั้นไม่เคยเรียนธรรมเรื่องอนัตตา เรื่องอิทัปปัจจยตา โดยตัวหนังสือ โดยการท่องจำ หรือโดยการเรียนในโรงเรียนก็ตาม แต่มันก็มีความรู้สึกภายในเป็นต้นทุน พอพระพุทธเจ้าตรัสว่ามันเป็นอย่างนั้นเองมันก็โพลงออกไปแบบฟ้าผ่า ให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ก็เลยไม่เสียใจ แล้วก็บรรลุมรรคผลที่ตรงนั้นก็ได้
.
อย่างนี้จะอธิบายว่าอย่างไร ว่าเขาเป็นคนชนิดไหน เขาเป็นคนไม่รู้ธรรมะมาก่อนเลย แต่ธรรมะระเบิดโผงออกไปที่ตรงนั้นเอง ได้ยินแต่เพียงว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง นี้มันคงประกอบกันในข้อที่ว่าเขานับถือและเชื่อ
.
พระพุทธเจ้าด้วย และเขาก็รู้สึกได้ขึ้นมาทันทีด้วยว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ธรรมชาติหรือในโลก ในสังคม มันเป็นอย่างนั้นเอง
.
ขอให้ถือว่าโอกาสที่จะบรรลุธรรม สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีธรรม ผู้ที่ไม่เคยรู้ธรรมมาก่อน พอสิ่งต่างๆประจวบเหมาะพร้อมกันดี คำพูดพยางค์เดียวทำให้เป็นพระอรหันต์ได้ อย่างพระพุทธเจ้าตรัสแก่คนบางคนว่า เมื่อตาเห็นรูปก็สักว่าเห็น เมื่อหูได้ยินก็สักว่าได้ยิน ทำไมมันเข้าใจได้และเป็นพระอรหันต์ที่ตรงนั้นได้ นี้เป็นความจริงของอิทัปปัจจยตา มันผ่าลงมาอย่างกับฟ้าผ่า
แต่ว่าในคำพูดอย่างอื่น ยอมรับกันอยู่แล้ว ธรรมะทุกข้อ ไม่ว่าข้อไหนหมวดไหน แก่นหรือแกนของมันอยู่ที่ความเป็นอิทัปปัจจยตา แต่เราไม่ใช้คำนี้เราใช้คำอื่น ใช้คำว่าศีล สมาธิ ปัญญา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือหมวดธรรมทั้งหลายมากมาย แต่ว่าแกนของมันอยู่ที่อิทัปปัจยตา
.
ทีนี้การที่จะเอามาใช้ มันก็มีอย่างว่า คือว่าใช้สำหรับคนที่ไม่รู้ธรรมะชื่อนี้มาก่อน...มันก็ต้องมีความประจวบเหมาะอย่างว่า ธรรมะนี้จึงจะโพลงขึ้นมาด้วยวิธีปลุกอย่างวิธีฟ้าแลบ จึงเป็นวิธีที่พวกเซนเขาชอบ แต่คนธรรมดาเขาไม่ชอบอย่างนั้น เขาชอบให้ค่อยทำค่อยไปให้เรื่องมันมาก เพราะเขาต้องการความแตกฉาน แต่พวกเซนไม่ต้องการความแตกฉานทางภาษาพูด หรือทางหนังสือ หรือทางเหตุผล ต้องการความแตกฉานแต่ทางสว่างไสวลุกโพลง ฉะนั้นจึงรอเวลา รอโอกาสบ้าง พอสะกิดคำพูดเพียงคำเดียว มันก็โพลงเป็นฟ้าผ่าฟ้าร้องเลย มันก็เห็นธรรมะนั้นได้
.
#โอมหรือโอง
พวกพราหมณ์ พวกศาสนาพราหมณ์เขายังเก่งกว่าเรา คือเขาสรุปรวมความหมายของธรรมะทั้งหมดไว้ที่คำเพียงพยางค์เดียวคือคำว่าโอง พอตวาดไปด้วยคำว่าโอง ทุกอย่างจะมาหมด สติจะมาตามเดิม
.
สติสัมปชัญญะจะมาหมด ความจริงทั้งหลายจะแจ่มแจ้งหมด ตวาดไปด้วยคำว่าโองคำเดียวเท่านั้น โอมหรือโอง สติจะมาตามเดิม แล้วก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไรตามที่เขาต้องการจะรู้ เขามีหลักไว้แล้ว นี่เขายังเก่งกว่าเราที่เขาใช้พยางค์เดียวได้ เรายังใช้ถึงสามพยางค์ว่า "ตถตา"
คำว่าโองนี้ไม่มีความหมายในทางภาษา ถ้าจะเอาความหมายทางภาษาไม่รู้ว่าอะไร แต่ความหมายในทางธรรมหรือทางศักดิ์สิทธิ์คือ ทั้งหมดของความจริง ของความถูกต้อง ของความเข้มแข็ง ของความดี อะไรต่างๆ เพราะเขาฝึกฝนกันมาอย่างนั้น การตวาดออกไปว่าโอมหรือโองนี่ มันเป็นอย่างนั้น
.
แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกพราหมณ์ทุกคนจะรู้จักอย่างนั้นหรือใช้อย่างนั้น แต่ความมุ่งหมายของเขาอย่างนั้น ว่าให้มีพยางค์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนเอาไปพยางค์หนึ่ง แล้วเรียกมาซึ่งสติสัมปชัญญะ ความรู้ ความแข็งแรง ความอดทน อะไรต่างๆ มันก็คุมได้
.
ถ้าพึ่งวิธีอย่างนี้เป็นหลักก็คือพวกที่เขาเรียกกันว่า มันตรยาน ใช้สวดมนต์บทใดบทหนึ่ง ความอดทน อะไรต่างๆ มันก็คุมได้ ใช้สวดมนต์บทใดบทหนึ่งที่เหมาะแก่เขา โดยเฉพาะสำหรับท่องบ่นให้ชินเพื่อเรียกสติมาทันท่วงที เมื่อเกิดเรื่องดีใจ เสียใจ ร้องไห้ ทุกข์โศกต่างๆ พอพ่นพยางค์นี้ออกมาแล้วมันจะเหมือนกับตวาดสิ่งเหล่านั้นให้ถอยกลับไปหมด สติสัมปชัญญะเลยอยู่ มันก็มีผลดีสำหรับคนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีอยู่มากในโลกนี้ จะเรียกว่าคนโง่ที่สุด หรือคนโง่ไม่มาก คนโง่ธรรมดา หรือ คนฉลาดนิดหน่อยก็ตามใจ คนจำนวนหนึ่งต้องใช้วิธีอย่างนี้ คนจำนวนหนึ่งใช้วิธีอย่างอื่น เพราะฉะนั้นบางลัทธิใช้วิธีนี้ก็เจริญเหมือนกัน แล้วก็เขาเอาตัวรอดได้ เขาใช้วิธีลัดเป็นเคล็ดลับของเขา...
.
ถ้าเราจะไม่ชอบคำนี้เราใช้คำว่า พุทโธ ธัมโม อะไรก็ได้ พออะไรเกิดขึ้นก็พุทโธ เพราะว่าเป็นคำที่รู้ความหมายได้ง่ายกว่า ก็เป็นของง่ายสำหรับคนที่ฉลาดน้อย มีความเชื่อมาก สรุปธรรมะทั้งหมดไว้ในคำว่าพุทโธ เกิดเรื่องอะไรขึ้นก็พ่นออกไปว่าพุทโธ เพื่อหยุดสิ่งที่กลุ้มรุม แล้วก็เกิดสติสัมปชัญญะ มันก็เป็นโอกาสให้ตั้งตัวได้และทำต่อไปอย่างถูกต้อง
.
ถ้าไม่ชอบคำว่าพุทโธ ใช้คำว่าธัมโมก็ได้ ที่จริงการที่คนพลั้งปากว่า พุทโธ่ พุทโธ่ นั้นดีที่สุดแล้ว แต่ไม่ดีตรงที่เขาไม่รู้ความหมายของคำว่าพุทโธ แต่ว่าปู่ย่าตายายสอนไว้ดีแล้ว ถึงยังไงๆก็ขอให้พลั้งปากว่าพุทโธเถอะ อย่าไปพลั้งปากว่าอย่างอื่นเลย อย่างนั้นก็ดีอยู่มากแล้ว คำว่าพุทโธนั้นคือรู้นะ แปลว่าความเป็นผู้รู้
.
พุทธทาสภิกขุ #๑๑๑ปีพุทธทาส
ที่มา อภิปรายและแสดงความคิดเห็นในวันปีใหม่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔
#จดหมายเหตุพุทธทาส
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่