» `วิถีปัจจุบัน´ ของ...ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
Cr: Anand Ngamsa-ard
รศ.ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อายุมากกว่าผมสองปี เป็นหนึ่งในผู้นำนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 ร่วมกับ ศ.ธีรยุทธ บุญมี รุ่นพี่ผมที่สวนกุหลาบสองปี ซึงขณะนั้นผมเรียนปีสองที่ Harvard ตอนหลังทราบว่าเสกสรรค์จบโทเอกจาก Cornell สำนวนการเขียนของ ดร.เสกสรรค์ดีมาก เขียนกระชับให้ความหมายเหมือนการเขียนของนักวิชาการที่ดี
ผมชอบหลายตอน ตอนหนึ่งที่ขอบ..
"บางคนยึดติดเงื่อนไขภายนอก โดยเฉพาะเงื่อนไขทางวัตถุและการชื่นชมของสังคม ก็หลับหูหลับตาหาแต่วัตถุและการยอมรับของคนอื่น"
ผมเห็นคนในสังคมที่เป็นผู้ใหญ่มีอำนาจยังติดกับเงื่อนไขภายนอกแสวงหาอวดร่ำอวดรวย แทนที่จะทำคุณประโยชน์ให้กับคนรุ่นหลัง
ไปอ่านดูครับ..
.. สรายุทธ อังคาร 1/8/2560
"เมื่อเลิกตัดสินโลก เลิกตัดสินตัวเองได้
ก็จะพบกับโลกใหม่ ชีวิตใหม่"
นี่คือหนึ่งตัวอย่าง ที่ฝึกได้ด้วยไดอะล็อค...
» `วิถีปัจจุบัน´ ของ...ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
---------
บุคลิกภาพอย่างผมมันเข้ากันไม่ได้กับเศรษฐกิจฟองสบู่... มันเข้าไม่ได้กับระบบที่แข่งขันเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราเชื่อเรื่องความสมถะสำรวม เชื่อเรื่องแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
เพราะฉะนั้น...จึงเกิดสภาพที่เรารู้สึกถูกกดดันและถูกตามล่าตามล้าง รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว คิดอะไรไม่เหมือนเพื่อนพ้องคนรอบข้าง ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหนเหมือนกับว่าเราไม่เคยพบกับการต้อนรับที่ดี เราเข้ากับเขาไม่ได้
สิ่งเหล่านี้...นำพาผมมาถึงจุดที่รู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรงอย่างยิ่ง
กระทั่งนำไปสู่ชีวิตส่วนตัวที่ล้มเหลว
:::::::::::::::
หลัง ๒๕๔๐ ไม่นาน...ผมกับภรรยาได้แยกทางเดินกัน แม้เราจะไม่ได้โกรธเกลียดกันและเพียงเปลี่ยนความสัมพันธ์จากคู่ครองมาเป็นเพื่อน แต่มันก็สั่นคลอนความรู้สึกนึกคิดของผมอย่างถึงราก
ตอนนั้นผมเริ่มเข้าสู่วัย ๕๐ กว่าแล้ว...ผมต้องถามตัวเอง ว่าจะยืนต้านกระแสหลักในสังคมแบบที่ผ่านมา แล้วสะสมความเจ็บปวดขมขื่นต่อไป หรือ ควรเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมเสียใหม่เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้
มีหนทางไหนบ้างที่เราไม่ต้องทุกข์ทรมานขนาดนี้...ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องยอมเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เราไม่เห็นด้วย
ในช่วงนี้...ผมได้ลงลึกสำรวจวิจารณ์ตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตาย และในที่สุดก็ค้นพบว่ามีอะไรบางอย่าง ไม่ถูกในวิธีคิดของผมเอง
:::::::::::::::
ประการที่หนึ่ง :
ที่ผ่านมาผมยึดถือในการต่อสู้และมองโลกเป็นความขัดแย้งมากเกินไป ที่ทางธรรมะเขาเรียกว่า ทวินิยม (Dualism) เห็นว่าทุกอย่างดำรงอยู่เป็นคู่ มีดีมีชั่ว มีขาว มีดำ แล้วก็ไปยืนเลือกข้างใดข้างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ต่อสู้กันมากก็เหนื่อยมาก ตัวผมเองทั้งถูกทำร้ายและทำร้ายผู้อื่นมาอย่างต่อเนื่อง
ประการที่สอง :
ผมเริ่มมองเห็นว่าอะไรหลายๆ อย่างที่ผมยึดถือ เป็นเรื่องที่ผมคิดไปเอง เป็นอัตวิสัย ที่โลกเขายังไม่พร้อมจะเห็นด้วย เราพยายามเอาตัวเองไปบังคับโลก เมื่อไม่ได้ ดังใจก็ผิดหวังเศร้าโศก แล้วยังโดนเขาตอบโต้มาแรงๆ
เพราะฉะนั้น `เหตุแห่งทุกข์´ จึงอยู่ในอัตตาของเราเอง ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอุดมคติหรืออุดมการณ์อะไรก็ตาม การวิจารณ์ตัวเองใน ลักษณะนี้ได้พาผมย้ายความคิดจากทางโลกมาสู่ทางธรรมมากขึ้นแบบรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง
:::::::::::::::
แต่นั่นยังไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเท่ากับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นระยะนั้น
ประสบการณ์ดังกล่าวมีพลังมากกว่าเหตุผลและความคิดใดๆ พูดให้ชัดขึ้นก็คือ ความเจ็บปวด กับชีวิตมากทำให้ใช้วิธีตัดตัวเองออกจากอดีตและอนาคต ทำให้ผมอยู่กับปัจจุบันขณะ
ซึ่งถ้าพูดในภาษาธรรมเวลานี้ผมรู้แล้วว่ามันคือ...สมาธิ แต่ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าคืออะไร รู้แต่ว่าสบายใจ โปร่งโล่งไปหมด อยู่กับปัจจุบันขณะ
มันทำให้เราปลดแอกตัวเราออกจากภาระทางจิต ที่เราแบกมาตลอดว่าเราเป็นใคร มาจากไหน เคยผ่านอะไรมาบ้าง ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราปลดออกหมด เรียกว่าปลดแอกจากอัตตา
:::::::::::::::
ในตอนแรก...ผมทำสิ่งนี้ไปเพื่อหาทางดับทุกข์ด้วยตัวเอง โดยไม่มีทฤษฎีอะไรชี้นำ แต่ว่าทำแล้วรู้สึกว่ามันช่วยให้อยู่รอดในช่วงที่เราอาจจะอยู่ไม่รอด...ก็เลยยึดไว้เป็นแนวทาง
พอไม่คิดว่าตัวเองเป็นใคร ความรู้สึกทุกข์ร้อนมันหายไปมาก
ข้อแรก...ไม่เดือดร้อนว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร
ข้อสอง...ไม่มีความเห็นว่าโลกและชีวิตควรจะเป็นอย่างไร
เราไม่มีข้อเรียกร้องทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เช่นเดียวกับการที่เราไม่เอาอดีตมากลุ้มและเอาอนาคตมากังวล
มันทำให้เราไม่มีสิ่งที่ผิดหวัง ไม่มีสิ่งที่เสียใจ ผมทำอย่างนี้อยู่พักใหญ่ ทีแรกก็เหมือนกับหลอกตัวเองด้วยการปิดกั้นความทุกข์โศกไม่ให้มันเข้ามาในห้วงนึก
แต่พอทำไปมากขึ้น ปรากฏว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตขึ้นมาโดยไม่ได้คาดฝัน คือตื่นขึ้นมาวันหนึ่งผมรู้สึกมีความสุขอย่างไม่มีเหตุมีผล
ผมรู้สึกได้ว่าความสุขมันมาจากข้างใน มันอยู่ในตัวผม เป็นความปลื้มปีติอะไรบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับโลกภายนอกเลย เรื่องราวทุกข์โศกที่เคยมีมาดูเหมือนจะหายไปหมด
:::::::::::::::
จากนั้นความรู้สึกที่ผมมีต่อโลกรอบๆ ตัวก็เปลี่ยนไปด้วย ผมเริ่มไปนับญาติกับต้นไม้ จิ้งจก นก หนู กระรอก ผมพูด กับพวกเขาเหมือนเป็นคนด้วยกัน ทำร้ายเขาแบบเดิมๆ ไม่ได้
กระทั่งมดผมก็ไม่ฆ่า จิ้งจกตกไป ในโถส้วมก็คอยช่วย มดมาขึ้นชามอาหารที่ผมให้หมา ผมต้องเคาะออก ไม่เอาน้ำราดลงไป ทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
มันรู้สึกขึ้นมาเองว่าไม่อยากทำร้ายชีวิตใดๆ ผมแปลกใจมาก เพราะว่าเดิมเป็นคนที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาเยอะ เป็นคนที่ทำบาปมาเยอะมาก วันดีคืนดีพบตัวเอง มีจิตใจแบบนี้ มันอธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าเป็นไปได้อย่างไร
:::::::::::::::
แล้วที่สำคัญก็คือในความเบิกบานจากข้างในนี้ ผมเลิกรู้สึกพ่ายแพ้ขมขื่นกับชีวิตโดยสิ้นเชิง ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรน่าสงสาร ไม่ทุกข์ร้อนที่เคยแพ้สงครามปฏิวัติ หรือมีปัญหาส่วนตัวอะไรทั้งสิ้น
เป็นครั้งแรก...ที่ผมมองอดีตของตัวเองได้ทุกเรื่องด้วยความรู้สึกนิ่งเฉย
สิ่งเหล่านี้มันทำให้ผมค้นพบว่า...ชีวิตทุกข์สุขขึ้นอยู่กับมุมมองมากทีเดียว และบ่อยครั้ง เรามักเอาความคิดสารพัดไปปรุงแต่งมันจนรกรุงรังไปหมด กระทั่งหาแก่นแท้ไม่เจอ
บางคนยึดติดเงื่อนไขภายนอก โดยเฉพาะเงื่อนไขทางวัตถุและการชื่นชมของสังคม ก็หลับหูหลับตาหาแต่วัตถุและการยอมรับของคนอื่น
บางคนอย่างผมไม่ยึดถือวัตถุมากเท่ากับยึดติดในอุดมคติต่างๆ ก็ทำให้เกิดอารมณ์ทางลบสูงมาก เราจะต้านทุกอย่าง ที่ไม่เป็นไปตามคิด ผูกตัวเองไว้กับตัวความคิด แล้วหลงความคิด จิตใจก็มีแต่ว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน ทะเลาะเบาะแว้ง ทุกข์ร้อนอยู่ตลอดเวลา
:::::::::::::::
ท้ายที่สุดแล้ว...ผมคิดว่าชีวิตที่จะให้ความสงบแก่คุณได้ คือชีวิตที่ไม่มีจุดหมายกดทับ ไม่มีอุดมคติเป็นเครื่องร้อยรัด แต่เป็นชีวิตที่มีมรรควิถี
ผมเคยเขียนว่า...แต่ละก้าวที่คุณก้าวไป มันสำคัญกว่าจุดหมาย คุณเป็นหนึ่งเดียวกับ ก้าวนั้นหรือเปล่า ถ้าคุณเป็นหนึ่งเดียวกับก้าวนั้นวันนี้คุณพบตัวเองแล้ว แต่ละนาทีที่ผ่านไป ก็ครบถ้วนแล้ว
แต่ถ้าคุณขัดแย้งกับปัจจุบันขณะของคุณอยู่ตลอดเวลา ตัวทำอย่างหนึ่ง ใจอยากทำอีกอย่างหนึ่ง คุณจะมีแต่ความทุกข์ ...นั่นคือชีวิตของคนในโลกปัจจุบัน?
» `วิถีปัจจุบัน´ ของ...ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล .... สรายุทธ กันหลง 1/8/2560
Cr: Anand Ngamsa-ard
รศ.ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อายุมากกว่าผมสองปี เป็นหนึ่งในผู้นำนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 ร่วมกับ ศ.ธีรยุทธ บุญมี รุ่นพี่ผมที่สวนกุหลาบสองปี ซึงขณะนั้นผมเรียนปีสองที่ Harvard ตอนหลังทราบว่าเสกสรรค์จบโทเอกจาก Cornell สำนวนการเขียนของ ดร.เสกสรรค์ดีมาก เขียนกระชับให้ความหมายเหมือนการเขียนของนักวิชาการที่ดี
ผมชอบหลายตอน ตอนหนึ่งที่ขอบ..
"บางคนยึดติดเงื่อนไขภายนอก โดยเฉพาะเงื่อนไขทางวัตถุและการชื่นชมของสังคม ก็หลับหูหลับตาหาแต่วัตถุและการยอมรับของคนอื่น"
ผมเห็นคนในสังคมที่เป็นผู้ใหญ่มีอำนาจยังติดกับเงื่อนไขภายนอกแสวงหาอวดร่ำอวดรวย แทนที่จะทำคุณประโยชน์ให้กับคนรุ่นหลัง
ไปอ่านดูครับ..
.. สรายุทธ อังคาร 1/8/2560
"เมื่อเลิกตัดสินโลก เลิกตัดสินตัวเองได้
ก็จะพบกับโลกใหม่ ชีวิตใหม่"
นี่คือหนึ่งตัวอย่าง ที่ฝึกได้ด้วยไดอะล็อค...
» `วิถีปัจจุบัน´ ของ...ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
---------
บุคลิกภาพอย่างผมมันเข้ากันไม่ได้กับเศรษฐกิจฟองสบู่... มันเข้าไม่ได้กับระบบที่แข่งขันเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราเชื่อเรื่องความสมถะสำรวม เชื่อเรื่องแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
เพราะฉะนั้น...จึงเกิดสภาพที่เรารู้สึกถูกกดดันและถูกตามล่าตามล้าง รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว คิดอะไรไม่เหมือนเพื่อนพ้องคนรอบข้าง ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหนเหมือนกับว่าเราไม่เคยพบกับการต้อนรับที่ดี เราเข้ากับเขาไม่ได้
สิ่งเหล่านี้...นำพาผมมาถึงจุดที่รู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรงอย่างยิ่ง
กระทั่งนำไปสู่ชีวิตส่วนตัวที่ล้มเหลว
:::::::::::::::
หลัง ๒๕๔๐ ไม่นาน...ผมกับภรรยาได้แยกทางเดินกัน แม้เราจะไม่ได้โกรธเกลียดกันและเพียงเปลี่ยนความสัมพันธ์จากคู่ครองมาเป็นเพื่อน แต่มันก็สั่นคลอนความรู้สึกนึกคิดของผมอย่างถึงราก
ตอนนั้นผมเริ่มเข้าสู่วัย ๕๐ กว่าแล้ว...ผมต้องถามตัวเอง ว่าจะยืนต้านกระแสหลักในสังคมแบบที่ผ่านมา แล้วสะสมความเจ็บปวดขมขื่นต่อไป หรือ ควรเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมเสียใหม่เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้
มีหนทางไหนบ้างที่เราไม่ต้องทุกข์ทรมานขนาดนี้...ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องยอมเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เราไม่เห็นด้วย
ในช่วงนี้...ผมได้ลงลึกสำรวจวิจารณ์ตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตาย และในที่สุดก็ค้นพบว่ามีอะไรบางอย่าง ไม่ถูกในวิธีคิดของผมเอง
:::::::::::::::
ประการที่หนึ่ง :
ที่ผ่านมาผมยึดถือในการต่อสู้และมองโลกเป็นความขัดแย้งมากเกินไป ที่ทางธรรมะเขาเรียกว่า ทวินิยม (Dualism) เห็นว่าทุกอย่างดำรงอยู่เป็นคู่ มีดีมีชั่ว มีขาว มีดำ แล้วก็ไปยืนเลือกข้างใดข้างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ต่อสู้กันมากก็เหนื่อยมาก ตัวผมเองทั้งถูกทำร้ายและทำร้ายผู้อื่นมาอย่างต่อเนื่อง
ประการที่สอง :
ผมเริ่มมองเห็นว่าอะไรหลายๆ อย่างที่ผมยึดถือ เป็นเรื่องที่ผมคิดไปเอง เป็นอัตวิสัย ที่โลกเขายังไม่พร้อมจะเห็นด้วย เราพยายามเอาตัวเองไปบังคับโลก เมื่อไม่ได้ ดังใจก็ผิดหวังเศร้าโศก แล้วยังโดนเขาตอบโต้มาแรงๆ
เพราะฉะนั้น `เหตุแห่งทุกข์´ จึงอยู่ในอัตตาของเราเอง ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอุดมคติหรืออุดมการณ์อะไรก็ตาม การวิจารณ์ตัวเองใน ลักษณะนี้ได้พาผมย้ายความคิดจากทางโลกมาสู่ทางธรรมมากขึ้นแบบรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง
:::::::::::::::
แต่นั่นยังไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเท่ากับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นระยะนั้น
ประสบการณ์ดังกล่าวมีพลังมากกว่าเหตุผลและความคิดใดๆ พูดให้ชัดขึ้นก็คือ ความเจ็บปวด กับชีวิตมากทำให้ใช้วิธีตัดตัวเองออกจากอดีตและอนาคต ทำให้ผมอยู่กับปัจจุบันขณะ
ซึ่งถ้าพูดในภาษาธรรมเวลานี้ผมรู้แล้วว่ามันคือ...สมาธิ แต่ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าคืออะไร รู้แต่ว่าสบายใจ โปร่งโล่งไปหมด อยู่กับปัจจุบันขณะ
มันทำให้เราปลดแอกตัวเราออกจากภาระทางจิต ที่เราแบกมาตลอดว่าเราเป็นใคร มาจากไหน เคยผ่านอะไรมาบ้าง ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราปลดออกหมด เรียกว่าปลดแอกจากอัตตา
:::::::::::::::
ในตอนแรก...ผมทำสิ่งนี้ไปเพื่อหาทางดับทุกข์ด้วยตัวเอง โดยไม่มีทฤษฎีอะไรชี้นำ แต่ว่าทำแล้วรู้สึกว่ามันช่วยให้อยู่รอดในช่วงที่เราอาจจะอยู่ไม่รอด...ก็เลยยึดไว้เป็นแนวทาง
พอไม่คิดว่าตัวเองเป็นใคร ความรู้สึกทุกข์ร้อนมันหายไปมาก
ข้อแรก...ไม่เดือดร้อนว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร
ข้อสอง...ไม่มีความเห็นว่าโลกและชีวิตควรจะเป็นอย่างไร
เราไม่มีข้อเรียกร้องทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เช่นเดียวกับการที่เราไม่เอาอดีตมากลุ้มและเอาอนาคตมากังวล
มันทำให้เราไม่มีสิ่งที่ผิดหวัง ไม่มีสิ่งที่เสียใจ ผมทำอย่างนี้อยู่พักใหญ่ ทีแรกก็เหมือนกับหลอกตัวเองด้วยการปิดกั้นความทุกข์โศกไม่ให้มันเข้ามาในห้วงนึก
แต่พอทำไปมากขึ้น ปรากฏว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตขึ้นมาโดยไม่ได้คาดฝัน คือตื่นขึ้นมาวันหนึ่งผมรู้สึกมีความสุขอย่างไม่มีเหตุมีผล
ผมรู้สึกได้ว่าความสุขมันมาจากข้างใน มันอยู่ในตัวผม เป็นความปลื้มปีติอะไรบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับโลกภายนอกเลย เรื่องราวทุกข์โศกที่เคยมีมาดูเหมือนจะหายไปหมด
:::::::::::::::
จากนั้นความรู้สึกที่ผมมีต่อโลกรอบๆ ตัวก็เปลี่ยนไปด้วย ผมเริ่มไปนับญาติกับต้นไม้ จิ้งจก นก หนู กระรอก ผมพูด กับพวกเขาเหมือนเป็นคนด้วยกัน ทำร้ายเขาแบบเดิมๆ ไม่ได้
กระทั่งมดผมก็ไม่ฆ่า จิ้งจกตกไป ในโถส้วมก็คอยช่วย มดมาขึ้นชามอาหารที่ผมให้หมา ผมต้องเคาะออก ไม่เอาน้ำราดลงไป ทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
มันรู้สึกขึ้นมาเองว่าไม่อยากทำร้ายชีวิตใดๆ ผมแปลกใจมาก เพราะว่าเดิมเป็นคนที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาเยอะ เป็นคนที่ทำบาปมาเยอะมาก วันดีคืนดีพบตัวเอง มีจิตใจแบบนี้ มันอธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าเป็นไปได้อย่างไร
:::::::::::::::
แล้วที่สำคัญก็คือในความเบิกบานจากข้างในนี้ ผมเลิกรู้สึกพ่ายแพ้ขมขื่นกับชีวิตโดยสิ้นเชิง ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรน่าสงสาร ไม่ทุกข์ร้อนที่เคยแพ้สงครามปฏิวัติ หรือมีปัญหาส่วนตัวอะไรทั้งสิ้น
เป็นครั้งแรก...ที่ผมมองอดีตของตัวเองได้ทุกเรื่องด้วยความรู้สึกนิ่งเฉย
สิ่งเหล่านี้มันทำให้ผมค้นพบว่า...ชีวิตทุกข์สุขขึ้นอยู่กับมุมมองมากทีเดียว และบ่อยครั้ง เรามักเอาความคิดสารพัดไปปรุงแต่งมันจนรกรุงรังไปหมด กระทั่งหาแก่นแท้ไม่เจอ
บางคนยึดติดเงื่อนไขภายนอก โดยเฉพาะเงื่อนไขทางวัตถุและการชื่นชมของสังคม ก็หลับหูหลับตาหาแต่วัตถุและการยอมรับของคนอื่น
บางคนอย่างผมไม่ยึดถือวัตถุมากเท่ากับยึดติดในอุดมคติต่างๆ ก็ทำให้เกิดอารมณ์ทางลบสูงมาก เราจะต้านทุกอย่าง ที่ไม่เป็นไปตามคิด ผูกตัวเองไว้กับตัวความคิด แล้วหลงความคิด จิตใจก็มีแต่ว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน ทะเลาะเบาะแว้ง ทุกข์ร้อนอยู่ตลอดเวลา
:::::::::::::::
ท้ายที่สุดแล้ว...ผมคิดว่าชีวิตที่จะให้ความสงบแก่คุณได้ คือชีวิตที่ไม่มีจุดหมายกดทับ ไม่มีอุดมคติเป็นเครื่องร้อยรัด แต่เป็นชีวิตที่มีมรรควิถี
ผมเคยเขียนว่า...แต่ละก้าวที่คุณก้าวไป มันสำคัญกว่าจุดหมาย คุณเป็นหนึ่งเดียวกับ ก้าวนั้นหรือเปล่า ถ้าคุณเป็นหนึ่งเดียวกับก้าวนั้นวันนี้คุณพบตัวเองแล้ว แต่ละนาทีที่ผ่านไป ก็ครบถ้วนแล้ว
แต่ถ้าคุณขัดแย้งกับปัจจุบันขณะของคุณอยู่ตลอดเวลา ตัวทำอย่างหนึ่ง ใจอยากทำอีกอย่างหนึ่ง คุณจะมีแต่ความทุกข์ ...นั่นคือชีวิตของคนในโลกปัจจุบัน?