[Day 3] บันทึกการเดินทางเลห์-ลาดัก 29 เม.ษ. - 6 พ.ค. 2560

Day 2 https://ppantip.com/topic/36712364

Day 3 Culture exchanged
6.45 อากาศหนาวเหมือนเดิม แต่ข่าวดีคือพ่อของซาลิมบอกว่าอากาศวันนี้น่าจะอุ่นกว่าเมื่อวาน นี่ขนาดเราไม่ได้มาตอนหน้าหนาวยังเล่นเอาสั่นขนาดนี้เลย ด้วยความที่คนไทยอย่างเรารักความสะอาดเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้นแล้วต่อให้อากาศหนาวยังไงผมก็ต้องอาบน้ำอยู่ดี และที่แย่กว่าคือไม่มีน้ำอุ่นคับ อูยยยยย
เช้านี้จิวัดดูท่าจะป่วย จึงต้องจัดพาราเซตามอลจากพี่เอ้ไปสองเม็ด แล้วดูท่าจะกินอะไรไม่ค่อยลงด้วย แต่ทางซาลิมบอกว่าให้กินขนมปังสัก 2-3 แผ่น ไม่งั้นอาการคงหนักกกว่านี้

มองออกไปนอกหน้าต่าง ท้องฟ้าเช้านี้ดูสดใส หวังว่าอากาศน่าจะดีกว่าเมื่อวาน (หมายถึง อุ่นกว่า)

8.15 และแล้วจิวัดก็ไม่ดีขึ้น ถึงขนาดต้องขอต่อท่อออกซิเจนประมาณ 10 นาที เสร็จแล้วดูอาการดีขึ้นเยอะเลย
จุดหมายปลายทางของเราในวันนี้คือ Lamayuru และด้วยความที่แต่ละคนจัดอุปกรณ์ถ่ายภาพมาเต็มที่ เราจึงขอโนบุให้จอดแวะถ่ายรูปข้างทางเป็นระยะ วิวสองข้างทางมันสวยมาก เสมือนเราหลุดไปอยู่อีกโลกนึงเลย ทั้งภูเขา ท้องฟ้า ถนน โดยเฉพาะช่วงที่เราขับผ่านเข้าไปในหุบเขา ทุกอย่างดูยิ่งใหญ่อลังการมากๆๆๆๆ ส่วนถนนที่นี่ไม่ต้องพูดเลย เนื่องจากถนนจะตัดตามแนวช่องเขา ดังนั้นจึงมีความคดเคี้ยวสุดๆ บางโค้งเล่นเอาโนบุต้องหมุนพวงมาลัย 180 องศา ก่อนจะมาตัวเองเคยมีความคิดจะเช่ามอเตอร์ไซค์ขับ แต่ดูจากทางที่ผ่านและกำลังจะผ่านแล้ว ยอม !
ขณะที่เราขับผ่านแม่น้ำ ภูเขาและหมู่บ้าน โนบุพยายามจะบอกเราตลอดว่ามันคืออะไรและเรากำลังอยู่ที่ไหน ฟังออกบ้างไม่ออกบ้างปนๆกันไป แล้วเราก็มาถึงเขตที่เรียกว่า Moonland โนบุอธิบายว่า ที่นี่มีภูมิประเทศที่คล้ายกับพื้นผิวบนพระจันทร์ (อยากถามว่าเค้าเคยไปเหยียบพระจันทร์มารึไง ถึงรู้ แต่กลัวจะไม่ได้กลับ ฮ่า) ระหว่างทางโนบุเปิดเพลงอินเดียกล่อมมาตลอดทาง และสุดท้ายเราก็เจอเพลงโปรด ที่มารู้ชื่อทีหลังว่าชื่อ Ney mo lay พอเราบอกว่าชอบเพลงนี้ดูเค้าจะดีใจ เปิดวนให้ใหญ่เลย นอกจากนั้นเราขอให้โนบุสอนภาษาลาดัก เช่น จูเล (สวัสดี/ลาก่อน) ทูเจเจ (ขอบคุณ) ชีนัน (อาหารเช้า) อีโน (ใช่) นาโน (ไม่ใช่)
แล้วเราก็มาถึง Lamayuru ตอนบ่ายโมงกว่าๆ เลยแวะกินข้าวที่ร้านข้างๆ ก่อนจะเข้าไปเที่ยวด้านใน แต่กว่าจะเสร็จก็ปาเข้าไปบ่าย 2 กว่าๆ เพราะอาหารกว่าจะทำมาเสิร์ฟช้ามากกก(ก ไก่ล้านตัว) ส่วนรสชาติก็พอใช้ได้ ไม่ขี้เหร่
หลังออกจากที่นี่ เรามุ่งหน้าไป Alchi Village แต่ทุกคนดูอาการไม่ค่อยดี จิวัดท้องอืด พี่เอ้ปวดตา พี่กวางไมเกรนขึ้น ส่วนผมยัง กิน ขี้ ไม่ปี้ และนอน ได้ตามปกติ ที่ Alchi มีวัดและโบราณสถานที่สร้างในศตวรรษที่ 11 โครงสร้างด้านในตึกยังคงเดิมๆ มีความเก่าทั้งโครงสร้างและสี ที่สำคัญพระที่ดูแลห้ามเราถ่ายรูปด้านใน
บริเวณรอบๆวัดมีต้น apricot ออกดอกเต็มเลย สวยมาก มีลุงคนนึงแกเดินผ่านมาแล้วพยายามจะสื่อสารกับเราด้วยทุกภาษาที่มี(ยกเว้นภาษาอังกฤษ)ว่าดอกนี่กินได้นะ ผมนี่กะจะกินให้ลุงดูเลย แต่พอคุยด้วยภาษามือกันไปสักพักถึงรู้ว่าสุดท้ายดอกจะกลายเป็นผล apricot ก่อนจึงจะกินได้  เกือบปล่อยไก่ให้ลุงดูแล้วไงหล่ะ ฮ่า
ขณะที่ขับรถออกจาก Alchi มีรถบัสคันนึงวิ่งผ่านไปพร้อมกับประโยคภาษาอังกฤษท้ายรถที่เขียนว่า Don’t forget it ถ้าถ่ายรูปไว้คงสวยน่าดู แต่บางโมเม้นผมก็เลือกที่จะเก็บความทรงจำผ่านตาทั้งสองข้างมากกว่าเลนส์ของกล้อง การได้สัมผัสกับความสุข ณ ตอนนั้นบางทีมันดีกว่าการมานั่งดูรูปถ่ายในตอนหลัง (เรื่องจิงคือ กดชัตเตอร์ถ่ายไม่ทัน ฮ่า)
แล้วเราก็มาจบวันกันที่ Likir monastery โนบุลงจากรถพร้อมกับนำหน้าเราไป ตอนนั้นน่าจะประมาณเกือบๆ 6 โมงท้องฟ้าเริ่มมืด แสงรำไร แล้วโนบุหันมาบอกกับเราว่าหนาว ขนาดคนท้องที่ยังบ่น คงไม่ต้องพูดว่าประชากรจากประเทศร้อนชื้นอย่างเราจะขนาดไหน เราเดินขึ้นบันไดไปบนดาดฟ้าของวัด วิวสวยมากโดยเฉพาะภูเขาที่เหมือนโรยด้วยไอซ์ซิ่ง (จิงๆมันคือหิมะนะ) มองออกไปจะเห็นหมู่บ้านและยอดเขาที่ถูกสาดด้วยแสงแดดสีส้มอ่อนตอนเย็น
ณ จุดนี้มนุษย์ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าธรรมชาติรอบข้างเลย ยิ่งโดยเฉพาะการอาศัยในอ้อมกอดของหุบเขา เราซึ่งเป็นแค่สิ่งมีชีวิตเล็กๆควรจะตระหนักไว้เสมอว่า ธรรมชาติให้อะไรเรามากมายและพร้อมจะเอาอะไรคืนจากเราไปเท่าๆกันเสมอหากไม่ดูแลมันไว้ให้ดี เห็นแบบนี้แล้วทำให้เรานึกถึงป้ายสองข้างทางที่มีเป็นระยะๆระหว่างขับรถผ่านมา หนึ่งในนั้นคือ feel it, don’t hug it ซึ่งน่าจะแปลว่า เราแค่ควรจะอยู่กับธรรมชาติและโลกแต่อย่าคิดจะไปเปลี่ยนแปลงหรือเอามาเป็นของตัวเอง ยกเว้นให้รัฐบาลเป็นคนทำ (อันนี้ผมล้อเล่น ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิ์ไปพรากอะไรจากใครทั้งนั้นแหละคับ)
เดินถัดมาหน่อย มีโรงเรียนสอนลามะเด็กและกำลังเป็นช่วงเวลาเลิกเรียนพอดี เราเลยไปยืนเกาะรั้วโรงเรียนถ่ายรูป หลวงพี่เห็นพวกเราเลยเดินเข้ามาถามความเป็นมา และจากข้อมูลที่ได้ ที่นี่มีลามะน้อยประมาณ 20 คน ช่วงอายุราวๆ 5-8 ปี (ภาษาอังกฤษของหลวงพี่อยู่ในระดับที่จัดว่าดีทีเดียว) ที่หน้าโรงเรียนมีป้ายเชิญให้เราเข้าไปดื่มชาฟรีด้วยแต่เสียดายเรามาเย็นไปหน่อยไม่งั้นคงได้เข้าไปลอง

ระหว่างทางกลับเข้าตัวเมือง เราคุยกับโนบุ(ผู้ที่จะขับรถให้เราตลอดทริป) และทำความรู้จักกันมากขึ้น จิงๆแล้วโนบุอายุแค่ 27 ปีและยังไม่ได้แต่งงาน มีประสบการณ์ขับรถมาแล้ว 5 ปี ส่วนการสื่อสารกว่า 70 เปอร์เซนต์เราคุยกันรู้เรื่องนะ ส่วนที่เหลือก็อาศัยภาษามือและท่าทางช่วยเอา เราพยายามชวนโนบุคุย ถามโน่นถามนี่ไปเลย เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างไม่ใช่สาระสำคัญ บางทีก็แค่อยากทำลายความเงียบ
และเราก็ถึงตัวเมืองประมาณ 2 ทุ่ม คืนนี้เราจะเปลี่ยนร้านอาหารสำหรับมื้อเย็น เมื่อเช้าเราเจอคนไทยที่ห้องครัวในเกสต์เฮ้าส์ เธอแนะนำว่าให้ลองร้านนี้ดูอาหารอร่อยโดยเฉพาะแกงเขียวหวาน แต่ไม่แนะนำให้เราสั่งผัดไท ร้านตอนเย็นนี้ชื่อ Chopstick อยู่ใกล้ๆกับ Gasmo ร้านที่เรากินเมื่อคืน พวกเราเดินเลยร้านไป จึงต้องถามคนแถวนั้นเค้าบอกอยู่บนตึกขาวๆที่เราเดินผ่านมา นี่คิดในใจ แหมน่าจะทำป้ายบอกสักนิด

อาหารที่นี้มีทั้ง ไทย จีน และอินเดีย โดยรวมถือว่าอร่อย แต่...ร้านลืมรายการที่เราสั่ง นี่ต้องนั่งรอกันเกือบครึ่ง ชม. หิวก็หิว โกรธก็โกรธ รอจนโต๊ะข้างๆกินเสร็จไปแล้ว สุดท้ายเลยตัดสินใจเรียกพนักงานมาถาม แล้วก็พบว่าไม่มีรายการที่เราสั่ง What da fu_k (คิดในใจดังๆ) เอ้า เริ่มสั่งใหม่แต่ต้น ไม่ถึง 10 นาทีอาหารจานแรกก็มาวางบนโต๊ะเราด้วยความรวดเร็ว หลังจากนั้นก็มีข้าวเปล่ามาเพิ่ม ตอนแรกเราบอกว่าไม่ได้สั่งนะ แต่ทางร้านบอกว่าอันนี้แทนคำขอโทษ จบด้วยขนมหวานฟรีอีกหนึ่งจาน จบสวยๆอย่างนี้พี่พอจะอภัยให้หน่อย วันหลังอาจจะมาฝากท้องอีก

เราออกจากร้านตอน 9.38 และเดินกลับที่พัก ถนนยังมืดและเงียบเหมือนเดิม
  
- เรายังคงไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ นี่น่าจะ เกือบๆ 2 วันแล้ว สำหรับผมไม่มีปัญหาหรอก แต่คนที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือพี่กวาง ผู้ซึ่งจะต้องติดต่อกับที่บ้าน
- ที่เกสต์เฮ้าส์มีอาหารเช้าเลี้ยงทุกวัน เมนูส่วนมากจะเป็น ไข่เจียว ไข่ดาว ขนมปัง แล้วก็ชา กาแฟ เหมือนจะเติมได้ไม่อั้นนะ ส่วนตอนกลางคืนก็จะมีถุงน้ำร้อนให้เอาไปใช้นอนกอดเพราะในห้องไม่มีฮีตเตอร์ (ขอเปลี่ยนเป็นใครสักคนอุ่นๆได้มั้ยหล่ะ ฮ่า)

Day 4 https://ppantip.com/topic/36715920
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่